กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ประชาชนมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยเฉลี่ย 14 ชั่วโมงต่อวัน เสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แนะควรมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ 150 นาทีต่อสัปดาห์ขึ้นไป สามารถช่วยลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้คนไทยทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเฉลี่ย 14 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งข้อมูลจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พบว่าการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน ร้อยละ 27 โรคมะเร็งลำไส้ ร้อยละ 25 โรคมะเร็งเต้านม ร้อยละ 21 และโรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 6 สาเหตุเกิดจากมีพฤติกรรมเหล่านี้มากเกินไป เช่น การนั่งทำงาน การนั่งประชุม การนั่งหรือนอนเล่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทำให้มีเวลาและโอกาสในการออกกำลังกายน้อยลง ดังนั้น ควรเพิ่มกิจกรรมทางกายสะสมในแต่ละช่วงเวลาของวัน เช่น ในเวลาทำงาน หรือการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการลุกยืน และเดินไปดื่มน้ำ หรือเข้าห้องน้ำ การยืนในช่วงเวลาเบรค หลังจากนั่งเก้าอี้ทำงานทุก 1 ชั่วโมง และการเดินขึ้นลงบันไดแทนการ ใช้ลิฟต์ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น และเป็นการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งด้วย
“สำหรับเป้าหมายการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยในปี 2573 ตั้งเป้าให้กลุ่มอายุ 5-17 ปี มีกิจกรรมทางกาย ร้อยละ 40 และกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป มีกิจกรรมทางกาย ร้อยละ 80 ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มวัย ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ 150 นาทีต่อสัปดาห์ขึ้นไป จะสามารถช่วยลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานที่บ้าน (Work From Home) เสี่ยงต่อพฤติกรรมเนือยนิ่ง จึงควร ยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุก 1 ชั่วโมง หรือเพิ่มกิจกรรมทางกายโดยใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การกวาดบ้าน การถูพื้น ทำสวน ยกของ ย้ายของ การเดินขึ้นลงบันได หรือการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ในบ้าน เช่น กระโดดเชือก โยคะ เป็นต้น เป็นการสร้างสุขภาพดีได้ง่าย ๆ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ข้อมูลจาก กรมอนามัย