ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร ชื่อสามัญ Kariyat
ฟ้าทะลายโจร ชื่อวิทยาศาสตร์ Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees
จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
สมุนไพรฟ้าทะลายโจร (มักเขียนผิดเป็น ฟ้าทลายโจร, ฟ้าทะลายโจน) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฟ้าทะลาย ฟ้าทะลายโจร น้ำลายพังพอน (กรุงเทพมหานคร), สามสิบดี เขตตายยายคลุม (ร้อยเอ็ด), หญ้ากันงู (สงขลา), ฟ้าสะท้าน (พัทลุง), เมฆทะลาย (ยะลา), ฟ้าสาง (พนัสนิคม), ขุนโจรห้าร้อย (ภาคกลาง), ซวนซิน เหลียง เจ็กเกี่ยงสี่ คีปังฮี โซ่วเซ่า (จีน) เป็นต้น
ลักษณะของฟ้าทะลายโจร
ต้นฟ้าทะลายโจร จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร หรือประมาณ 1-2 ศอก ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งมาก ทุกส่วนของต้นมีรสขม กิ่งเป็นใบสีเหลี่ยม สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน
ใบฟ้าทะลายโจร ลักษณะเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ลักษณะของใบรียาว ปลายใบแหลม
ดอกฟ้าทะลายโจร ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีดอกย่อย กลีบดอกมีสีขาวโคนกลีบติดกัน ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ (มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่) ส่วนปากล่างมี 2 กลีบ
ผลฟ้าทะลายโจร ลักษณะเป็นฝัก ฝักจะคล้ายกับฝักต้อยติ่ง (หรือเป๊าะแป๊ะ) ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่ฝักจะเป็นสีน้ำตาลและแตกได้ ภายในฝักมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก
สมุนไพรฟ้าทะลายโจร มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางยาสมุนไพรอยู่ 3 สารด้วยกัน โดยเป็นสารในกลุ่ม Lactone ซึ่งก็คือ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide), สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (Neo-Andrographolide), และสาร 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide) โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ใบสด ใบแห้ง และทั้งต้น โดยใบจะเก็บมาใช้ได้เมื่อต้นมีอายุได้ราว 3-5 เดือน
สรรพคุณของฟ้าทะลายโจร
1. สรรพคุณฟ้าทะลายโจรช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย รวมไปถึงช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวให้จับกินเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
2. สรรพคุณฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
3. สรรพคุณฟ้าทะลายโจร ใบใช้เป็นยาขมช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)
4. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ต้นฟ้าทะลายโจร กระชาย และว่านเอ็นเหลือง นำมาทำเป็นยาเม็ดลูกรับประทาน (ต้น)
5. ช่วยป้องกันและแก้อาการหวัด คัดจมูก ด้วยการใช้ใบและกิ่งประมาณ 1 กำมือ (สดใช้ 25 กรัม แต่ถ้าแห้งใช้ 3 กรัม) นำมาต้มกับน้ำดื่ม รับประทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือในขณะที่มีอาการ (กิ่ง, ใบ)
6. ช่วยแก้อาการปวดหัวตัวร้อน อาการปวดหัวแบบไม่มีสาเหตุ ด้วยการใช้ใบและกิ่งประมาณ 1 กำมือ (สดใช้ 25 กรัม แต่ถ้าแห้งใช้ 3 กรัม) นำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือในขณะที่มีอาการ (กิ่ง, ใบ)
7. ฟ้าทะลายโจร สรรพคุณช่วยแก้ไข้ทั่ว ๆ ไป อาการปวดหัวตัวร้อน เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น (ใบ, กิ่ง)
8. ช่วยรักษาไข้ไทฟอยด์ ด้วยการรับประทานฟ้าทะลายโจรก่อนอาหารครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้กินยาบำรุงเพื่อฟื้นฟูกำลังของผู้ป่วยร่วมด้วย
9. ช่วยแก้อาการไอ ลดน้ำมูก และช่วยฆ่าเชื้อที่จมูก ด้วยการใช้ใบนำมาทำเป็นยาผงแล้วนำมาใช้สูดดม (ใบ)
10. ช่วยลดและขับเสมหะ ด้วยการใช้ใบนำมาทำเป็นยาผงแล้วนำมาใช้สูดดม (ใบ)
11. ช่วยระงับอาการอักเสบ แก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้ใบนำมาทำเป็นยาผงแล้วนำมาใช้สูดดม (ใบ)
12. ช่วยแก้อาการติดเชื้อ ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน เป็นบิด ด้วยการใช้ทั้งต้น (ส่วนทั้ง 5 ของฟ้าทะลายโจร) นำมาผึ่งลมให้แห้งแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 กำมือ (น้ำหนักประมาณ 3-9 กรัม) แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มตลอดวัน (ทั้งต้น)
13. ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการใช้ใบฟ้าทะลายโจรตากแห้ง 15 กรัมและเตยหอมสดหั่นแล้ว 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำพอท่วมยาจนเดือด ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น จะช่วยทำให้อาการร้อนในดีขึ้น แต่ถ้าอยากให้หายขาด แนะนำว่าไม่ต้องดื่มน้ำหลังอาหารมากเกินไป รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และออกกำลังกายทุกวัน อาการร้อนในก็จะหายไปในที่สุด (ใบ)
14. ฟ้าทะลายโจรมีรสขมมาก โดยความขมจะเหนี่ยวนำช่วยทำให้ขับน้ำลายออกมามากขึ้น จึงทำให้ชุ่มคอ
15. ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ
16. ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ช่วยคลายกล้ามเนื้อมดลูก
17. ฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยลดการติดเชื้ออหิวาตกโรคในอุจจาระ แต่อาจจะไม่ดีเท่าการใช้ยาเตตราไซคลีน ในการรักษา แต่ก็สามารถใช้ทดแทนได้
18. ช่วยรักษากระเพาะลำไส้อักเสบ (ใบ)
19. ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณช่วยในการย่อยอาหารและช่วยเร่งให้ตับสร้างน้ำดี
20. ช่วยบรรเทาอาการของโรคริดสีดวง ด้วยการรับประทานฟ้าทะลายโจรก่อนอาหารและก่อนนอนครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง จะช่วยทำให้อาการเลือดออกหรืออาการปวดถ่วงหายไป ทำให้ขับถ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น
21. ช่วยรักษาโรคตับ ด้วยการรับประทานฟ้าทะลายโจรก่อนอาหารวันละ 2-3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (และควรใช้ยาบำรุงชนิดอื่นด้วย)
22. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ฝี แผลฝี ด้วยการใช้ใบค่อนข้างแก่ประมาณ 1 กำมือ แล้วเอาเกลือ 3 เม็ด นำมาตำผสมรวมกันในครกจนละเอียด แล้วเอาสุราครึ่งถ้วยชา น้ำครึ่งช้อนชาใส่รวมลงไป คนให้เข้ากันแล้วเทกินค่อนถ้วยชา ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกแผลฝี แล้วใช้ผ้าสะอาดพักไว้ ตอนพอกเสร็จใหม่ ๆ อาจจะรู้สึกปวดบ้างเล็กน้อย (ใบ)
23. ช่วยรักษาแผลอักเสบที่เกิดจากโรคเบาหวาน ด้วยการรับประทานเป็นยาฟ้าทะลายโจรแบบเม็ดและการใช้ทาเพื่อรักษาอาการ
24. ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดหนองได้ (ใบ)
25. ช่วยรักษาโรคงูสวัด ด้วยการรับประทานยาฟ้าทะลายโจรก่อนอาหาร 2-3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เนื่องจากงูสวัดคือเชื้อไวรัสที่จะอยู่นาน 3 สัปดาห์ ถ้าใช้รักษาให้ครบตามเวลา ก็จะทำให้ไม่กลับมาเป็นอีก
ประโยชน์ของฟ้าทะลายโจร
· ช่วยแก้ปัญหาผมร่วง ด้วยการใช้ฟ้าทะลายโจรแคปซูล โดยใช้ครั้งละ 1 แคปซูลด้วยการนำผงดังกล่าวไปละลายในน้ำอุ่น แล้วนำมาชโลมให้ทั่วหนังศีรษะ ทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออก
· ปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมาผลิตเป็น แคปซูลฟ้าทะลายโจร ซึ่งหาซื้อมารับประทานได้ง่ายและสะดวกในการรับประทานมากยิ่งขึ้น
วิธีใช้ฟ้าทะลายโจร
· ทำเป็นยาชง ด้วยการใช้ใบสดหรือใบแห้ง (ใบสดจะมีสรรพคุณที่ดีกว่า) ประมาณ 5-7 ใบ แล้วนำมาต้มกับน้ำเดือดลงจนเกือบเต็มแก้ว แล้วปิดฝาทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่ออุ่นแล้วก็นำมารินดื่ม โดยให้รับประทานก่อนอาหารและก่อนนอนครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง
· ทำเป็นยาลูกกลอน หรือ ยาเม็ดฟ้าทะลายโจร ด้วยการใช้ใบสดนำมาล้างให้สะอาด แล้วผึ่งในที่ร่มที่มีลมโกรกให้แห้ง (ห้ามตากแดด) นำมาบดจนเป็นผงละเอียด แล้วนำมาปั้นผสมกับน้ำผึ้ง (หรือน้ำเชื่อมก็ได้เช่นกัน) ให้เป็นเม็ดขนาดเท่ากับเม็ดถั่วเหลือง (หนักประมาณ 250 มิลลิกรัม) เมื่อปั้นเสร็จแล้วให้ผึ่งลมจนแห้ง (ถ้าไม่แห้งแล้วนำมารับประทานจะขมมาก) โดยรับประทานก่อนอาหารและก่อนนอนครั้งละ 4-10 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง
· ทำเป็นยาแคปซูล ด้วยการใช้ผงยาที่ปั้นเป็นยาลูกกลอน ก็ให้นำมาใส่ในแคปซูล เพื่อที่จะช่วยกลบรสขมของยา ทำให้รับประทานได้ง่าย โดยขนาดแคปซูลที่ใช้คือ ขนาดเบอร์ 2 (250 มิลลิกรัม) ใช้รับประทานก่อนอาหารและก่อนนอนวันละ 3-4 แคปซูล วันละ 3-4 ครั้ง
· ทำเป็นยาผงสำหรับใช้สูดดม โดยใช้ยาผงที่บดละเอียดนำมาใส่ขวด ปิดฝาเขย่าแล้วเปิดฝาออก ผงควันก็จะลอยออกมา ก็ให้สูดดมควันนั้นเข้าไป โดยผงยาจะติดที่คอช่วยทำให้ยาออกฤทธิ์ที่ลำคอโดยตรง จึงช่วยลดเสมหะ แก้อาการเจ็บคอ ช่วยลดน้ำมูก และช่วยฆ่าเชื้อในจมูกได้เป็นอย่างดี (ซึ่งวิธีนี้จะดีกว่าวิธีกวาดคอ วิธีเป่าคอ และวิธีการชง เพราะจะรู้สึกขมน้อย ไม่รู้สึกขยาดเวลาใช้ ใช้งานง่ายและสะดวก) โดยนำมาสูดดมบ่อย ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง แต่ถ้ารู้สึกคลื่นไส้ให้หยุดใช้สักพัก เมื่อหายแล้วก็นำมาสูดใหม่จนกว่าอาการจะดีขึ้น
· ทำเป็นยาดองเหล้า หรือทำเป็นยาทิงเจอร์ ด้วยการใช้ผงแห้งที่ได้นำมาแช่กับสุราโรง 40 ดีกรี (แต่ถ้าใช้แอลกอฮอล์ที่สามารถรับประทานได้ หรือ Ethyl alcohol ก็จะดีกว่าเหล้า) โดยแช่พอท่วมยาผงขึ้นมาเล็กน้อย หลังจากนั้นปิดฝาขวดให้แน่น ทิ้งไว้ 7 วัน และให้เขย่าขวดทุก ๆ วัน วันละ 1 ครั้ง เมื่อครบตามกำหนดก็ให้กรองเอาแต่น้ำนำมาดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ (รสชาติจะขมมาก) วันละ 3-4 ครั้ง (ส่วนที่เหลือก็ให้เก็บไว้ในขวดที่สะอาดและปิดให้สนิท)
ผู้ที่ไม่ควรใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร
· สตรีมีครรภ์
· ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำ
· ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค (Rheumatic heart disease)
· ผู้ที่มีอาการเจ็บคอเนื่องมาจากการติดเชื้อ Streptococcus group A
· ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคไตอักเสบ เนื่องมาจากการติดเชื้อ Streptococcus group A
· ผู้ที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียและมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง มีอาการหนาวสั่น มีหนองในลำคอ
คำแนะนำในการใช้ฟ้าทะลายโจร
· ในต้นฟ้าทะลายโจรมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ แต่ละลายน้ำได้น้อย ดังนั้นตำรับยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสูตรยาดองเหล้าหรือยาทิงเจอร์จึงมีฤทธิ์แรงที่สุด ส่วนชนิดชงจะมีฤทธิ์รองลงมา และแบบยาเม็ดจะมีฤทธิ์อ่อนที่สุด
· ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่เหมาะสำหรับใช้รักษา "หวัดร้อน" (อาการเหงื่อออก กระหายน้ำ เจ็บ ท้องผูก ปัสสาวะสีเข้ม) แต่ฟ้าทะลายโจรจะไม่เหมาะกับการนำมาใช้รักษาผู้ที่มีอาการ "หวัดเย็น" (ไม่มีเหงื่อ ปัสสาวะบ่อย รู้สึกหนาวสะท้านบ่อย อุ้งมืออุ้งเท้าเย็น) เพราะอาจจะเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ เช่น มีอาการหนาวสั่น คลื่นไส้ เป็นต้น
· ข้อควรระวังในการใช้ ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร เพราะฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณในการลดความดันโลหิตอยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากใช้ฟ้าทะลายโจรอาจจะทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรือมีอาการมึนงง วิธีการแก้ก็คือให้หยุดใช้ทันที หลังจากนั้น 3-4 ชั่วโมงอาการก็จะดีขึ้นเอง เพราะตัวยาสามารถถูกขับออกไปได้และไม่ตกค้างในร่างกาย
· ผลข้างเคียงของฟ้าทะลายโจร สำหรับบางรายที่ใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรแล้วเกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย มีอาการปวดเอว หรือมีอาการวิงเวียนศีรษะ แสดงว่าคุณแพ้สมุนไพรชนิดนี้ หากมีอาการดังกล่าวให้หยุดการใช้ยา และเปลี่ยนไปใช้ยาสมุนไพรชนิดอื่นแทน แต่ถ้ามีอาการแพ้ไม่มากก็อาจจะลดขนาดในการรับประทานลงตามความเหมาะสม
· การใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการรักษาอาการต่าง ๆ หากใช้ติดต่อกัน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น คุณควรหยุดใช้และให้ไปพบแพทย์ทันที
· ไม่ควรรับประทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรติดต่อกันนานเกินกว่า 1 สัปดาห์ เพราะอาจจะส่งผลทำให้ร่างกายไม่มีเรี่ยวแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแขนและขา และยังรวมไปถึงอาการท้องอืด หน้ามืดตามัว และมือเท้าชา (แต่จากงานวิจัยก็ไม่พบว่าจะเป็นอันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือมีผลต่อระบบภายในแต่อย่างใด) เพราะสมุนไพรชนิดนี้ตามตำราเวชศาสตร์การแพทย์แผนโบราณระบุไว้ว่าเป็นยาเย็น ช่วยลดธาตุไฟในร่างกาย เมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายที่ร้อนจากอาการไข้ก็จะเย็นลง แต่ถ้าหากร่างกายอยู่ในสภาพปกติ การรับประทานติดต่อกันนาน ๆ ก็จะทำให้ร่างกายไม่มีแรง แต่ถ้าหากคุณจำเป็นต้องใช้สมุนไพรชนิดนี้ติดต่อกันเกินกว่า 1 สัปดาห์ ก็ควรจะรับประทานคู่กับน้ำขิง เพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย
· (นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, พญ.ดร.อัญชลี จุฑ รองผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข)
ทำความรู้จัก “ยาฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรใกล้ตัวที่มีบทบาทในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่คุณหมอจะพิจารณาใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มที่อาการไม่รุนแรง
ยาฟ้าทะลายโจร ถือเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 คุณหมอจะสั่งยาฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาอาการไข้หวัด ผู้ที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ เจ็บคอ เป็นไข้ ไอ น้ำมูกไหล หรือไข้หวัดใหญ่ ที่มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย ท้องเดิน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ กลุ่มที่อุจจาระไม่เป็นมูกเลือด ก็สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาอาการได้
รูปแบบของยาฟ้าทะลายโจรที่มีในท้องตลาด แบ่งออกเป็น
1. ยาจากผงฟ้าทะลายโจร เป็นฟ้าทะลายโจรที่ตากแห้ง และนำมาบดเป็นผง และนำมาบรรจุแคปซูล หรือทำเป็นยาเม็ด ซึ่งจะมีทั้งไฟเบอร์จากใบไม้และสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ที่เรียกว่า Andrographolide โดยองค์การอาหารและยา ระบุว่า ยาจากผงฟ้าทะลายโจร ควรมีความเข้มข้นของ Andrographolide ไม่ต่ำกว่า 1%
วิธีอ่านรายละเอียดสลากยา : หากข้างบรรจุภัณฑ์ระบุว่า ยาจากผงฟ้าทะลายโจร ขนาดบรรจุ 400 มิลลิกรัม/แคปซูลหรือต่อเม็ด จะต้องมี Andrographolide อยู่ที่ 4 มิลลิกรัม
วิธีการทานยาจากผงฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาอาการไข้หวัด
· ควรได้รับสาร Andrographolide อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน 1 วันต้องทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง โดยทานก่อนอาหารและก่อนนอนให้ทานประมาณ 3-5 วัน (ห้ามเกินกว่านี้)
2. ยาจากสารสกัดฟ้าทะลายโจร คือการสกัดสาร Andrographolide ล้วนๆ ไม่มีการเจือปนใบหรือไฟเบอร์
วิธีอ่านรายละเอียดสลากยา : หากข้างบรรจุภัณฑ์ระบุว่า มี Andrographolide หรือ AP อยู่ที่ 10 หรือ 20 มิลลิกรัม
วิธีการทานยาจากสารสกัดฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาอาการไข้หวัด
· ควรได้รับสาร Andrographolide อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน
· 1 วันต้องทานครั้งละ 2 หรือ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร
· ให้ทานประมาณ 3-5 วัน (ห้ามเกินกว่านี้)
ซึ่งการทานยาฟ้าทะลายโจรทั้ง 2 รูปแบบนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการของผู้ที่เป็นไข้หวัดได้เป็นอย่างดี
** Andrographolide อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน คือ ฤทธิ์สำหรับรักษาอาการไข้หวัด***
ฤทธิ์ทางยาของฟ้าทะลายโจร ที่ทำให้หลายคนสนใจและหยิบมาเป็นทางเลือกเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ได้แก่
· ลดไข้
· ต้านการอักเสบ
· ต้านไวรัสบางชนิด เช่น หวัด และข้อมูลสิทธิบัตรของจีน ที่ระบุว่า สามารถต้าน SARS-CoV-2 ที่เป็นที่มาของโควิด-19 ได้
· กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ยาฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่
ยาฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ แต่ช่วยบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรง ใช่ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรครุนแรง เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ลดโอกาสที่โรคจะลุกลามลงปอด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีน และปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
ยาฟ้าทะลายโจรสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19
สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย เมื่อได้รับฟ้าทะลายโจร (Andrographolide) ตามขนาดที่กำหนด คือ 180 มิลลิกรัมต่อวัน คือมากกว่าขนาดที่ใช้ในการรักษาไข้หวัด 3 เท่า แต่ก็เป็นขนาดที่มีความปลอดภัย และใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ พบว่าช่วยให้อาการเกิดปอดอักเสบลดลง
วิธีการใช้งานสำหรับผู้ป่วยโควิด-19
· ใช้เมื่อใกล้ชิดกับผู้ป่วย และเริ่มมาการป่วยเล็กน้อย เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก
· ควรทานไม่เกินวันละ 180 มิลลิกรัม แบ่งทานวันละ 3-4 ครั้ง แล้วแต่ขนาด Andrographolide ที่ระบุในแต่ละแคปซูล ไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5 วัน
· หลังทานยาฟ้าทะลายโจรได้ 3 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์
ข้อห้ามในการใช้ยาฟ้าทะลายโจร
· ผู้แพ้ยาฟ้าทะลายโจร
· หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรไม่ควรใช้
· ผู้ที่มีอาการไข้สูง
ข้อควรระวังในการใช้ยาฟ้าทะลายโจร
· ผู้ป่วยโรคตับ ไต โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคประจำตัวอื่น ๆ ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต
· ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเกิน 5 วัน อาจเกิดปัญหาต่อร่างกายได้
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทานยาฟ้าทะลายโจร สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง เช่น
· คลื่นไส้ อาเจียน
· รู้สึกขมๆ ในคอ
· มีอาการถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย
· สำหรับผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัว หากทานยาฟ้าทะลายโจร อาจจะพบการขยายของหลอดเลือด ทำให้ความดันลดลง เวียนศีรษะ มือเย็น อ่อนแรง ใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ซึ่งต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
**ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้ หากทานยาฟ้าทะลายโจรอย่างถูกวิธี จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว และสามารถหายได้เอง
· มีฤทธิ์ที่ส่งผลต่อตับและไต โดยผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับตับหรือไต จะไม่แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจร
ข้อควรระวัง : ยาฟ้าทะลายโจร ที่เก็บไว้ระยะเวลานาน มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น เพราะฉะนั้นควรดูวันที่ผลิตก่อนซื้อ ไม่ควรซื้อยาฟ้าทะลายโจรที่ผลิตมาเกิน 6 เดือน หากผลิตเกิน 2 ปีไม่ควรซื้อมาใช้
การผลิตฟ้าทะลายโจรให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพที่ดี จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ในการผลิต ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร จึงได้จัดทำคู่มือการผลิตฟ้าทะลายโจร สำหรับเกษตรกร เป็นแนวทางในการผลิตฟ้าทะลายโจรให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจนำไปปรับใช้และพัฒนาให้เหมาะสมในพื้นที่ของตัวเอง
แหล่งผลิตฟ้าทะลายโจร
การผลิตฟ้าทะลายโจรมีอยู่ทั่วไป ซึ่งแหล่งผลิตสำคัญที่รู้จักกันดีและปลูกมานานคือ กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรกระตีบพัฒนา อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ที่ผ่านมา เกษตรกรมีรายได้ 60,000 บาทต่อไร่ (ช่วงราคารับซื้อ 40-60 บาท) ส่วนใหญ่จะปลูกฟ้าทะลายโจรร่วมกับข้าวโพด ได้ผลผลิต 1,500-1,800 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่การผลิตแบบอินทรีย์จะได้ผลผลิต 400 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งในช่วงวิกฤตที่มีการระบบของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความต้องการฟ้าทะลายโจรสูงมาก ทำให้ตลอดช่วงห่วงโซ่การผลิตของฟ้าทะลายโจรเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลผลิตที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำยา จะต้องมีคุณภาพมาตรฐานโรงงานและเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สมุนไพรที่มีคุณภาพและปลอดภัย
ฤดูการปลูก
ฟ้าทะลายโจรสามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ที่เหมาะสมคือ ช่วงต้นฤดูฝน
พันธุ์ปลูก
พันธุ์พิษณุโลก 5-4 ให้ผลผลิต 1,774-4,187 กิโลกรัมต่อไร่ และปริมาณสารแล็กโตนรวม 10.74-11.79 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
พันธุ์พิจิตร 4-4 ให้ผลผลิต 1,726- 3,880 กิโลกรัมต่อไร่ ปริมาณสารแล็กโตนรวม 10.59-
12.00 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
การเตรียมแปลง
หากปลูกช่วงฤดูฝน ในพื้นที่ลุ่ม ควรขุดยกร่องแปลงสููง 15-20 เซนติเมตร กว้าง 1-2 เมตร ควรมีช่องว่างระหว่างแปลง 1 เมตร เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการดูแลรักษา
การเตรียมพันธุ์
ฟ้าทะลายโจรนิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เพื่อเพิ่มการงอกของเมล็ดฟ้าทะลายโจร ควรแช่เมล็ดในน้ำประมาณ 6-12 ชั่่วโมง หรือแช่เมล็ดในน้ำร้อน 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5-7 นาที หรืออบเมล็ดที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่่วโมง จะช่วยให้เมล็ดพันธุ์งอกดีขึ้น
การปลูก
การปลููกฟ้าทะลายโจรโดยทั่วไปสามารถจำแนกวิธีการปลูกได้ 2 วิธี คือ
1. ปลูกโดยใช้เมล็ด โดยทั่วไปเมล็ดฟ้าทะลายโจรมีขนาดเล็ก 1 กิโลกรัมจะมีเมล็ด 1,000,000-1,200,000 เมล็ดหรือ 1 ช้อนโต๊ะ จะมีเมล็ดจำนวน 7,000-8,000 เมล็ด การปลููกโดยใช้เมล็ดแบ่งเป็นการปลูกแบบหว่านและการปลูกแบบโรยเมล็ดเป็นแถว
2. การปลูกแบบหว่าน นำเมล็ดมาผสมทรายหยาบอัตรา 1 : 1-2 ใช้เมล็ดหว่านอัตรา 100-400 เมล็ดต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร หรืออัตรา 1.5-2.0 กิโลกรัมต่อไร่ คลุมแปลงด้วยฟางข้าว แต่มีข้อจำกัดคือ ทำให้สิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีราคาสููงข้อจำกัดคือ ทำให้สิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีราคาสููง
3. การปลููกแบบโรยเมล็ดเป็นแถว ขุดร่องตื้นๆ เป็นแถวยาวแล้วโรยเมล็ดและเกลี่ยดินกลบบางๆ ควรมีระยะปลูกระหว่างแถวประมาณ 40 เซนติเมตร โดยทั่วไปใช้เมล็ด 50-100 เมล็ดต่อ 1 เมตร การปลููกด้วยวิธีนี้ กำจัดวัชพืชได้ง่าย สะดวกขึ้น เนื่องจากมีระยะแถวปลูกที่แน่นอน สามารถนำเครื่องมือการเกษตร เช่น จอบ เสียม มาใช้พรวนดินและดายหญ้าได้อย่างคล่องตัว
4. การปลููกแบบหยอดหลุุม เตรียมหลุมปลูกลึกประมาณ 2-5 เซนติเมตร ให้เป็นแนวโดยมีระยะปลูกระหว่างต้น 20-30 เซนติเมตร ระหว่างแถว 40 เซนติเมตร หยอดเมล็ดหลุมละ 5-10 เมล็ด เกลี่ยดินกลบบางๆ การปลูกวิธีนี้ จะประหยัดเมล็ดพันธุ์ แต่ยากในการกำจัดวัชพืช ขณะ ที่่ต้นยังเล็ก เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกที่ไม่มีปัญหาวัชพืชรบกวน
2. การปลููกโดยใช้กล้า มีขั้นตอนดังนี้
2.1 การเตรียมกล้าฟ้าทะลายโจรก่อนย้ายปลููกอาจทำโดยการเพาะแปลง โดยใช้จอบ
ขุุดยกเป็นแปลงกว้าง 1 เมตร สููงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ความยาวและจำนวนแปลงขึ้นอยู่กับจำนวนเมล็ดที่่เพาะและความสะดวกในการปฏิบัติงานพร้อมกับย่อยดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยอินทรีย์รองพื้นก่อน 0.5-1 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วปรับหน้าดินให้เรียบก่อนหว่านเมล็ดหรือทำการเพาะในถุงพลาสติก โดยใช้วัสดุเพาะคือ แกลบดำ : ทราย : ดิน ในอัตราส่วน 2 : 1 : 1 เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 3-14 ใบ สามารถย้ายปลููกได้
2.1 การปลููกโดยใช้กิ่งปักชำ คัดเลือกกิ่งฟ้าทะลายโจรจากต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลงทำลาย มีอายุเหมาะสมสำหรับการปักชำ (ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป) ความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ควรเด็ดใบเพื่อลดการคายน้ำ นำไปแช่ในน้ำยาเร่งรากเป็นเวลา 10 นาที ผึ่งให้แห้งก่อนปักชำแล้วรดน้ำให้ชุ่มโดยรักษาความชุ่มชื้น และพรางแสงประมาณ 1 สัปดาห์เมื่อมีการแตกใบและรากงอกก็สามารถย้ายปลูกลงในแปลงต่อไป
2.3 การเตรียมหลุมปลุก ขุดหลุมกว่าประมาณ 15 เซนติเมตร ลึกประมาณ 8-12 เซนติเมตร เป็นแถวระยะปลูก 30×40 เซนติเมตร ให้น้ำหนักสดสูงสุด 3,070 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักแห้งสูงสุดเฉลี่ย 776.6 กิโลกรัมต่อไร่ และระยะปลููก 30×60 เซนติเมตร ให้ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์สููงสุุด 6.98 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม ใส่ปุ๋ยอินทรีย์รองก้นหลุมประมาณ 125 กรัมต่อหลุม และคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน
2.4 ย้ายกล้าปลูก เมื่่อกล้ามีอายุประมาณ 30 วัน ก่อนย้ายกล้า รดน้ำแปลงให้ชุ่มแล้วจึงใช้ช้อนขุดหรือเสียมแซะต้นกล้าไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ 1 ต้นต่อหลุุม หลังปลููกรดน้ำทันที
การใส่ปุ๋ย แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
1. การใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมหรือรองพื้นแปลงเพาะ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ใส่ในอัตรา 2,500 กิโลกรัมต่อไร่ ควรใส่ก่อนปลููก 7 วัน
2. ใส่หลังปลููกใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ได้แก่ ช่วงอายุประมาณ 60 วัน และอายุุ 90-110 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสููง การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนต้องระมัดระวังมาก ถ้าใส่มากเกินไปจะทำให้เฝือใบ ฝักโตเร็วเกินไป เป็นโรคและช้ำได้ง่าย
วิธีใส่ปุ๋ย สามารถใส่ปุ๋ยให้หลายวิธีด้วยกัน ซึ่งแล้วแต่ความสะดวกและวิธีการปลูกพืช ดังนี้
1. แบบหยอดโคน ใส่ปุ๋ยห่างจากโคนต้นประมาณ 10 เซนติเมตร โดยขุดหลุมฝังหรือโรยรอบๆ โคนต้นแล้วพรวนดินกลบก็ได้ ซึ่งเหมาะสมกับการปลูกแบบมีระยะปลูก
2. แบบโรยหรือหว่านเป็นแถว ใส่ปุ๋ยโรยหรือหว่านเป็นแถวขนานไปกับระหว่างแถวปลูกพืชจากแถวปลูกประมาณ 10-15 เซนติเมตร โดยขุุดเป็นร่องแล้วพรวนดินกลบ หรือโรยปุ๋ยก่อนแล้วพรวนดินกลบก็ได้ ซึ่งเหมาะกับการปลูกแบบโรยเมล็ดเป็นแถว
3. แบบหว่าน ต้องหว่านปุ๋ยให้กระจายทั่วและสม่ำเสมอ หลังหว่านปุ๋ยแล้วต้องรดน้ำทันที อย่าให้ปุ๋ยค้างอยู่ที่ใบ เพราะจะทำให้ใบไหม้และต้นพืชตายได้ ซึ่งเหมาะกับแปลงเพาะกล้าและการปลูกแบบหว่านเมล็ด
การให้น้ำฟ้าทะลายโจรเป็นพืชชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำขัง ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง ตั้งแต่ปลูกจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว หลังจากปลูกทุกครั้งต้องให้น้ำทันที จะช่วยให้ต้นกล้าไม่เฉาและตายง่าย ในระยะเดือนแรกหลังจากปลููก ถ้าแดดจัดควรให้น้ำ 2 ครั้งเช้าเย็น ถ้าแดดไม่จัด วันละ 1 ครั้ง เช้าเย็น ถ้าแดดไม่จัด ให้น้ำวันละ 1 ครั้ง หลังจากอายุ 2 เดือนไปแล้ว ให้น้ำวันเว้นวันหรือตามความเหมาะสม นอกจากนี้ การให้น้ำฟ้าทะลายโจร 80 เปอร์เซ็นต์ของค่าการระเหยสะสม ซึ่งวัดได้จากน้ำที่่ระเหยออกจากถาดวัดการระเหยของน้ำ ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวให้ผลผลิตสูงสุดและปริมาณสารแล็กโตนรวมได้มาตรฐาน แต่ถ้าพืชขาดน้ำเป็นระยะนานๆ หลายวันจะทำให้เหี่ยวเฉา แคระแกร็น ออกดอกเร็ว และไม่สามารถดึงธาตุุอาหารที่จำเป็นบางชนิดได้ ทำให้เกิดโรคใบสีม่วง
การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวใบหรือทั้งต้น การเก็บเกี่ยวฟ้าทะลายโจรควรเก็บเกี่ยวในช่วงฟ้าทะลายโจรเริ่มออกดอกจนถึงดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งฟ้าทะลายโจรจะมีอายุประมาณ 110-150 วันและเป็นช่วงที่มีสารสำคัญมากที่สุด หากเก็บหลังช่วงนี้สารสำคัญจะลดลง ในขณะที่การออกดอกจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม
วิธีการเก็บเกี่ยว โดยใช้กรรไกรตัดหรือเคียวตัดเหนือดินให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อเลี้ยงต้นตอให้เจริญเติบโตให้ผลผลิตในรุ่นต่อไป ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงสามารถเก็บเกี่ยวฟ้าทะลายโจรได้อีกครั้ง จากนั้นนำมาคัดแยกวัชพืชและสิ่งปลอมปนออก ล้างด้วยน้ำสะอาด ตัดเป็นท่อนประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วผึ่งให้แห้งหรืออบด้วยเครื่องอบแห้งแบบลมร้อน ผลผลิตสดเฉลี่ย 2,000-3,000 กิโลกรัมต่อไร่ มีสัดส่วนผลผลิตสดต่อผลผลิตแห้งอัตรา 4 : 1 กิโลกรัม สารแอนโดรกราฟโฟไลด์ในส่วนของใบฟ้าทะลายโจรจะเริ่มมีปริมาณมากขึ้น ตั้งแต่อายุ 80 วันขึ้นไป การเก็บเกี่ยวผลผลิตฟ้าทะลายโจรที่อายุ 135 วันหลังปลููกจะให้ปริมาณสารแอนโดรกราฟโฟไลด์สููงนอกจากนี้ การเก็บเกี่ยวใบฟ้าทะลายโจรที่อายุุ 18 สัปดาห์หลังปลูกหรือระยะก่อนออกดอกจะมีปริมาณสารสำคัญมากที่สุดและจะพบในระยะใบอ่อนมากกว่าใบแก่ อย่างไรก็ตาม สารสำคัญของฟ้าทะลายโจรมีปริมาณที่แตกต่างกันเมื่อเก็บเกี่ยวที่อายุ 120-150 และ 180 วันหลังปลูก
การเก็บเกี่ยวเมล็ด ช่วงการเก็บเกี่ยวเมล็ดที่เหมาะสม เมื่อพืชมีอายุประมาณ 6 เดือน เป็นระยะฝักแก่ เมล็ดมีสีน้ำตาล มีน้ำหนักเมล็ดรวมประมาณ 0.166 กรัมต่อ 100 เมล็ดจะให้เปอร์เซ็นต์การงอกสููง (98.5 เปอร์เซ็นต์) สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 1 ปี แต่อัตราการงอกสููงสุุดจะพบในเมล็ดฟ้าทะลายโจรที่่เก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือน
การดูแลหลังการเก็บเกี่ยว
หลังจากเก็บเกี่ยวฟ้าทะลายโจรเรียบร้อยแล้วควรทำความสะอาดก่อนทำให้แห้ง นำฟ้าทะลายโจรที่เก็บมาล้างน้ำให้สะอาด คัดแยกสิ่งปนปลอม เช่น วัชพืชที่ปะปนมา ตัดหรือหั่่นให้มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผึ่่งให้สะเด็ดน้ำแล้วนำมาเกลี่ยบนภาชนะที่สะอาด เช่น กระด้งหรือถาด การตาก ควรคลุุมภาชนะด้วยผ้าขาวบาง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและกันการปลิวของสมุุนไพรตากจนแห้งสนิท หรือใช้เครื่องอบแห้งแบบลมร้อน ที่่อุุณหภููมิ 50 องศาเซลเซียสใน 8 ชั่่วโมงแรก และลดอุณหภููมิเหลือ 40-45 องศาเซลเซียส อบต่อจนแห้งสนิท หลังจากที่ฟ้าทะลายโจรแห้งดีแล้ว ควรนำฟ้าทะลายโจรเก็บใส่ถุงพลาสติกปิดปากถุง มัดให้แน่น ไม่ควรเก็บฟ้าทะลายโจรไว้ใช้นานเพราะจะทำให้ปริมาณสารสำคัญลดลงประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์
อ้างอิง : ข้อมูลและภาพประกอบ จากเอกสาร “คู่มือสำหรับเกษตรกร การผลิตฟ้าทะลายโจร” สิงหาคม 2564 กรมวิชาการเกษตรแหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล, องค์การเภสัชกรรม, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์
เข้าชม : 940
|