|
แม้ว่าการเลี้ยงไก่ไข่ที่ทำอยู่ขณะนี้ จะดูเสมือนเลี้ยงให้คนอื่น ไก่ที่กำลังเลี้ยงอย่างเอาใจใส่อยู่ขณะนี้พอวันหนึ่งมันไข่ออกมา ไข่นั้นมิใช่ไข่ของมัน มิใช่ไข่ของเรา แต่เป็นไข่ของบริษัทที่เรารับจ้างเขาเลี้ยง พอถึงวันนั้นก็ต้องดีใจเพราะมั่นใจได้ว่า ไม่ขาดทุนอย่างแน่นอนเพราะมีการประกันราคาไข่ไก่ไว้ ซึ่งนอกจากไข่แล้ว ทางบริษัทเขายังรับซื้อแม่ไก่ที่ปลดระวางด้วย...
ที่อยากบอกเล่าในวันนี้ที่สำคัญคือเรื่อง การทำไบโอแก๊ส... การเลี้ยงไก่ (และ/หรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ) นอกจากจะขายไข่ได้แล้ว ยังได้ประโยชน์มากกว่านั้นอีกคือ การนำเอาแก๊สที่จะต้องสูญเปล่าหากปล่อยทิ้งไป มาทำให้เกิดประโยชน์โภชผลมากกว่านั้น คือ การทำไบโอแก๊ส (Bio Gas) หากไม่ทำไบโอแก๊สแล้ว ก็จะเกิดมลพิษ ณ บริเวณนั้นและรอบ ๆ แต่หากทำ นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่เจ้าของฟาร์ม
อย่าง คุณเจียดฉพร บุญรักศรพิทักษ์ เจ้าของธนโชติฟาร์ม อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 5 ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ที่เริ่มต้นเลี้ยงไก่เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมากับโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่แก่เกษตรกรรายย่อยของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งคุณเจียดฉพรมีโรงเรือนเลี้ยงไก่ 1 โรง มีไก่ 36,000 ตัว โรงเรือนเป็นระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือ Evaporative cooling system (EVAP) คุณเจียดฉพรทำไบโอแก๊สแบบ Plug Flow แล้ว สามารถลดค่าให้จ่ายได้มาก เช่น ค่าไฟฟ้าก่อนที่จะทำไบโอแก๊สนั้นสูงมาก แต่หลังจากที่ทำระบบนี้แล้วค่าไฟฟ้าลดลง
คุณเจียดฉพร เล่าให้ฟังว่า เงินลงทุนทำ ไบโอแก๊สนั้นมีทั้งเงินส่วนตัวและเงินสนับสนุนจากทางราชการ บ่อนี้ลงทุนไม่รวมเครื่องปั่นไฟประมาณ 1.2 ล้านบาท มีขนาด 700 คิว ม.เชียงใหม่ช่วยประมาณ 900 บาทต่อคิว ไก่รุ่นที่ผ่านมามีรายได้จากการขายมูลไก่ที่ชักกากตากแห้งได้กิโลกรัมละ 3 บาท คิดเป็นตันละ 3,000 บาท ถ้าคิดเป็นเดือนจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 6,000 บาท ในส่วนมูลไก่สดที่ไม่ได้ลงบ่อจะขายได้ประมาณ 6,000 บาท เฉลี่ยแล้ว มูลไก่ทั้งหมดจะได้เป็นเงิน 12,000 บาท
เมื่อทำไบโอแก๊สแล้ว จากเดิมเสียค่าไฟฟ้า 45,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันเหลือ ประมาณ 18,000 บาท ...เห็นได้ว่าจ่ายถูกลงกว่าเดิมถึง 60%
สำหรับเหตุผลที่ตัดสินใจทำไบโอแก๊สประการแรกคือเรื่องของการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเลี้ยงไก่ย่อมต้องมีกลิ่นจากมูลไก่ซึ่ง อาจรบกวนชุมชนโดยรอบได้ ประกอบกับได้เงินลงทุนจึงหันมาใช้ไบโอแก๊ส โดยทาง ม.เชียงใหม่ มีวิศวกรมาดูแลถึงความเหมาะสมในการใช้ไบโอแก๊สให้เหมาะกับขนาดของฟาร์ม ซึ่งทาง ม.เชียงใหม่ มีงบประมาณให้เฉพาะแค่ 700 คิวเท่านั้น ถ้าเกษตรกรต้องการเพิ่มขนาดโรงเรือนให้ใหญ่กว่านี้ต้องเสียค่า ใช้จ่ายเพิ่มเอง ซึ่งในอนาคต ที่นี่อาจเพิ่มขนาดบ่อให้เหมาะสมตามจำนวนไก่ด้วย
ระบบการจัดการเรื่องของมูลไก่ มีระบบการเก็บโดยใช้สายพานและมีท่อลำเลียงเพื่อปล่อยลงไปยังบ่อหมัก โดยมูลไก่สดจะมีเกษตรกรมารับซื้อ ที่เหลือประมาณ 4 ตันจะลงบ่อทำไบโอแก๊สโดยมูลไก่ที่ได้และกากที่เหลือจากบ่อหมักจะได้ประมาณ 2 ตัน ซึ่งกากที่หายไปจะถูกย่อยเป็นน้ำ น้ำที่ได้จะไม่มีกลิ่นและไม่มีความเค็มจะมีค่า NPK ที่สูงสามารถนำมารดน้ำต้นไม้และนำมาทำการเกษตรได้ สำหรับมูลไก่ที่ชักกากขึ้นมานั้นเป็นปุ๋ยที่ดี ไม่มีกลิ่น แต่มีประโยชน์สำหรับต้นไม้ สามารถจำหน่ายได้เช่นกัน
เห็นได้ชัดเจนว่าการเลี้ยงไก่ด้วยระบบที่มีคุณภาพ ผลผลิตที่ได้ย่อมมีคุณภาพ และหากในฟาร์มมีการทำไบโอแก๊สด้วยแล้วก็จะไร้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านที่อยู่รายรอบฟาร์มก็จะเป็นมิตรที่ดีต่อฟาร์มเพราะเป็นฟาร์มที่ปลอดกลิ่น ปลอดแมลงวัน ที่สำคัญยังเป็นการลดต้นทุนอีกด้วย.
นายนิกร เกษโกมล รวบรวม
|