โรคมะเร็งปอด (Lung cancer) เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ เป็นโรคพบบ่อยมากทั้งในคนไทยและทั่วโลก พบในผู้ชายได้บ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 ถึง 3 เท่า โดยทั่วไปพบโรคได้สูงตั้งแต่ในอายุ 35 ปีขึ้นไป โรคมะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก และมีความรุนแรงโรคสูงมาก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งทั้งหมด โดยพบผู้ป่วยใหม่โรคนี้ได้ประมาณ 1.1 ล้านคนต่อปี ในการนี้จะเสียชีวิต 0.94 ล้านราย (ผู้หญิง 0.43 ล้านราย ผู้ชาย 0.51 ล้านราย) ส่วนในประเทศไทย ในช่วงพ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้ในผู้หญิง 9.7 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน และในผู้ชาย 24.9 ราย ต่อประชากรชาย 100,000 คน โรคมะเร็งปอดมีได้หลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยมีสองชนิดหลัก คือ ชนิดเซลล์ตัวโต (ตัวใหญ่ หรือ Non-small cell carcinoma) และชนิดเซลล์ตัวเล็ก (Small cell carcinoma) โรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต พบได้บ่อยกว่าชนิดเซลล์ตัวเล็กมาก มักลุกลามอยู่ในปอดและเนื้อเยื่อข้างเคียงก่อน ต่อจากนั้นจึงลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด และในช่องอก แล้วจึงแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต (เลือด) โรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก พบได้น้อยกว่าชนิดเซลล์ตัวโตมาก แต่รุนแรงกว่า เมื่อตรวจพบ โรคมักลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายสู่กระแสโลหิตแล้ว โรคมะเร็งปอดทั้งสองชนิด เมื่อแพร่กระจาย มักเข้าสู่ เนื้อเยื่อปอดในส่วนอื่นๆ สู่เยื่อหุ้มปอด กระดูก สมอง ต่อมหมวกไต และตับ โรคมะเร็งปอดเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม? มะเร็งปอด ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็งปอด แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด คือ การสูบบุหรี่ และได้รับควันบุหรี่ (สูบบุหรี่มือสอง) โดยเฉพาะเมื่อสูบจัดต่อเนื่อง (ตั้งแต่วันละ 1 ซองขึ้นไป) นอกจากนั้น อาจจากได้รับฝุ่นแร่บางชนิดเรื้อรัง เช่น จากการทำเหมืองแร่ต่างๆ เช่น แร่ใยหิน (Asbestos) และแร่ยูเรเนียม (Uranium) หรือ อาจจากมีพันธุกรรมบางชนิดผิด ปกติ โรคมะเร็งปอดมีอาการอย่างไร? ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งปอด แต่มีอาการคล้ายกับอาการทั่วไปของโรคปอดจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งอาการพบบ่อยของโรคมะเร็งปอด ได้แก่ ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค ไอเรื้อรัง อาจมีเสมหะปนเลือด อาจมีเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ โดยเฉพาะเมื่อมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด อาจมีเสียงแหบเรื้อรังเมื่อโรคลุกลามเข้าประสาทกล่องเสียงส่วนที่อยู่ในช่องอก ผอมลง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ใบหน้า ลำคอ แขนบวม มักพบเกิดกับแขนด้านขวามากกว่าด้านซ้าย ร่วมกับเหนื่อยหอบ เมื่อโรคลุกลาม หรือ กดเบียดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องอก อาการจากโรคแพร่กระจายซึ่งขึ้นกับอวัยวะที่มีโรคแพร่กระจาย เช่น ปวดหลังมาก (โรคแพร่กระจายเข้ากระดูกสันหลัง) ปวดศีรษะมาก ร่วมกับอาเจียน และ/หรือ แขน/ขาอ่อนแรง (เมื่อมีโรคแพร่กระจายสู่สมอง) แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งปอดได้อย่างไร? แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งปอด ได้จาก ประวัติอาการ ตรวจร่างกาย ตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ธรรมดา และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในปอด หรือ ในหลอดลม ทางพยาธิวิทยา (การตรวจทางพยาธิวิทยา) หรือ เจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อ หรือ น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา โรคมะเร็งปอดมีกี่ระยะ? โรคมะเร็งปอดแบ่งเป็น 4 ระยะ เช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ ได้แก่ ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็ก และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ระยะที่ 2: ก้อนเนื้อขนาดโตขึ้น และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งโตขึ้นมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง และ/หรือ ลุก ลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอก และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า ระยะที่ 4: โรคมะเร็งแพร่กระจายเกิดน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด และ/หรือ แพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ คือ ตัวปอดเอง กระดูก สมอง และตับ มีแนวทางรักษาโรคมะเร็งปอดอย่างไร? แนวทางการรักษาโรคมะเร็งปอด คือ การผ่าตัดเมื่อยังผ่าตัดได้ หลังจากนั้นจึงพิจารณารักษาต่อเนื่องด้วย รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัด หรือ เมื่อโรคลุกลามมาก การรักษามักเป็นยาเคมีบำบัด อาจร่วมกับรังสีรักษา ส่วนเมื่อโรคแพร่กระจายสู่อวัยวะต่างๆ การรักษามักเป็นการรักษาประคับประคอง อาจด้วยยาเคมีบำบัด รังสีรักษา วิธีใดวิธีเดียว หรือ ทั้งสองวิธีร่วมกัน และร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินทางปากได้น้อย และการให้ยาบรรเทาปวดเมื่อมีอาการปวดต่างๆ เป็นต้น ส่วนการใช้ยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในการศึกษา และยังไม่ใช่ยารักษาเพื่อการหายขาด นอกจากนั้น ยังมีข้อจำกัดทางการใช้ยามาก โดยเฉพาะราคายายังแพงมหาศาล เมื่อผู้ป่วยต้อง การทราบ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลรักษา อย่างไรก็ตาม ในการรักษาแพทย์จะพิจารณาถึง ระยะโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง อายุ สุขภาพ และความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวเสมอ มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้างจากการรักษาโรคมะเร็งปอด? ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งปอดขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้นเมื่อ ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน และ/หรือ เมื่อผู้ป่วยสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโรคเรื้อรังประจำตัว โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคที่ก่อการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง และในผู้สูงอายุ การผ่าตัด ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ การสูญเสียอวัยวะ ต้องตัดเนื้อเยื่อปอดออก บางครั้งอาจต้องตัดปอดทั้งข้าง แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ รังสีรักษา ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ผลข้างเคียงต่อ ผิวหนังตรงส่วนที่ฉายรังสี และต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี ซึ่งคือในบริเวณปอด (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และผลข้างเคียงและการดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณปอด) ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด การมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง) ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่างๆติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้ โรคมะเร็งปอดรุนแรงไหม? รักษาหายไหม? มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่รุนแรงมากโรคหนึ่ง โอกาสรักษาหาย หรือ อัตรารอดที่ 5 ปี เมื่อโรคอยู่ในระยะที่ 1-2 ประมาณ 20-50% ระยะที่ 3 ประมาณ 5-15% และมักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 ปี เมื่อโรคอยู่ในระยะที่ 4 มีวิธีคัดกรองโรคมะเร็งปอดไหม? ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพ (การตรวจคัดกรองโรค มะเร็ง) ให้พบโรคได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มเป็น ระยะยังไม่มีอาการ ซึ่งนี่เองเป็นเหตุผลให้เมื่อตรวจพบ โรคมะเร็งปอดมักลุกลามแล้ว ทั้งนี้เพราะในระยะที่ 1-2 มักเป็นโรคในระยะยังไม่มีอาการ มีบางการศึกษาพบว่า การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดใช้ปริมาณรังสีต่ำ (รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค) เป็นระยะๆ ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ อาจช่วยตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดได้ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะการตรวจให้ผลผิดพลาดได้สูงอันนำไปสู่การต้องผ่าตัดปอดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งในภาพรวมเป็นการเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น และค่าใช้จ่ายในการตรวจในภาพรวม ยังสูงกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งปอดไหม? วิธีป้องกันโรคมะเร็งปอดที่ดีที่สุด คือ ไม่สูบบุหรี่ และ เลิกสูบบุหรี่ (เมื่อสูบบุหรี่) เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคมะเร็งปอด ? ควรพบแพทย์ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปีสม่ำเสมอ อาจเริ่มตั้งแต่อายุ 18 ปี และแจ้งแพทย์ให้ทราบเรื่องสูบบุหรี่ นอกจากนั้น คือ ควรรีบพบแพทย์ เมื่อมีอาการดังกล่าว ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร? การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมใน การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง บรรณานุกรม https://www.honestdocs.co/lung-cancer/lung-cancer-treatment https://www.honestdocs.co
เข้าชม : 937
|