ความรุนแรงของอาการ
ผู้ป่วยอาจจะปวดท้องมากหรือน้อยตามอาการ ท้องอืด คลื่นไส้ กินอิ่มง่าย หากมีอาการรุนแรงจะมีเลือดออกและทำให้กระเพาะทะลุ ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่รุนแรงมาก โดยทั่วไปพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 50 - 60 อาการจะค่อย ๆ ทุเลาและหายไปเองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่โอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกมีอัตราสูงถึงร้อยละ 80 ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาดีเพียงใดก็ตาม และที่สำคัญ คือ พบว่ามีอาการแทรกซ้อน ซึ่งหมายถึง มีเลือดออก ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายเป็นสีดำเหลว (สาเหตุมาจากเลือดที่ออกในกระเพาะอาหาร ไปทำปฏิกริยากับกรดในกระเพาะอาหาร) นอกจากนี้ หากแผลทะลุจะทำให้ปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้ ช็อค และอาจถึงแก่ชีวิต การรักษาจะทำโดยผ่าตัด แผลที่หายจะเป็นพังผืด โดยเฉพาะลำไส้เล็กที่จะตีบ อุดตัน ทำให้มีอาการอาเจียน และปวดท้อง
โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เคยมีเลือดออกจะมีโอกาสเกิดโรคซ้ำเพิ่มจากร้อยละ 20 - 25 เป็น ร้อยละ 50 และจากสถิติพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 50 ของคนไข้ที่มีเลือดออกจะไม่แสดงอาการใด ๆ แม้แต่ปวดท้อง ซึ่งเป็นความแปลกของโรคชนิดนี้
สังเกตอาการง่าย ๆ จากอาการดังนี้
1. จะปวดท้องเมื่อท้องว่าง ใกล้มื้ออาหารหรือหลังอาหาร แต่จะไม่ปวดตลอดเวลา เมื่อได้รับประทานอาหารจะทำให้อาการดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี ที่จะปวดท้องหลังอาหาร ไม่ปวดตอนท้องว่าง แต่ถ้าปวดจะปวดตลอดทั้งคืนติดต่อกัน
2. ปวดท้องเวลาดึก คลื่นไส้ อาเจียนออกมาเป็นอาหารที่แยกชนิดอย่างชัดเจน
การดูแลตนเอง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 ป้องกันการเกิดโรค สามารถทำโดยวิธีดังนี้
- ค้นหาสาเหตุ และสังเกตอาหารที่รับประทานว่าทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติหรือไม่ อย่างไร
- ไม่รับประทานยาแก้ปวดโดยปราศจากแพทย์สั่ง และควรหลีกเลี่ยงสารเสพติด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งของหมักดอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด
- หากมีอาการของโรคติดเชื้อชนิดต่าง ๆ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไทฟอยด์ ไข้หวัดใหญ่ ควรรีบรักษาให้หายขาดโดยเร็ว
ระยะที่ 2 รักษาตัวเมื่อมีอาการอักเสบ
- พบแพทย์สม่ำเสมอตามเวลานัด โดยทั่วไปแพทย์จะให้รับประทานยาน้ำหรือยาเม็ด โดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ โดยปกติผู้ป่วยที่มีอาการระยะรุนแรงแพทย์จะให้รับประทานยานํ้า เนื่องจากออกฤทธิ์เร็ว
- ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และมีรสชาดอ่อน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
ระยะที่ 3 หลังจากได้รับการรักษา
- งดอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ อาหารรสจัด ร้อนจัด เย็นจัด ของหมักดอง รวมทั้งอาหารที่ทำให้เกิดก๊าซในกระเพาะอาหาร
- ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ดื่มน้ำมาก ๆ ป้องกันอาการท้องผูก และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดเพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารทำงานหนัก
โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นเหมือนภัยเงียบที่คอยบั่นทอนสุขภาพ หากเราละเลยไม่ให้ความใส่ใจดูแลสังเกตุอาการของตนเอง อาจทำให้ได้รับความรุนแรงของโรคและอาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อท่านมีอาการที่ใกล้เคียงกับที่กล่าวมา จึงควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจโดยเร็ว เพราะถ้าหากทิ้งไว้นานจะส่งผลให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร