[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 

  

การอ่าน
การอ่านและการเขียนให้อะไรกับชีวิต

จันทร์ ที่ 8 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2556

คะแนน vote : 82  

 การอ่านและการเขียนให้อะไรกับชีวิต

การอ่านและการเขียนเป็นทักษะ 2 ประการในทักษะ 4 ประการ ที่มนุษย์ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียน

          การฟังและการพูด เป็นทักษะที่ถูกมองว่าง่ายมากกว่าการอ่านและการเขียน เพราะใครๆ ที่ไม่มีอวัยวะทางการออกเสียงและฟัง คนพิการก็สามารถพูดได้และฟังได้ทั้งนั้น

          ส่วนการอ่านและการเขียนถูกมองว่าเป็นทักษะที่ยาก โดยเฉพาะการเขียน แต่ความจริงแล้วทักษะทั้งสองนี้ไม่ใช่เรื่องยาก หากมีความตั้งใจ อดทน และฝึก อีกทั้งยังเป็นเรื่องของความชอบส่วนตน เนื่องจากมีหลายคนที่ไม่ชอบพูด หากแต่ชอบเขียน และอีกหลายคนที่ประทับใจกับการอ่านจดหมายรักมากกว่าการฟังคำว่ารัก

          ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่คลุกคลีกับการอ่านและการเขียนมาตลอดจนเป็นหนอนหนังสือประเภทมือไม่เคยว่างการจับหนังสือ ( แม้ในยามพักผ่อนก็อ่าน ) และมีอาชีพขีด ๆ เขียน ๆ เป็นงานอดิเรก จึงอยากเล่าสู่กันฟังถึงประโยชน์ของการอ่านและการเขียนที่ได้บังเกิดขึ้นแก่ชีวิตมนุษย์ผู้หนึ่ง

ประโยชน์ของการอ่าน

1. ได้รับความรู้ ความคิดเห็น อันนำไปสู่การเกิดปัญญา

          มีหลายครั้งที่ยามมีปัญหาคับอกคับใจไม่สามารถปรึกษาใครได้ การอ่านเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ได้รับความรู้แก้ปัญหาตลอดจนมองเห็นหนทางในการแก้ปัญหาได้กระจ่าง ชัดเจนขึ้น

2. เกิดจินตนาการ

          หนังสือสร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน ผู้อ่านจึงได้ซึมซาบจินตนาการเหล่านั้นเข้าไว้ในจิตใจ ตลอดจนเกิดประกายสรรค์สร้างจินตนาการที่เจิดจรัสขึ้นมาในชีวิตของตนเอง มนุษย์ต่างกับสัตว์โลกตรงการมีจินตนาการ ใครมีชีวิตจริงที่แสนจะแห้งแล้งเพราะกิจวัตรประจำวันและภาระหน้าที่ที่ แสนซ้ำซากจำเจ ลองหาหนังสือที่คุณพอใจสักเล่ม หยิบมันขึ้นมาอ่าน เพื่อจุดประกายจินตนาการให้กับชีวิต

 

3. ได้รับประสบการณ์

          มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความอยากรู้อยากเห็น อยากทำนั่นอยากทำนี่ แต่ก็มีกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานอีกหลายอย่างที่กีดกันไม่ให้เราทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ดังใจฝันหากเราได้สามารถทำสิ่งที่ต้องการนั่นคือ การได้รับประสบการณ์ตรง เพราะเราได้ไปสัมผัสกับสิ่งนั้นๆ เอง ในทางตรงกันข้ามหากมีบางอย่างก็ใช่ว่าเราจะหมดหวังเสียทีเดียวการอ่านเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ทางอ้อมให้กับมนุษย์ใครล่ะจะรู้ว่าเมื่อถึงคราวที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ประสบการณ์ทางอ้อมที่เราได้รับจากการอ่านจะช่วยเราไว้ได้

นักเขียนหลายคนบรรยายฉากการเสพย์ติด และอารมณ์ที่บรรเจิดได้อย่างดีเยี่ยม จนผู้อ่านอาจหลงคิดว่าผู้เขียนท่าจะเคยลองเสพจริงๆ แต่จริงๆ แล้วเกิดจากการที่ผู้เขียนอ่าน และศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเกิดประสบการณ์ทางอ้อมนั่นเอง

4. ได้พักผ่อน และได้รับความบันเทิง

          การอ่านหนังสือเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่งที่ประหยัดและปลอดภัยตัวผู้เขียนเองนอกจากจะต้องอ่านตำราต่างๆ เพื่อมาเตรียมการสอนแล้ว นอกเหนือเวลาทำงานผู้เขียนยังใช้การอ่านเป็นการสร้างความบันเทิงให้กับชีวิต การมีหนังสือดีๆ อ่านแม้สักเล่มเท่ากับมีเพื่อนคลายเหงาที่ดีผู้หนึ่ง

5. การอ่านเป็นการฝึกสมาธิแบบหนึ่ง

          เมื่อพูดถึงคำว่าสมาธิ หลายๆ คนคงนึกถึงวัด พระ ความศักดิ์สิทธิ์ และความยิ่งใหญ่แต่ความจริงแล้วเราสามรถสร้างสมาธิได้จากการอ่านหนังสือเพราะการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมประเภทหนึ่งที่ต้องอาศัยสมาธิ การรวบรวมความสนใจให้เพ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งในที่นี้หมายถึงตัวหนังสือที่ลอยอยู่เบื้องหน้าเป็นทิวแถว ยังไม่เคยพบเห็นใครที่ขณะอ่านหนังสือแล้วจะประกอบกิจกรรมอย่างอื่นไปได้ด้วยดี

 

ประโยชน์ของการเขียน

1. ได้ตอบสนองอารมณ์

          การเขียนเป็นทางระบายอารมณ์อย่างหนึ่ง มนุษย์หากไม่พูดก็ต้องเขียน การพูดค่อนข้างเสี่ยงมากกว่าในการมีผู้มาพบมาฟังในสิ่งที่ไม่อยากให้ใครได้ยิน และในแง่กลับกันการพูดคนเดียวเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากกว่า เพราะใครๆ อาจคิดว่าเราบ้าหรือเสียสติไปก็ได้

2. เป็นหลักฐานที่ทรงคุณค่า

          ปัจจุบันการใช้วาจาสัญญายังไม่เป็นที่ยอมรับ การเขียนสัญญาเป็นพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย ในอดีตหากไม่มีการจารึกถ้อยคำไว้ ไฉนเลยเราอนุชนรุ่นหลังจักได้ทราบประวัติศาสตร์ได้

          จะเห็นได้ว่าการอ่านเป็นเป็นกระบวนการที่ทำให้ความคิดของเราดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

          ครู 70 % เชื่อว่าการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กในการเรียนรู้ ในขณะที่พ่อแม่ 62 % เชื่อว่า การอ่านเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กในการเรียนแสดงให้เห็นว่าทั้งครูและพ่อแม่ต่างก็จัดอันดับความสำคัญของการอ่านมากกว่าทักษะทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์การอ่านเป็นกิจกรรมที่โดดเดี่ยวพอๆ กับการเขียน หมายถึงเป็นกิจกรรมที่ต้องทำด้วยตนเองและกระทำคนเดียว (เราเคยเห็นการร้องเพลงคู่ ร้องเพลงประสานเสียง แต่ยังไม่เคยพบการอ่านคู่ หรือการอ่านประสานเสียงเลย )

          ครั้งหนึ่งคุณอารี แท่นคำ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “งานเขียนต้องการสมาธิ งานเขียนต้องการความนิ่ง งานเขียนต้องการความโดดเดี่ยว....” ฉันใดก็ฉันนั้น การอ่านซึ่งเป็นทักษะที่เสริมรับการเขียนจึงเป็นคู่สร้างคู่สมของการเขียน เป็นกิจกรรมที่ต้องอยู่คู่กันตลอดกาล...

ความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านและการเขียน

  1. นักเขียนที่ดีมักจะเป็นนักอ่านที่ดี
  2. นักเขียนที่เก่ง มักจะอ่านมากกว่านักเขียนที่ไม่เก่ง
  3. นักอ่านที่เก่งมักจะเขียนประโยคได้ดีกว่านักอ่านไม่เก่ง

พ่อแม่ทุกคนมีความเชื่อว่าเด็กที่ชอบอ่านหนังสือจะเรียนหนังสือเก่งเพราะในระบบการศึกษาไทยยังเน้นการเรียนรู้ด้วยการอ่าน มิใช่การฝึกปฏิบัติมีหลักการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยตำราหรือหนังสือเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นนักเรียนต้องอ่านหนังสือจึงจะสอบได้ และมีเด็กหลายคนทั้งๆ ที่ฉลาดแต่ก็สอบตกเพราะไม่ชอบอ่านหนังสือหรือเด็กบางคนอ่านหนังสือเก่งแต่ไม่อาจถ่ายทอดความรู้นั้นมาทางภาษาเขียนได้ ก็ทำให้เด็กคนนั้นอาจสอบตกได้

          การอ่านและการเขียนจึงเป็นกระบวนการที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน และในเมื่อการอ่านและการเขียนเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อชีวิต เราจึงควรส่งเสริมกิจกรรมทั้งสองแก่เยาวชน

ควรปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านตั้งแต่วัยใด

          หลายคนคงคิดว่าควรเริ่มปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านเมื่อเด็กเริ่มอ่านหนังสือออกแล้ว คือประมาณอายุ 6 - 7 ขวบ

          แต่จากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า เนื่องจากการอ่านเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษาโดยตรง เราจึงสามารถปลูกฝังเด็กให้รู้จักและรักการอ่านได้ตั้งแต่วัยเยาว์มากๆ โดยเริ่มให้เด็กรักภาษาก่อน

สิ่งที่ต้องทำ

  1. เริ่มต้นด้วยการร้องเพลงเด็กง่ายๆ กับลูก อายุประมาณ 6 เดือน มองหาหนังสือที่มีสีสันสดใน รูปภาพเรียบง่ายและเต็มไปด้วยท่วงทำนองจังหวะจะโคน- อายุ 9 เดือน - หนังสือมีภาพประกอบและชื่อของสิ่งของต่างๆ
  2. ขณะอ่านให้ชี้นิ้วไล่ไปเรื่อยๆ แสดงสีหน้าท่าทางที่สามารถเร้าความสนใจเด็กได้
  3. อนุญาตให้เด็กได้สัมผัสหนังสือ หรือบัตรคำ
  4. อ่านสั้น ๆ แต่อ่านบ่อยๆ

          สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้คือรูปแบบของการติดต่อสื่อสารระหว่างหนังสือและสิ่งที่เด็กรักมากที่สุดคือ เสียงของคุณพ่อคุณแม่และความอบอุ่นใกล้ชิด

          เมื่อเด็กขึ้นชั้น ป. 2 , ป. 3 , ป. 4 จะมีความสามารถในการอ่านมากขึ้น คือเข้าใจ รู้เรื่องรู้จักติดตาม

          เมื่อเด็กอายุ 13 - 14 เป็นระยะสำคัญที่จะเกิดนิสัยในการอ่านอย่างสม่ำเสมอเด็กจะรู้จักหาหนังสือนอกห้องเรียนอ่านเอง

                                                     โดย : อาจารย์ บงกช สิงหกุล ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ



เข้าชม : 43116


การอ่าน 5 อันดับล่าสุด

      การอ่านและการเขียนให้อะไรกับชีวิต 8 / ก.ค. / 2556
      13 วิธีการชนะความขี้เกียจในการอ่านหนังสือ 8 / ก.ค. / 2556


 
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอสทิงพระ
ถนนเขาแดง - ระโนด ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
โทรศัพท์ 074-205123 โทรสาร 074 - 205123 Email :stpnfe@hotmail.com"
Powered by MAXSITE 1.10 Modify by นิกร เกษโกมล Version 2.05