ความเป็นมาหอศิลป์นครหาดใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฯ
เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความตระหนักถึงความสำคัญและภารกิจในการพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพ ตามนัยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงได้ดำเนินการจัดแหล่งเรียนรู้ภายนอกห้องเรียนที่หลากหลาย และเน้นการเติมเต็มในส่วนที่ขาด โดยเฉพาะการพัฒนาด้านสุนทรียะให้เด็ก เยาวชนสามารถซึมซับความสวยงาม ความละเอียดอ่อนภายในจิตใจเพิ่มขึ้น การจัดกิจกรรมมีชีวิตภายในหอศิลป์นครหาดใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฯ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 5 ธันวามคม 2549 ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่เทศบาลนครหาดใหญ่หวังว่าจะช่วยสร้างเสริมและพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพตามเป้าประสงค์ กิจกรรมที่นำเสนอภายในอาคารประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัยและกิจกรรมด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์
- เพื่อเผยแพร่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
- เพื่อเสริมสร้างสุนทรียภาพทางจิตใจแก่เด็ก เยาวชนและผู้สนใจ
- เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และตามอัธยาศัยอีกแห่งหนึ่งโดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการ ฝ่ายต่าง ๆ คณะศิลปิน ตลอดจนเครือข่ายศิลปินทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการเป็นอย่างดี จนทำให้ "หอศิลป์นครหาดใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฯ" เป็นที่รู้จักได้รับการยอมรับการยอมรับและเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่ศิลปินชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดทั้งนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจที่ได้มีโอกาสเสพ ชื่นชมผลงานด้านศิลปะ รวมทั้งการพบปะศิลปินที่มีชื่อเสียงเฉกเช่นอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ โดยประสบการณ์ตรงถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้
เทศบาลนครหาดใหญ่ จะดำเนินการคัดสรรกิจกรรมดี ๆ ทางด้านศิลปะ ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายเช่นนี้เพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการของเยาวชน ประชาชน และผู้สนใจอย่างต่อเนื่องและตลอดไป
เทศบาลนครหาดใหญ่ ได้ก่อสร้างอาคารหอศิลป์นครหาดใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติ พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ตลอดจนเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงรวบรวมพระราชกรณียกิจ ศิลปกรรมร่วมสมัย และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้สนใจในอนาคต ลักษณะอาคาร เป็นอาคารทรงไทยสองชั้น ขนาดกว้างประมาณ 6 เมตร และยาวประมาณ 20 เมตร จำนวน 2 หลัง (อาคารประกอบ) ออกแบบ โดย รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม)
เข้าชม : 1028
|