ทุกปีในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม เป็นช่วงเวลาที่มุสลิมทั่วโลกประมาณ 1,500 ล้านคนทั้งชายหญิงที่พ้นวัยแห่งความเป็นเด็กแล้วจะต้องปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาที่สำคัญประการหนึ่งนั่นคือ การถือศีลอด (ภาษาอาหรับเรียกว่า "อัศเซาม์" หรือ "ศิยาม") ตามหลักการอิสลาม การเจตนาหลีกเลี่ยงหน้าที่นี้ถือเป็นบาป
การถือศีลอดคืออะไร
การถือศีลอดตามความหมายทางศาสนาของอิสลาม คือการงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพ และการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกตลอดทั้งเดือนรอมฎอนของทุกปีซึ่งอาจจะมีระยะเวลา 29 หรือ 30 วัน โดยมีเจตนาว่าทำเพื่ออัลลอฮฺ
วัตถุประสงค์ของการถือศีลอดคืออะไร
เมื่อเราศึกษาจากคัมภีร์กุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่บันทึกวจนะของอัลลอฮฺผู้ทรงกำหนดให้เราถือศีลอด เราได้พบบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการถือศีลอดว่า : "โอ้บรรดาผู้ศรัทธา การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้าเช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้คนก่อนหน้าสูเจ้า ทั้งนี้เพื่อที่สูเจ้าจะได้รู้จักยับยั้งตนเองและเกรงกลัวพระเจ้า" (กุรอาน 2.183)
จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เราได้รู้ว่าวัตถุประสงค์สำคัญของการถือศีลอดก็คือ "เพื่อที่สูเจ้าจะได้รู้จักยับยั้งตนเองและเกรงกลัวพระเจ้า"
"การยับยั้งตนเอง" หมายถึงการยับยั้งจากการกิน การดื่มและการมีความสัมพันธ์ทางเพศซึ่งเป็นความต้องการขั้นต่ำของสัตว์ทั้งหลายโดยทั่วไป
ส่วน "ความเกรงกลัวพระเจ้า" นั้นเป็นวัตถุประสงค์สำคัญที่อิสลามต้องการจะปลูกฝังให้แก่ผู้ศรัทธาเกิดความรู้สึกเกรงกลัวพระองค์ เพราะในเดือนรอมฎอน บางสิ่งบางอย่างที่เราเคยกินและเคยทำได้ถูกสั่งห้ามเป็นการชั่วคราวตลอดเวลากลางวันเรายังงดเว้นได้ทั้งๆที่มิใช่ของต้องห้าม เรามีเงินอยู่ในกระเป๋า แต่เราก็ไม่ซื้ออะไรกิน เราสามารถที่จะแอบกินได้ แต่เราก็ไม่ทำ เพราะเรามีความสำนึกว่าพระเจ้าเฝ้ามองเราอยู่ ดังนั้น เมื่อพ้นจากเดือนถือศีลอดไปแล้ว การถือศีลอดจะเป็นบทเรียนสอนให้เราเกรงกลัวพระเจ้าและงดเว้นจากการกินหรือทำในสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามเป็นการถาวร เช่น สุรา การพนัน ดอกเบี้ย การผิดประเวณีและอบายมุขอื่นๆซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อตัวเองและสังคมแต่ประการใด
นอกจากนั้นแล้ว จากบทบัญญัติแห่งคัมภีร์กุรอานดังกล่าวข้างต้นยังบอกให้เราได้ทราบว่าการถือศีลอดมิใช่เพิ่งจะมีขึ้นในสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) เมื่อประมาณ 1,400 ก่อน หากแต่ได้มีการก่อนหน้านี้นานแล้ว
การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้ว่า ในศาสนาฮินดูซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ในอินเดียก็มีการถือศีลอดเช่นกันโดยพวกพราหมณ์จะถือศีลอดในวันที่ 11 และ 12 ของทุกเดือน ดังนั้น พวกพราหมณ์จะถือศีลอดปีละ 24 วัน พวกโยคีชาวอินเดียบางคนจะถือศีลอดโดยการงดเว้นจากการกินและดื่มเป็นระยะเวลา 40 วันเช่นเดียวกับผู้ที่นับถือศาสนาเชน ชาวอียิปต์โบราณก็ถือว่าการถือศีลอดเป็นพิธีกรรมทางศาสนาอย่างหนึ่ง ในศาสนาโซโรแอสเตอร์ ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อกำหนดเรื่องการถือศีลอดแก่บุคคลทั่วไป แต่คัมภีร์ของศาสนานี้ก็กำหนดให้นักบวชของตนถือศีลอดด้วยเช่นกัน
สำหรับพวกยิว การถือศีลอด ถูกถือว่าเป็นหน้าที่ทางศาสนาที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติ นบีมูซา (หรือโมเสส) ก็ใช้เวลา 40 วันถือศีลอดบนภูเขาซีนายก่อนที่จะได้รับบทบัญญัติกฎหมายจากพระผู้เป็นเจ้า พวกยิวจึงถือว่าเป็นการดีที่จะถือศีลอด 40 วันและถือว่าวันที่ 40 เป็นวันบังคับในการถือศีลอดซึ่งวันสุดท้ายนี้จะตรงกับวันที่ 10 ของเดือน 7 ตามปฏิทินของยิวและวันนี้ถูกเรียกว่าวัน "อาชูรอ" (แปลว่าที่สิบ) และวันนี้เองที่เป็นคัมภีร์เตารอตหรือบัญญัติสิบประการได้ถูกประทานแก่ นบีมูซา
ในศาสนาคริสต์ก็มีการถือศีลอด พระเยซูหรือนบีอีซาก็เคยถือศีลอดเป็นเวลา 40 วันในป่า (ดูไบเบิล มัทธิว 4.2) นบียะฮฺยาหรือยอห์น แบพติสต์ก็เคยถือศีลอดร่วมกับสาวกของท่านเช่นกัน (ดูไบเบิล มาระโก 2.18)
ในแผ่นดินอารเบียก่อนหน้าสมัยท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) พวกชาวอาหรับกุเรชก็เคยถือศีลอดในวัน "อาชูรอ" (วันที่ 10 ของเดือนมุฮัรฺร็อม) เพราะในวันนั้นเป็นวันเปลี่ยนผ้าคลุมก๊ะอฺบ๊ะฮฺผืนใหม่ แต่ในนครมะดีนะฮฺ พวกยิวก็ยังคงถือศีลอดในวันที่ 10 เดือน 7 ตามปฏิทินของพวกตน
สรุปก็คือการถือศีลอดเป็นมาตรการหนึ่ง ซึ่งอิสลามนำมาใช้เพื่อฝึกมนุษย์ให้รู้จักยับยั้งชั่งใจในการกินและรู้จักเกรงกลัวพระเจ้า เพราะถ้าหากมนุษย์ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจในการกินและไม่เกรงกลัวพระเจ้าแล้ว มนุษย์จะกินทุกอย่างโดยไม่รู้จักพอ และจะกินแม้กระทั่งป่าและภูเขา
การปฏิรูปการถือศีลอดโดยอิสลาม
เนื่องจากการถือศีลอด เป็นบทบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดไว้ให้มนุษย์ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว แต่เนื่องจากผู้คนในศาสนาต่างๆเข้าใจและถือศีลอดกันอย่างผิดๆ ดังนั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ส่งนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) มาปฏิรูปการถือศีลอดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และวิธีการที่พระผู้เป็นเจ้าต้องการดังนี้
1) ก่อนหน้าสมัยอิสลาม ผู้คนในบางศาสนาได้ถือเอาการถือศีลอดเป็นเครื่องมือทรมานร่างกายเพื่อความหลุดพ้นทางด้านจิตวิญญาณ ความเข้าใจผิดเช่นนี้ปัจจุบันยังคงเห็นได้ในหมู่พวกโยคีในอินเดียที่อดอาหารจนร่างกายซูบผอม แต่เมื่ออิสลามมา อิสลามได้บอกให้ผู้ศรัทธาได้รู้เป็นการชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของการถือศีลอดมิใช่เพื่อทรมานร่างกาย แต่เพื่อเป็นการฝึกฝนให้มนุษย์ได้รู้จักยำเกรงพระเจ้าดังที่กล่าวมาข้างต้น
2) ในศาสนาก่อนหน้าอิสลาม การถือศีลอดเป็นข้อบังคับสำหรับคนในบางชนชั้นเท่านั้น เช่น ในศาสนาฮินดู การถือศีลอดมิได้เป็นข้อบังคับสำหรับคนที่มิใช่พราหมณ์ ในหมู่ผู้นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ การถือศีลอดเป็นข้อบังคับสำหรับพวกพระและนักบวชเท่านั้น ในกรีก ผู้หญิงเท่านั้นที่ต้องถือศีลอด แต่ในอิสลาม การถือศีลอดถือเป็นสิ่งดี ดังนั้น การถือศีลอดจึงได้ถูกกำหนดเป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมทุกคนทั้งชายและหญิงที่พ้นวัยเป็นเด็กแล้ว
3) โดยทั่วไปแล้ว ศาสนาอื่นนอกไปจากอิสลามมักจะใช้ปฏิทินสุรยคติกำหนดเวลาการถือศีลอดซึ่งทำให้ผู้นับถือศาสนานั้นต้องถือศีลอดในฤดูกาลเดียวกันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าหากเดือนถือศีลอดถูกกำหนดในฤดูร้อน ผู้นับถือศาสนานั้นก็จะต้องถือศีลอดในฤดูร้อนตลอดไปซึ่งทำให้ผู้ถือศีลอดต้องทนลำบากอดอาหารในฤดูกาลเดียวกันไปตลอดชีวิต แต่อิสลามได้ใช้ปฏิทินทางจันทรคติเป็นตัวกำหนดเวลาการถือศีลอด ดังนั้น ผู้ถือศีลอดในอิสลามจึงได้ถือศีลอดในทุกฤดูกาล
4) ในคัมภีร์ของศาสนาอื่นมิได้ระบุรายละเอียดการถือศีลอดไว้เป็นการชัดเจน เช่น ข้อยกเว้นจากการถือศีลอดแก่บางคนในบางสถานการณ์ คัมภีร์ไบเบิล ฉบับเลวิติโก 16.29 กล่าวว่าถ้าคนแปลกหน้าที่ถึงแม้จะไม่ใช่ยิว แต่เมื่อมาอยู่กับพวกยิวก็จะต้องถือศีลอดด้วย แต่ในอิสลาม คัมภีร์กุรอานกำหนดไว้เป็นการชัดเจนว่าการถือศีลอดได้รับการยกเว้นสำหรับคนป่วยและคนเดินทาง แต่หลังจากเดือนรอมฎอนแล้วก็ให้ถือศีลอดชดใช้ในวันที่ขาดไป (ดูกุรอาน 2.184) นอกจากนั้นแล้ว หญิงมีครรภ์ก็ได้รับการยกเว้นจากการถือศีลอดถ้าการถือศีลอดจะเป็นอันตรายต่อตัวผู้หญิงเองหรือต่อเด็กในครรภ์ ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก็ได้รับการยกเว้น แต่เมื่อหมดประจำเดือนแล้วก็ค่อยถือชดใช้วันที่ขาดไปให้ครบ
5) ศาสนาโบราณบางศาสนามีการถือศีลอดด้วยการอดอาหารต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 40 วัน บางครั้งก็อนุญาตให้กินทุกอย่างยกเว้นข้าวและเนื้อในระหว่างการถือศีลอด ในหมู่ผู้นับถือศาสนาเชนในอินเดีย การถือศีลอดครั้งหนึ่งจะใช้เวลาหลายอาทิตย์ พวกนักบวชชาวคริสเตียนในอารเบียก่อนหน้าอิสลามก็เคยถือศีลอดต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน ส่วนพวกยิวจะถือศีลอดด้วยการอดอาหารเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง แต่อิสลามจะถือสายกลางโดยกำหนดให้มุสลิมงดเว้นจากการกินและการดื่มทุกอย่างตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น
6) ข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งในการถือศีลอดของชาวยิวก็คือ หลังจากการละศีลอดแล้ว พวกยิวได้รับอนุญาตให้กินอะไรก็ได้ที่พวกเขากินในตอนละศีลอด หลังจากนั้นแล้ว จะกินอะไรไม่ได้อีก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อละศีลอดเสร็จแล้วก็เริ่มถือศีลอดต่อเลยทันที ธรรมเนียมการถือศีลอดของพวกอาหรับเองก็กำหนดว่าถ้านอนหลับไปในตอนกลางคืนแล้วจะตื่นขึ้นมากินอะไรในตอนดึกไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้น จึงมีบางคนที่เพลียจากการถือศีลอดในตอนกลางวันและเผลอหลับไปในตอนกลางคืน แต่เมื่อตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วไม่สามารถกินอะไรได้ วันรุ่งขึ้น บางคนจึงหิวจนถึงกับเป็นลมสลบไปก็มี แต่ในอิสลาม หลังจากการละศีลอดแล้ว อิสลามอนุญาตให้ผู้ถือศีลอดกินและดื่มได้เรื่อยไปจนกระทั่งถึงรุ่งอรุณ (ดูกุรอาน 2.187)
7) ในสมัยก่อนหน้าอิสลาม ในช่วงเวลาของการถือศีลอด สามีและภรรยาจะนอนแยกกัน แต่เนื่องจากการทำเช่นนี้เป็นการฝืนธรรมชาติ เมื่อเกิดความต้องการทางเพศขึ้นมา สามีภรรยาชาวอาหรับจึงต้องแอบมีความสัมพันธ์ทางเพศกัน ดังนั้น อิสลามจึงห้ามการมีความสัมพันธ์ทางเพศแต่เฉพาะในช่วงเวลากลางวันระหว่างการถือศีลอดเท่านั้น แต่อนุญาตให้มีความสัมพันธ์ทางเพศได้ในตอนกลางคืน (ดูกุรอาน 2.187)
8) การหลงลืมและการผิดพลาดโดยไม่เจตนาเป็นที่ได้รับการให้อภัยในอิสลาม ดังนั้น ในระหว่างการถือศีลอด ถ้าหากใครกินหรือดื่มเพราะการหลงลืมหรือไม่มีเจตนา การถือศีลอดในวันนั้นก็ยังคงไม่เสีย เมื่อนึกขึ้นได้ก็ให้หยุดกินและถือศีลอดต่อไปจนกระทั่งครบวัน การอาเจียนหรือการมีอสุเคลื่อนออกมาโดยไม่ตั้งใจก็ไม่ทำให้เสียการถือศีลอดเช่นกัน
9) ในหมู่ชาวยิว ถือว่าการถือศีลอดเป็นการรำลึกถึงความทุกข์ยากลำบาก และเป็นสัญลักษณ์ของความโศกเศร้า ดังนั้น ในระหว่างการถือศีลอด พวกยิวจะไม่ล้างหน้าและจะทำตัวให้ดูเป็นผู้ที่เศร้าโศก นบีอีซาหรือพระเยซูจึงได้กล่าวว่า : "เมื่อท่านถืออดอาหาร อย่าทำหน้าเศร้าหมองเหมือนคนหน้าซึ่อใจคดด้วยเขาทำหน้าให้มอมแมมเพื่อจะให้คนเห็นว่าเขาถืออดอาหาร เราบอกความจริงแก่ท่านว่าเขาได้บำเหน็จของเขาแล้ว ฝ่ายท่านเมื่อถืออดอาหาร จงล้างหน้าและเอาน้ำมันใส่ศีรษะเพื่อคนจะไม่ได้รู้ว่าถืออดอาหาร แต่ให้ปรากฏแก่พระบิดาของท่านผู้ทรงเห็นในที่ลี้ลับจะทรงโปรดประทานบำเหน็จแก่ท่าน" (มัทธิว 6.16-18) เช่นเดียวกัน ในอิสลาม การใช้น้ำมันใส่ผม การใช้น้ำหอมของผู้ชายในขณะที่ถือศีลอดไม่เป็นที่ต้องห้าม การล้างหน้า การถูฟันและการอาบน้ำก็เป็นที่อนุมัติ เพราะการถือศีลอดมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการทนทุกข์ทรมาน จนทำให้ผู้คนเห็นว่าการปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮฺ เป็นเรื่องยากและไม่อยากทำ
10) นอกจากการถือศีลอดภาคบังคับในเดือนรอมฎอนแล้ว ท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ยังได้ถือศีลอดในบางวันของสัปดาห์เป็นการเฉพาะของท่านด้วย การถือศีลอดประเภทนี้ไม่เป็นการบังคับสำหรับมุสลิม แต่เป็นข้อแนะนำว่าใครทำได้ก็ถือเป็นการดี (หรือที่ในภาษาอาหรับเรียกว่ามุสตะฮับ)
ผลดีของการถือศีลอด
1) ประการแรกก็คือเพื่อเป็นการฝึกให้เกิดความรู้สึกยับยั้งตนเองและเกรงกลัวพระเจ้า (หรือที่เรียกกันว่า ตักวา ) โดยปกติแล้ว แรงกระตุ้นให้ทำบาปนั้นมักจะเกิดขึ้นจากการมีความต้องการเยี่ยงสัตว์มากเกินพอดี แต่การถือศีลอดจะช่วยลดความรู้สึกทางด้านนี้ลง ด้วยเหตุนี้ ท่านนบีจึงได้แนะนำชายหนุ่มที่ยังไม่สามารถแต่งงานและไม่สามารถควบคุมความความต้องการทางเพศของตัวเองได้ให้ถือศีลอด เพราะการถือศีลอดจะช่วยลดอารมณ์ทางเพศลง
2) การถือศีลอดทำให้คนร่ำรวยและคนมีอันจะกิน รู้สึกถึงความหิวและความกระหาย ความรู้สึกเช่นนี้ด้วยตัวเองจะทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกถึงความทุกข์ยากของคนจนและมีจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือคนเหล่านั้น นอกจากนี้แล้ว อิสลามยังได้แนะนำให้ทำทานแก่คนยากจนและคนตกทุกข์ได้ยากในเดือนนี้เป็นพิเศษด้วย และก่อนที่เดือนแห่งการถือศีลอดจะสิ้นสุดลง อิสลามก็วางข้อกำหนดไว้อย่างเข้มงวดให้มุสลิมทุกคนต้องจ่าย "ซะกาตฟิฏเราะฮฺ" (ซึ่งเป็นข้าวสารประมาณ 3 ลิตร)แก่คนยากจนหรือคนไม่มีจะกินเพื่อให้คนเหล่านี้มีอาหารสำหรับฉลองวันเทศกาล "อีดิล ฟิฏริ" หากใครไม่จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ อัลลอฮฺก็จะยังไม่รับการถือศีลอดของคนผู้นั้น ดังนั้น การถือศีลอดจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยดึงคนมีอันจะกินให้หันมารับรู้ความรู้สึกของคนหิวโหยและช่วยเหลือคนเหล่านั้น
3) การถือศีลอดเป็นการฝึกฝนผู้ศรัทธา ให้รู้จักอดทนในการที่จะเผชิญต่อความยากลำบาก ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวในชีวิต เช่น การขาดแคลนอาหาร หรือวิกฤตการณ์ต่างๆ
4) การหิวและการอดอาหารนานเกินไปอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ แต่การกินอาหารมากเกินไปนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์มากกว่า ดังนั้น การถือศีลอดในบางครั้งจึงเป็นผลดีต่อสุขภาพของร่างกาย เป็นการบำบัดโรคบางอย่าง เพราะการอดอาหารจะช่วยลดไขมันที่เกินความต้องการและขับสารพิษบางอย่างออกจากร่างกายของมนุษย์ การทดลองและการสังเกตุของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ยืนยันถึงเรื่องนี้แล้ว ท่านนบีได้เคยกล่าวว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างมีซะกาต และซะกาตของร่างกายคือการถือศีลอด" (ซะกาตหมายถึงการซักฟอกให้สะอาดและความเจริญงอกงาม)
5) การถือศีลอดเป็นการปกป้องผู้ถือศีลอดให้พ้นจากบาปต่างๆ เพราะในขณะถือศีลอด ผู้ถือศีลอดไม่เพียงแต่จะต้องงดเว้นจากการกิน การดื่มเท่านั้น แต่ยังจะต้องงดเว้นจากการนินทาว่าร้าย การพูดจาไร้สาระ การคิดและการทำสิ่งชั่วช้าเลวทรามต่างๆด้วย อิสลามถือว่าคนที่ถือศีลอดแต่ยังไม่งดเว้นจากการนินทาว่าร้ายผู้อื่นนั้นจะไม่ได้อะไรจากการถือศีลอดนอกไปจากความหิว
6) การถือศีลอดเป็นการฝึกจิตใจให้มีสมาธิแน่วแน่ ในสิ่งที่ตัวเองยืนหยัดศรัทธา ประสบการณ์ของบุคคลสำคัญๆบางคนในโลกยืนยันถึงความจริงในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
7) ถึงแม้การถือศีลอดจะทำให้ท้องเกิดความหิวกระหาย แต่ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้หัวใจเกิดความหิวกระหายที่จะทำดีด้วย
8) การถือศีลอดก่อให้เกิดความเสมอภาคขึ้นในหมู่ประชาชาติมุสลิม เพราะในเดือนรอมฎอน ไม่ว่าใครจะรวยหรือจนขนาดไหน มุสลิมทุกคนต่างก็ต้องอดอาหารตามคำบัญชาของอัลลอฮฺด้วยกันทั้งสิ้น
เข้าชม : 378
|