หลายคนคงเคยอ่านหนังสือหรือเคยเรียนวิชาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทยกันมาบ้างแล้ว และก็คงทราบกันดีว่าเมืองไทยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถที่ได้ทรงริเริ่มประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา นั่นก็คือ พ่อขุนรามคำแหง แล้วทราบไหมคะว่า ประเทศไทยได้กำหนดวันพ่อขุนรามคำแหงขึ้นด้วย ซึ่งตรงกับวันที่ 17 มกราคมของทุกปี เพื่อจัดกิจกรรมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่มีต่อประชาชนชาวไทย วันนี้ เราจะมาดูประวัติความเป็นมาของวันพ่อขุนรามคำแหงกันค่ะ
พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย หรืออีกพระนามที่ไม่ค่อยมีใครทราบ คือ พ่อขุนรามราช ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 19 พรรษา ได้เสด็จเข้าร่วมกองทัพกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นบิดา ไปป้องกันเมืองตากและได้สู้รบกับขุนสามชน จนได้รับชัยชนะ ด้วยความกล้าหาญในครั้งนั้นทำให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชทานนามให้ว่า รามคำแหง ที่มีความหมายว่า รามผู้กล้าหาญเข้มแข็งในการรบ ภายหลังเมื่อประมาณ พ.ศ. 1822 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็ได้ขึ้นครองกรุงสุโขทัยสืบต่อมา
ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ถือว่าเป็นช่วงสมัยที่สุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคม ที่สามารถค้าขายติดต่อกับบ้านเมืองต่าง ๆ ได้โดยรอบ และยังยอมเป็นเมืองผ่านทางการค้า โดยอนุญาตให้พ่อค้าเอาสินค้าไปค้าขายได้โดยไม่เก็บภาษี ทำให้มีคนมาค้าขายที่สุโขทัยเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงรวบรวมแคว้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเป็นราชอาณาจักรไทยที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าทุกยุคสมัยที่ผ่านมา พระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประโยชน์แก่ประเทศชาติของพระองค์ท่านล้วนแต่เป็นการวางรากฐานแห่งความเจริญไว้ให้แก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยทุกคนสืบทอดต่อกันมาจวบจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 700 ปี
นอกจากพระราชกรณียกิจดูแลปกป้องบ้านเมือง การค้า และการรวบรวมแคว้นต่าง ๆ แล้ว พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาสามารถทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1826 ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของมรดกอันล้ำค่าที่คนไทยทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเอกลักษณ์ และความสละสลวย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในหลาย ๆ ด้าน ดังเช่นที่ได้กล่าวถึง ปวงชนชาวไทยทุกคนจึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ท่านเป็นมหาราช พระองค์แรกของชาติไทย
ทั้งนี้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านไว้เพื่อสักการะ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดสุโขทัย โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ประกอบพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จากศาลพระแม่ย่าไปสถิต ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ แล้วทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528
ถัดมาประมาณสามปีคือ ปี พ.ศ. 2531 สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนดวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้น โดยถือเอาวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีและทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็น วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ต่อมาได้มีการพิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งทางคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้เสนอความคิดเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 จึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี ลงมติอนุมัติการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ โดยให้วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2533 เป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกนั่นเอง
ภาพจาก Wasu Watcharadachaphong / Shutterstock, Inc.
กิจกรรมวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ในวันที่ 17 มกราคมของทุกปี หลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้น เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน อาทิ
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สำหรับมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ได้อัญเชิญพระนามพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มาตั้งเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย โดยในวันที่ 17 มกราคมของทุกปี ทางมหาวิทยาลัยจะมีการจัดให้มีพิธีบวงสรวง และพิธีสักการะพระบรมรูปของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งประดิษฐาน ณ บริเวณ ลานพ่อขุน ซึ่งถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยนั่นเอง
จังหวัดสุโขทัย
ที่จังหวัดสุโขทัยจะมีการจัดงานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นประจำทุกปี โดยในงานจะประกอบไปด้วย พิธีบวงสรวงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช, ขบวนแห่สักการะพ่อขุนรามคำแหงมหาราช, การแสดงศิลปะพื้นบ้าน, พิธีสวดสรภัญญะ ฯลฯ ทั้งนี้งานจะจัดขึ้นที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม โดยจะมีโชว์การแสดงช้างศึกและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือความเป็นมาของวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระราชบิดาแห่งอักษรไทย ผู้ทรงสร้างเอกลักษณ์ให้คนไทยได้มีตัวอักษรใช้มาจนจวบทุกวันนี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
-สำนักกองบัญชาการ กองบัญชาการกองทัพไทย
- มหาวิทยาลัยรามคำแหง
|