แพทย์แนะ เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ
และโรคไต
ที่มา: https://www.sanook.com/health/32485/ 01 ก.พ. 65 (18:09 น.)
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมและครบ 5 หมู่อย่างสมดุล ไม่ควรงดหรือจำกัดอาหารประเภทข้าว/แป้งมากจนเกินไป หรืออดอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็มโดยไม่ควรรับประทานเกลือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวัน และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและ trans fat สูง
- น้ำหนักในอุดมคติ (Ideal Body Weight: IBW) หรือ น้ำหนักที่ควรจะเป็น โดยในผู้ชายให้นำส่วนสูงลบ100 ส่วนในผู้หญิงให้นำส่วนสูงลบ105 จะได้น้ำหนักในอุดมคติของแต่ละบุคคล
“You Are What You Eat” เชื่อว่าทุกๆ คนคงเคยได้ยินประโยคสุดคลาสสิกคนี้ ที่เอาไว้เตือนใจให้หันกลับมาใส่ใจการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น เพราะอาหารที่เราเลือกรับประทานในแต่ละวันนั้นมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพองค์รวมอย่างคาดไม่ถึง นอกจากจะเป็นขุมพลังงานให้กับร่างกายได้ไปทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงแล้ว อาหารยังเปรียบเสมือนยาที่มีส่วนช่วยดูแลรักษาอวัยวะต่างๆ ของเราให้มีสุขภาพที่ดีได้เหมือนกัน
ยิ่งไปกว่านั้น อาหารจะยิ่งมีส่วนสำคัญมากขึ้น หากบุคคลนั้นมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่จะต้องดูแล ดังนั้น โภชนาการที่ดีก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูร่างกาย ชะลอความเสื่อมของอวัยวะภายใน และรักษาป้องกันไม่ให้อาการของโรคแย่ลงได้ แต่ในทางกลับกัน หากตามใจปากมากเกินไป เลือกรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการหรือไม่เหมาะกับโรคประจำตัวที่เราเป็นอยู่ ก็อาจทำให้อาการของโรคที่เป็นนั้นมากขึ้นและบั่นทอนสุขภาพให้แย่ลงได้
- เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
นพ. อาทิตย์ วีระเบญจพล อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม รพ.สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังเรื่องชนิดของอาหารที่มีคุณภาพ และควบคุมปริมาณการรับประทานให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ร่างกายรับน้ำตาลในปริมาณสูงเกินไป โดยเน้นไปที่อาหารที่ไม่หวานและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เช่น คาร์โบไฮเดรตที่ดีและมีค่า Glycemic Index (GI) ต่ำ อาหารที่มีใยอาหารสูงเพื่อช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ผักสด โปรตีนที่มีคุณภาพ ผลไม้ไม่หวานจัด โดยคำนวณปริมาณน้ำตาลจากผลไม้ให้พอเหมาะ
หากต้องการเติมความหวานบ้าง แนะนำให้ใช้น้ำตาลเทียมในปริมาณที่พอเหมาะเพราะไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งขัดขาว อาหารที่มีน้ำตาลเยอะ หรือมีรสชาติหวานจัด ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมและครบ 5 หมู่อย่างสมดุล ไม่ควรงดหรือจำกัดอาหารประเภทข้าว/แป้งมากจนเกินไป หรืออดอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- ประเภทอาหารที่แนะนำ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
- ข้าวหรือแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต
- ธัญพืช เช่น ลูกเดือย งาขาว งาดำ
- ผักสด/ผลไม้ เน้นพวกผักใบเขียว ผลไม้ที่มีรสชาติหวานน้อยในปริมาณที่จำกัด เช่น ฝรั่งครึ่งลูก กล้วยหอมครึ่งลูก กล้วยน้ำว้า 1 ลูก ส้มโอ 2 กลีบ แตงโม 10 ชิ้น เงาะ/มังคุด 4 ลูก (ต่อมื้อ) โดยสามารถแบ่งรับประทานเป็น 2-3 มื้อต่อวัน
- พืชผักประเภทหัว เช่น มันฝรั่ง มันเทศ ฟักทอง แครอท รับประทานได้ในปริมาณที่จำกัด
- โปรตีนและเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น สันในหมู สันในไก่ อกไก่ เนื้อปลาซึ่งมีกรดไขมันจำเป็น เต้าหู้ ไข่
- ประเภทอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง หรือห้ามรับประทาน
- น้ำผลไม้ น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมไทย ไอศครีม น้ำแข็งไส ข้าวเหนียวมูน นมรสหวาน น้ำผึ้ง
- ผลไม้รสหวานจัดบางชนิด เช่น ลำไย ขนุน เงาะ ทุเรียน มะม่วงสุก ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด แต่แนะนำว่าให้เลี่ยงจะดีกว่า
- เมนูอาหารที่แนะนำ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
- เมนูอาหารที่มีส่วนผสมของคาร์โบไฮเดรตที่ดี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อสัตว์ที่มีไขมันดี และผักในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ข้าวกล้องกับยำปลาแซลมอน แซนวิชขนมปังโฮลวีตอกไก่ ข้าวธัญพืชกับหมูสันในย่างซอสมะขาม เป็นต้น
- เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ปริมาณเกลือและชนิดของไขมันมีส่วนสำคัญต่อโรคมาก เพราะส่งผลต่อระบบเลือดทั้งระบบ ดังนั้น นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารเค็มโดยไม่ควรรับประทานเกลือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวันแล้ว ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำ ทานโปรตีนคุณภาพดีอย่างพอเหมาะ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและ trans fat สูง
เนื่องจากจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นสาเหตุทำให้อาการของโรคหัวใจแย่ลงได้ แต่หากต้องการรับประทาน สมาคมโรคหัวใจประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ควรรับประทานไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 6% ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงควรปรุงอาหารโดยการต้ม นึ่ง อบ หรือผัดได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงการทอดจะดีที่สุด
- ประเภทอาหารที่แนะนำ สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ข้าวหรือแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต
- โปรตีนและเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น สันในหมู สันในไก่ อกไก่ เนื้อปลาทะเลซึ่งมีกรดไขมันจำเป็น เต้าหู้ ไข่
- ผักสด/ผลไม้ เน้นพวกผักใบเขียว ผลไม้ที่ไม่หวานจัด
- น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า
- ประเภทอาหารที่ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงหรือ ห้ามรับประทาน
- อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ไข่แดง หมูสามชั้น ไข่ปลา
- อาหารที่มี trans fat เช่น ช็อกโกแลต ขนมอบ คุกกี้ เค้ก ขนมปัง
- อาหารรสชาติเค็ม น้ำซุป ซอสปรุงรสต่างๆ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ ผงชูรส
- อาหารแปรรูป (processed meat) เช่น ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง แหนม หมูยอ ลูกชิ้น เพราะมีเกลือและไขมันสูง
- น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู กะทิ
- เมนูอาหารแนะนำ สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
- เมนูอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนคุณภาพดี มีคอเลสเตอรอลต่ำ หรือเนื้อแดงในปริมาณที่พอเหมาะ และมีรสจืด เช่น ข้าวต้มธัญพืชกุ้ง ข้าวกล้องกับคั่วกลิ้งทูน่าไข่ต้ม สเต็กปลากระพงย่างราดซอสฉู่ฉี่ ไก่ผัดพริกหยวก
3. เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต
หัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคไต คือ การลดเค็ม จึงต้องมีการจำกัดการรับโซเดียมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนั้นแล้ว โรคไตยังมีความเฉพาะเจาะจงของการกำหนดสารอาหารในการรับประทานต่อวัน เช่น โปรตีน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และแร่ธาตุต่างๆ ตามระยะของโรคที่เป็นมากกว่าโรคทั่วไป
ดังนั้น การควบคุมอาหารอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีไตเสื่อมอยู่ในระยะ 3 เป็นต้นไปแล้วก็ตาม จะช่วยดูแลและชะลอความเสื่อมของไตได้
อาหารที่คนเป็นโรคไตห้ามรับประทานมีอะไรบ้าง หลักการเลือกอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต มีดังนี้
- โซเดียม
- การลดเค็มคือหลักการสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคไต แนะนำว่าควรรับประทานเกลือน้อยกว่า หรือเท่ากับ 1 ช้อนชาต่อวัน หรือ โซเดียมน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ลดการเติมเครื่องปรุง เช่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม เกลือ ผงชูรส ลงไปในอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป (processed meat) เช่น ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง แหนม หมูยอ เพราะมีเกลือและไขมันสูง หลีกเลี่ยงเบเกอรี่ ขนมอบ เนื่องจากมีการใส่ผงฟูหรือเบกกิ้งโซดาในการทำขนมซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ รวมถึงอาหารแช่แข็ง ของหมักดอง ขนมกรุบกรอบ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ
- โปรตีน
ควรเลือกโปรตีนคุณภาพดี เช่น ไข่ขาว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา อกไก่ สันในไก่ สันในหมู ในปริมาณที่เหมาะสมกับระยะของโรค โดยปริมาณโปรตีนในหนึ่งวันที่ผู้ป่วยโรคไตควรได้รับในแต่ระยะของโรคนั้น มีดังนี้
- โรคไตระยะ 1-3A - ไม่จำเป็นต้องมีการจำกัดโปรตีน แต่ให้รับประทานได้เป็นปกติ ในสัดส่วน 1.0-1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
- โรคไตระยะที่ 3B-5 และยังไม่ได้ล้างไต - อาจจะต้องมีการเลือกชนิดและควบคุมประมาณการบริโภคโปรตีน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ไตทำงานหนัก รวมถึงช่วยดูแลและชะลอการเสื่อมของไตได้ดี โดยรับประทานสารอาหารประเภทโปรตีนได้ไม่เกินวันละ 0.6-0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
- โรคไตที่มีการล้างไตแล้ว อาจจะรับประทานโปรตีนเป็นปกติได้ หรืออาจรับประทานโปรตีนได้ถึง 1.3-1.4 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อชดเชยโปรตีนที่สูญเสียไประหว่างการล้างไตด้วยได้
- ฟอสฟอรัส*
ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมในระยะ 3 ขึ้นไป จะมีการขับฟอสฟอรัสได้น้อยลง ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมในระยะที่ 3 ขึ้นไปหรือมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น อาหารจำพวกนม โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ปลากรอบ เต้าหู้ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และธัญพืชต่างๆ เช่น งาขาว งาดำ เมล็ดฟักทอง รวมถึงถั่วต่างๆ น้ำอัดลมสีเข้ม น้ำแร่ ขนมปัง ไอศครีม
แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสต่ำได้ เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ ไข่ขาว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน น้ำขิง น้ำมะนาวโซดา ในสัดส่วนที่เหมาะสม
- โพแทสเซียม*
ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมในระยะที่ 3 ขึ้นไป จะมีการขับโพแทสเซียมได้น้อยลง ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมในระยะที่ 3 ขึ้นไปหรือมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น อาหารจำพวกผักสีเข้ม เช่น บล็อกคโคลี่ คะน้า หัวปลี กะหล่ำดอก แครอท
ในส่วนของผลไม้ เช่น ส้ม ทุเรียน แตงโม มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง ขนุน แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ จำพวกผัก เช่น กะหล่ำปลี ยอดมะระ ผักกาดขาว ผักบุ้ง มะเขือยาว ผลไม้ เช่น เงาะ มังคุด สับปะรด แอปเปิ้ล ในสัดส่วนที่เหมาะสม
- ไขมัน
แนะนำให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก เนื้อปลาทะเล หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว เนย กะทิ เครื่องในสัตว์ หมูสามชั้น
- เมนูอาหารแนะนำ
เมนูอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนคุณภาพดี และมีรสจืด เช่น ข้าวต้มไก่ ไก่ผัดพริกหยวก ต้มข่าเห็ด ยำวุ้นเส้น สเต็กปลากระพง สลัดเปรี้ยวหวาน ผัดยอดมะระหมูสับ ต้มจืดผักกาดขาววุ้นเส้น เป็นต้น
*อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคไตนั้นมีความจำเพาะของโรคมาก ดังนั้น หากท่านอยากทราบสารอาหารที่เหมาะสมกับระยะของโรคไตที่ท่านกำลังเป็นอยู่ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคไตโดยตรงจะดีที่สุด
การเลือกรับประทานอาหารของผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว
สำหรับคนที่ไม่มีโรคประจำตัว สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยแนะนำว่าให้ใช้หลักการ Plate Method นั่นก็คือ การแบ่งอาหารในจานเป็นส่วนๆ
- โดยครึ่งนึงเป็นอาหารประเภทผักสด/ผักสุกหลากสี
- อีก ¼ ส่วนเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตประเภทข้าว/แป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต
- อีก ¼ ส่วนเป็นอาหารประเภทโปรตีนประเภทเนื้อสัตว์คุณภาพดีไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา สันในหมู สันในไก่ อกไก่
- ส่วนผลไม้ให้เลือกแบบที่รสไม่หวานจัด เช่น ส้ม ฝรั่ง แอปเปิ้ล แก้วมังกร ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
แนะนำให้ปรุงอาหารโดยใช้วิธีการต้ม นึ่ง ตุ๋น อบ หรือผัดโดยใช้น้ำมันที่ประกอบไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก และน้ำมันคาโนล่า หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านการทอด หากเลี่ยงไม่ได้หรืออยากรับประทานจริงๆ แนะนำให้ใช้น้ำมันรำข้าวในการทอดแทนน้ำมันปาล์มที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว
หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป (processed meat) เช่น ไส้กรอก เบคอน โบโลน่า แหนม หมูยอ หากมีอาการโหยหรืออยากเคี้ยวของจุบจิบระหว่างวัน สามารถรับประทานถั่วเป็นอาหารว่างได้ เช่น ถั่วอัลมอนด์ ถั่วพิสตาชิโอ โดยรับประทานได้วันละประมาณ 1 ฝ่ามือ แบ่งทาน 1-2 ครั้ง ไม่ควรรับประทานมากกว่านี้ เพราะถึงแม้ว่าถั่วจะประกอบไปด้วยไขมันดีแต่ก็ให้พลังงานสูง หากรับประทานในปริมาณมากเกินกว่าที่แนะนำก็อาจทำให้อ้วนได้
ดูแลเรื่องโภชนาการอย่างเดียว เพียงพอหรือไม่
โดยทั่วไปแล้ว การดูแลสุขภาพตัวเองเบื้องต้น นอกจากการใส่ใจในเรื่องของอาหารที่เป็นประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ ยังต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
- พลังงานที่ควรได้รับต่อวัน - โดยค่าพลังงานที่ได้รับต่อวันที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 25-30 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน อายุ และปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
- น้ำหนักในอุดมคติ (Ideal Body Weight: IBW) หรือ น้ำหนักที่ควรจะเป็น พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับน้ำหนักในอุดมคติ โดยในผู้ชายให้นำส่วนสูงลบ100 ส่วนในผู้หญิงให้นำส่วนสูงลบ105 จะได้น้ำหนักในอุดมคติของแต่ละบุคคล
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน พยายามไม่เครียด
- ดื่มน้ำสะอาด ให้ได้อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน (ผู้ป่วยโรคไต ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคไตอีกครั้ง)
- ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ นอกจากเรื่องอาหาร การนอนหลับ ก็ควรเน้นในเรื่องของ lifestyle ด้วยเช่นกัน เช่น มีการเคลื่อนไหวร่างกายให้บ่อยขึ้น ออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสมหรือออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเร็ว เดินในน้ำ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ (Stationary Bike) โดยแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
- หากต้องการดื่มกาแฟ แนะนำให้ดื่มเป็นกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล หรือกาแฟใส่นมจืดไม่เติมน้ำตาล หลีกเลี่ยงกาแฟสำเร็จรูป (3 in 1) และครีมเทียม เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลและไขมันที่มากเกินไป
ข้อแนะนำเหล่านี้สามารถทำได้ทั้งในคนที่มีสุขภาพดีไม่มีโรคประจำตัว และจะยิ่งดีมากขึ้นหากทำในคนที่มีโรคประจำตัว เพราะอย่างที่บอกไว้ว่า อาหารสามารถเป็นยาได้ หากรับประทานอาหารที่เหมาะกับตัวเอง ก็จะยิ่งทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวมักต้องการการดูแลด้านอาหารที่ละเอียดอ่อนและพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป เพราะด้วยตัวโรคทำให้อวัยวะภายในบางส่วนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงต้องมีความเข้าใจและใส่ใจในพฤติกรรมการเลือกและจัดเตรียมอาหารมากเป็นพิเศษ การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะช่วยให้อวัยวะภายในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ป้องกันการกำเริบของโรค และได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เมื่อใส่ใจดูแลเรื่องอาหารที่รับประทานแล้ว อย่าลืมออกกำลังกายเบาๆ อย่างพอเหมาะ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างสุขภาพองค์รวมให้แข็งแรง
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :นพ. อาทิตย์ วีระเบญจพล อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม รพ.สมิติเวช สุขุมวิท
ภาพ :iStock
เข้าชม : 382
|