โครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ
หลักการและเหตุผล
กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายดำเนินงานด้านการส่งเสริมการอ่านของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายโดยมุ่งหวังให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน และกำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ พ.ศ.2552 – 2561 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายด้านการส่งเสริมการอ่าน สำนักงาน กศน. ได้กำหนดเป้าหมายและจุดเน้นการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในนโยบายเร่งด่วน ข้อ 4 เสริมสร้างบ้านหนังสืออัจฉริยะและพัฒนานิสัยรักการอ่านของประชาชน โดยให้ กศน.อำเภอ เร่งจัดตั้งบ้านหนังสือในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเป็นห้องสมุดประชาชนหมู่บ้าน/ชุมชน จัดหาหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์อื่นสำหรับบ้านหนังสือตามความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในจัดกิจกรรมเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของกลุ่มเป้าหมาย โดยการส่งเสริมการอ่านให้เข้าถึงทุกครอบครัว รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ใช้บริการเกี่ยวกับระเบียบวินัยและข้อพึงปฏิบัติในการใช้บ้านหนังสือหรือห้องสมุดประชาชนหมู่บ้าน/ชุมชน การเคารพสิทธิผู้อื่น ตลอดจนการช่วยกันดูแลรักษาและพัฒนาบ้านหนังสือเสริมสร้างอัจฉริยะภาพของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องทุกพื้นที่ในจังหวัดสงขลา สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลาจึงจัดโครงการนี้ขึ้น
1. วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่จะเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบในปี พ.ศ. 2558
1.2 เพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล
1.3 เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบบ้านหนังสืออัจฉริยะหรือห้องสมุดประชาชนหมู่บ้าน/ชุมชน ห้องสมุดประชาชน“เฉลิมราชกุมารี” และองค์ความรู้ที่สนใจได้อย่างต่อเนื่อง
2. เป้าหมาย
2.1 บ้านหนังสืออัจฉริยะหรือห้องสมุดประชาชนหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ปกติทั่วประเทศ จำนวน 40,000 แห่ง
2.2 บ้านหนังสืออัจฉริยะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จำนวน 1,800 แห่ง
2.3 ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” จำนวน 87 แห่ง
3. แนวทางการดำเนินงาน
3.1 สำรวจ และจัดทำฐานข้อมูลความสนใจ ความต้องการด้านการอ่านของประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน ตลอดจนศึกษาสภาพการเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้ของประชาชนหรือผู้รับบริการในแต่ละหมู่บ้าน
3.2 สำรวจข้อมูลพื้นฐานสำหรับการจัดตั้งบ้านหนังสืออัจฉริยะในหมู่บ้าน/ชุมชน ตลอดจนจัดทำเกณฑ์การคัดสรรสถานที่ที่จะใช้เป็นที่ตั้งบ้านหนังสืออัจฉริยะประจำหมู่บ้าน/ชุมชน
3.3 จัดตั้งบ้านหนังสือในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเป็นห้องสมุดประชาชนหมู่บ้าน/ชุมชน และจัดหาสื่อสิ่งพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ นิตยสารรายปักษ์ หนังสือ และสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ให้กับบ้านหนังสืออัจฉริยะและห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” ที่เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่
3.4 ดำเนินการจัดกิจกรรม และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านให้เข้าถึงทุกครอบครัวในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งการช่วยกันดูแลรักษาห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” และพัฒนาบ้านหนังสือหรือห้องสมุดประชาชนหมู่บ้าน/ชุมชนให้เป็นบ้านหนังสือเสริมสร้างอัจฉริยภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน
3.5 ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านในฐานะที่เป็นกิจกรรมพื้นฐานในการเสริมสร้างอัจฉริยภาพส่วนบุคคล และความเข้มแข็งของชุมชนและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรมบ้านหนังสือหรือห้องสมุดประชาชนหมู่บ้าน/ชุมชน และห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”
3.6 นิเทศ ติดตาม สรุป และรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
4. ระยะเวลาดำเนินการ ตุลาคม 2555-กันยายน 2556
>>>จำนวนบ้านหนังสืออัจฉริยะของอำเภอเมืองสงขลา
เข้าชม : 4219
|