หินงอกหินย้อย คือปรากฏการณ์ชนิดหนึ่งที่เกิดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายๆ พันหรือหมื่นปี ซึ่งส่วนใหญ่นั้นมักเกิดขึ้นในถ้ำหินปูน เพราะมีความชื้นอันเป็นปัจจัยของการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ประเภทนี้ ลักษณะของหินงอกหินย้อยนั้น เป็นหินที่ยื่นหรือหยดเข้าหากันคล้ายกับเป็นของเหลว โดยมากเราเรียกหินที่หยดลงมาจากด้านบนว่าหินย้อย และเรียกหินที่ยื่นขึ้นไปจากทางด้านล่างว่าหินงอก ซึ่งกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาพนี้นั้นสามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้
1. หินงอกหินย้อยเกิดจากความชื้นต่างๆ ที่สะสมอยู่ในดิ้น คือเมื่อปลายยุคน้ำแข็ง หิมะเริ่มละลายตัว และความชื้นต่างๆ ก็ไหลมาสะสมในดิน หรือช่องว่างระหว่างดิน กลายเป็นธารน้ำใต้ดิน
2. เมื่อน้ำใต้ดินนั้นรวมตัวกับคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดกระบวนการสึกกร่อน และเกิดเป็นกรดคาร์บอนิก ซึ่งเป็นกรดอ่อนชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อหินปูนนั้นเจอกับกรดคาร์บอนิกที่สามารถกัดกร่อนหินปูนได้นั้น ก็จะทำให้เกิดช่องว่างขึ้น เล็กบ้างใหญ่บ้าง ซึ่งเราเรียกช่องว่างที่เกิดขึ้นใหม่นี้ว่า ถ้ำ
3. หินย้อย เกิดได้จากกระบวนการเหล่านี้เอง คือกล่าวกันได้ว่า หินย้อยคือหินปูนที่ จับตัวกันเป็นแท่งหรือแผ่นย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ ซึ่งเมื่อมีน้ำที่มีหินปูนสะสมอยู่หยดลงมาตามรอยแตกหรือรอยแยก ซึ่งเมื่อน้ำนั้นสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ก็จะทำให้เกิดสารประกอบประเภทคาร์บอเนต จากนั้นเมื่อเกิดการสะสมตัวพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดเป็นแท่งหินที่ย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ โดยมากมักมีลักษณะกลวงด้านใน
4. หินงอก เป็นกระบวนการที่คล้ายกันก็คือ เกิดจากน้ำที่มีหินปูนสะสมอยู่ที่หยดลงมาจากเพดานถ้ำ สู่ชั้นหินเบื้องล่าง ความที่น้ำนั้นมีตะกอนหินปูนอยู่มาก เมื่อเกิดการสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์ไปจึงทำให้เกิดสะสมเป็นแท่ง ยื่นไปในอากาศสูงจากพื้นถ้ำ ซึ่งกระบวนการเกิดหินงอกหินย้อยนี้มีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นเมื่อเกิดหินย้อยแล้วต้องมีหินงอกด้วย (ยกเว้นถ้ำที่ไม่มีพื้น) และเมื่อมีหินงอกต้องมีหินย้อยด้วยเช่นกัน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเที่ยวชมถ้ำหินงอกหินย้อยนั้น ในประเทศไทยก็มีอยู่หลายที่ พบได้บ่อยทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย เช่นถ้ำละว้า จ. กาญจนบุรี , ถ้ำดาวดึงส์ อ. ไทรโยค กาญจนบุรี , ถ้ำหินงอกวัดถ้ำสุมโน จ. พัทลุง เป็นต้น ซึ่งถ้ำทั้งสามผู้เขียนเคยได้ไปเยี่ยมชมมาแล้ว นับว่าสวยงาม และให้ความรู้เรื่องหินงอกหินย้อยได้ดีมากๆ ครับ เพราะเราจะสามารถมองภาพ และจินตนาการการเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี