[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
สภาพทั่วไป
                ตำบลชุมพล ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ อยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอสทิงพระ ระยะห่างจากที่ว่าการอำเภอสทิงพระ ประมาณ 15.5 กิโลเมตร   มีเนื้อที่  10.5  ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ 7,250 ไร่ มีอาณาเขต ดังนี้
            ทิศตะวันออก              จดทะเลอ่าวไทย
            ทิศตะวันตก                   จดอำเภอกระแสสินธุ์
            ทิศเหนือ                        จดอำเภอระโนด
            ทิศใต้                            จดตำบลดีหลวง และตำบลคลองรี ของอำเภอสทิงพระ
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นพื้นที่มีสภาพเป็นที่ราบต่ำ ลาดเอียงขนานกับทะเลอ่าวไทยบางส่วน ที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ขนาบด้วย ถนนเขาแดง – ระโนด, ชุมพล – ชายทะเล, ชุมพล – กระแสสินธุ์    พื้นที่ด้านตะวันตกและทิศเหนือเป็นที่นา   ลักษณะดินเป็นดินเหนียวเหมาะแก่การทำนาข้าว และมีไม้ยืนต้นสำคัญเป็นเอกลักษณ์คือต้นตาลโตนด มีคลองชลประทานตัดผ่านตลอดตามแนวยาวของตำบล คือคลองพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก
ลักษณะภูมิอากาศ
                ตำบลชุมพล อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 26 – 30 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 2,000     มิลลิเมตร/ปี   ตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมเมืองร้อน มีลมมรสุมพัดผ่านประจำทุกปี คือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนมกราคม และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม จากอิทธิพลของลมมรสุมดังกล่าว ส่งผลให้มี 2 ฤดู คือ
 
                ฤดูร้อน                 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน – เดือนกันยายน
                ฤดูฝน                     เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม – เดือนมีนาคม
แหล่งน้ำ
ราษฎรอาศัยน้ำฝน น้ำจากคลองพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก   ตระพังพระ และสระหนอง หยางซึ่งเป็นแหล่งน้ำจากธรรมชาติ
ประชากรและครัวเรือน    
ตำบลชุมพล ในปี  2554   มีประชากรทั้งหมด 5,703 คน จำแนกเป็นชาย 2,761 คน หญิง 2,942 คน จำนวนครัวเรือน 1 ,278 ครัวเรือน โดยมีครัวเรือนเกษตรกร จำนวน 1,005 ครัวเรือน 
 
เขตการปกครอง
                ตำบลชุมพลแบ่งการปกครองออกเป็น 7 หมู่บ้าน ดังนี้
            หมู่ที่ 1               บ้านชุมพลชายทะเล
            หมู่ที่ 2               บ้านวัดกระชายทะเล
            หมู่ที่ 3               บ้านนางเหล้า
            หมู่ที่ 4               บ้านวัดกระ
            หมู่ที่ 5               บ้านคลองฉนวน
            หมู่ที่ 6               บ้านพะโคะ
            หมู่ที่ 7               บ้านชุมพล
               
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          ตำบลชุมพลมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ
            1. ทรัพยากรดิน เนื้อที่ทั้งหมดของตำบลชุมพล มีประมาณ 10.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 7,250 ไร่ พื้นที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว / ดินร่วนปนทราย และมีน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นที่นาของเกษตรกร   และบางส่วนเป็นพื้นที่ดินเหนียวปนดินร่วน เหมาะแก่การทำการเกษตร ปลูกพืชสวน แต่จะเป็นรูปแบบไร่นาสวนผสม
            2. ทรัพยากรน้ำ ทิศตะวันออกของตำบลชุมพลจดทะเลอ่าวไทย เป็นแหล่งที่มี่ความอุดมสมบูรณ์ในทางทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล สัตว์น้ำและความสวยงามทางธรรมชาติ ชายหาด จึงมีการประกอบอาชีพการประมง   เลี้ยงกุ้ง และสัตว์น้ำ    นอกจากนี้ยังมีคลองพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ที่เป็นคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร และป้องกันปัญหาน้ำท่วมให้แก่เกษตรกรในตำบล   ความยาวของคลองผ่านพื้นที่ของหลายตำบล รวมทั้งพื้นที่ของตำบลชุมพลด้วย  
            3. ทรัพยากรป่าไม้ ในพื้นที่ของตำบลชุมพล มีต้นไม้ที่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของตำบล คือ ต้นตาลโตนด
 ด้านเศรษฐกิจ
            ตำบลชุมพลมีพื้นที่ทำการเกษตร รวม 5,951 ไร่ จำแนกตามรายหมู่บ้าน ดังนี้
            หมู่ที่ 1              บ้านชุมพลชายทะเล          มีพื้นที่                        719   ไร่
            หมู่ที่ 2               บ้านวัดกระชายทะเล         มีพื้นที่                        542   ไร่
            หมู่ที่ 3               บ้านนางเหล้า                      มีพื้นที่                    1 ,218   ไร่
            หมู่ที่ 4               บ้านวัดกระ                           มีพื้นที่                        671   ไร่
            หมู่ที่ 5               บ้านคลองฉนวน                 มีพื้นที่                    1,066    ไร่
            หมู่ที่ 6               บ้านพะโคะ                          มีพื้นที่                  954   ไร่
            หมู่ที่ 7               บ้านชุมพล                     มีพื้นที่                       790   ไร่
            พืชเศรษฐกิจ
                        - ตาลโตนด เนื้อที่ประมาณ 1 ใน 4 ของพื้นที่ของตำบลชุมพลทั้งหมด มีต้นตาลโตนด ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น ผลผลิตที่เกิดจากตาลโตนดได้แก่ ลูกตาลสด น้ำตาลสด น้ำส้มโตนด   ทั้งนี้ก่อให้เกิดโรงงานแปรรูปลูกตาล กลุ่มอาชีพ ผลิตภัณฑ์ชุมชน (น้ำตาลแว่น) และทุกส่วนของต้นตาลโตนดยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำประโยชน์และสร้างมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น
                        - ข้าว ประชากรส่วนใหญ่ในตำบลชุมพล มีการประกอบอาชีพทำนา ซึ่งหนึ่งปีจะมีการทำนาหนึ่งครั้ง เรียกว่าการทำนาปี เพราะจะมีน้ำในการทำนาอย่างเพียงพอ บางปีก็มีการทำนาปรังบ้าง แต่จะมีเฉพาะรายที่มีที่นาใกล้แหล่งน้ำ หรือสะดวกในการดึงน้ำเข้านา
            การประมง
            ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ติดต่อกับทะเลอ่าวไทยทำให้เหมาะสมและเอื้อต่อการประกอบอาชีพประมง มีประชากรในตำบลชุมพลหมู่ที่ 1 ,2 ที่ทำการประมงเพื่อการนำมาบริโภคในครัวเรือน และนอกจากนั้นก็เพื่อการจำหน่ายในท้องถิ่น
            ปศุตว์
            ประชากรในตำบลชุมพล มีการเลี้ยงโคและสุกร ดังนี้
            - เลี้ยงโค           จำนวน 1,040 ราย          จำนวน 2,080    ตัว
            - เลี้ยงสุกร         จำนวน       17 ราย        จำนวน       300 ตัว
สังคมและวัฒนธรรม
              ประชาชนในตำบลชุมพลมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ มีการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะจากต้นตาลโตนด ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในชุมชนนี้ ทั้งเพื่อใช้ในอุปโภค บริโภค และเพื่อจำหน่ายประชากรในตำบลชุมพล ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน   ทำน้ำตาลโตนด (ขึ้นตาล) และมีการประกอบอาชีพ
 
ทำการประมง บ้างบางส่วน สิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านคลองฉนวน คือ วิถีชีวิตการทำน้ำตาลโตนด   ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำตาลโตนด   คือการทำน้ำตาล แว่น และน้ำตาลผงชงกาแฟ 
 
วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นของตำบลชุมพล มีดังนี้ 
            1.  ด้านอาหารมีวัฒนธรรมการกินเช่นเดียวกับชาวภาคใต้ทั่วไปคือรับประทานข้าวเจ้าเป็นหลัก ส่วนข้าวเหนียวจะใช้ประกอบเป็นของหวาน     โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น (โดยเฉพาะจากตาลโตนด) มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการถนอมอาหาร การประกอบอาหารคาว หวาน สำหรับไว้บริโภค และจำหน่าย เช่น
            1.1  การถนอมอาหาร เช่น  การทำน้ำตาลแว่น น้ำตาลผงสำหรับชงกาแฟ และน้ำผึ้งเหลว และจาวตาลเชื่อม ปลาเค็ม ปลาหวาน กะปิ เป็นต้น
1.2 อาหารคาว เช่น แกงพุงปลา แกงเลียง  แกงส้ม แกงคั่ว แกงสมรม  แกงมอบปู และยำหัวโหนด เป็นต้น
            1.3  อาหารหวาน เช่น ขนมขี้มอด ขนมขี้หนู ขนมก้อ (ขนมโก๋) ขนมก้อกวน(ขนมดู)   ขนมนางเล็ด ข้าวพอง งาขาว งาดำ เป็นต้น
            2. การแต่งกาย ประชาชนในตำบลชุมพลมีวัฒนธรรมการแต่งกาย แบบชาวภาคใต้ที่อยู่ในชุมชนที่เป็นชนบททั่วไป เช่น นิยมนุ่งโสร่งขณะอยู่กับบ้าน ทั้งหญิงและชาย และสวมกางเกงเมื่อออกไปทำธุระนอกบ้าน และยังมีอยู่บ้างที่ผู้หญิงบางคนที่ยังนิยมนุ่งโสร่งเมื่อไปทำธุระนอกบ้าน
            3. ด้านที่อยู่อาศัย การสร้างบ้านเรือนของชาวชุมชนตำบลชุมพล ส่วนใหญ่จะสร้างภายในชุมชนหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ไม่มีรั้วบ้านถาวร แต่มีต้นไม้ขนาดเล็ก หรือไม้ที่หาได้จากท้องถิ่น เป็นรั้วกั้น หรือถ้ามีก็เป็นรั้วเตี้ย ๆ สามารถเดินเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมู่บ้าน   และมีที่อยู่อาศัยอีกลักษณะหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมปลูกไว้ชั่วคราวใกล้ ๆ บริเวณที่ทำกิน เรียกว่า ขนำ ตามคติที่ว่าปลูกบ้าน แค่บ่อ แค่ท่า   แค่นา เพื่อความสะดวกในการทำกิน หรือการประกอบอาชีพ
            4. ประเพณี   เนื่องจากคนในตำบลชุมพล  มีคติความเชื่ออันสืบเนื่องมาจากการนับถือศาสนาและระบบธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้เกิดวิถีปฏิบัติทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่นอย่างหลากหลาย ซึ่งล้วนแต่เนื่องมาจากศาสนา สามารถจัดกิจกรรมได้อย่างใหญ่โต สร้างศรัทธาให้กับชุมชนอย่างกว้างขวาง ได้แก่
                   4.1ประเพณีท้องถิ่น เช่น ประเพณีทอดผ้าป่าประจำปีวัดพะโคะ (ประเพณีทำบุญเดือนยี่ จัดขึ้นเพื่อเป็นการทำบุญบูชาหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) ประเพณีสรงน้ำหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีทำบุญเดือนสิบ ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีลากพระแบบโบราณ และ ประเพณีลอยกระทง
                        4.2  ประเพณีส่วนบุคคล เช่น ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีงานบวช ประเพณีงานแต่งงาน และประเพณีงานศพ
5.  ด้านภาษา ประชาชนในตำบลชุมพลมีวัฒนธรรมด้านภาษา เหมือนกับชาวภาคใต้ทั่วไป คือ ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ แต่ยังคงรักษาภาษาใต้แบบดั้งเดิม
6. ด้านอาชีพ ประชาชนในตำบลชุมพลส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำน้ำตาลโตนด เลี้ยงสัตว์ และทำการประมงพื้นบ้าน 
7.  ด้านความเชื่อเป็นระบบความเชื่อทางศาสนาและระบบธรรมชาติแวดล้อม   เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ   ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม ทำให้มีคติความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ   ผีสาง เทวดาอารักษ์    ความเชื่อเกี่ยวกับฤกษ์ยาม เกี่ยวกับโชคลาง   ความเชื่อเกี่ยวกับทวด และความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
8. ศิลปะพื้นถิ่น   ประชาชนในตำบลชุมพลมีศิลปะพื้นถิ่นเช่นเดียวกับชาวภาคใต้ทั่วไปคือ นิยมการละเล่น ประเภท โนรา หนังตะลุง เพลงบอก และกลองยาว
นอกจากนี้ตำบลชุมพล ยังมีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดี ให้เยาวชน และประชาชนได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า ดังนี้
1. เป็นแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีประเภทชุมชนโบราณ คือ เป็น
ชุมชนโบราณสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ชื่อว่าชุมชนโบราณเขาคูหา เขาพะโคะ   หลักฐานสำคัญคือมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่เนื่องในพิธีกรรมทางศาสนา และถ้ำที่เป็นเทวสถาน บริเวณแหล่งน้ำนี้มีการสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ 
2. เป็นแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีประเภทวัดและเจดีย์สถาน คือ   วัดพะโคะ หลักฐานสำคัญ คือ พระมหาธาตุเจดีย์   อุโบสถ พระพุทธไสยาสน์ จิตรกรรมฝาผนัง พิพิธภัณฑ์
                3.  เป็นแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีประเภทถ้ำ คือถ้ำขุดเขาคูหา   หลักฐานสำคัญ คือ เทวรูป   ศิวลึงค์ โยนีโทรนะ
 
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
                ในอดีต (ประมาณกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) บริเวณหมู่บ้านแห่งนี้ (หมู่ที่ 7 บ้านชุมพล)      เป็นสถานที่ประชุมนัดหมายของชาวบ้านเพื่อขนทรายไปสร้างเจดีย์วัดพะโคะโดยเรียกสถานที่ดังกล่าวว่าที่ชุมคน และได้สร้างเป็นพลับพลาสำนักสงฆ์ชุมคน เมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นวัดก็มีชื่อเรียกว่าวัดชุมคน และกลายเสียงเป็น วัดชุมพล ขณะเดียวกันก็เป็นชื่อหมู่บ้านที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณในวัดทำนองเดียวกันว่า บ้านชุมพล 
อีกกระแสหนึ่ง กล่าวว่า หมู่บ้านแห่งนี้สมัยก่อนเป็นที่ตั้งค่ายทหารของไทย ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นที่ชุมพลทหาร โดยมีหัวหน้าทหารชื่อ ขุนชัย นำทหารตระเวนรุกไล่ข้าศึก (โจรแขกมลายู) จนกระทั่งได้รับชัยชนะ (ที่บ้านสนามชัย) นอกจานั้นยังปรากฏชื่อสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งค่ายชุมพลทหารครั้งนั้นอีกหลายแห่งด้วยกัน ได้แก่ พังขุนชัย พังค่ายออก พังค่ายตก พังเหวน (พังน้ำที่ขุดขึ้นนบริเวณพื้นที่ลาดตระเวนอยู่เวรยาม) และหนองแกนดำ เป็นต้น บริเวณที่ตั้งค่ายชุมพลทหารดังกล่าว ต่อมาเมื่อมีการตั้งถิ่นฐาน ชื่อสถานที่จึงมีชื่อเรียก บ้านชุมพล และ วัดชุมพล มาจนถึงปัจจุบัน


เข้าชม : 1860
 
 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลชุมพล
หมู่ 7 ตำบลชุมพล   อำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา  โทรศัพท์ 074- 205123

โทรสาร  074- 205123   stpnfe
@hotmail.co.th
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05