จากนั้นพอสังเกตอีกหลายๆ ครั้ง ก็เห็นว่ามีป้ายโฆษณาแบบนี้หลากหลายทั้งเรื่องการติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัส หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ ผมเห็นว่าน่าสนใจดีและมีประโยชน์กับเพื่อนๆ เลยลองค้นข้อมูลเพิ่มเติมดูเกี่ยวกับเจ้า Cyber Streetwise นี้ ว่าคืออะไร และจึงเป็นที่มาของเรื่องที่จะเอามาเล่าให้ฟังกันวันนี้ครับ

มาทำความรู้จักกัน Cyber Streetwise กัน

Cyber Streetwise นั้นเป็นหนึ่งในNational Cyber Security Programme ของรัฐบาลประเทศอังกฤษที่ต้องการจะส่งเสริมให้ประชาชนของตนเองมีความรู้ความเข้าใจในถึงความเสี่ยงในการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และบริการออนไลน์ใกล้ตัวเรา รวมถึงทราบวิธีการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากผลจากการวิจัยพบว่าประชาชนในประเทศอังกฤษสุ่มเสี่ยงต่อการถูกปลอมแปลงตัวตน (identifiy theft) ถึง 48% และถูกทำให้สูญเสียเงินผ่านทางช่องทางออนไลน์ถึง 52% ซึ่งแนวทางในการประชาสัมพันธ์นั้นก็จะมีหลายช่องทาง ทั้งการติดโปสเตอร์ในรถไฟใต้ดิน (อย่างที่พบได้เห็น) โปสเตอร์ที่ป้ายรถเมล์ ผ่านเว็บไซต์ (www.cyberstreetwise.com/) และผ่าน Facebook กับ Twitter ครับ

สี่ประเด็นหลักที่รัฐบาลอังกฤษเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่เน้นการทำธุรกิจผ่านโลกไซเบอร์ควรจะรู้ ได้แก่การรักษาความปลอดภัยของเจ้าโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ความปลอดภัยในโลกออนไลน์ เช่น การใช้ social network หรือ การหลอกลวงผ่านอินเตอร์เน็ต การทำธุรกรรมออนไลน์อย่างปลอดภัย และการทำธุรกิจอย่างปลอดภัย ผมจะเลือกหัวข้อที่น่าสนใจในแต่ละประเด็นที่คิดว่าน่าจะประยุกต์ใช้กับเพื่อนๆ ในประเทศไทยของเราได้มาเล่าสู่กันฟัง ไปดูกันทีละเรื่องเลยนะครับ

ป้องกันอุปกรณ์ของคุณให้ปลอดภัย (secure your online devices)

ประเด็นนี้ขอยกเรื่องการตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัยนะครับ Cyber Streetwise แนะนำให้เราตั้งรหัสผ่านด้วยคำสามคำ (เช่นในตัวอย่างที่แสดงให้ดูในเว็บคือ seecateek ซึ่งมาจากคำสามคำว่า see - cat - eek) แม้ว่าแต่ละคำจะจำได้ง่าย แต่เมื่อนำมาผสมกันแล้วก็จะทำให้ยากต่อการเดาขึ้นอีกมากเลยทีเดียวครับ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของส่ิงที่ควรหลีกเลี่ยงต่อการใช้เป็นรหัสผ่าน เช่น ชื่อคนในครอบครัว ชื่อแฟน หรือสถานที่เกิด เป็นต้น

<ใส่ YouTube video: www.youtube.com/watch?v=1mM0zrFyILU >

ป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลคุณบนโลกออนไลน์ (protect your online privacy)

เรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจในประเด็นนี้คือการใช้งาน social network ครับ Cyber Streetwise เตือนเราว่าให้พึงรำลึกอยู่เสมอว่าทุกครั้งที่เราจะแชร์ข้อมูลหรือโพสท์บน social network ให้คิดให้ถี่ถ้วนทุกครั้งว่าเรากำลังจะแชร์อะไรและจะแชร์ "ให้ใคร" บ้าง หากเป็น Facebook เราสามารถกำหนดได้ว่าเราต้องการแชร์ให้ใครเห็นบ้าง ก็ควรจะเลือกการแชร์อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี หากเราใช้บริการเช่น Twitter หรือ Instagram ก็ต้องพึงระวังว่าเราจะสามารถควบคุมระดับการแชร์ได้น้อยกว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้คนทั้งโลกรู้ ก็ควรจะหลีกเลี่ยงครับ

ดูแลเงินของคุณบนโลกออนไลน์ให้ดี (look after your money online)

การช้อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วในทุกวันนี้ เนื่องจากความสะดวกสบายและโปรโมชั่นต่างๆ มากมายที่ล่อตาล่อใจนักช้อปทั้งหลาย Cyber Streetwise ก็มีคำแนะนำว่า ทุกๆ ครั้งที่เข้าเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ ให้สังเกตว่าเว็บเหล่านั้นควรจะต้องเข้ารหัส (มีรูปลูกกุญแจในช่อง address bar และมี URL ขึ้นต้นด้วย https://) และหากเป็นเว็บใหม่ที่เราไม่เคยใช้งานมาก่อน ควรจะต้องตรวจสอบข้อมูลของเว็บไซต์นั้นให้แน่ใจ อาจจะโดยการค้นหาใน Google เพื่อดูว่าคนที่เคยใช้งานแล้วมีความเห็นว่าอย่างไร และหากพบว่ามีสิ่งใดที่ดูไม่น่าไว้วางใจหรือไม่ปลอดภัย ให้ออกจากเว็บเหล่านั้นทันที สุดท้ายก็คือ หากคุณพบสินค้าที่ราคาถูกมากไปจนเกินความเป็นจริง ส่วนใหญ่แล้วมักจะการหลอกลวง และควรหลีกเลี่ยงครับ

<ใส่ YouTube video: www.youtube.com/watch?v=GRL_2BRepF4 >

ป้องกันธุรกิจของคุณ (defend your business)

ประเด็นสุดท้าย แต่น่าสนใจไม่แพ้กันนะครับ เป็นเรื่องการป้องกันธุรกิจของเราในด้านไอที ขอยกตัวอย่างเรื่องการเซ็ตอัพระบบ Wi-Fiเพื่อใช้งานในออฟฟิศครับ Cyber Streetwise แนะนำว่า หากเราต้องการติดตั้งระบบ Wi-Fi เพื่อให้พนักงานในออฟฟิศได้ใช้ร่วมกันก็ควรจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของระบบ Wi-Fi เหล่านั้น เนื่องจากข้อมูลของบริษัทอาจจะรั่วไหลผ่านทางช่องทางนี้ได้ วิธีการเบื้องต้นคือตรวจสอบว่ามีการเลือกเข้ารหัสแบบ WPA2 หรือไม่ และปิดโหมด Wi-Fi Protected Setup (WPS) ที่มักจะมีติดมากับอุปกรณ์ Wi-Fi บางรุ่น ที่ออกแบบมาเพื่อให้ง่ายต่อการตั้งค่าการเชื่อมต่อเสีย เพราะโหมด WPS นี้มีจุดอ่อนที่สามารถถูกเจาะเข้าระบบได้ สุดท้ายก็คือ การตั้งชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านของอุปกรณ์ Wi-Fi เสียใหม่ ให้แตกต่างจากที่ตั้งมาจากโรงงาน ด้วยรหัสผ่านที่มีความปลอดภัยสูงครับ

คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ผมเชื่อว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งกับการใช้ชีวิตในโลกยุคไซเบอร์ในทุกวันนี้อย่างปลอดภัยครับ และแม้ว่าโครงการนี้จะออกมาเพื่อให้ความรู้กับประชาชนของประเทศอังกฤษ แต่ผมเชื่อว่าคำแนะนำเหล่านี้เป็นสากลและนำมาปรับใช้กับประเทศของเราได้เช่นกันครับ หากเพื่อนๆ สนใจจะศึกษาเพิ่มเติม ยังมีคำแนะนำอีกมากมายที่ผมไม่ได้เลือกมาเล่าให้ฟัง โดยสามารถอ่านต่อได้จากเว็บไซต์ของ Cyber Streetwise ที่ www.cyberstreetwise.com นั่นเองครับ


อ.ชัยยงค์ รักขิตเวชสกุล

อ้างอิง:

www.cyberstreetwise.com

www.gov.uk/government/news/new-campaign-urges-people-to-be-cyber-streetwise