[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 

  

ความรู้เกี่ยวกับ IT
พิ้นที่ครงการพราะราชดำริ

อังคาร ที่ 6 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2559

คะแนน vote : 60  


ที่ตั้งโครงการ   หมู่ 5 ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช


สภาพทั่วไป

 

ลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช  ครอบคลุมพื้นที่รวม 13 อำเภอ คือ พื้นที่ทั้งหมดของอำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชะอวด อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอจุฬาภรณ์ พื้นที่บางส่วนของอำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของอำเภอควนขนุน อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา รวมพื้นที่ประมาณ 1.9 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นากว่า 500,000 ไร่ มีประชากรประมาณ 600,000 คน อดีตขอบลุ่มน้ำแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูก มีการทำนามากที่สุดโดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำปากพนังซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของลุ่มน้ำปากพนัง จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวของภาคใต้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุก ๆ ด้าน จนเป็นที่รู้จักกันของผู้คนอย่างกว้างขวาง ในนาม เมืองแห่งอู่ข้าวอู่น้ำ

เมื่อเวลาผ่านไป ลุ่มน้ำปากพนัง ที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับมีปัญหาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำย่อมมีปริมาณมากขึ้นด้วย แต่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารกลับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำจืดที่เคยดูดซับไว้แล้วทยอยปล่อยลงในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาในช่วงฤดูแล้งลดลงด้วย  น้ำจืดที่เคยมีใช้ปีละ 8-9 เดือน ลดลงเหลือปีละ 3 เดือนเท่านั้น และเนื่องจากลักษณะของแม่น้ำปากพนังมีระดับท้องน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและมีความลาดชันน้อย เมื่อน้ำจืดทางด้านต้นน้ำมีปริมาณน้อย ทำให้น้ำเค็มสามารถรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาเป็นระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร  นอกจากนี้  ตอนใต้ของลุ่มน้ำปากพนังยังมี พรุควนเคร็ง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 200,000 ไร่ มีน้ำท่วมขังตลอดปี มีสารไพไรท์อยู่ในชั้นดิน ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรด และมีปัญหาน้ำเปรี้ยว ราษฎรไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรได้ รวมทั้งน้ำเน่าเสียจากการทำนากุ้งได้ไหลลงในลำน้ำต่าง ๆ จนไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกได้ กลายเป็นปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชาวนาข้าวและชาวนากุ้งอีกด้วย  ปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนเนื่องจากมีปริมาณฝนตกมาก แต่พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นพื้นที่ลุ่มราบแบน มีความลาดชันน้อย อุทกภัยมักจะเกิดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ยาก จึงทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นบริเวณกว้าง

น้ำจืดขาดแคลน-น้ำเค็ม-น้ำเปรี้ยวและน้ำเสีย จึงเป็นปัญหาที่ชาวลุ่มน้ำปากพนังต้องเผชิญ การทำนาไม่ได้ผล ผลผลิตต่ำ ราษฎรมีฐานะยากจน การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตามแนวพระราชดำริจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนสู่ลุ่มน้ำปากพนังดังเช่นในอดีต

 

พระราชดำริ 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อช่ววยเหลือราษฎรหลายครั้ง


          - ครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม 2531 หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน


          - ครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 9 และ 11 ตุลาคม 2535 ณ สถานีสูบน้ำโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และสถานีสูบน้ำบ้านตอหลัง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำและเก็บกักน้ำจืด พร้อมกับการก่อสร้างระบบคลองระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และระบบกระจายน้ำเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง


          - ครั้งสำคัญที่สุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2536 ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้พระราชทาน พระราชดำริเพิ่มเติมความว่า ...ทำประตูน้ำที่ปากแม่น้ำห่างจากตัวอำเภอปากพนังประมาณ 3 กิโลเมตร ก็พิจารณาว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า เป็นกุญแจสำคัญของโครงการฯ จะแก้ไขปัญหาตั้งแต่ น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มและสามารถที่จะให้ประชาชนมีน้ำบริโภคและน้ำทำการเกษตร... แม้ว่าประตูน้ำอันเดียวนี้จะไม่แก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งจะต้องสร้างหรือทำโครงการต่อเนื่อง หากแต่ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด จากอันนี้จะทำอะไรๆ ได้ทุกอย่าง และแยกออกมาเป็นโครงการฯ...

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาตามแนวพระราชดำริ

 

สรุปได้ดังนี้

1. เร่งดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนังให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพราะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นงานหลักในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค

2. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทำกินขอบราษฏร ควรดำเนินการดังนี้

2.1 ขุดคลองระบายน้ำฉุกเฉินพร้อมก่อสร้างอาคารควบคุมปากคลอง เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำปากพนังออกทะเลที่กรณีเกิดอุทกภัย

2.2 ขุดขยายคลองท่าพญาพร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำริมทะเลเพื่อระบายน้ำออกอีกทางหนึ่ง

2.3 ขุดลอกคลองบ้านกลาง คลองปากพนัง คลองหน้าโกฏิ พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำเสือร้อง(ก่อสร้างบริเวณบ้านเสือหึง) และประตูระบายน้ำหน้าโกฏิ เพื่อระบายน้ำลงทะเลให้เร็วขึ้น

2.4 ขุดคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่โครงการฯ ลงสู่ทะเลกรณีเกิดอุทกภัย

3. กำหนดแนวเขตให้ชัดเจนและเหมาะสมเพื่อแยกพื้นที่น้ำจืดและพื้นที่น้ำเค็มออกจากกันให้แน่นอน โดยกำหนดให้ทิศตะวันออกของคลองปากพนัง(คลองหัวไทร) เป็นพื้นที่น้ำเค็ม โดยมอบให้กรมประมงก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ จัดระบบชลประทานน้ำเค็ม  ทั้งนี้ให้กรมชลประทาน กรมประมง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแนวเขตให้เหมาะสมที่สุด

4. พื้นที่ทางทิศตะวันตกของลุ่มน้ำปากพนังเป็นเทือกเขาสูง ให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือฝายทดน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรเพื่อการอุปโภคบิโภค และช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่าง

 

การบริหารงานโครงการ

 

การดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นรูปแบบใหม่ตามแนวพระราชดำริ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จครบวงจรและสอดคล้องกัน ในรูปแบบคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ประกอบด้วย อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมเป็นคณะกรรมการ โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ 6 คณะ และตั้งกองอำนวยการเพื่อดูแลและดำเนินการให้สอดคล้องกัน

การดำเนินงานโครงการ

 

กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริดำเนินการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังด้วยการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เสร็จเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2537 โดย บ.พอล คอนซัลแตนท์ จำกัด, บ. เซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี จำกัด และ บ.ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด (ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมกัน) ซึ่งได้ออกแบบแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537

รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2538 และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติให้เปิดโครงการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538

 

ลักษณะโครงการ

 

มีรายละเอียดสรุป ดังนี้

1) งานก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์(ปากพนัง) และอาคารประกอบ

·     ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ สร้างที่บ้านบางปี้ ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดบานระบายกว้าง 20.0 ม. จำนวน 10 ช่อง (บานระบายเดี่ยว 6 ช่อง และบานระบายคู่ 4 ช่อง) สามารถระบายน้ำได้ 1,426 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมและเก็บน้ำจืดไว้ในแม่น้ำปากพนังและคลองสาขา เพื่อการเกษตรและรักษาระดับน้ำในแม่น้ำปากพนังให้เหนือชั้นสารไพไรท์ เพื่อป้องกันน้ำเปรี้ยว

·         บันไดปลาและทางปลาลอด  ตั้งอยู่ทั้งสองข้างของอาคารประตูระบายน้ำ สำหรับให้วงจรชีวิตของสัตว์น้ำเป็นไปอย่างธรรมชาติ

·         ประตูเรือสัญจร กว้าง 6.0 ม. สำหรับให้เรือและพาหนะทางน้ำต่าง ๆ ผ่านไปมาได้

·         ทำนบดิน ปิดกั้นลำน้ำเดิม ยาว 222 ม.

·     ระบบโทรมาตรอัตโนมัติ จำนวน 31 แห่ง สำหรับตรวจวัดสถานการณ์ของน้ำในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขา ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลในการจัดสรรการใช้น้ำและบรรเทาอุทกภัย

2) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำ

ทำหน้าที่ระบายน้ำและป้องกันน้ำเค็ม โดยก่อสร้างคลองระบายน้ำเพิ่มเติม พร้อมประตูระบายน้ำ 3 แห่ง และขุดลอกคลองเดิม พร้อมประตูระบายน้ำ 1 แห่ง รวม 4 แห่ง ประกอบด้วย

                 1. คลองชะอวด-แพรกเมือง ก้นคลองกว้าง 150 ม. ลึก 5 ม. ยาวประมาณ 27 กม. พร้อมประตูระบายน้ำ สามารถระบายน้ำได้ 540 ลบ.ม.ต่อวินาที

                 2. คลองปากพนัง (หน้าโกฏิ) ก้นคลองกว้าง 100 ม. ลึก 3.50 ม. ยาวประมาณ 7.5 กม. พร้อมประตูระบายน้ำคลองปากพนัง (เสือหึง) สามารถระบายน้ำได้ 350 ลบ.ม.ต่อวินาที

                 3. คลองบางโด-ท่าพญา ก้นคลองกว้าง 20 ม. ลึก 3 ม. ยาวประมาณ 16 กม. พร้อมประตูระบายน้ำ สามารถระบายน้ำได้ 130 ลบ.ม.ต่อวินาที

                 4. คลองระบายน้ำฉุกเฉิน ก้นคลองกว้าง 56 ม. ลึก 3.5 ม. ยาวประมาณ 5 กม. พร้อมประตูระบายน้ำ สามารถระบายน้ำได้ 210 ลบ.ม.ต่อวินาที

3) งานก่อสร้างระบบส่งน้ำ  พื้นที่ชลประทาน 521,500 ไร่  แบ่งออกเป็น

                 1. ระบบส่งน้ำแบบสูบน้ำโดยกรมชลประทาน พื้นที่ MC1 และ MC2 พื้นที่ชลประทาน 40,900 ไร่ 

                 2. ระบบส่งน้ำแบบสูบน้ำโดยเกษตรกร พื้นที่ MD1 ถึง MD8  พื้นที่ชลประทาน 439,100 ไร่

                 3. ระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบในนิคมควนขนุน พื้นที่ชลประทาน 17,500 ไร่

                 4. ระบบส่งน้ำโครงการฝายคลองไม้เสียบส่วนขยาย พื้นที่ชลประทาน 24,000 ไร่

4) งานก่อสร้างคันแบ่งเขตน้ำจืดน้ำเค็ม เพื่อแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาให้ชัดเจน โดยใช้แนวถนนเดิมของ รพช.เป็นส่วนใหญ่ ห่างจากชายทะเล ประมาณ 3-5 กม. ทางด้านทิศตะวันออกเลียบถนนชายทะเล และด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวปากพนัง เป็นระยะทางยาวประมาณ 91.5 กม. และอาคารบังคับน้ำตามแนวคันกั้นน้ำ จำนวน 22 แห่ง

 

ประโยชน์ของโครงการ

 

1) ป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปทำลายพื้นที่การเกษตร

2) เก็บกักน้ำจืดไว้ในลำน้ำปากพนังและลำน้ำสาขาได้ประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเพาะปลูกบริเวณสองฝั่งลำน้ำ ประมาณ 521,500 ไร่ในฤดูฝน และประมาณ 240,700 ไร่ในฤดูแล้ง

3) คลองระบายน้ำช่วยบรรเทาอุทกภัย เนื่องจากสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

4) ขจัดปัญหาขัดแย้งระหว่างเกษตรนากุ้งและเกษตรกรนาข้าว เนื่องจากมีการแบ่งเขตของการใช้พื้นที่อย่างชัดเจน

5) ลดปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำกินในถิ่นอื่น

6) แม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขา เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืดได้เป็นอย่างดี

7) เพิ่มพูนผลผลิตการเกษตรหลากหลายและครบวงจร ทั้งทางด้านการเพาะปลูก การประมง ปศุสัตว์ ฯลฯ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรม

8) ยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของราษฎร

9) ฟื้นฟูสภาพนิเวศวิทยาให้กลับคืนสู่สมดุลย์

10) ลดปัญหาการน้ำเปรี้ยวและดินเปรี้ยว

 

งานติดตามและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

         คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนงานติดตามและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้

·      กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศกำหนดให้พื้นที่โครงการ เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและเขตควบคุมมลพิษ

·       กรมประมง  ปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำหนดเขตเลี้ยงกุ้ง และมาตรการลงโทษผู้ฝ่าฝืน

·     ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนเงินกู้เป็นกรณีพิเศษแก่เกษตรกรซึ่งทำการเกษตรผสมผสานในเขตพื้นที่น้ำจืด

·     หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด

·     รับข้อสังเกตของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เกี่ยวกับวิธีการประชาสัมพันธ์โดยให้องค์กรเอกชนและหน่วยงานในพื้นที่มีส่วนร่วม และให้สนับสนุนการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้ำเค็ม โดยจัดระบบชลประทานน้ำเค็มตามแนวทางที่กรมประมงดำเนินการอยู่

 

งานพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

 

ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันดำเนินการ โดยมีนโยบายหลักในการดำเนินงาน คือ

·         ปรับปรุงการผลิตข้าวให้มีผลผลิตสูงทั้งปริมาณและคุณภาพ

·         ส่งเสริมให้มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยเน้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน

·        กำหนดกำทำนากุ้งให้มีขอบเขตที่ชัดเจน และมีการพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืน พร้อมฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมที่เคยได้รับผลเสียจากบ่อกุ้ง

·         อนุรักษ์ป่า ดิน และน้ำ พร้อมฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้มีสภาพที่ดี

·        การพัฒนาองค์การ การจัดการของเกษตรกร ได้แก่ การร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์เสรีตามแนวพระราชดำริ ร่วมกันพัฒนาอาชีพการแปรรูปผลผลิต และการจัดการผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับระบบบริหารจัดการ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร องค์กรการเกษตร องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนามากขึ้น

 



เข้าชม : 402


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      วิธีทำกาแฟสกัดเย็นแบบง่ายๆ 31 / มี.ค. / 2560
      กล้วย ช่วยลดอาการท้องอืดได้ 7 / มี.ค. / 2560
      ขิงแดง 29 / ม.ค. / 2560
      ด้วงก้นกระดก ระบาดชุมพร 26 / ธ.ค. / 2559
      พิ้นที่ครงการพราะราชดำริ 6 / ธ.ค. / 2559


 
กศน.ตำบลบ้านขาว
ตำบลบ้านขาว  อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา   โทรศัพท์ 089-6563354  sonnoo.toy01234@hotmail.co.th
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอระโนด
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05