กศน.ตำบลท่าประดู่ ต้นแบบแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน โดยจัดทำฐานเรียนรู้เพื่อเป็นจุดถ่ายทอดการจัดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งประกอบด้วยฐานเรียนรู้ ทั้งหมด 8 ฐานเรียนรู้ ซึ่งฐานการเรียนรู้เป็นไปตามความต้องการของคนในชุมชน เพื่อที่จะเป็นสถานฝึกปฏิบัติและค้นหาความรู้ได้อย่างสมบูรณ์ ประกอบด้วย
๑.๒.1 ฐานการขยายพันธุ์พืช ในการขยายพันธุ์พืชมีจุดสาธิต 8 จุด โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการจากเกษตรอำเภอ และได้รับการสนับสนุนจากคนในชุมชนเข้ามาจัดกระบวนการการเรียนรู้ พื้นฐานการขยายพันธุ์จะมีแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ และขยายพันธุ์ด้วยเนื้อเยื่อ มีการเน้นเรื่องของการปลูกและขยายพันธุ์พืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นและเป็นพืชที่สามารถใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปี
จุดสาธิตที่ 1 การเพาะเห็ดมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่การผสมก้อนเห็ด การใส่เชื้อเห็ดจนถึงขั้นตอนการดูแลโดย นายโยธิน พรหมณี หัวหน้า กศน.ตำบลท่าประดู่ เป็นวิทยากรหลักในการให้ความรู้ โดยผู้ที่เข้ามาฝึกสามารถนำผลผลิตกลับไปใช้ประโยชน์ได้โดยแบ่งหนึ่งส่วนไว้สำหรับจำหน่ายเพื่อเป็นต้นทุนในการจัดซื้อวัสดุในการฝึกต่อไป
จุดสาธิตที่ ๒ การปลูกไผ่กิมซุง ซึ่งเป็นไผ่ที่ทนแล้ง ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ประชาชนสามารถเข้ามาเรียนรู้วิธีการปลูกการดูแลรักษา รวมทั้งการขยายพันธุ์ไม้ไผ่ สามารถนำกลับไปปฏิบัติในครัวเรือนได้
จุดสาธิตที่ ๓ การปลูกผักสวนครัวแบบผสมผสาน มีการแบ่งแปลงให้คนในชุมชนเข้ามาปลูกผักสวนครัวได้ โดยที่ กศน.ตำบลท่าประดู่ จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องของระบบน้ำ ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ผัก โดยยึดหลักเกษตรธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี มีเกษตรอำเภอเป็นผู้ให้ข้อมูลด้านวิชาการ มีครอบครัวเข้ามาทำแปลงผัก จำนวน ๑๐ ครอบครัว ซึ่งเป็นครอบครัวที่สมัครใจและมีความสนใจ บุคคลเหล่านี้สามารถเป็นวิทยาการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนที่สนในเข้ามาศึกษาดูงานที่ กศน.ตำบลท่าประดู่
นอกจากนี้ กศน.ตำบลท่าประดู่ มีกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องโทษของยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร รวมทั้งอบรมเรื่องการทำบัญชีครัวเรือนให้กับครอบครัวที่เข้ามาทำเกษตรและคนในชุมชนที่สนใจเข้าฝึกเพื่อเป็นการเพิ่มความรู้และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
จุดสาธิตที่ ๔ การปลูกผักกางมุ้ง เป็นการจัดฐานการเรียนรู้วิธีการปลูกผักแบบควบคุมโรคและแมลงต่างๆ เป็นพืชผักที่ปลูกในที่ที่มีอากาศเย็น
จุดสาธิตที่ ๕ เป็นการปลูกไม้เลื้อยเป็นพืชพื้นเมืองที่หายาก รวมทั้งถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งฐานนี้เป็นการรวบรวมพันธุ์ไม้ไว้ศึกษาเรียนรู้และสามารถนำกลับไปเพาะขยายได้
จุดสาธิตที่ ๖ การปลูกผักกูดกลางแจ้ง เป็นแปลงทดลองที่นำผักที่อยู่ในป่าชื้นมาปลูกไว้กลางแจ้ง โดยการควบคุมการรับแสงและการให้น้ำ เป็นฐานการเรียนรู้ที่เน้นให้เยาวชนได้รู้จักประโยชน์และ หวงแหนพันธุ์ไม้ของท้องถิ่น
จุดสาธิตที่ ๗ การปลูกพืชสมุนไพร เป็นการรวบรวมพืชสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นยารักษาหรือบรรเทาโรคเบื้องต้นได้ และได้รับการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลท่าประดู่ รวมทั้งได้รับความร่วมมือในการนำสมุนไพรมาร่วมกันปลูกไว้ โดยกลุ่มชมรมเยาวชนคนรักษ์ถิ่นและร่วมกันดูแลและกลุ่มเยาวชนสามารถเป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน
จุดสาธิตที่ ๘ การทำนาข้าว มีการเตรียมพื้นที่ให้เหมาะแก่การปลูกข้าวแต่ละวิธี เช่น นาหว่าน นาดำ โดยเน้นให้เยาวชนได้ศึกษาวิถีชีวิตชาวนา โดยมี ผู้อาวุโส ภูมิปัญญาในท้องถิ่นร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้
๑.๒.๒ ฐานการทำปุ๋ยหมัก เป็นการให้ความรู้เรื่องของการผลิตปุ๋ยและวิธีการใช้ที่ถูกต้องให้มีผลต่อการปรับโครงสร้างดินและได้ผลผลิตของพืชตามที่ต้องการเน้นเรื่องของปุ๋ยอินทรีย์และการใช้ EM มาใช้ให้เกิดประโยชน์ องค์กรนักศึกษา รวมทั้งนักศึกษาของ กศน.ตำบลท่าประดู่ ร่วมกันทำกองปุ๋ยหมักไว้สำหรับใช้ใส่บำรุงต้นไม้ที่ตนเองดูแลรักษาทุกๆภาคเรียน
๑.๒.๓ ฐานการเลี้ยงปลา เป็นฐานที่ให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาในรูปแบบต่างๆ เช่น การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก บ่อดิน กระชัง จะมีการให้ความรู้ตั้งแต่การเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงตลอดจนวิธีการดูแลปลาชนิดต่างๆซึ่ง กศน.ตำบลท่าประดู่ จะเน้นในเรื่องของพันธุ์ปลาพื้นเมืองที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยธรรมชาติ ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือในการรวบรวมพันธุ์ปลาจากคนในชุมชนและได้รับการสนับสนุนความรู้ด้านวิชาการจากเกษตรอำเภอนาทวี
๑.๒.4 ฐานการเลี้ยงโคขุน ในฐานนี้จะให้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงโคเนื้อ/โคขุน ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้ที่มีหน่วยงาน สำนักงานปศุสัตว์อำเภอนาทวี เป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลทางวิชาการโดยในฐานเรียนรู้จะมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ การปลูกพืชอาหารสัตว์พันธุ์ดี หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เนเปียร์จักรพรรดิ เพื่อใช้เป็นอาหารโคขุน การใช้เครื่องสับพืชอาหารสัตว์ และบ่อแก๊สชีวภาพจากมูลโค โดยมีนายปาหยัน บาเต๊ะ เป็นวิทยากรประจำฐาน มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้และกลับไปขยายผลโดยเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงความรู้ไปสู้หมู่บ้านและตำบลอื่นๆ เช่น บ้านประกอบตก ม.1 ต.ประกอบ อ.นาทวี โดยนายอับดุลตอเละ สาอุ
๑.๒.5 ฐานเรียนรู้เรื่องแก๊สชีวภาพ ลักษณะเป็นบ่อพลาสติก ใช้เป็นฐานการเรียนรู้เรื่องแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ ซึ่งได้ทำมูลโคขุนที่เลี้ยงไว้ สำหรับใช้ในครัวเรือน
๑.๒.6 เป็นฐานการเรียนรู้ระบบน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเรื่องการลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในฐานต่างๆ โดยเฉพาะฐานการปลูกพืช ซึ่งต้องใช้น้ำในการเพาะปลูก โดยใช้ระบบแรงดันอากาศเพิ่มความแรงของน้ำ ไปสู่แปลงที่อยู่ระยะไกลๆ ตลอดจนระบบการให้น้ำระบบท่อพีวีซี สปริงเกอร์หมุน ระบบน้ำฝอย
๑.๒.7 ฐานการเรียนรู้ศูนย์ ICT ดำเนินการจัดสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 โดยองค์การบริหารส่วนตำบลท่าประดู่ สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน 2,000,000 บาท และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) สนับสนุนวัสดุ ครุภัณฑ์ มีคอมพิวเตอร์ 20 เครื่อง อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไว้สำหรับบริการประชาชนเข้ามาศึกษาค้นคว้าตลอดจนฝึกอบรมมีการให้บริการแก่นักศึกษา กศน. และประชาชนผู้สนใจ ในวันจันทร์ – วันศุกร์ มีนายทักษิณ รอดผล ลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าประดู่ เป็นผู้ให้บริการและดูแลศูนย์ ICT มีอาสาสมัคร กศน.ตำบลท่าประดู่ เป็นผู้ช่วยวิทยากรในการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ให้กับคนชุมชนและเป็นผู้ให้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์
๑.๒.8 ฐานการแปรรูปโดยใช้พลังงานทดแทน เป็นโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงพลังงาน จำนวน 800,000 บาท เป็นฐานการเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทนและการถนอมอาหาร โดยมีกลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน รวมทั้งชมรมสตรี กศน.ตำบลท่าประดู่ นำผลผลิตจากครัวเรือน และที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต เช่น การแปรรูปลูกหยี ของชมรมสตรี ทั้งนี้ชมรมสตรีเป็นวิทยากรในฐานการแปรรูปให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา
ฐานการเรียนรู้ที่มีอยู่ใน กศน.ตำบลท่าประดู่ ทั้งหมดเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามวิถีชุมชน โดยมี กศน.ตำบลท่าประดู่ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานกับชุมชนและทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชนเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ การถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิทยาการ ตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชน
เข้าชม : 1276
|