[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 

  

บทความสุขภาพ
สะอึก (hiccup)

จันทร์ ที่ 4 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551

คะแนน vote :  

สะอึก (hiccup) เกิดจากกะบังลมทำงานไม่เป็นปกติ กะบังลมกั้นอยู่ระหว่างช่องท้องกับช่องอก ทำงานโดยยืดและหดในจังหวะสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการหายใจ สาเหตุของการสะอึกอาจเกิดจากมีอะไรไปรบกวนประสาทที่ควบคุมการทำงานของกะบังลม ลมในกระเพาะอาหารขยายตัวไปกระตุ้นปลายประสาทที่มาเลี้ยงกะบังลม หรืออวัยวะใกล้กะบังลมเป็นโรคบางอย่าง เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
       สาเหตุเหล่านี้ทำให้กะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด การบีบรัดตัวของกะบังลมทำให้แผ่นเหนือกล่องเสียงที่คอหอยซึ่งปกติคอยกั้นไม่ให้อาหารเข้าไปในหลอดลมปิดลง เมื่อกะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงก็จะดึงอากาศเข้าสู่ปอดผ่านคอหอย อากาศจึงกระทบกับแผ่นปิด แล้วทำให้สายเสียงสั่นสะเทือน จึงเกิดเป็นเสียงสะอึก
       อาการสะอึกอาจเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ และหายไปได้เอง ใช้เวลาไม่กี่วินาทีไปจนถึง 2-3 นาที ซึ่งพบได้บ่อยๆ แต่หากสะอึกอยู่นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ หรือสะอึกในขณะนอนหลับ อาจต้องหาสาเหตุว่ามาจากโรคของอวัยวะต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด ในระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น
       คนส่วนใหญ่มักจะสะอึกหลังจากการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป หรือรับประทานอาหารที่ทำให้มีก๊าซมาก บางคนอาจเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่มากเกินไป บางคนที่มีความตึงเครียดมากเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุของการสะอึกได้
       เทคนิคหยุดอาการสะอึกมีหลายวิธี การศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พบว่า การกลืนน้ำตาลทรายเปล่าๆ 1 ช้อนโต๊ะ สามารถแก้อาการสะอึกได้ถึง 19 คน จากจำนวน 20 คน
       นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ อีกหลายวิธี ได้แก่
       - สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้สักพัก
       - หายใจในถุงกระดาษ
       - กลืนน้ำแข็งบดละเอียด
       - เคี้ยวขนมปังแห้ง
       - บีบมะนาวให้ได้สัก 1 ช้อนชา แล้วจิบแก้สะอึก
       - ก้มตัวดื่มน้ำจากขอบแก้วด้านตรงข้ามหรือด้านที่ไกลจากริมฝีปาก
       - จิบน้ำจากแก้วเร็วๆ หลายๆ อึก ติดๆ กัน
       - ใช้นิ้วมืออุดหูประมาณ 20-30 วินาที
       - อุดหูไปด้วย แล้วดูดน้ำจากหลอดไปด้วย
       - แหงนหน้า กลั้นหายใจ นับ 1-10 จากนั้นหายใจออกทันที แล้วดื่มน้ำหนึ่งแก้ว
       - ใช้นิ้วคีบลิ้นแล้วดึงออกมาเบาๆ หรือแลบลิ้นออกมายาวๆ
       - กดจุด โดยออกแรงบีบเนินใต้นิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่ง หรือกดบริเวณร่องเหนือริมฝีปาก
       - นวดเพดานปาก
       - ทำให้ตกใจ เช่น ตบหลังแรงๆ โดยไม่ให้รู้ตัวก่อน
       - ถ้าเป็นเด็กอ่อนควรอุ้มพาดบ่าใช้มือลูบหลังเบา ๆ ให้เรอ
       ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการสะอึกไม่หยุดนานกว่า 1 วัน มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกวิงเวียนร่วมด้วย หรือสะอึกทุกครั้งหลังจากรับประทานยาที่แพทย์จัดให้
       ในการค้นหาสาเหตุของการสะอึกเป็นเวลานานๆ แพทย์อาจต้องตรวจระบบทางเดินอาหาร ว่า มีการอักเสบของหลอดอาหารที่เกิดจากการย้อนกลับของน้ำย่อยที่มาจากกระเพาะอาหารหรือไม่ ต้องตรวจความผิดปกติในลำคอ หู จมูก ระบบทางเดินหายใจ และระบบสมองและประสาท
       แต่หากสะอึกเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่นานนัก แต่เป็นหลายครั้ง อาจสังเกตจากกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ ว่ามีความสัมพันธ์กับการสะอึกหรือไม่ ถ้าสัมพันธ์กัน ก็ควรจะปรับเปลี่ยนกิจวัตรเหล่านั้น
       ติดตามฟังรายการ “สภาพสุข สุขภาพ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-12.00 น.ทางคลื่นยามเฝ้าแผ่นดิน FM 97.75 MHz http://www.managerradio.com/ และคลื่นสามัญประจำบ้าน http://www.thaipeopleradio.com/

ค้นคืนวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ จาก  URL :
http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9510000012926
งานห้องสมุด  โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์



เข้าชม : 51806


บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด

      ใครที่ชอบทานเต้าหู้ 19 / มิ.ย. / 2551
      อาบน้ำให้หมดจด ห่างไกลโรคภัย 27 / เม.ย. / 2551
      สะอึก (hiccup) 4 / ก.พ. / 2551


 
สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสงขลา
เลขที่ 46 ถนนรามวิถี อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000
   โทร  0-7431-1046, 0-7431-2822, 0-7431-2596 โทรสาร 0-7432-3713
songkhla@nfe.go.th http://sk.nfe.go.th/sknfe
Powered by MAXSITE 1.10 Modify by นิกร เกษโกมล Version 2.05