รังไข่ (Ovary) เป็นอวัยวะคู่มีทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เป็นอวัยวะอยู่ในช่องท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) และอยู่ในระบบสืบพันธุ์เฉพาะของผู้หญิง มีหน้าที่สร้างไข่เพื่อการผสมพันธุ์และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง โดยปกติรังไข่แต่ละข้างในวัยเจริญพันธุ์ (วัยมีประจำเดือน) มีขนาดประ มาณ 1.5 x 2.5 x 4 เซนติเมตร และมีน้ำหนักข้างละประมาณ 4 - 5 กรัม รังไข่สามารถเกิดโรคมะเร็งได้ทั้งสองข้าง โดยพบเกิดกับข้างซ้ายและข้างขวาใกล้เคียงกัน ซึ่งพบพร้อมกันทั้งสองข้างได้ประมาณ 25% โรคมะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) เป็นมะเร็งพบบ่อยทั่วโลกรวมทั้งในผู้หญิงไทย (เป็น 1 ใน 10 โรคมะเร็งพบบ่อย) โดยทั่วไปพบได้ทั้งในเด็กโตและในผู้ใหญ่ แต่พบได้สูงขึ้นในช่วงอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ใน พ.ศ. 2557 ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 1.3 - 1.4%ของผู้หญิงอเมริกัน ในประเทศที่พัฒนาแล้วพบได้ประมาณ 9.4 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน และในประเทศที่กำลังพัฒนาพบได้ประมาณ 5 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน ประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2544 - 2546 รายงานจากทะเบียนมะเร็งแห่งชาติ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบโรคนี้ได้ 5.1 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน โรคมะเร็งรังไข่มีกี่ชนิด? มะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งรังไข่มีหลายชนิด แต่แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ ก. กลุ่มเกิดจากเซลล์ตัวอ่อน ที่เรียกว่า เจิมเซลล์ (Germ cell) มะเร็งกลุ่มนี้พบได้น้อย และมักพบในเด็กและในหญิงอายุน้อย เรียกมะเร็งกลุ่มนี้ว่า เนื้องอกเจิมเซลล์หรือมะเร็งเจิมเซลล์ (Germ cell tumor) ซึ่งพบมะเร็งรังไข่กลุ่มนี้ได้ประมาณ 5% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด ตัวอย่างชนิดมะเร็งในกลุ่มนี้เช่น Dysgerminoma, Embryonal cell carcinoma, Teratocarci noma ข. กลุ่มเกิดจากเซลล์เยื่อบุผิว (Epithelium)อาจเป็นเยื่อบุผิวของท่อนำไข่ หรือของเยื่อบุมดลูก หรือของเยื่อบุผิวของรังไข ซึ่งเป็นมะเร็งกลุ่มพบได้บ่อยที่สุด (ประมาณ 90%) และเป็นชนิดเกิดในผู้ใหญ่ โดยพบได้สูงตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งทั่วไปเมื่อพูดถึงโรคมะเร็งรังไข่มักหมายถึงโรคมะเร็งรังไข่ชนิดเกิดจากเยื่อบุผิวนี้เช่น ชนิด Papillary serous cystadeno carcinoma (พบได้บ่อยที่สุด) ที่พบได้รองๆลงไปเช่น Borderline adenocarcinoma, Adeno carcinoma, Mucinous cystadenacarcinoma เป็นต้น นอกจากนี้ มะเร็งรังไข่ในกลุ่มเยื่อบุผิวนี้ยังแบ่งได้เป็นอีก 2 แบบ/Type คือ มะเร็งรังไข่แบบ 1 (Ovarian cancer type 1) และมะเร็งรังไข่แบบ 2 (Ovarian cancer type 2) มะเร็งรังไข่แบบ 1 คือ มะเร็งรังไข่ที่มีความรุนแรงโรคต่ำ (Low grade tumor) ธรรมชาติของโรคไม่ค่อยลุกลามแพร่กระจาย จึงมักพบโรคนี้ในระยะที่ 1 และเป็นมะเร็งกลุ่มมีการพยากรณ์โรคที่ดี นอกจากนั้น โรคในกลุ่มนี้ยังมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติทางพันธุกรรม/จีน/ยีน เช่น KRAS, PTEN , BRAF แต่มักไม่พบความผิดปกติของจีน TP53 (Tumor protein 53) มะเร็งกลุ่มนี้ที่พบบ่อยคือ มะเร็งในกลุ่ม Borderline adenocarcinoma มะเร็งรังไข่แบบ 2 เป็นมะเร็งกลุ่มมีธรรมชาติของโรครุนแรง (High grade tumor) มักพบโรคในระยะลุกลามออกนอกรังไข่ไปแล้ว เป็นโรคที่มักพบร่วมกับมีจีนผิดปกติชนิด TP53, และ BRCA (Breast cancer) และเป็นโรคกลุ่มมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ค.ชนิดอื่นๆนอกเหนือจากกลุ่ม ก และ ข ดังกล่าว: พบรวมกันแล้วได้ประมาณ 5% เช่น Sex cord stromal tumor, Mullerian tumor *อนึ่ง ในบทความนี้ มะเร็งรังไข่จะหมายถึงมะเร็งในกลุ่มเยื่อบุผิว โรคมะเร็งรังไข่มีสาเหตุจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม? ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ที่แน่ชัด แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงคือ มีความผิดปกติทางพันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งรังไข่ (โดยเฉพาะในญาติสายตรง) โรคมะเร็งเต้านม และ/หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ อายุ: มักพบโรคในอายุ 50 ปีขึ้นไปดังกล่าวแล้ว เมื่อเคยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ข้างหนึ่งมาแล้ว โรคมะเร็งเต้านมและ/หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ อ้วน: พบโรคในคนอ้วนสูงกว่าในคนผอม การตั้งครรภ์: พบโรคในคนไม่เคยตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ 1 - 2 ครรภ์ สูงกว่าคนตั้งครรภ์มากกว่านี้ และพบได้สูงกว่าในคนตั้งครรภ์ครั้งแรกอายุมากกว่า 30 ปี ประจำเดือน: พบโรคได้สูงกว่าในคนมีประจำเดือนเร็วคืออายุต่ำกว่า 12 ปี หรือหมดประจำเดือนช้าคือช้ากว่าอายุ 55 ปี อาจจากใช้ยากระตุ้นการตกไข่ ในการกระตุ้นให้เกิดการตั้งครรภ์เช่น ในภาวะมีบุตรยาก อาจจากใช้ยาฮอร์โมนเพศชดเชยในช่วงวัยหมดประจำเดือน โรคมะเร็งรังไข่มีอาการอย่างไร? ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งรังไข่ในระยะแรกๆ แต่เป็นอาการคล้ายทางโรคกระเพาะอาหารทั่วไปเช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอ หรือมีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และ/หรือท้องผูกจากก้อนมะเร็งกดเบียดทับลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ และ/หรือลำไส้ใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยโรคในระยะลุกลามเสมอกล่าวคือ เมื่อคลำก้อนเนื้อได้ในท้องน้อย ปวดท้องน้อย มีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีน้ำในช่องท้อง (ท้องมาน) แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร? แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน การตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่สร้างจากเซลล์มะเร็งรังไข่ การตรวจภาพช่องท้องด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในโรคเกี่ยวกับมีก้อนเนื้อในรังไข่จะไม่มีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเหมือนในโรคอื่นๆ เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากการตัดชิ้นเนื้อได้สูงเช่น เกิดเลือดออกในช่องท้องหรือมีลำไส้ทะลุได้จากเข็มเจาะพลาดไปโดนลำไส้ และหากเป็นมะเร็งจะเป็นสาเหตุให้เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าสู่เยื่อบุช่องท้อง นอกจากนั้นเมื่อมีก้อนเนื้อในรังไข่ การรักษาหลักคือ การผ่าตัดเสมอ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ที่แน่นอน จึงได้จากแพทย์ตรวจรังไข่ในขณะผ่าตัดและจากตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหลังผ่าตัดตรวจทางพยาธิวิทยา โรคมะเร็งรังไข่มีกี่ระยะ? โรคมะเร็งรังไข่มี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และในแต่ละระยะยังแบ่งย่อยได้อีก เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นข้อบ่งชี้ทางการรักษาและในการศึกษาวิจัย ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงแต่ 4 ระยะหลักได้แก่ ระยะที่ 1 โรคมะเร็งลุกลามอยู่แต่เฉพาะในรังไข่อาจข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ระยะที่ 2 โรคมะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะอื่นๆในท้องน้อยเช่น มดลูกและ/หรือเยื่อบุช่องท้องในส่วนช่องท้องน้อย ะยะที่ 3 โรคมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะในช่องท้องเช่น ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง และ/หรือเยื่อบุช่องท้องส่วนเหนือช่องท้องน้อย และ/หรือมีน้ำในช่องท้อง ระยะที่ 4 มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต (เลือด) ไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักเข้าสู่ปอด ตับ และสมอง รักษาโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร? แนวทางการรักษาของโรคมะเร็งรังไข่คือ ผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้างร่วมกับผ่าตัดมดลูกและปีกมดลูก/ท่อนำไข่ทั้งสองข้าง เพราะเป็นอวัยวะที่โรคมะเร็งอาจลุกลามได้ และรักษาต่อเนื่องด้วยยาเคมีบำบัดเมื่อเป็นโรคที่เซลล์มะเร็งเป็นชนิดรุนแรงและ/หรือเมื่อมีโรคลุกลามแล้ว ส่วนรังสีรักษาจะใช้ในกรณีเมื่อมีโรคแพร่กระจายเพียงเพื่อช่วยบรรเทาอาการเช่น เมื่อมีโรคแพร่กระ จายเข้ากระดูกและก่ออาการปวดกระดูก เป็นต้น ส่วนยารักษาตรงเป้ายังอยู่ในการศึกษาและราคายายังแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาได้ มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งรังไข่อย่างไรบ้าง? ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งรังไข่จะขึ้นกับวิธีรักษาได้แก่ เมื่อเกิดจากการผ่าตัดคือ แผลติดเชื้อ และการสูญเสียอวัยวะ และการขาดฮอร์โมนเพศจากการผ่าตัดรังไข่เมื่อผู้ป่วยยังไม่หมดประจำเดือน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุนและกระ ดูกหักได้สูงขึ้น ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดเช่นเดียวกับในยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดคือ คลื่นไส้ อาเจียน และไขกระดูกทำงานลดลง จึงเกิดภาวะซีด ภาวะติดเชื้อจากเม็ดเลือดขาวต่ำ(ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา) และภาวะเลือดออกง่ายแต่หยุดยากจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ผลข้างเคียงจากรังสีรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นกับบริเวณที่ได้รับรังสีเช่น ผลต่อผิวหนังบริเวณได้รับรังสี (การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) เป็นต้น ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้าคือ ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาด แผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้ ทั้งนี้ผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ ใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน เมื่อมีโรคเรื้อรังประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเช่น โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน เมื่อสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ในผู้สูงอายุ โรคมะเร็งรังไข่รุนแรงไหม? โรคมะเร็งรังไข่ชนิดที่เกิดจากเซลล์มะเร็งเจิมเซลล์เป็นโรคมีความรุนแรงค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง เพราะโรคมักตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา แต่โรคมะเร็งรังไข่ชนิดเกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวจัดเป็นโรคค่อนข้างรุนแรง เพราะดังกล่าวแล้วว่า ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในโรคระยะลุกลาม ดังนั้นการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งให้หมดจึงมักเป็นไปได้ยาก และเซลล์มะเร็งมักดื้อต่อยาเคมีบำบัดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งดื้อต่อรังสีรักษา โดยทั่วไปอัตรารอดที่ 5 ปี ในโรคระยะที่ 1 ประมาณ 60 - 70% ระยะที่ 2 ประมาณ 30 - 60% โรคระยะที่ 3 ประมาณ 0 -50% และโรคระยะที่ 4 ประมาณ 0 - 20 % ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ (การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง) ในการตรวจให้พบโรคมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การรีบพบสูตินรีแพทย์เสมอเมื่อมีความผิดปกติทางประจำเดือน ทางปัสสาวะและ/หรือทางอุจจาระ และ/หรือ คลำได้ก้อนเนื้อในช่องท้องน้อย หรือเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ทั้งนี้เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศที่เจริญแล้วกำลังมีการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถค้นพบวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะยังไม่มีอาการ ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงขึ้น จนสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในทางคลินิก ในผู้ที่แพทย์ประเมินแล้วว่ามีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่เช่น ในหญิงที่ครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่โดยเฉพาะที่ตรวจพบโรคได้ในอายุก่อน 50 ปี แพทย์มักเฝ้าติดตามผู้มีปัจจัยเสี่ยงนั้นอย่างใกล้ชิดเช่น ทุก 3 - 6 เดือน โดยในการเฝ้าติดตามนี้ แพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจภายใน และอาจมีการตรวจภาพช่องท้อง/ช่องท้องน้อยด้วยอัลตราซาวด์ และร่วมกับการตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่สัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่ ซึ่งความถี่ในการตรวจอัลตราซาวด์และการตรวจเลือดจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ป้องกันโรคมะเร็งรังไข่อย่างไร? เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2558 สมาคมโรคมะเร็งนรีเวชแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Society of Gynecologic Oncology) ได้แนะนำแนวทางการป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ในผู้ที่สูตินรีแพทย์ประ เมินแล้วว่า มีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดมะเร็งรังไข่ (ที่สำคัญที่สุดคือ มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะเมื่อพบโรคในอายุต่ำกว่า 50 ปี และในผู้ตรวจพบมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นวิธีที่มีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีการตรวจและค่าใช้จ่ายในการตรวจที่สูงมาก) ทั้งนี้ สมาคมฯได้แนะนำไว้หลายวิธี ซึ่งแพทย์และผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯต้องปรึกษากันเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมกับผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯมากที่สุด วิธีต่างๆดังกล่าวได้แก่ การกินยาเม็ดคุมกำเนิดโดยกินต่อเนื่องให้ได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะไม่เกิดผลเสียต่อผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออก จากเพราะเชื่อว่าเซลล์มะเร็งเกิดจากท่อนำไข่และมาเจริญเติบโตที่รังไข่ ผ่าตัดออกทั้งรังไข่และท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง เฝ้าระวังโรคเป็นระยะๆ โดยความถี่ในการตรวจเฝ้าระวังขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ด้วยการตรวจภายใน การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องดูการเปลี่ยนแปลงของรังไข่ ร่วมกับการตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่สัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่ เมื่อมีบุตรครบตามต้องการและมีโรคอื่นในอุ้งเชิงกรานที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเช่น เนื้องอกมดลูก ให้ผ่าตัดท่อนำไข่และ/หรือรังไข่ร่วมไปด้วยเลย ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร? การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เช่นเดียวกับการดูแลตนเองและการดูแลผู้ ป่วยมะเร็งทุกชนิด อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำ บัด บรรณานุกรม https://www.honestdocs.co/what-is-ovarian-cancer
เข้าชม : 362
|