[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 

  

บทความทั่วไป
ดาวเรือง สรรพคุณและประโยชน์ของดอกดาวเรือง 42 ข้อ

จันทร์ ที่ 24 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2560

คะแนน vote : 90  



ดาวเรือง สรรพคุณและประโยชน์ของดอกดาวเรือง 42 ข้อ
ดาวเรือง
ดาวเรือง ชื่อสามัญ African marigold, American marigold, Aztec marigold, Big marigold[1],[5]

ดาวเรือง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[5]

สมุรไพรดาวเรือง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดาวเรืองใหญ่ (ทั่วไป), คำปู้จู้หลวง (ภาคเหนือ), พอทู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), บ่วงซิ่วเก็ก (จีนแต้จิ๋ว), ว่านโซ่วจวี๋ (จีนกลาง), บ่วงลิ่วเก็ก เฉาหู่ย้ง, กิมเก็ก (จีน), ดาวเรืองอเมริกัน เป็นต้น[1],[4],[5],[11]

ลักษณะของดาวเรือง
ต้นดาวเรือง เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก[3] โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ราว 1 ปี ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น ลำต้นเป็นสีเขียวและเป็นร่อง ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงทำให้แมลงไม่ค่อยมารบกวน[1],[4],[8] โดยจัดเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก (แต่อาจจะใช้การปักชำได้ แต่ต้นที่ได้จะมีขนาดเล็กกว่า) เจริญเติบโตได้เร็ว ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดแบบเต็มวัน[3],[5] โดยแหล่งเพาะปลูกดาวเรืองที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดลำปาง พะเยา ราชบุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร อุดรธานี และกรุงเทพฯ เป็นต้น[10] โดยดาวเรืองที่พบเห็นและปลูกกันมากในปัจจุบันจะมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ดาวเรืองอเมริกัน (Tagetes erecta), ดาวเรืองฝรั่งเศส (Tagetes patula), ดาวเรืองนักเก็ต (Triploid Marigold), ดาวเรืองซิกเน็ต (Tagetes tenuifolia หรือ Tagetes signata pumila) และดาวเรืองใบ (Tagetes filifolia)[8]
ต้นดาวเรือง

ดอกดาวเรือง

ใบดาวเรือง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบคี่ ออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 11-17 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร เนื้อใบนิ่ม[1],[4]
ใบดาวเรือง

ดอกดาวเรือง ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองสดหรือสีเหลืองปนส้ม กลีบดอกมีขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเป็นฟันเลื่อย มีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน[4] โดยดอกจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ดอกวงนอกมีลักษณะคล้ายลิ้นหรือเป็นรูปรางน้ำซ้อนกันแน่น บานแผ่ออกปลายม้วนลง มีจำนวนมาก เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศ โคนกลีบดอกเป็นหลอดเล็ก ส่วนดอกวงในเป็นหลอดเล็กอยู่ตรงกลางช่อดอก มีจำนวนมากและเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวเชื่อมติดกันหุ้มโคนช่อดอก ก้านชูดอกยาว[1],[2],[5]
ดอกดาวเรือง

รูปดอกดาวเรือง

ผลดาวเรือง ผลเป็นผลแห้งสีดำไม่แตก ดอกจะแห้งติดกับผล[1] โคนกว้างเรียวสอบไปยังปลายซึ่งปลายผลนั้นจะมน[3]
สรรพคุณของดาวเรือง
ดอกและรากมีรสขมเผ็ดเล็กน้อย มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ (ดอก, ราก)[4]
ดอกใช้เป็นยาฟอกเลือด (ดอก)[1],[3]ในอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากช่อดอกเป็นยาฟอกเลือด (ดอก)[11]
ใช้ใบแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เด็กเป็นตานขโมย (ใบ)[6]
ช่วยแก้อาการเวียนศีรษะ ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[5],[6]
ดอกช่วยบำรุงสายและถนอมสายตาได้ดี ในตำรายาจีนจะนำดอกมาปรุงกับตับไก่ใช้กินเป็นยาบำรุงสายตาได้ดี (ดอก)[3]
ช่วยแก้ตาเจ็บ ตาบวม ตาแดง ปวดตา ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[1],[4],[5],[6],[11]
ดอกใช้รักษาคางทูม ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[5],[6] ส่วนตำรายาจีนจะใช้ดอกแห้ง ดอกสายน้ำผึ้ง เต่งเล้า อย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันเป็นผง ผสมกับน้ำส้มสายชูคนให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็น (ดอก)[4]
ดอกใช้เป็นยาแก้ไข้สูงในเด็กที่มีอาการชัก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
ช่วยแก้อาการร้อนใน (ดอก)[13]
ช่วยแก้อาการไอหวัด ไอกรน ไอเรื้อรัง ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 10-15 ดอก นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำตาลรับประทาน (ดอก)[1],[3],[4],[5],[6],[11]
ช่วยขับและละลายเสมหะ ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[5]
น้ำคั้นจากใบใช้แก้อาการหูเจ็บ ปวดหู (ใบ)[1],[3],[5]
ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ดอกแห้ง 15 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[4],[6]
ช่วยรักษาปากเปื่อย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
ช่วยแก้คอและปากอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
ดอกใช้เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบหรือระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ โดยใช้ดอกสดประมาณ 10-15 ดอก นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำตาลรับประทาน ส่วนอีกวิธีให้ใช้ดอกสด 30 ดอก ผสมกับจี๋อ้วง (Astertataricus L.F.) สด 7 กรัม, จุยเฉี่ยวเอื้อง (Inula Helianthus-aquatilis C.Y. Wuex Ling) สด 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[6],[11]
ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ เต้านมเป็นฝี โดยใช้ดอกแห้ง ดอกสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb), เต่งเล้า (paris petiolata Bak. ex. Forb.) อย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันเป็นผงผสมกับน้ำส้มสายชู คนให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็น (ดอก)[1],[3],[4],[6],[11]
ดอกและทั้งต้นเป็นยาขับลม ทำให้น้ำดีในลำไส้ทำงานได้ดี (ดอก, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[15] ส่วนตำรับยาเภสัชของเม็กซิโกจะใช้ช่อดอกและใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม (ดอก, ใบ)[11]
ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ต้น)[14]
รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)[11]
ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ทั้งต้น)[1],[2]
ต้นนำมาใช้ทำเป็นยารักษาโรคไส้ตันอักเสบหรือมีอาการปวดท้องขนาดหนักคล้ายกับไส้ติ่ง (ต้น)[3]
ใบและช่อดอกนำมาชงกับน้ำ ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ดอก, ใบ)[11]
ตำรับยาเภสัชของเม็กซิโกเคยมีการใช้ดอกและใบดาวเรืองนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ดอก, ใบ)[11]
ดอกเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ดอก)[1],[5] โดยในอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากช่อดอกดาวเรืองเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ดอก)[11]
ดอกใช้เป็นยากล่อมตับ ดับพิษร้อนในตับ ด้วยการใช้ดอก 3-10 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[4],[6]
รากใช้เป็นยาแก้พิษ แก้อาการบวมอักเสบ (ราก)[4]
ดอกมีสรรพคุณเรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็ว ด้วยการใช้ดอกนำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นแผล (ดอก)[1]
ใบมีรสชุ่มเย็นและมีกลิ่นฉุน น้ำคั้นจากใบสามารถนำมาใช้เป็นยาทารักษาแผลเน่าเปื่อย หรือนำมาตำใช้เป็นยาพอกก็ได้ (ใบ)[1],[3],[4],[5] บ้างก็ใช้น้ำคั้นจากใบนำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว เคี่ยวจนส่วนน้ำระเหยหมดใช้เป็นยาทารักษาแผลเน่าเปื่อยและฝีต่าง ๆ (ใบ)[11]
น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาทาแก้ฝีต่าง ๆ ฝีฝักบัว ฝีพุพอง หรือนำใบมาตำพอก หรือต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น อีกทั้งยังช่วยรักษาแผลฝี ตุ่มมีหนอง อาการบวมอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุได้อีกด้วย (ใบ)[1],[3],[5],[6]
ต้นใช้เป็นยารักษาแก้ฝีลม (ต้น)[3]
ในบราซิลจะใช้ช่อดอกนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดตามข้อ (ดอก)[11]




ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดาวเรือง
ดอกหรือช่อดอกดาวเรืองมีสาร Flavonoid glycosides, Tagetiin 0.1% และมีสารเรืองแสง Terthienyl 15-21 มิลลิกรัมต่อ กิโลกรัม ของดอกสด Helenien 74%, B-Carotene Flavoxanthin โดยสาร Helenien มีผู้กล่าวว่าสามารถช่วยทำให้เนื้อเยื่อตาดีขึ้นได้[11]
ทั้งต้นพบน้ำมันระเหย เช่น Carotent, d-limonene, Flavoxanthin, Helenienm Nonanal, Ocimene, Tagetiin, Tagetone d-Terehienyl เป็นต้น[4]
พบว่าในดอกมีสารฆ่าแมลงที่ชื่อว่า Pyrethrin และน้ำมันหอมระเหย ซึ่งแสดงฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อในราในหลอดทดลองด้วย[2]
รากของต้นดาวเรืองมีสารชนิดหนึ่งชื่อว่า แอลฟ่า เทอร์เธียนิล (α-terthienyl) ซึ่งเป็นสารที่สามารถควบคุมปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้เป็นอย่างดี[8]
ในใบดาวเรืองมีสารคาเอมพ์เฟอริตริน (Kaempferitrin) ซึ่งมีฤทธิ์แก้อาการอักเสบ ให้หนูตะเภากินในขนาด 50 มิลลิกรัมต่อ กิโลกรัมของน้ำหนักตัว พบว่าจะทำให้หลอดเลือดฝอยตีบตัน ทำให้เลือดหยุด เนื้อหนังเจริญดีขึ้น และยังมีฤทธิ์ที่แรงกว่ารูติน (Rutin) อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิตามินพี (Vitamin P) ค่อนข้างสูง โดยสารนี้จะช่วยลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กที่แยกจากตัวของกระต่ายได้ ทำให้จังหวะการบีบตัวลดลง[11]
เคยมีการใช้ดอกเป็นยาฆ่าเชื้อโรคและยาสงบประสาท โดยมีผลเช่นเดียวกับต้น Tagetes minuta L. หรือ Tagetes glandif lora ที่มีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ในการสงบประสาท ช่วยลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือดและหลอดลม และช่วยแก้อาการอักเสบ[11]
ดาวเรืองมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย แผลเปื่อยเรื้อรังที่เป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง ซึ่งในผู้ป่วยเอดส์จะพบเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุและพบได้บ่อยคือ เชื้อ Staphylococcus aureus และได้มีการทดสอบสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นดาวเรือง เพื่อใช้ต้านแบคทีเรียชนิดนี้อยู่หลายการทดลอง เช่น มีการทดสอบสารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดิน ที่ความเข้มข้น 5 มก./มล. กับ Staphylococcus aureus ในจานเพาะเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว แต่เมื่อได้ทำการทดสอบสารสกัดเอทานอล (95%) จากดอก ใบ และลำต้นดาวเรือง พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว และได้ทดลองใช้สารสกัดดังกล่าวจากดอกแห้งดาวเรือง ความเข้มข้น 100 มก./แผ่น ก็ให้ผลการทดสอบเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการทดสอบสารสกัดเอทานอลจากดอกดาวเรืองกับเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกอีกหลายชนิด พบว่า สารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus, จากการทดสอบน้ำมันหอมระเหย (ไม่เจือจางและไม่ระบุส่วนที่ใช้) ในจานเพาะเชื้อ ก็พบว่าน้ำมันหอมระเหยไม่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus และถ้าใช้น้ำมันหอมจากใบดาวเรือง (ไม่ทราบความเข้มข้น) ก็พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน, เมื่อทดสอบน้ำสกัดจากดอก ใบ และลำต้นของดาวเรืองกับเชื้อ Staphylococcus aureus ก็พบว่าไม่มีฤทธิ์ และยังทดสอบด้วยสารสกัดเมทานอลจากดอกแห้งที่ความเข้มข้น 20 มก./แผ่น หรือสารสกัดเมทานอลจากดอกสด ความเข้มข้น 1.5 มก./มล. หรือสารสกัดเมทานอลจากใบสดความเข้มข้น 15 มก./มล. ก็พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน แต่เมื่อใช้สารสกัดเมทานอลจากรากสดดาวเรือง ความเข้มข้น 0.8 มก./มล. กลับให้ผลการทดสอบที่ไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังได้มีการทดสอบสารสกัดเมทานอลจากพืชอีก 24 ชนิดในการต้านเชื้อแบคทีเรีย และได้พบว่า สารสกัดจากดอกดาวเรืองมีฤทธิ์ต้าน Staphylococcus aureus จริง และจากการทดสอบน้ำสกัดและสารสกัดจากเอทานอล (95%) พบว่า น้ำสกัดจากใบและสารสกัดเอทานอล (95%) จากดอกดาวเรือง ความเข้มข้น 1:1 มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus แต่ผลการทดสอบสารสกัดทิงเจอร์จากดอกแห้งดาวเรือง ความเข้มข้น 30 มคก./แผ่น พบว่าไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus[12]
จากการทดสอบความเป็นพิษของดาวเรือง เมื่อฉีดสารสกัดเมทานอลจากดอกหรือรากสดดาวเรือง เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักร พบว่า LD50 มากกว่า 2 ก./กก. และเมื่อใช้สารสกัดเอทานอล (50%) จากทั้งต้นของดาวเรืองแทน พบว่า LD50 มากกว่า 1 ก./กก.[12]
จากการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของดาวเรือง ได้มีการทดลองใช้ผงจากใบและดอกดาวเรือง โดยใช้ภายนอกในการรักษาหูดที่ฝ่าเท้าของผู้ใหญ่จำนวน 31 ราย โดยทำการทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบกับยาหลอก จากผลการศึกษาพบว่าส่วนของพืชดังกล่าวมีพิษต่อเซลล์ และเมื่อได้ทำการทดสอบน้ำมันหอมระเหยจากใบสดดาวเรืองกับเอมบริโอของไก่ (ไม่ทราบปริมาณความเข้มข้น) พบว่ามีพิษต่อเซลล์ของสัตว์ทดลอง และจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น และไม่พบฤทธิ์ต้านการแพ้หรือลดการอักเสบ ทั้งนี้ก่อนมีการส่งเสริมให้ใช้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแผลได้[12]
รูปดาวเรือง

ประโยชน์ของดาวเรือง
ดอกสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารรับประทานได้ เช่น การนำดอกตูมมาลวกจิ้มกับน้ำพริก ใช้แกล้มกับลาบ หรือจะใช้ดอกบานนำไปปรุงแบบยำใส่เนื้อ ทำน้ำยำแบบรสหวานคล้ายกับน้ำจิ้มไก่หรือน้ำจิ้มทอดมัน เป็นต้น ส่วนทางภาคใต้นั้นจะนิยมนำมาใช้เป็นผักผสมในข้าวยำ[13],[15]
ดอกดาวเรืองมีสารเบตาแคโรทีนจากธรรมชาติ ซึ่งคุณสมบัติของเบตาแคโรทีนนี้จะทำหน้าที่โปรวิตามินเอ เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ นอกจากนี้ยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในตับและปอดของร่างกายอีกด้วย[8]
ใช้น้ำสกัดจากดอกดาวเรือง สามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันและกำจัดไส้เดือนฝอยในดินได้ โดยขนาดที่ใช้คือกลีบดอกสด 3 กรัมปั่นในน้ำ 1 ลิตร ใช้เป็นยาฉีดพ่น[2]
ดอกสามารถนำมาใช้ในงานพิธีต่าง ๆ ใช้ร้อยเป็นพวงมาลัยเพื่อบูชาพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ หรือนำมาใช้เป็นดอกไม้ปักแจกันก็ได้เช่นกัน[7]
ดอกใช้สกัดทำเป็นสีย้อมผ้า โดยจะให้สีเหลืองทอง ซึ่งดอกดาวเรืองแห้ง 1.2 กิโลกรัม สามารถนำมาย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยใช้วิธีการต้มเพื่อสกัดน้ำสีนาน 1 ชั่วโมง แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ ใช้ย้อมด้วยกรรมวิธีการย้อมร้อน แล้วนำเส้นไหมมาแช่ในสารละลาย 1% สารส้ม ก็จะได้เส้นไหมสีเหลืองทอง และดอกดาวเรืองที่ได้จากการนึ่งและอบจะให้น้ำสีที่เข้มข้นกว่าดอกสด 1 เท่า และมากกว่าดอกตากแห้ง 5 เท่า เมื่อใช้ในอัตราส่วนเท่ากัน[7]
ต้นและรากของดาวเรืองมีสารที่ช่วยป้องกันและกำจัดไส้เดือนฝอยในดินได้ โดยใช้วิธีการไถกลบทั้งต้นและรากลงในแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีปัญหาไส้เดือนฝอยในดิน เช่น แปลงยาสูบ มะเขือเทศ เยอบีร่า และสตรอว์เบอร์รี เป็นต้น[8]
ต้นดาวเรืองสามารถสะสมสารหนูได้มากถึง 42% จึงมีประโยชน์ในด้านการนำมาฟื้นฟูดินที่มีการปนเปื้อนสารหนูได้ดี[9]
ปัจจุบันได้มีการปลูกดาวเรืองเพื่อนำมาผลิตเป็นดอกดาวเรืองแห้ง เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเสริมของไก่ไข่กันอย่างกว้างขวาง เพราะมีผลงานวิจัยที่ระบุว่าอาหารไก่ที่ผสมดอกดาวเรืองแห้งจะช่วยเพิ่มความเข้มสีของไข่แดงได้[8]
เนื่องจากดอกดาวเรืองมีความสวยงาม จึงนิยมปลูกเพื่อประดับเป็นจุดเด่นตามสวนหรือใช้ปลูกเป็นกลุ่ม ๆ ตามริมถนนหรือทางเดิน[5]
นอกจากจะใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นเกราะป้องกันแมลงศัตรูพืชให้แก่พืชอื่น ๆ ได้อีกด้วย เนื่องจากดาวเรืองมีสารที่มีกลิ่นเหม็นฉุนที่แมลงไม่ชอบ[10]
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ดาวเรืองใหญ่ (Dao Rueang Yai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 113.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ดาวเรือง African marigold”. หน้า 197.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ดาวเรืองใหญ่”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 288-289.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ดาวเรือง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 222.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [10 มี.ค. 2014].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [10 มี.ค. 2014].
พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th/webtreecolor/. [10 มี.ค. 2014].
เอกสารเผยแพร่ของ ศ.สมเพียร เกษมทรัพย์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, โดยศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. เรื่อง “ดาวเรือง”.
Chintakovid, W., Visoottiviseth, P., Khokiattiwong, S., and Lauengsuchenkul, S. (2008). Potential of the hybrid marigolds for arsenic phytoremediation and income generation of remediators in Ron Phibon district, Thailand. Chemosphere, 70, 1522 – 1537.
ห้องสมุดความรู้การเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “”ดาวเรือง“”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th/library/. [10 มี.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 13 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “ดาวเรืองและเทียน”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [10 มี.ค. 2014].
สมุนไพร, สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org/herbs/. [10 มี.ค. 2014].
เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com. [10 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Tagetes erecta L.”. อ้างอิงใน: หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1 สวนสิรีรุกขชาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [10 มี.ค. 2014].
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). “สรรพคุณสมุนไพร (ไทย) สีสันบอกได้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: thaihealth.or.th. [10 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by douneika, Photo Plus 1 (Kamran Ahmed), dreamysoul, Nina Pope, Mauricio Mercadante, KumaYami)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)








เข้าชม : 1963


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 24 / ก.ค. / 2560
      ดาวเรือง สรรพคุณและประโยชน์ของดอกดาวเรือง 42 ข้อ 24 / ก.ค. / 2560
      ชาวบ้านร่วมกันเนรมิต “ถนนสายกล้วย” ยาวที่สุดใน อ.จะนะ จ.สงขลา 17 / ก.ค. / 2560
      แนะนำวิธีการปลูกดอกดาวเรือง 17 / ก.ค. / 2560
      การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่ ปี 2561 12 / มิ.ย. / 2560


 
กศน.ตำบลจะโหนง
ม.7 บ้านปลายเหมือง ต.จะโหนง อ.จะนะ จ.สงขลา Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05