19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 โดยยกระดับจากสำนักงาน กศน. เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้”
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ มาตรา 54 วรรคสาม ประกอบกับมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษา โดยสร้างโอกาสให้ผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน หรือผู้ซึ่งพ้นวัยที่จะศึกษาในโรงเรียนหรืออยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงและพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ความเชี่ยวชาญได้ตามความถนัด สมควรปรับปรุงการจัดการเรียนรู้และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยจัดการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
การยกระดับจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ให้เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” มีหน้าที่จัด ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบคือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ
เข้าชม : 5519
|