พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

23 ธันวาคม 2542 

ผมเข้าใจว่าผู้อ่านหลายท่าน คงจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับผม ที่ได้มีโอกาสไปศึกษาต่างประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทย เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 ในปีนั้น ผมได้เห็นความทุกข์ยากของคนไทย ที่ได้ติดหลุมกับดักมหาโหด ของประเทศลัทธิทุนนิยมต่างๆ ที่เป็นผู้เขียนกติกา และทฤษฎีต่างๆ หลอก และล้างสมอง ให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเดินตาม ทั้งๆ ที่ลักษณะนิสัย เศรษฐกิจพื้นฐาน สภาพสังคม วิธีคิด ของประเทศกำลังพัฒนา กับประเทศทุนนิยมเหล่านั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ของเราทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นที่กระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ไปร่ำเรียนที่ประเทศเหล่านั้น ก็แน่นอนครับว่าจะนั่งคิดนอนคิดยังไง ก็ต้องคิดตามหลุมกับดักของพวกนั้นเป็นอย่างดี เขาเข้ามาบอกให้เปิดประเทศด้านเศรษฐกิจ กู้เงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เน้นการผลิตเพื่อการส่งออก ฯลฯ เชื่อไหมครับว่าถ้าไปดูตัวเลขการเป็นหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ธนาคารโลก หรือ IMF ประเทศกำลังพัฒนามีแต่จนลงๆ และจนลงเรื่อยมา ยิ่งทำตามกติกาการค้าเสรีที่ฝรั่งเป็นคนเขียนก็ยิ่งแย่หนักไปอีก สงสัยไหมครับทำไมเวลามีปัญหาเศรษฐกิจ คนจน คนรากหญ้า เด็กนักเรียนจะโดนผลกระทบก่อนทุกครั้ง ว่างๆ จะเล่าให้ฟังครับ 


จริงๆ แล้ว ผมได้ศึกษาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ต่างๆ มานานหลายปีแล้วครับ จนปัจจุบันผมกล้าฟันธงว่า “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวง นั้นคือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกครับ ซึ่งหากเรายึดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ปัญหาวิกฤติต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นครับ แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ยังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากยังไม่เข้าใจ และนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเรา หลายคนยังนึกว่าทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง คือการไม่ทำอุตสาหกรรม และถอยกลับไปทำการเกษตรทั้งประเทศ บางคนก็นึกว่าให้ทุกคนปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์กินเอง และทำของใช้เองในครอบครัว บางคนก็นึกไปโน่น ว่าให้ประหยัดไว้เยอะๆ ไม่ใช้เงิน หรือไม่ก็ปิดประเทศ ฯลฯ นักเศรษฐศาสตร์ไทยแต่ทาสความคิดฝรั่งบางคน ก็ออกมาบอกว่า แนวคิดไม่สอดคล้องกับหลักเศรษฐศาสตร์ และการค้าของโลก ทั้งๆ ที่ตัวเองยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร


กฎเบื้องต้นของเศรษฐศาสตร์ก็คือ เราเชื่อว่าทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกมีอยู่จำกัด แต่มนุษย์เรามีความต้องการที่ไม่จำกัด ดังนั้นเศรษฐศาสตร์ ก็คือศาสตร์ ที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า และสอดคล้องตามความต้องการของมนุษย์ให้มากที่สุด แต่ปัจจุบัน โลกมันวุ่นวาย เพราะมีบางกลุ่มบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีประชากรแค่ 200 ล้านคน แต่ใช้ทรัพยากรของโลก ไปเกิน 95% เป็นต้น ส่วนประเทศไทยนั้น เดินไปติดกับของทุนนิยมเข้าเต็มเปา เลยต้องมานั่งแก้ปัญหาไปวันๆ แบบนี้ ว่าทำไมเงินไม่พอใช้สักที


กลับมาที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงว่าคืออะไรครับ อธิบายสั้นๆ ก็คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างพอดี ไม่น้อย หรือไม่มากเกินไป ไม่เกินตัว ทรัพยากรที่พูดถึงคืออะไรครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ และใกล้ตัวเราที่สุดก็คือเงินไงครับ คือให้ใช้เงินให้เป็น และรู้จักออม ถ้านำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้กับการใช้เงินของเราเพื่อช่วยเหลือชาติแบบง่ายๆ ก็จะทำได้ดังนี้ครับ  .... 


แนวทางปฏิบัติในแบบเศรษฐกิจพอเพียง

- รู้จักใช้เงินในการเลือกรับประทานอาหารในราคาที่ควรจะเป็น เช่น ไก่ทอด KFC กับไก่ทอดของไทยตามร้านทั่วๆ ไป จริงอยู่ครับว่ามันเป็นไก่ทอดเหมือนกัน ขนาดก็เท่ากัน แต่ราคามันห่างกันลิบ ทานไก่ KFC แล้วทำให้เงินมันเหลือน้อยกว่าทานไก่ทอดธรรมดา ทำให้เหลือเงินไปซื้อของใช้จำเป็นอื่นๆ น้อยลงไปอีก เหลือเงินออมน้อยลง เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาชีวิตก็ลำบาก และเป็นทุกข์ ในและมีผลกระทบในภาพรวมคือถ้าทุกคนกินแต่ไก่ KFC เงินออมของทั้งระบบก็จะน้อยลง ทำให้การขยายการลงทุนในประเทศก็จะทำได้ยาก เนื่องจากเงินออมในธนาคารมีน้อยไม่พอให้ระดมทุน ต้องไปกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเข้ามาอีก ประเทศก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินบาทก็จะอ่อนค่าลงตามทฤษฎี อีกอย่างครับกินไก่ KFC 100 บาท เงินเข้าคนไทย 30 บาท เข้ากระเป๋าฝรั่งไป 70 บาท ซึ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์ เงินไหลออกนอกประเทศอีก 


- เลือกใช้ของที่ต้องการในราคาพอเหมาะ เช่น รถยนต์ เป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดครับ ระหว่างรถเบนซ์กับรถญี่ปุ่นที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งเป็นรถยนต์เหมือนกัน วิ่งได้เหมือนกัน แต่คนส่วนใหญ่อยากจะเลือกรถเบนซ์เพราะแสดงสถานะทางสังคมว่าเรามีเงิน แต่หลายคนคงจะทราบว่ารถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่เสื่อมมูลค่าลงทุกวันตามสัดส่วนเวลา และมีอายุการใช้งาน ดังนั้น ณ วันที่เราขายรถยนต์ ราคาของรถยนต์ราคาแพงก็จะมีมูลค่าลดลงมากกว่า ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษาและค่าซ่อม ที่หลายคนใช้รถแพงๆ ตระกูลยุโรปก็โดนศูนย์บริการปล้นแบบไม่ปราณี เพราะช่างซ่อมชาวบ้านทั่วไปก็ซ่อมไม่ได้ ต้องเข้าศูนย์เฉพาะเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ผลิตในต่างประเทศเท่านั้น หลายคนยังคงไม่ทราบว่าประชาชนในประเทศที่เราเห่อรถแพงๆ ของเขา เคfากลับไม่เห็นความสำคัญของการแสดงสถานะทางสังคมด้วยรถยนต์เท่ากับบ้านเรา แต่เลือกใช้รถยนต์ที่คุ้มค่าในราคาเหมาะสม ผลกระทบอื่นๆ ก็จะคล้ายๆ

กับข้อ 1 ท่านก็ลองคิดนะครับว่าซื้อรถเบนซ์มาขับกับซื้อรถผลิตในประเทศแล้ว โดยภาพรวมคนไทยจะได้ประโยชน์จากเงินที่ท่านจ่ายมากน้อยต่างกันเพียงใด สินค้าหลายอย่างมันแพงเกินราคาก็เพราะเราจ่ายค่าทรัพย์สินทางปัญญา หรือค่าลิขสิทธิ์มากกว่าต้นทุนของสินค้าเองซะอีก


- บริโภคสินค้าด้วยเงินออม เราจะเห็นว่าคนในบ้านเรากลับไปบริโภคสินค้าด้วยเงินกู้ เช่น กู้เงินไปซื้อโทรทัศน์ มือถือ กระเป๋าหลุยส์ ฯลฯ แล้วสิ้นเดือนก็ต้องมาเป็นทุกข์ผ่อนชำระกันศีรษะโตเป็นแถบ ลักษณะนิสัยแบบนี้เรียกว่าใช้เงินกันเกินตัว ซึ่งกำลังเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นมะเร็งร้าย ที่กำลังจะลามทำให้เศรษฐกิจอเมริกา ระเบิดในอีกไม่ช้านี้ หลักการคือเราต้องเข้าใจก่อนว่า การบริโภคกับการลงทุนนั้นต่างกัน เช่น ถ้าท่านซื้อมือถือมา เพื่อมาใช้ในวิชาชีพแล้ว มันจะทำเงินกลับมาให้ท่าน นั่นเรียกว่าเป็นการลงทุน แต่ถ้าท่านไม่มีกิจอันใดที่จะใช้ แต่ซื้อมาเพราะว่าคนอื่นเขาก็มีกัน อันนั้นก็เรียกว่าการบริโภค อะไรที่เป็นการลงทุน มันย่อมมีผลตอบแทนคืนมา (แม้ว่าจะสินค้านั้นจะมีมูลค่าเสื่อมถอยทุกวัน) แต่การบริโภคนั้น สินค้าที่ท่านซื้อมาบริโภคมันก็จะมีค่าเสื่อมถอยลงทุกวัน โดยไม่มีผลตอบแทนคืนมา ถ้าท่านบริโภคสินค้าด้วยเงินกู้กันเยอะๆ ทั้งประเทศมันก็จะมีผลกระทบ ทำให้ท่านไม่สามารถจะมีเงินไปลงทุนได้ เพราะเงินกู้ของท่าน ที่สามารถจะกู้ไปลงทุน ได้ถูกจัดลงในโควต้าของเงิน ที่ท่านกู้ออกมาบริโภคไปแล้ว ท้ายสุด ก็ต้องไปกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ เข้ามาอีก ประเทศก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินบาทก็จะอ่อนค่าลงตามทฤษฎี 


- ใช้เงินในสิ่งที่มีประโยชน์เป็นรูปธรรมเท่านั้น ตัวอย่างที่ผมจะยกตัวอย่างได้ง่ายๆ คือ การส่ง SMS เข้ารายการโทรทัศน์ต่างๆ เท่าที่ผมทราบ มีแต่ประเทศกำลังพัฒนา และประชาชนไม่มีความคิดเท่านั้น ที่จะนิยมส่ง SMS เข้ารายการโทรทัศน์ มากมายแบบประเทศไทย อย่างผมนั่งดูโทรทัศน์ ผมก็สงสัยว่าคนที่ส่ง SMS เข้าไปจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง สรุปก็คือได้แต่ความสะใจ ไม่มีประโยชน์ในทางรูปธรรมอะไรเลย บางคนส่ง SMS เดือนนึงหลายหมื่นบาท แต่ไม่รู้ว่าส่งไปทำไม ซึ่งเป็นการใช้เงินที่ควรจะออมอย่างไม่ถูกเรื่องเท่าไหร่นัก ซึ่งจริงๆ ผมคิดว่า คณะกรรมการ กสช. ควรจะเข้ามากำกับดูแลในส่วนนี้อย่างจริงจัง เพื่อผลประโยชน์ของคนในชาติ

- ส่งเสริมการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ ซึ่งคนไทยเราอาจจะมีจิตสำนึก ในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อยไปบ้าง หากท่านสังเกตุว่าทำไมหลายๆ ชาติที่เจริญ มักจะเป็นชาติที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จีน ทั้งนี้ เนื่องมาจากสินค้าแบบเดียวกัน คนในชาตินั้นจะเลือกซื้อสินค้า ที่ผลิตในประเทศของเขาก่อน ทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศ ได้มีโอกาสทดลองตลาด ปรับปรุงสินค้า และสะสมเงินทุน ไปทำเรื่อง R&D ต่อยอดไปได้ แต่ถ้าคนไทย เรานิยมซื้อของต่างชาติ มากกว่าของที่ผลิตในประเทศ เงินก็จะไหลออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก เหมือนน้ำที่แห้งเหือดไปจากสระน้ำ แทนที่คนไทยจะได้ประโยชน์จาก Multiplier Effect หรือตัวคูณของการใช้เงินต่อไปเป็นทอดๆ ในระบบเศรษฐกิจของเราเอง แต่เงินกลับไหลออกนอกประเทศ คนไทยก็ได้แต่ค่าแรงในการขายของเท่านั้น สินค้ายี่ห้อดังๆ ของโลก เช่น LG, Samsung, Haier, TCL, Huawei ก็โตมาจากตลาดในประเทศก่อนทั้งนั้น

ไม่มีใครกระโดดออกไปนอกประเทศแล้วโตเลย อย่างของไทยสมัยก่อนก็มีโทรทัศน์ยี่ห้อธานินทร์ แต่ตอนนี้ก็หายไปจากตลาดแล้ว เพราะคนไทยไม่สนับสนุน


- งดอบายมุข อันนี้ง่ายที่สุดครับ แต่เป็นปัญหาที่ฝังลงรากลึกสุดของสังคมไทย เพราะหวยทั้งบนดิน ใต้ดิน มันโผล่ออกมยุบยับมาก ขนาดจะดูฟุตบอลโลก หนังสือพิมพ์บ้านเราก็ยังมีราคาต่อรองให้อีก คือไม่ว่าจะเป็นอบายมุขประเภทไหน ก็ทำให้เราไม่มีเงินออมทั้งนั้นครับ พอไม่มีเงินออม ท้ายสุดก็ต้องพึ่งเงินกู้มาบริโภคกันอีก


- รู้จักลงทุนในสิ่งที่มีประโยชน์ และได้ความรู้ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ห้ามให้เราไม่ใช้เงินนะครับ เพียงแต่ว่าใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับตัวเรา เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม การลงทุนเพื่อให้เกิดความรู้เพิ่มขึ้น จากการซื้อหนังสือที่มีประโยชน์มาอ่าน ไปฟังสัมมนา ไปทัศนาจร ไปดูงาน ฯลฯ 


กล่าวโดยสรุปนะครับ การนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา จะทำให้เราสามารถใช้เงินอย่างคุ้มค่า มีเงินออม เหลือเก็บไว้ใช้ในการบริโภคสิ่งที่จำเป็น ไม่มีภาระหนี้สินที่ไม่จำเป็น เงินออมทั้งระบบ ก็จะเพียงพอต่อการระดมทุน เพื่อการลงทุนในประเทศ ไม่ต้องพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศ ที่เข้าเร็วออกเร็ว แบบที่เราเรียกว่า Hot Money ประเทศก็จะมีเงิน ไม่ต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกันบักโกรกแบบสมัยฟองสบู่ ค่าเงินบาทก็จะไม่อ่อน เศรษฐกิจในประเทศก็จะแข็งแกร่ง ไม่ต้องมาปวดหัวเถียงกันเรื่องจะขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ย เพราะอเมริกาจะขึ้นดอกเบี้ย และกลัวเงินจะเฟ้อ 


ต้องอธิบายเพิ่มเติม คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั้นหมายถึงความพอดีด้วยนะครับ ไม่ได้ห้ามกู้หนี้มาลงทุนแต่อย่างใดนะครับ ตราบใดที่กู้หนี้ยืมสินแล้วมาลงทุน แต่การลงทุนนั้นยังสามารถให้ผลตอบแทนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะชำระหนี้ได้ก็ถือว่าพอเพียงนะครับ


แต่ถ้าสมมติว่าผมไปกู้ธนาคารมาทำโปรเจ็กแบบสมัยก่อนประเทศไทยเกิดวิกฤติปี 2540 แล้วมีการจ่ายเงินปากถุงให้กับทีมวิเคราะห์ของธนาคาร (สมมตินะครับสมมติ) เพื่อให้ตีมูลค่าโปรเจ็กมากๆ แล้วให้ปล่อยกู้เงินมากๆ เกินกว่าที่ผลตอบแทนการลงทุนจะได้ ท้ายสุดถ้าในความเป็นจริงมันไม่เวิร์ค โปรเจ็กก็ล่ม ธนาคารก็มี NPL คนฝากเงินก็รับเคราะห์ รัฐบาลต้องเข้ามากู้เรือล่ม ก็เดือดร้อนเงินภาษีของเราอีก


ซึ่งจากข้างต้นคำว่าพอเพียงกับความต้องการประสบความสำเร็จมันคงเป็นคนละเรื่องกันครับ สมมติว่าผมต้องการประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ และมีความทะเยอทะยาน ผมก็ต้องดำเนินการแบบพอเพียง คือไม่ใช้วิธีแบบทำธุรกิจเกินตัว แล้วเราไม่สามารถใช้หนี้ได้ ซึ่งโดยสรุปเศรษฐกิจแบบพอเพียงนั้นจะหมายถึงวิธีการ และแนวคิดอันที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ว่ามันเกินตัว และถูกต้องตามครรลองหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Incentive ที่จะลงทุนแต่อย่างใด จะลงทุนมากน้อยก็อยู่ที่วิธีการว่าเป็นการดำเนินการที่เกินตัวหรือไม่ครับ


ดร. อ๊อฟ (รศ. ดร. บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ) ก็ถามผมเมื่อสักครู่ว่าถ้าใครยึดหลักพอเพียงเขาก็เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียวไม่ดีกว่าเหรอ ไม่ต้องลงทุนเปิดบริษัทใหญ่โต คำตอบก็จะอยู่ในข้อความข้างต้นครับ ตราบใดที่ ดร. อ๊อฟ พอใจกับร้านก๋วยเตี๋ยว แล้วมันพอเพียงที่จะเลี้ยงครอบครัว และน้อง Happy ได้ ก็เข้าข่ายเศรษฐกิจพอเพียงครับ แต่ถ้า ดร. อ๊อฟ ไปเปิดบริษัท ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจ หรือมั่นใจว่าจะไปรอดไหม ซึ่งแบบนี้ก็เข้าข่ายเกินตัวครับ 


ประเทศไทยเราโชคดีจริงๆ ครับที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงอัจฉริยะภาพ พระราชทานแนวคิด การใช้ชีวิต ที่เป็นทางสายกลางให้กับพวกเราทุกคน และเป็นกุญแจ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งรัฐบาล ควรจะขยายแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เข้าสู่หลักคิดของคนในชาติ ให้มากที่สุด


ยิ่งถ้าทุกคนในโลกยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะไม่มีการเบียดเบียนทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด เอารัดเอาเปรียบ คนหรือประเทศที่ด้อยกว่าแบบทุกวันนี้ 


โดย

ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์