[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
  ยินดีต้อนรับสู่...ศูนย์การเรียนรู้ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา      
 

  

ความรู้เกี่ยวกับ IT
การทำอวนหาปลา

อาทิตย์ ที่ 14 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2560

คะแนน vote : 53  

 

อวนติดตา

      หมายถึง เครื่องมือประมงที่มีลักษณะเป็นผืนอวนคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า วิธีใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำจะวางขวางหรือปิดล้อมสัตว์น้ำ เพื่อให้สัตว์น้ำว่ายชน แล้วติดหรือพันตาอวน เครื่องมือนี้จัดอยู่ในประเภทนี้เรียกว่า ข่าย อวนลอย อวนจม กัด และอวนล้อมติด บางครั้งเรียกอวนแล้วตามด้วยชื่อสัตว์น้ำเป้าหมายหลัก เช่น อวนกุ้ง อวนปู อวนปลาทู เป็นต้น เครื่องมือประเภทนี้ชาวประมงพื้นบ้านนิยมใช้กันมากที่สุด ลักษณะเครื่องมืออวนเป็นผืนอวนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ค่อนข้างยาว ขณะใช้ทำประมง ผืนอวนจะวางตัวในแนวดิ่ง เอนตามทิศและความแรงของกระแสน้ำ สัตว์น้ำที่จับได้ทุกตัวจะติดหรือพันที่ตาอวน ประสิทธิภาพของเครื่องมือขึ้นอยู่กับความยาวอวน ขนาดตาอวน ความลึกอวน และอัตราการย่นของเนื้ออวน วิธีการใช้มีทั้งแบบวางเป็นแนวตรงขวางทางสัตว์น้ำโดยปล่อยผืนอวนทิ้งไว้ให้สัตว์น้ำว่ายชนตาอวน และแบบวางอวนปิดล้อมสัตว์น้ำ แล้วทำให้สัตว์น้ำตกใจว่ายน้ำเร็วกว่าปกติ โดยใช้แสงไฟ หรือการกระทุ้งน้ำ และว่ายชนตาอวน เครื่องมือประมงประเภทนี้ใช้ทำการประมงได้หลายสภาพพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่มีหินใต้น้ำ หรือบริเวณพื้นทะเลที่ราบเรียบ บางชนิดกางกั้นสัตว์เฉพาะบริเวณผิวน้ำหรือที่ผืนทะเล บางชนิดกางกั้นสัตว์น้ำตั้งแต่ผิวน้ำถึงพื้นทะเล ขึ้นอยู่กับการออกแบบความลึกอวนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระดับการว่ายน้ำของสัตว์น้ำเป้าหมาย ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้มีหลายชนิด ได้แก่ กลุ่มปลาผิวน้ำ กลุ่มปลาหน้าดิน และสัตว์น้ำอื่น ๆ

 

 อวนลอยตาถี่

    อวนลอยตาถี่บางแห่งเรียกว่ากัดตาถี่ มีลักษณะเหมือนอวนลอยทั่วไป ต่างกันที่มีตาขนาดเล็กและใช้ความยาวของอวนในการจับปลา ซึ่งจะใช้อวนขนาดตาราว 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 500 เมตร ลึก 200 ตา สามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ อวนลอยตาถี่กั้นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ อวนลอยตาถี่ชายฝั่ง และอวนลอยตาถี่ที่ใช่ร่วมกับยาเพื่อสำหรับอวนลอยตาถี่กั้นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ พบที่ทะเลสาบสงขลาตอนกลาง และตอนบนหรือทะเลน้อย โดยจะวางอวนในเวลากลางคืนและกู้ในตอนเช้า จะเลือกวางบริเวณที่คาดว่ามีสัตว์น้ำชุกชุม เช่น บริเวณที่มีบัวขึ้นอยู่มาก ระดับน้ำ 3 - 8 เมตร การทำการประมงโดยวิธีนี้สามารถทำได้ตลอดทั้งปี มีผลกระทบคือ จะจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก และสัตว์วัยอ่อน

 

 อวนล้อมติด

      มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ค่อนข้างยาว ส่วนมากใช้ในน้ำตื้น ๆ โดยสายทุ่นลอยอยู่ที่ผิวน้ำ หลังจากการวางอวนล้อมฝูงปลาแล้ว ชาวประมงจะทำให้เกิดเสียงดัง ทำให้ปลาตกใจ ว่ายชนอวน ทำให้ติดตามหรือพันเรืออวนซึ่งล้อมรอบอยู่ ทำการประมงตามชายฝั่งทะเลโดยทั่วไป ความลึกของน้ำ 1 - 4 เมตร ฤดูทำการตลอดปี เดือนพฤศจิกายน ถึง เมษายน เป็นฤดูทำการที่ได้ผลดีที่สุด เครื่องมืออวนนี้ทำได้ทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน ชาวประมงจะนำเรือวิ่งไปเที่ยวหาฝูงปลา หรือบางครั้งก็ทำการแจวเรือหา เมื่อพบฝูงปลาแล้ว หาอวนอีกด้านหนึ่ง มาบรรจบกับหัวอวนเดิมที่ทิ้งไว้ เมื่อผูกอวนทั้ง 2 ด้านเข้าหากัน     แล้วก็แจวเรือเข้าไปในวงอวน ใช้ไม้กระทุ่มน้ำทำการกระทุ่มน้ำ ให้ปลาตกใจวิ่งชนตาอวน จึงทำการกู้อวนขึ้นปลดปลาที่ติดตาอวนอีกต่อไป ส่วนสัตว์น้ำที่จับได้จะเป็นปลากระบอก ปลากุเรา ปลาแมว เป็นต้น

 

 อวนรุน

      อวนรุน หมายถึง เครื่องมือประมงที่ใช้อวนลักษณะคล้ายถุง ปากอวนประกอบกับคันรุน ติดตั้งบริเวณหัวเรือ จับสัตว์น้ำโดยวิธีผลักด้วยแรงคน หรือเครื่องยนต์ เครื่องมือประเภทอวนรุนแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ        อวนรุนใช้เรือกล อวนรุนไม่ใช้เรือกล

1. อวนรุนใช้เรือกล หมายถึง อวนรุนที่ใช้เรือกลผลักดันเครื่องมืออวนให้เคลื่อนที่ขณะทำการจับสัตว์น้ำ สัตว์น้ำที่เป็นเป้าหมายหลักของเครื่องมือชนิดนี้ คือ กุ้งทะเลทุกชนิด ปลากะตักชนิดตัวแบน และเคย แต่เนื่องจากปากอวนกางออกเป็นรูปสามเหลี่ยม และเปิดสูงมาก จึงทำให้จับสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ที่อาศัยบริเวณเดียวกันได้ด้วยจำนวนคน 1 - 6 คน ขึ้นอยู่กับขนาดเรือ อวนรุนแบบรุนกุ้งและแบบรุนเคย ส่วนใหญ่จะทำประมงเวลากลางคืนแหล่งทำประมงน้ำลึก 1 - 12 ม. โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำ ก่อนออกเรือจะประกอบอวนเข้ากับคันรุน ให้เรียบร้อย เมื่อถึงแหล่งประมงจะผลักดันคันรุนลงน้ำบริเวณหัวเรือ แล้วยึดปลายคันรุนให้ติดกับแอกหัวเรือ แล้วเร่งเครื่องยนต์ผลักคันรุนให้เคลื่อนไปข้างหน้า ชาวประมงจะทำการรุนอวน นาน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จึงกู้อวนครั้งหนึ่ง โดยดึงเฉพาะเชือกฉุดก้นถุงขึ้นเรือ นำสัตว์น้ำออก แล้วปิดก้นถุงหย่อนลงน้ำทำการรุนต่อไป คืนหนึ่ง ๆ จะทำการกู้อวนประมาณ 10 - 14 ครั้ง ในส่วนของอวนรุนเคย ชนิดที่ติดตั้งอวนผ่านรอกเสาหัวเรือ ทำประมงเฉพาะกลางวัน บริเวณแนวชายฝั่ง น้ำลึก 2 - 5 ม. ประมาณ 2 - 3 เดือน โดยผูกอวนกับคันรุนขึ้นเหนือผิวน้ำ ให้คนหนึ่งประจำยอดเสาหัวเรือคอยสังเกตฝูงเคย ส่วนอีกคนทำหน้าที่บังคับเรือ เมื่อพบฝูงจะปล่อยคันรุนลงน้ำ ทำการรุนประมาณ 10 - 20 นาที เมื่อเห็นเคยเข้าถุงหมดแล้ว จึงกระดกปลายคันรุนขึ้นเหนือผิวน้ำ และดึงก้นถุงขึ้นเพื่อนำเคยออก

2. อวนรุนไม่ใช้เรือกล หมายถึง อวนรุนที่ใช้แรงคนแทนเรือกล ได้แก่ เครื่องมือที่เรียกว่า ระวะรุนเคย ซิป ไสกุ้ง เป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องใช้เรือ มีการใช้เฉพาะบางฤดูเท่านั้น จำนวนคน 1 - 2 คน แบบรุนเคย ส่วนใหญ่ใช้ในเวลากลางวัน บริเวณใกล้ชายหาดน้ำลึก 0.50 - 1.50 ม วิธีรุนเคยต้องเดินหาฝูงเคย เมื่อพบแล้วจะกางคันรุนออก แล้วใช้สองมือข้างผลักคันรุนให้เคลื่อนไปข้างหน้าส่วนใหญ่รุนสวนทิศที่ฝูงเคยเคลื่อนที่ เมื่อเห็นว่าเคยเข้าถุงหมดกู้อวนเสียครั้งหนึ่ง นำเคยออกจากก้นถุง แล้วหาฝูงใหม่ต่อ แบบรุนกุ้ง ส่วนใหญ่ใช้ในเวลากลางคืนช่วงน้ำลงแห้ง น้ำลึก 0.30 - 1.50 ม. วิธีรุนเหมือนกับรุนเคย คือ กางคันรุนออก เดินผลักคันรุนไปข้างหน้า ตามแนวชายฝั่งประมาณ 10 นาที จากการสำรวจข้อมูลพื้นทางทางด้านการประมงเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือประมงในทะเลสาบสงขลา จำนวนอวนรุนมี 130 ลำ



เข้าชม : 819


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      โควิด-19 16 / มี.ค. / 2563
      ยาฆ่าแมลง 20 / ก.ค. / 2560
      ประวัตินางสีดา 20 / ก.ค. / 2560
      กาแฟมีประโยชน์หรือโทษ 20 / ก.ค. / 2560
      การปลูกข้าวโพดในกระถาง 20 / ก.ค. / 2560


 
ศูนย์การเรียนรู้ตำบลตลิ่งชัน
บ้่านป่าเส หมู่ที่ 4 ตำบลตลิ่งชัน  อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา
โทรศัพท์ 091-1658-997 , 08-4969-9521 , 08-1189-9884 
  
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05