นักวิจัย ใช้ประโยชน์จาก"พลังของความคิด"ของมนุษย์ เพื่อใช้ควบคุมคอปเตอร์ 4 ใบพัด หรือควอดคอปเตอร์ ให้สามารถบินได้ตามที่ต้องการ และสามารถต่อยอดการพัฒนาเพื่อผลิตอุปกรณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ทุพลภาพได้ ในอนาคต
การทดสอบจำเป็นต้องใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านการฝึก เพื่อให้สามารถจดจำรูปแบบของเทคนิคการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram) โดยความคิดต่างๆ อาทิ การกำหมัดด้วยมือซ้าย จะมีความสัมพันธ์ร่วมกันกับการเคลื่อนไหวของควอดคอปเตอร์ไปทางซ้าย
แม้คลื่นไฟฟ้าสมองจะยังคงมีความซับซ้อนและไม่สามารถเข้าใจสัญญาณไฟฟ้าได้ ทั้งหมดแต่กระบวนความคิดที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้และสามารถปฏิบัติซ้ำได้
โดยแนวคิดดังกล่าว ได้มีการนำไปประยุกต์ใช้ในการควบคุมเก้าอี้วีลแชร์ และสัญญาณคลื่นสมองที่มีความชัดเจนพอ ยังเคยถูกนำไปใช้ในการสร้างวงออร์เคสตร้าที่ควบคุมด้วยสมองครั้งแรกของโลก เมื่อปี 2009 มาแล้ว และแม้กระทั่งบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่างซัมซุง ยังได้แสดงความสนใจต่อเทคโนโลยีดังกล่าว และมีรายงานว่ากำลังพัฒนาแทบเล็ตที่ควบคุมด้วยจิตใจได้ด้วย
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมินนิโซตาควบคุมหุ่นยนต์ด้วยคลื่นสมอง เพียงนึกภาพในใจ สามารถสั่งให้เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นลง เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้
ปิ้น เหอ ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมการแพทย์ มหาวิทยาลัยมินเนโซต้าของสหรัฐฯ พร้อมทีมงาน ได้เคยร่วมทำการทดลองบินคอปเตอร์จำลองโดยผ่านการควบคุมด้วยจิตใจมาแล้วเมื่อ ปี 2011 โดยในการทดสอบครั้งล่าสุด ได้มีการเลือกผู้ทำการทดสอบ 5 ราย ที่จะต้องสวม"หมวกตัวอย่าง"ที่ประกอบด้วยอิเล็กโทรดหรือขั้วไฟฟ้าจำนวน 64 ตัวทำหน้าที่จับสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในสมอง โดยหมวกดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อป้อนรูปแบบของสมองที่สัมพันธ์กับความคิดในการ เคลื่อนไหวไปยังคอมพิวเตอร์
โดยเมื่อผู้ทดสอบกำลังคิดว่ากำหมัดซ้ายและขวา ตัวคอปเตอร์จะเคลื่อนไปทางซ้ายและขวา และคิดว่ากำหมัดทั้งสองข้างพร้อมกันเมื่อต้องการให้บินขึ้น และอยู่เฉยๆ หากต้องการให้คอปเตอร์ร่อนลง ต่อมาได้มีการเซ็ตคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ถ่ายทอดสัญญาณนั้นผ่านไว-ไฟ ไปยังเฮลิคอปเตอร์ 4 ใบพัด หรือควอดคอปเตอร์ นอกจากนั้นยังมีการสร้างให้คอปเตอร์ดังกล่าวสามารถบินในสภาพที่มีอุปสรรคกีด ขวาง ในสถานที่ทดลองซึ่งเป็นยิมเนเซียมของมหาวิทยาลัย โดยมีอัตราการประสบความสำเร็จอยู่ที่ 90%
ศ.เหอ กล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยผู้ป่วยอัมพาตและคนไข้โรคประสาทเสื่อมที่ไม่สามารถ เคลื่อนไหวร่างกายในการสั่งงานหุ่นยนต์ผู้ช่วยเขาหวังว่าจะต่อยอดเทคโนโลยี เพื่อใช้ในการพัฒนาวีลแชร์ เปิดโทรทัศน์ และที่สำคัญที่สุดคือการควบคุมอวัยวะเทียม นอกเหนือจากการใช้กับผู้ทุพลภาพแล้ว ยังสามารถนำไปพัฒนาเพื่อใช้ควบคุมหุ่นยนต์ที่ใช้ในครัวเรือนได้อีกด้วย
ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ
http://www.braille-cet.in.th/Braille-new/?q=article-1444