[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตำบลบางเขียด (สกร.ตำบลบางเขียด) ยินดีต้อนรับ ที่ตั้งอาคารอเนกประสงค์ ตำบลบางเขียด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โทร.๐๘๙ - ๔๖๒๒๐๙๔ โทรสาร ๐๗๔ - ๓๓๒๔๙๓
 

  

บทความทั่วไป
การละเล่นพื้นบ้านภาคใต้

ศุกร์ ที่ 21 เดือน เมษายน พ.ศ.2560

คะแนน vote : 82  

 


การละเล่นพื้นบ้านภาคใต้

การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้
         การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ เป็นเรื่องของความบันเทิงรื่นเริงที่จัดขึ้นโดยเน้นผู้ชมเป็นหลัก มีผู้แสดงหรือคณะผู้แสดงเป็นผู้ให้ความบันเทิง ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตน และมีความบริสุทธิ์ในการแสดงออกตามภาวะแห่งการดำรงชีวิต การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินอันเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย ตรากตรำจากการทำงาน เช่น การเล่นหนังตะลุง หรือโนรา การละเล่นบางอย่างเกิดขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลอง หรือเพื่อแสดงความยินดีในดอกาสที่บุคคลหรือสังคมประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น การรำโนราคล้องหงส์ในการโกนจุก หรือการแสดงซัมเป็งเพื่อรับขวัญแขกบ้านแขกเมือง นอกจากนี้มีการละเล่นหลายอย่างเกิดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาหรือเกี่ยวกับการบุญการกุศล เช่น การเล่นเพลงเรือ เพลงแห่นาค และมีการละเล่นบางอย่างเกิดขึ้นเพื่อเป็นการบวงสรวงผีสางเทวดา เช่น กาหลอ และโต๊ะครึม
ได้มีผู้จัดกลุ่มของการละเล่นพื้นเมืองของภาคใต้โดยถือเอาแนวพื้นที่เป็นตัวแบ่ง ซึ่งสามารถจัดกลุ่มของการละเล่นพื้นเมืองของภาคใต้ได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

 

กลุ่มที่ 1 คือแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และในเขตบางอำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ นาทวี สะเดา และบางส่วนของอำเภอหาดใหญ่และอำเภอเมืองสงขลา การละเล่นพื้นเมืองในกลุ่มนี้ ได้แก่ มะโย่ง ซีละ ซัมเป็ง ลอแก วอแยยาวอ เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 คือแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง บางท้องถิ่นของจังหวัดตรัง และบางท้องถิ่นในเขตจังหวัดสงขลา (บริเวณรอบลุ่มทะเลสาบ) คือ เขตอำเภอระโนด สทิงพระ และรัตภูมิ การละเล่นพื้นเมืองในกลุ่มนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง เช่น หนังตะลุง โนรา เพลงบอก และมีการละเล่นที่ได้รับช่วงมาจากกลุ่มที่ 1 บ้าง แต่ได้มาสร้างรูปแบบเฉพาะตนขึ้นใหม่ เช่น กาหลอ โต๊ะครึม
กลุ่มที่ 3 คือแถบจังหวัดทางฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา และจังหวัดตรังบางท้องที่ การละเล่นพื้นเมืองกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากชาวเล ส่วนหนึ่งรับมาจากมาเลเซีย ที่เด่นๆ เช่น รองแง็ง (ประเภทมีบทร้องประกอบการรำ) ลิเกป่าหรือลิเกรำมะนา แม้แต่หนังตะลุง ก็จะมีลักษณะต่างไปจากกลุ่มอื่นๆ กล่าวคือ คณะหนังตะลุงที่เป็นคนในท้องถิ่นแท้ๆ จะนิยมเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์ มีขนบนิยมของหนังใหญ่เข้าไปประสม รูปหนังไม่พัฒนาไปมากเหมือนอย่างหนังตะลุงฝั่งตะวันออก
กลุ่มที่ 4 คือแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง การละเล่นพื้นเมืองของกลุ่มนี้ได้แก่ หนังตะลุง โนรา เพลงบอก นอกจากนนี้ยังมีความนิยมในการเล่นเพลงสูงมาก เช่น เพลงเรือ เพลงนา และมีการละเล่นที่มีรูปแบบพิเศษ เช่นโนราหอย โนราโกลน เป็นต้น
 
 
ชื่อ : อีฉุด
ภาค :  ภาคใต้
จังหวัด : กระบี่
วิธีการเล่น
        ผู้เล่นตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้เล่นก่อนหลัง โดยผู้เล่นมีลูกเกยคนละลูก หลังจากนั้นก็ขีดตารางเป็นช่องสี่เหลี่ยมจำนวน ๖ ช่อง หรือเรียกว่า ๖ เมือง โดยแบ่งเป็นซีกซ้าย ๓ เมือง ซีกขวา ๓ เมือง
        การเริ่มเล่น ผู้เล่นคนที่ ๑ เริ่มเล่นโดยการทอยลูกเกยลงไปในเขตเมืองที่ ๑ แล้วกระโดดยืนเท้าเดียวในเมืองที่ ๑ หลังจากนั้นใช้ปลายเท้าฉุดลูกเกยให้ผ่านไปในเขตเมืองที่ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ตามลำดับแล้วก็ฉุดลูกเกยออกจากเขตเมืองที่ ๖ ต่อไปผู้เล่นคนเดิม ต้องทอยลูกเกยลงในเมืองที่ ๒ แล้วกระโดดยืนเท้าเดียวในเมืองที่ ๑ กระโดดต่อไปในเมืองที่ ๒ หลังจากนั้นก็เล่นเหมือนเดิมไปเรื่อยๆทุกเมือง จนถึงเมืองที่ ๖ เมื่อทอยลูกเกยและฉุดได้ครบทั้ง ๖ เมืองแล้วให้ผู้เล่นกระโดดด้วยเท้าข้างเดียวจังหวะเดียวลงบนเมืองที่ ๑ ถึง เมืองที่ ๖ ตามลำดับ ห้ามกระโดดหลายครั้งมิฉะนั้นถือว่า ตาย ต้องให้คนอื่นๆเล่นต่อ ถ้าเล่นครบท่านี้แล้วไม่ตาย ให้เล่นในท่าต่อไป คือ เอาลูกเกยวางบนหลังเท้าแล้วสาวเท้าลงในเมืองทั้ง ๖ เมือง ตามลำดับ แต่เท้าหนึ่งลงในเมืองหนึ่งได้เพียงครั้งเดียว เช่น เท้าซ้ายเหยียบลงในเมืองที่ ๑ เท้าขวาเหยียบลงในเมืองที่ ๒ เท้าซ้ายเหยียบลงในเมืองที่ ๓ สลับกันไปเช่นนี้จนกว่าจะครบทุกเมือง ลูกเกยนั้นต้องไม่ตกจากหลังเท้าและเท้านั้นต้องไม่เหยียบเส้น ท่าต่อไปนั้นให้ผู้เล่นปิดตา เดินที่ละก้าวโดยไม่ต้องวางลูกเกยบนหลังเท้าขณะเดินขณะที่ก้าวเท้าลงในแต่ละเมืองผู้เล่นนั้นต้องถามว่า “อู่ บอ” หมายความว่า เหยียบเส้นหรือไม่ ถ้าไม่เหยียบผู้เล่นคนอื่นๆจะตอบว่า “บอ” ถ้าเหยียบเส้นตอบว่า “อู่” เมื่อผู้เล่นที่ปิดตาเหยียบเส้นถือว่า ตาย ต้องเปลี่ยนให้คนอื่นๆเล่นต่อไป ถ้าเล่นยังไม่ตายผู้เล่นนั้นมีสิทธิ์ในการจองเมือง โดยผู้เล่นนั้นต้องเดินเฉียงไปแบบสลับฟันปลาไปตามช่องต่างๆ ให้ลงเท้าได้เพียงเท้าเดียว เช่น ลงเท้าซ้ายในเมืองที่ ๑ ลงเท้าขวาในเมือ งที่ ๓ และลงเท้าซ้ายในเมืองที่ ๕ แล้วกระโดดสองเท้าลงในหัวกระโหลก กระโดดเท้าพร้อมกับหันหลัง และผู้เล่นก็โยนลูกเกยข้ามศีรษะของตน
         เองถ้าลูกเกยไปตกอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่ง เมืองนั้นจะเป็นของผู้เล่นทันที ดังนั้นผู้เล่นมีสิทธิ์ยืนสองเท้าในเมืองนั้นได้ เมื่อได้เมืองแล้วก็ให้เล่นอย่างนั้นต่อไป จนกว่าจะตายจึงจะต้องเปลี่ยนให้ผู้อื่นเล่นต่อ
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
           ในการเล่นอีฉุดนั้นไม่มีการกำหนดโอกาสและเวลาที่เล่น เพราะสามารถเล่นได้ในทุกโอกาสและการเล่นอีฉุดนั้นเป็นการเล่นของเด็กที่นิยมกันมากในท้องถิ่นจังหวัดกระบี่
คุณค่าและแนวคิด
            ในการเล่นอีฉุดนั้นก่อให้เกิดความสามัคคี ความรักความผูกพันธ์กันในหมู่คณะและเป็นการฝึกความสัมพันธ์ของร่างกายในส่วนต่างๆ ทั้ง มือ เท้า และสมอง ได้เป็นอย่างดี
 
 
 
ชื่อ: ฉับโผง
ภาค :ภาคใต้
จังหวัด: กระบี่
อุปกรณ์และวิธีเล่น
          ฉับโผง เป็นวัตถุประดิษฐ์ที่เด็กกระบี่ในสมัยก่อนนิยมเล่นกัน วิธีการประดิษฐ์นำไม้ไผ่ขนาดเล็ก มาตัดให้เหลือ ๑ ปล้องมีรูกลวงตรงกลางตลอดลำ (ยาวประมาณ ๑ คืบ) เรียกส่วนนี้ว่า “บอกฉับโผง”จากนั้นนำไม้ไผ่ความยาวประมาณ ๑.๕ คืบมาเกลาให้กลม ขนาดพอที่จะกระทุ้งเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ได้ พร้อมทั้งใช้ไม้ไผ่ขนาดเท่ากระบอกฉับโผงความยาวประมาณ ๐.๕ คืบ สวมโคนไม้ไผ่ส่วนที่ยาวเกินกระบอก ชิ้นส่วนนี้เรียกว่า “ด้ามจับ”
วิธีการเล่น
           นำลูกพลา (ผลไม้ป่ามีลักษณะผลเป็นช่อคล้ายมะเขือพวงแต่ลูกเล็กกว่า) อัดเข้าไปในกระบอกฉับโผง แล้วมือข้างหนึ่งถือกระบอกมือข้างหนึ่งถือด้ามจับสอดปลายด้ามจับกระทุ้งไปด้านหน้าแรงๆให้แรงอัดดันลูกพลาพุ่งออกไปนอกกระบอก
โอกาสและเวลาที่เล่น
           การเล่นฉับโผงไม่จำกัดโอกาสและเวลาที่เล่น สามารถใช้เล่นยิงกันแทนปืนหรือยิงวัตถุที่เป็นเป้าได้ทุกโอกาส
คุณค่าและแนวคิด
          การเล่นฉับโผงส่วนใหญ่แล้วนิยมเล่นกันเป็นกลุ่มๆก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะฝึกความแม่นยำและฝึกความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือและเป็นการฝึกให้เด็กๆได้นำวัสดุจากธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นของเล่น
 
 
 
ชื่อ: ขว้างราว
ภาค: ภาคใต้
จังหวัด: กระบี่
อุปกรณ์และวิธีเล่น
          ขว้างราว เป็นการเล่นที่นิยมของเด็กในจังหวัดกระบี่ กล่าวคือ นำไม้ไผ่มาผ่าเกลาให้ มีขนาดกว้าง ๑ นิ้ว ยาว ๓๐ เซนติเมตร ทำเป็นราว
          การเล่นไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นส่วนใหญ่ประมาณ ๓-๕ คน นำราวมาตั้งโดยมีหินรองปลายราวทั้ง ๒ ข้างให้สูงจากพื้นดินประมาณ ๓ นิ้ว แล้วขีดเส้นเป็นเขตสำหรับยืนขว้างให้ห่างจากราวประมาณ ๕ เมตร หลังจากนั้นก็นำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ไปวางบนราวตามที่ได้ตกลงกันว่าวางคนละกี่เมล็ด จากนั้นก็เริ่มขว้าง ถ้าคนแรกขว้างถูกและควํ่าหมดถือว่าจบเกมส์คนขว้างจะได้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งหมด ผู้เล่นแต่ละคนต้องนำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ไปวางบนราวใหม่ แต่ถ้าขว้างไม่ถูกหรือควํ่าไม่หมดคนที่สองก็ขว้างต่อ จนกระทั่งควํ่าหมดจึงเริ่มเล่นใหม่
โอกาสและเวลาที่เล่น
         การเล่นขว้างราว นิยมเล่นกันในช่วงฤดูที่มะม่วงหิมพานต์ออกผล ไม่จำกัดเวลาในการเล่น
คุณค่าและแนวคิด
         การเล่นขว้างราวเป็นการฝึกสมาธิ ความแม่นยำและความสัมพันธ์กันระหว่างสายตากับมือ และก่อให้เกิดความสามัคคีกันในหมู่คณะ

 

 
 
ชื่อ: การชนวัว
ภาค: ภาคใต้
จังหวัด: นครศรีธรรมราช
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
         พันธุ์วัวชนเป็นพันธุ์ไทยเฉพาะ เจ้าของจะผสมพันธุ์วัวชนของตนเอง แล้วคัดเลือกวัวลูกคอกที่มีลักษณะดี นำมาเป็นวัวชน อายุ ๔-๖ ปี จัดว่าอยู่ในวัยหนุ่มถึกเต็มที่เหมาะที่จะชน
          การเลี้ยงดู ในระยะแรกต้องเอาวัวที่คัดเลือกไว้นั้นมา “ปรน” (บำรุงเลี้ยงดู) ให้สมบูรณ์เสียก่อน ในกรณีที่เป็นวัวใหม่ อาหารหลักคือหญ้า วัวชนนั้นจะต้องตัดหญ้าใส่ลังหรือรางให้กินในโรงวัวหรือที่พักของวัว ไม่ปล่อยให้กินหญ้าเหมือนวัวประเภทอื่น ๆ อาหารหลักอย่างอื่นมีน้ำและเกลือ สำหรับน้ำจะต้องให้วัวกินละ ๒ ถึง ๓ ครั้ง เกลือให้กิน ๑๕ วันต่อครั้ง ครั้งละ๑ กำมือ หรืออาจจะมากน้อยไปกว่านั้นก็ได้ อาหารเสริมสำหรับวัวชนมีหลายอย่าง เช่น ถั่วเขียวต้มกับน้ำตาลกรวด กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม น้ำมะพร้าวอ่อน ขนุน ไข่ไก่และผลไม้อื่น ๆ สำหรับไข่ไก่ให้วัวชนกินครั้งละ ๑๐ ถึง ๑๕ ฟอง อาจจะเอาไข่ไก่ตีคนกับเบียร์ดำใส่กระบอกกรอกให้กินก็มี
ที่อยู่ของวัวชน จะปลูกสร้างเป็นโรงนอนให้อยู่ขนาดพอควร แต่ต้องก่อไฟแกลบไล่ยุงและริ้น ไม่ให้มารบรวนได้ บางตัวที่เจ้าของมีฐานะดี กางมุ้งหลังใหญ่ให้วัวนอน หรืออาจทำมุ้งลวดให้ โรงวัวดังกล่าวจะต้องทำความสะอาดทุกวัน
          การออกกำลังกายและฝึกซ้อมก่อนชนวัว ในระยะก่อนชน คนเลี้ยงจะต้องนำวัวเดินหรือวิ่งออกกำลังกายในตอนเช้ามืดทุกวัน เป็นระยะเวลาทางประมาณ ๕ ถึง ๑๐ กิโลเมตร เมื่อเดินหรือวิ่งในตอนเช้ามืดแล้ว คนเลี้ยงวัวจะนำวัวไปอาบน้ำ ด้วยการขัดสีด้วยแปรง บางตัวฟอกสบู่จนเนื้อตัวสะอาดสะอ้านดีแล้ว จึงนำมากินหญ้ากินน้ำ แล้วเริ่มตากแดด เรียกว่า “กราดแดด” คือล่ามหรือผูกไว้กลางแดด เพื่อให้วัวชนมีน้ำอดน้ำทน เริ่ม “กราดแดด” ตั้งแต่ ๐๙.๐๐ ถึง ๑๒.๐๐ น. แต่บางตัวจะต้องกราดแดดต่อไปจนถึงบ่ายก็มี เมื่อกราดแดดแล้วก็นำเข้าเพื่อพักผ่อน ให้กินหญ้าให้กินน้ำ พอถึงเวลา ๑๕.๐๐ ถึง ๑๖.๐๐ น. คนเลี้ยงจะนำวัวพาเดินไปยังสนามที่จะชน เพื่อให้คุ้นเคยกับสถานที่ เรียกว่าให้ “ลงที่” ทุกวัน แล้วนำมากลับอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้งอีกครั้งก่อนที่จะเข้าที่พัก เพื่อให้กินหญ้ากินน้ำและพักผ่อน จึงเห็นได้ว่าในช่วงเวลาวันหนึ่ง ๆ นั้น คนเลี้ยงวัวชนจะต้องเอาใจใส่โดยกระทำต่อวัวของตนเป็นกิจวัตรประจำวัน
          การซ้อมคู่ การซ้อมคู่ หรือปรือวัว จะใช้เวลาประมาณ ๕-๑๐ นาที และต้องใช้เชือกยาว เพื่อสะดวกในการแยกคู่ออกจากกันเมื่อต้องการหยุดซ้อม การซ้อมคู่ทำได้ประมาณ ๑-๒ ครั้งต่อเดือน วัวชนตัวหนึ่งๆ ต้องซ้อมคู่อย่างน้อย ๔-๕ ครั้ง จึงจะทำกันชนได้
         การเปรียบวัว การเปรียบวัว คือการจับคู่ชน นายสนามจะเป็นผู้นัดวันเปรียบวัวโดยให้นำวัวที่จะชนกันมาเข้ายืนเทียบกัน เพื่อพิจารณาความสูงต่ำ เล็กใหญ่ของลำตัว และเขาของวัวทั้งสอง เมื่อเจ้าของวัวตกลงจะชนกัน นายสนามจะกำหนดวันชนซึ่งเจ้าของวัวจะต้องปฏิบัติตามกติกาการชนวัวอย่างเคร่งครัด
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
         การชนวัวมักจะชนในเทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลเดือนสิบ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชาวบ้านหยุดการทำงาน มารื่นเริงสนุกสนานตามเทศกาล บางสนามวัวชนจะมีการชนวัว เดือนละครั้ง ในวันเสาร์และอาทิตย์ หรือแล้วแต่โอกาสอันเป็นที่ตกลงนัดหมาย
แนวคิด
          กีฬาชนวัวเป็นกีฬาพื้นเมืองของนครศรีธรรมราช มีกติกาชัดเจนถึง ๑๔ ข้อ จนถึงขั้นแพ้ชนะ ให้ความสนุกสนานตื่นเต้นประทับใจแก่ผู้ชมยิ่ง ในระยะแรกจึงเชื่อกันว่า ชนเล่นเพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมามีการพนันกันขึ้น มีการมัดจำวางเงินเดิมพันกัน จึงเป็นที่น่าวิตกว่ากีฬาชนวัวอาจก่อให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมา เพราะการพนันย่อมมีทั้งผู้ได้และผู้เสีย เพื่อป้องกันความไม่สงบเรียบร้อย ทางราชการจึงควรเข้าไปควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีขอบเขตจำกัดให้การชนวัวเป็นเพียงกีฬาพื้นบ้าน เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น
 
 
ชื่อ: หมากขุม
ภาค :ภาคใต้
จังหวัด: นครศรีธรรมราช
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์ในการเล่น
๑). รางหมากขุม เป็นรูปเรือทำจากไม้ ยาวประมาณ ๑๓๐ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร มีหลุมเรียงเป็น ๒ แถว หลุมกว้างประมาณ ๗ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๔ เซนติเมตร มีด้านละ ๗ หลุม เรียกหลุมว่า เมือง หลุมที่อยู่ปลายสุดทั้งสองข้างเป็นหลุมใหญ่กว้างประมาณ ๑๑ เซนติเมตร เรียกว่า หัวเมือง
๒) ลูกหมาก นิยมใช้ลูกสวดเป็นลูกหมาก ใส่ลูกหมากหลุมละ ๗ ลูก จึงต้องใช้ลูกหมาก ในการเล่น ๙๘ ลูก
๓) ผู้เล่นมี ๒ คน
วิธีการเล่น
๑) ผู้เล่นนั่งคนละข้างกับรางหมากขุม แต่ละคนใส่ลูกหมากหลุมละ ๗ ลูก ทั้ง ๗ หลุม ส่วนหลุมหัวเมืองไม่ต้องใส่ให้เว้นว่างไว้
๒) การเดินหมาก ผู้เล่นจะเริ่มเดินพร้อมกันทั้ง ๒ ฝ่าย เรียกว่า แข่งเมือง โดยหยิบลูกหมากจากหลุมเมืองของตนหลุมใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะหยิบหลุมสุดท้ายของฝ่ายตนเอง เพราะคำนวนว่าเม็ดสุดท้ายจะถึงหัวเมืองของตนพอดี การเดินหมากจะเดินจากขวาไปซ้าย โดยใส่ลูกหมากลงในหลุม ถัดจากหลุมเมืองที่หยิบลูกหมากขึ้นมาเดิน ใส่ลูกหมากหลุมละ ๑ เม็ด รวมทั้งใส่หลุมหัวเมืองฝ่ายตนเอง แล้ววนไปใส่หลุมของฝ่ายตรงกันข้าม ยกเว้นหลุมหัวเมือง เมื่อเดินลูกหมากเม็ดสุดท้ายใส่ในหลุม ให้หยิบลูกหมากทั้งหมดในหลุมนั้นขึ้นมาเดินหมากต่อไป โดยใส่ในหลุมถัดไป เล่นเดินหมากอย่างนี้จนลูกหมากเม็ดสุดท้ายหมดลงในหลุมที่เป็นหลุมว่าง ถือว่าหมากตาย ถ้าเดินหมากตายในหลุมเมืองของฝ่ายตรงข้ามก็ถือว่าสิ้นสุดการเดินหมาก แต่ถ้า
ตายในหลุมเมืองฝ่ายตนเอง ให้ผู้เล่นกินหมากหลุมเมืองซึ่งอยู่ตรงข้ามกับหลุมที่เราเดินหมากมาตาย โดยควักลูกหมากทั้งหมดในหลุมไปไว้ในหลุมหัวเมืองของฝ่ายตน เรียกว่ากินแทน เล่นอย่างนี้จนหลุมเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดลูกหมาก เดินต่อไปไม่ได้ ลูกหมากทั้งหมดจะไปรวมอยู่ในหลุมหัวเมืองของทั้ง ๒ ฝ่าย จึงเริ่มเล่นรอบใหม่ต่อไป
๓) การเดินหมากรอบสอง ผู้เล่นจะผลัดกันเดินทีละคน ทำเช่นเดียวกับการเดินรอบแรก นำลูกหมากจากหลุมหัวเมืองฝ่ายตนเองใส่ลงในหลุม ๆ ละ ๗ ลูก ในฝ่ายของตนเอง คราวนี้แต่ละฝ่ายจะมีลูกหมากไม่เท่ากัน ฝ่ายที่มีลูกหมากมากกว่าจะเป็นผู้เดินหมากก่อน ฝ่ายที่มีลูกหมากน้อยกว่าจะใส่ไม่ครบทุกหลุม หลุมใดมีไม่ครบให้นำลูกหมากที่เหลือไปใส่ในหลุมหัวเมืองฝ่ายตน หลุมใดไม่มีลูกหมากเรียกว่า เมืองหม้าย ตามปกติหลุมเมืองหม้ายจะปล่อยไว้หลุมปลายแถว หลุมเมืองหม้ายจะไม่ใส่ลูกหมาก ถ้าฝ่ายใดใส่จะถูกริบเป็นของฝ่ายตรงกันข้าม ในกากรเล่นจะเล่นจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดลูกหมากเดินต่อไปไม่ได้และจะนับเมืองหม้าย ใครมีจำนวนเมืองหม้ายมากกว่าฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายแพ้
โอกาสหรือเวลาในการเล่น
         การเล่นหมากขุมจะเล่นในยามว่างจากการงาน เล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เป็นพักผ่อนหย่อนใจ จึงเล่นได้ทั้งวัน
คุณค่า สาระ แนวคิด
๑. การเล่นหมากขุม มีคุณค่าในการฝึกลับสมอง การวางแผนการเดินหมากจะต้องคำนวน จำนวนลูกหมากในหลุม ไม่ให้หมากตาย และสามารถกลับมาหยิบลูกหมากในหลุมของตนเองได้อีก ผู้เดินหมากขุมจึงต้องมีสายตาว่องไว คิดเลขเร็ว เป็นการฝึกวิธีคิดวางแผนจะหยิบหมากในหลุมใดจึงจะชนะฝ่ายตรงกันข้าม เป็นการฝึกให้ผู้เล่นรู้จักคิดวางแผนในการทำงานทุกอย่างสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
๒. เป็นการพักผ่อนหย่อนใจ นันทนาการภายในบ้าน ภายในชุมชน ให้ทั้งความสนุกสนาน และความใกล้ชิดระหว่างพี่น้อง ญาติมิตร
๓. ก่อให้เกิดการประดิษฐ์รางหมากขุม ที่มีความสวยงามและประณีต เป็นความภาคภูมิใจของผู้สร้างชิ้นงาน และยังสามารถสร้างรายได้ในการจำหน่ายรางหมากขุม

 

 
ชื่อ: กำทาย
ภาค: ภาคใต้
จังหวัด :นราธิวาส
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
๑. อุปกรณ์ในการเล่นมีดังนี้ (ใช้อย่างหนึ่งอย่างใด)
๑) ยางเส้น
๒) เมล็ดมะม่วงหิมพานต์
๓) เมล็ดสวาด
๔) เมล็ดสวด
๕) ลูกนู (ก้อนดินกลม)
๒. วิธีการเล่น
๑) เมื่อสัญญาณการเล่นเริ่มขึ้นทุกคนจะกอบหรือกำของที่อยู่ตรงหน้านั้น โดยไม่ให้คนอื่นเห็นว่ามีจำนวนเท่าใด
๒) ให้ทายที่คนว่าของในมือของทุกคนเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนเท่าใด
๓) เมื่อทายเสร็จทุกคนแบมือออกและนับของในมือของทุกคน ใครทายถูกได้เป็นกรรมสิทธิ์ในของนั้น ถ้าทายถูกหลายคนใช้วิธีหารแบ่งกัน ถ้ามีเศษให้รวมไว้เป็นกองกลาง เพื่อเป็นเล่นหนต่อไป
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
      กำทาย เป็นการเล่นอย่างหนึ่งของเด็ก เล่นได้ทั้งชายและหญิงเป็นการเล่นในร่ม โดยมีผู้เล่น ๒-๕ คน นั่งล้อมวงกัน แล้วแต่ละคนเอาของชนิดเดียวกันวางกองไว้ตรงหน้า
แนวคิดจากการละเล่นกำทาย
      การเล่นกำทาย เป็นการละเล่นที่ฝึกทักษะในการคำนวณ และการสังเกต

 

 
 
ชื่อ:โนราแขก
ภาค: ภาคใต้
จังหวัด: นราธิวาส
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
๑. ดนตรี มีดังนี้คือ กลอง ๒ ใบ ทับ ๑ คู่ ทน (กลองแขก) ๒ ใบ ฆ้อง ๑ คู่ นอกจากนี้มีโหม่ง ปี่ชวา ซอ รือบะ แสะ (แตระ) และฉิ่ง
๒. เครื่องแต่งตัว คล้ายกับโนราทั่วไป แต่การนุ่งผ้าจะไว้หางหงส์ยาวกว่า เครื่องประดับร่างกายประกอบด้วยลูกปัด ปิดไหล่ สายสังวาล ทับทรวง ปีกนก ปิเหน่ง (ปิ้นเหน่ง) ปีก (หางหงส์) ผ้าห้อย กำไลต้นแขน กำไลปลายแขน เล็บ ผ้าผูกคอ และเทริด (เทริดนิยมห้อยอุบะด้วย)
๓. ธรรมเนียมนิยมในการแสดง โนราแขกจะมีลักษณะประสมประสานระหว่างโนรากับมะโย่ง ดนตรีที่ใช้ ใช้ดนตรีโนราและดนตรีมะโย่งผสมกัน การขับบทก็คล้ายกับการร้องของมะโย่ง โดยเฉพาะบทขับต่าง ๆ ที่ขับโต้ตอบระหว่างพ่อโนรากับนางโนรานั้นเรียกว่าเพลง เช่น เพลาร่ายแตระ เพลาเดิน เพลาฉันทับหรือเพลาทน เพลาฆ้อง เพลาฉิ่ง เป็นต้น แต่ก่อนที่จะขับบทร้องแสดงเรื่องนั้น จะมีการว่าบทกาศครูเช่นเดียวกับโนราทั่วไป การแสดงเรื่องสมัยก่อนนิยมแสดงเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องจากวรรณคดี ต่อมาแสดงอย่างละครสมัยใหม่ แต่ถ้าเล่น…..จะต้องเล่นร้องพระสุธนมโนราห์
        ลำดับการแสดงของโนราแรก เริ่มด้วยดนตรีโหมโรงพ่อโนราว่าบทกาศครู จากนั้นก็เริ่มแต่งตัว ขณะแต่งตัวเมื่อนุ่งผ้านุ่งผ้าใส่ปีกเสร็จแล้วจะนั่งว่าบท เป็นบทร่าาแตระไปพร้อมกับใส่เครื่องประดับอื่น ๆ เช่น กำไลต้นแขน ปลายแขน เล็บและเทริด เป็นต้น เมื่อแต่งตัวเสร็จพ่อโนราจะลุกขึ้นรำโดยมีนางโนรา ๑ คู่ รำตามหลัง การรำนี้จะไม่รำเป็นท่าแบบโนราทั่วไป แต่จะรำเป็นเพลงมีการรำเคล้ารำบทกับนางรำ สลับการรำบท มีการ “ทำบท” แบบโนราทั่วไป เช่น บทผัดหน้า บทสีไต เป็นต้น โดยมีนางโนราทั้ง ๒ คน ร้องรับและโต้ตอบ ลักษณะของบทหรือเพลาที่ร้อง เมื่อพ่อโนรานั่งว่าบท นางโนราทั้งสองจะนั่งหมอบอยู่ด้านหน้า ถ้าพ่อโนราเรียกจะขานรับ เช่น ขานว่า “ยอละแบะเร” เป็นต้น การร้องโต้ตอบกันนั้น ถ้าเป็นโนราที่เป็นคนไทยล้วนจะร้องโต้ตอบกันเป็นภาษาไทยบ้าง มลายูบ้าง เมื่อร้องทำบทหรือเพลาเสร็จจะเป็นการแสดงเรื่องต่อไป
        เรื่องที่แสดงเป็นเรื่องจากวรรณคดีไทยประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ เช่น วรวงศ์ พระสุธนมโนราห์ ไกรทอง สังข์ทอง เป็นต้น โนราแขกเดิมผู้เล่นเป็นชายล้วนแสดงเป็น “พ่อโนรา” (โนราใหญ่) และนางโนรา ต่อมาภายหลังพ่อโนราเป็นชายและนางโนราเป็นหญิง
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
        โนราแขกแสดงได้ทุกงาน ทั้งงานบุญกุศลงานประชัน และงานแก้บน (แก้เหมรย) เช่น งานแต่งงาน งานบวชนาค งานเข้าสุนัต แต่เมื่อมีการพัฒนาการเล่นแบบโบราณมาเล่นดนตรี และแสดงเรื่องอย่างละครสมัยใหม่ ทำให้ธรรมเนียมการแสดงเปลี่ยนไปหมด คือเริ่มการเล่นดนตรีแบบสากลร้องเพลงมลายูและเพลงอินเดีย ต่อด้วยการแสดงแบบละครสมัยใหม่ ปัจจุบันถ้าจะดูโนราแขกจริง ๆ ก็จะดูได้ในโอกาสงานแก้บนและงานไหว้ครูโนราเท่านั้น
สาระ
        โนราแขกเป็นการละเล่นพื้นบ้านของจังหวัดนราธิวาส โนราแขกจะมีลักษะประสานระหว่างโนรากับมะโย่ง ดนตรีที่ใช้ ใช้ดนตรีโนราและดนตรีมะโย่งผสมกัน เป็นการแสดงที่ให้ความสนุกสนาน เรื่องที่จะแสดงเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องจากวรรณคดี โนราแขกจะแสดงได้ทุกงาน ทั้งงานบุญงานกุศล งานประชันและงานแก้บน (แก้เหมรย)

 

 
ชื่อ: ร็องแง็ง
ภาค :ภาคใต้
จังหวัด: ปัตตานี
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
        เครื่องดนตรีประกอบการเล่นร็องแง็งมี รำมะนา ฆ้อง ไวโอลิน เดิมมีเพียง ๓ อย่าง ต่อมาเพิ่มกีต้าร์ การเล่นร็องแง็ง เดิมนิยมเต้นกันในหมู่บ้านขุนนางไทยมุสลิม และแพร่หลายมาสู่ชาวบ้าน โดยอาศัยการแสดงมะโย่ง ร็องแง็งจะเต้นช่วงพักการแสดงมะโย่ง ซึ่งจะพัก ๑๐ – ๑๕ นาที เมื่อดนตรีร็องแง็งขึ้น ฝ่ายหญิงที่แสดงมะโย่งจะลุกขึ้นเต้นจับคู่กันเองและเพื่อให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้นจึงได้เชิญผู้ชายซึ่งเป็นผู้ชมเข้ามาร่วมวงด้วย ต่อมามีการจัดตั้งคณะร็องแง็งแยกต่างหากจากมะโย่ง
         ปัจจุบันการเต้นร็องแง็ง ผู้เต้นประกอบด้วยชาย – หญิงฝ่ายละ ๕ คน โดยเข้าแถวแยกเป็นชายแถวหนึ่ง หญิงแถวหนึ่ง ยืนห่างกันพอสมควร ความสวยงามของการเต้นร็องแง็งอยู่ที่ลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า มือ ลำตัวและลีลาการร่ายรำ ตลอดจนการแต่งกายของคู่ชาย – หญิงและความไพเราะของเสียงดนตรี
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
        เดิมร็องแง็งแสดงในการต้อนรับแขกเมืองในงานพิธีต่าง ๆ ต่อมานิยมแสดงในงานรื่นเริง เช่น งานประจำปี ฯลฯ
คุณค่า/แนวคิด/สาระ
        ร็องแง็งเป็นศิลปะชั้นสูงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยทั้งการแต่งกาย ดนตรีและลีลาของเพลงที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความบันเทิงสนุกสนานแก่ผู้เต้นและผู้ชมด้วย
 
 
 
ชื่อ:ซัมเป็ง
ภาค: ภาคใต้
จังหวัด: ปัตตานี
อุปกรณ์และวิธีเล่น
เครื่องดนตรี มี ๓ ชนิด คือ
มอรูวัส คือ รำมะนาขนาดเล็ก เป็นเครื่องดนตรีใช้จังหวะ มีลีลาเร้าใจ
ดาบูส มีลักษณะคล้ายซอสามสาย แต่ยาวกว่า เป็นเครื่องดนตรีที่มีทำนองเพลงอย่างไพเราะ
ฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้จังหวะในการเต้น
การแต่งกาย
ผู้เต้นซัมเป็งจะแต่งกายแบบผู้ดีพื้นเมือง คือ ชายจะสวมหมวกซอเก๊าะสีดำ หรือโพกผ้า สวมเสื้อคอกลมแขนยาวสีเดียวกับกางเกง แล้วใช้ผ้าโสร่งแคบ ๆ ที่เรียกว่า “บันดง” สวมทับกางเกง ความยาวเหนือเข่าขึ้นไป หญิง นุ่งผ้าปาเต๊ะยาวกรอมเท้า สวมเสื้อบานงและมีผ้าคลุมไหล่บางๆ สีตัดกับเสื้อ
วิธีเล่น
         การเต้นซัมเป็งเป็นการเต้นคู่ชายหญิง เต้นไปตามจังหวะของดนตรี แต่เดิมการเต้นมีเพียงคู่เดียว และท่าของการเต้นเรียกว่า “ปูซิงบันยัง” ซึ่งเป็นท่าที่หมุนไปรอบ ๆ แต่ปัจจุบันจะเต้นกี่คู่ก็ได้ และมีท่าเต้นเพิ่มขึ้นเป็น ๖ ท่า คือ
๑. ยาสันบือโต เป็นท่าเต้นแบบเดินไปข้างหน้า
๒. ฮูโนปลาวัน เป็นท่าเต้นแบบถอยหลัง
๓. ซีกูกูราวัง เป็นท่ากางแขนทำนองค้างคาวบิน
๔. ซีซีอีกัน เป็นท่าเต้นย้ายตำแหน่งระหว่างชายหญิงแบบก้างปลา
๕. ปูซิงปันยัง เป็นท่าเต้นหมุนไปรอบ ๆ
๖. วีนัส เป็นท่าสบัดปลายเท้ามีจังหวะที่เร็วมาก และการเต้นจบในท่านี้
       การเต้นซัมเป็งในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งจำนวนผู้เต้น ท่าเต้น และเครื่องดนตรีประกอบ แต่จังหวะทำนองเพลงและการแต่งกายยังเป็นแบบพื้นเมืองเดิมอยู่
โอกาสหรือเวลาเล่น
      การเต้นซัมเป็งใช้เต้นในโอกาสพิเศษ เช่น ต้อนรับแขกเมืองสำคัญ หรืองานรื่นเริงที่จัดเป็นพิเศษ
คุณค่า / แนวคิด / สาระ
       ซัมเป็งเป็นนาฏศิลป์แบบหนึ่งของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ มีลีลาการเต้นคล้ายคลึงกับรองเง็ง มีความงดงาม อ่อนช้อย เร้าใจ เหมาะสำหรับการต้อนรับแขกเมืองหรือแขกผู้มาเยือน
 
 
 
ชื่อ: กรือโต๊ะ
ภาค: ภาคใต้
จังหวัด :นราธิวาส
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
         กรือโต๊ะ เป็นการละเล่นชนิดหนึ่งของชาวไทยมุสลิม แหล่งที่นิยมเล่นกันมาก คือ แถบอำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
อุปกรณ์ในการละเล่นกรือโต๊ะ
         จะมีกรือโต๊ะซึ่งประกอบด้วย ๓ ส่วนด้วยกัน คือ ตัวกรือโต๊ะ เด๊าว์หรือใบ และไม้ตีตัวกรือโต๊ะ ทำจากไม้เนื้อแข็งที่เรียกว่า “ไม้ตาแป” จะเอาไม้ตาแปมาตากแดดให้แห้งสนิทแล้วนำมาตัดให้ได้ขนาดแล้วใช้สิวขุดให้เป็นหลุม ลักษณะของหลุมที่นิยมคือ หลุมปากแคบ และป่องตรงกลาง ภายนอกจะตกแต่งหรือกลึงอย่างสวยงามมีการทาสี สีที่นิยมทากันคือ สีฟ้า สีขาว สีเหลือง หรือทาน้ำมันชักเงาให้สวยงาม
        เด๊าว์ หรือ เรียกว่า ใบ หรือลิ้นเสียง จะทำจากไม้ตาแปที่แห้งสนิทดีเช่นเดียวกับกรือโต๊ะ กรือโต๊ะใบหนึ่ง ๆ มีเด๊าว์ ๓ อัน คือทำเป็นเสียงต่ำ เสียงกลาง และเสียงสูง อย่างละอัน ขนาดของเด๊าว์ยาวประมาณ ๒-๓ ฟุต กว้างประมาณ ๖-๘ นิ้ว ส่วนความยาวตามความชำนาญของผู้ใช้เล่น
        ไม้ตี ทำจากไม้เนื้อแข็ง ขนาดของไม้พอจับถือได้ถนัด ยาวประมาณ ๑ ฟุต ปลายด้ามที่ใช้ตี จะพันด้วยเส้นยางพาราเป็นหัวกลมขนาดโตกว่ากำปั้นเล็กน้อย
วิธีการเล่นกรือโต๊ะ
       จะมีการตีกรือโต๊ะแข่งขันกันว่ากรือโต๊ะของใครจะมีเสียงดังกว่ากันและมีเสียงที่นิ่มนวลกลมกลืนกันและมีความพร้อมเพรียงกันในการตีกรือโต๊ะ
โอกาสที่เล่นกรือโต๊
        การเล่นกรือโต๊ะนิยมเล่นกันหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนา เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตกราวเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม และนิยมเล่นกันในคืนเดือนหงาย เพราะไม่ร้อนและบรรยากาศ ชวนให้สนุกสนาน ในการแข่งขันกรือโต๊ะถือว่าเป็นวันสำคัญของหมู่บ้าน เพราะในแต่ละหมู่บ้าน หรือตำบลหนึ่งจะมีกรือโต๊ะของหมู่บ้านและตำบลคณะเดียวและถ้าหมู่บ้านหรือตำบลของตนชนะก็มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติแห่งความเป็นผู้ชนะกันทั้งหมู่บ้าน
         กรือโต๊ะนอกจากนิยมเล่นกันในฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ยังนิยมเล่นกันในงานฉลอง ในงานเทศกาล หรือในวันสำคัญอื่น ๆ อีกด้วย
คุณค่าจากการเล่นกรือโต๊ะ
        ในการเล่นกรือโต๊ะ จะเป็นการเล่นที่ส่งเสริมความรักความสามัคคีกันของผู้เล่น เพราะถ้าหากผู้เล่นมีความพร้อมเพรียงกันในการตีกรือโต๊ะ ก็จะมีเสียงดังที่นิ่มนวล เข้าจังหวะกัน และทำให้เกิดความสนุกสนาน

 

 
 
ชื่อ:
การกระโดดเชือก
ภาค:
ภาคใต้
จังหวัด:
พังงา
อุปกรณ์และวิธีการเล่น       
       เป็นการเล่นที่หัดให้ผู้เล่นใช้กำลังแขน กำลังขา เป็นคนตาไว และคล่องแคล่ว เครื่องใช้ในการเล่น คือ เชือกเส้นหนึ่งขนาดโตเท่าปลายนิ้วก้อยยาววาศอก ถ้ากระโดดมากคนด้วยกันต้องยาวประมาณ ๔-๕ วา
วิธีเล่น
วิธีที่ ๑ สำหรับผู้เล่นคนเดียว ให้ผู้เล่นถือเชือกด้วยมือทั้งสองข้าง งอศอกเล็กน้อยให้กลางเชือกห้อยอยู่ข้างหลัง แล้วแกว่งเชือกให้เร็วขึ้นทุกที จนแทบแลไม่เห็นเส้นเชือกจึงจะสนุก
วิธีที่ ๒ วิธีนี้ต้องใช้เชือกให้ยาวสักหน่อย ให้ผู้เล่นสองคนจับปลายเชือกด้วยมือทั้งสอง เชือกจะแกว่งลงพื้นข้างหนึ่ง และขึ้นอีกข้างหนึ่งผู้เล่นนอกนั้นยืนอยู่ห่างๆ ทางด้านที่เชือกลงพื้นพอเห็นเชือกแกว่งดีแล้วก็ให้คนวิ่งเข้าไป ระวังอย่าให้ติดเชือก และยืนระหว่างกลางคนแกว่งเชือกทั้งสอง คอยกระโดดขึ้นเมื่อเชือกฟาดลงพื้นเพื่อให้เชือกลอดไป ต้องหมายตาคอยดูให้ดี พอกระโดดได้สักสิบครั้ง ก็วิ่งออกไปอีกด้านหนึ่ง แล้วคนที่สองจึงวิ่งไปกระโดดบ้าง ให้ผู้เล่นวิ่งทยอยเข้าไปกระโดด เช่นนี้จนครบผู้เล่นทุกคนจะต้องผลัดกันแกว่งเชือก และต้องแกว่งให้ดี คือให้เชือกตกลงเฉียดพื้นพอดี และเวลาเชือกแกว่งขึ้นก็ให้ข้ามศีรษะคนกระโดดไปได้ อย่าให้ฟาดถูกตัวเข้า ผู้เล่นต้องฝึกหัดแกว่งเชือกให้เป็นเสียก่อนทุกคน และให้ผู้เล่นผลัดกันแกว่งในเวลาเล่น เพื่อมิให้คนแกว่งประจำอยู่จนเมื่อยแขนเกินไป เมื่อกระโดดได้ชำนาญแล้ว จึงเปลี่ยนวิธีเล่นให้ยาวขึ้น ดังนี้
๑. ให้ผู้เล่นวิ่งไปทางเชือกที่แกว่งขึ้น
๒. ให้ยืนเท้าเดียวเวลากระโดด จะเปลี่ยนเท้าบ้างก็ได้แต่ต้องระวังมิให้เท้าถึงพื้นดินพร้อมกันทั้งสองข้าง
๓. แกว่งเชือกอย่าให้ถึงพื้น กะดูให้สูงกว่าพื้นหนึ่งคืบ เพื่อให้ผู้กระโดด กระโดดสูงขึ้นและกระโดดได้ยากเข้า
๔. แกว่งเชือกตามธรรมดา และให้ผู้เล่นวิ่งเข้าไปกระโดดพร้อมๆ กัน ราวครั้งละ ๑๐ คน
นอกจากนี้ ยังมีการดัดแปลงเป็นการกระโดดเชือกถือเชือกในระดับที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ผู้เล่นเข้าตามที่กำหนดท่าต่างๆ ไว้
โอกาสหรือเวลาที่เล่น     

       เล่นได้ทุกโอกาสไม่จำกัดเวลา
คุณค่า/แนวคิด/สาระ      

       เป็นการฝึกกล้ามเนื้อและความว่องไว
 
 
 
 
ชื่อ:มอญซ่อนผ้า
ภาค:ภาคใต้
จังหวัด:พังงา
อุปกรณ์และวิธีแล่น
       ผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มความครึกครื้น เล่นได้ทั้งหญิงและชายเครื่องเล่นผ้าเช็ดหน้าขนาดใหญ่หนึ่งผืน ไม่ต้องขมวดหรือพันให้เป็นเกลียว เพราะถ้าฟาดถูกผู้ใดเข้าแล้วจะเจ็บ สถานที่เล่น ไม่จำกัดกว้างยาว แล้วแต่จำนวนผู้เล่นวิธีเล่น
ขั้นที่ ๑ ให้ผู้เล่นทั้งหมดจับไม้สั้นไม้ยาว ผู้ที่ได้ไม้สั้นที่สุด ถือผ้าเช็ดหน้าที่เตรียมไว้แล้วออกไปยืนข้างนอก ที่เหลือนอกนั้นนั่งกันเป็นวงกลม หันหน้าเข้าหากัน ในระยะห่างกันประมาณ ๑ ศอก เอามือทั้งสองพาดไว้ที่ตัก คุยกันหรือร้องเพลงก็ได้ เพื่อความรื่นเริง
ขั้นที่ ๒ ให้ผู้ถือผ้าบังตัวไว้มิให้ผู้นั่งเห็นได้ถนัด แล้วเดินหรือวิ่งไปรอบๆ วงต้องทำท่าหรือหน้าตาให้สนิท เดินบ้างวิ่งบ้าง ทำเป็นวางผ้าแต่ไม่วาง เพื่อหลอกล่อผู้ที่นั่งให้เผลอตัวเมื่อเห็นเป็นโอกาสแล้วก็แอบหย่อนผ้าลงไว้ใกล้หลังผู้นั่งคนใดคนหนึ่ง เมื่อวางผ้าแล้วควรเดินหรือวิ่งให้เร็วต่อไปเพื่อกลับถึงที่เดิมโดยมิให้ผู้นั้นต้องรู้ตัว
ขั้นที่ ๓ ถ้าผู้ถูกวางผ้าข้างหลังรู้สึกตัวเสียก่อนผู้วางผ้ามาถึง ก็ต้องรีบฉวยผ้าวิ่งมานั่งแทนที่ของตนได้ แล้วจึงเดินหาโอกาสวางผ้าไว้ข้างหลังผู้หนึ่งผู้ใดต่อไป แต่ถ้าถูกวางข้างหลังไม่รู้สึกตัว จนผู้ที่วางวิ่งมาถึงก็หยิบผ้าที่วางนั้นขึ้นฟาดผู้ถูกวางจนกว่าจะลุกขึ้นรับผ้าออกเดิน ผู้วางจึงลงนั่งแทนที่
ข้อระวังในการเล่น ผู้นั่งทุกคนจะหันหน้าไปดูข้างหลังไม่ได้ ถ้าหากสงสัยว่าจะมีผ้าอยู่ข้างหลังตนหรือไม่ก็ให้ใช้มือคลำดูเท่านั้น ผู้ถือต้องวางผ้าลงข้างหลังให้ใกล้ตัวผู้นั่ง จะวางเกินกว่า ๑ ศอกไม่ได้และให้วิ่งหรือเดินต่อไปข้างหน้าจนบรรจบรอบ จะหันหลังเดินย้อนมาไม่ได้
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
       เล่นในยามว่าง
คุณค่า/แนวคิด/สาระ
       เพื่อหัดให้ผู้เล่นเป็นคนว่องไว
       เพื่อฝึกให้ผู้เล่นเป็นคนที่มีไหวพริบและรู้จักสังเกตเหตุการณ์ต่างๆ

 

 
 
ชื่อ:สะบ้า
ภาค:ภาคใต้
จังหวัด:ระนอง
อุปกรณ์
       ลูกสะบ้า
วิธีการเล่น
       วิธีการเล่นสะบ้าเป็นการเล่นของไทยสมัยโบราณ เหตุที่เรียกว่า สะบ้า ก็เพราะนำเอาลูกสะบ้า มาเป็นเครื่องมือในการเล่นลูกสะบ้ามีเปลือกแข็ง มีลักษณะกลม ขนาดสะบ้าเท่าหัวเข่าคน แบนแต่ตรงกลางนูน ล้อได้ดี การเล่นจะต้องมีลูกหนึ่งตั้งไว้ ระยะจากลูกตั้งถึงที่ตั้งกะประมาณ ๖ เมตร ผู้เล่นจะเล่นทีละคนก็ได้ แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ผู้เล่นจะต้องเล่นตามมาตราที่กำหนดไว้คือ ตั้งต้นด้วยบทที่ง่ายที่สุดคือ การล้อ เรียกว่า อีล้อคือ ผู้เล่นอยู่ที่เส้นตั้งต้น แล้วล้อลูกสะบ้าให้ไปใกล้กับลูกตั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วรีบตะครุบไว้
ถ้าเกินลูกตั้งไปถือว่าตาย ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งลงมือเล่นแทน แต่ถ้าตะครุบได้ เลื่อนมาตรงลูกตั้งแล้วใช้นิ้วดีดให้ถูกลูกตั้งเรียกว่า ยิง ถ้ายิงไม่ถูก ต้องถือว่าตาย เปลี่ยนให้อีกฝ่ายหนึ่งเล่น ถ้าถูกก็ขึ้นบทต่อไปคือ เอาลูกสะบ้าไว้ที่คอแล้วดีดให้ล้อ ใช้วิธีเดียวกัน ถ้าใครยิงถูกเป้าหมายก็ได้ขึ้นบทต่อๆไป ถ้าผิดหรือลูกสะบ้าออกแนวนอกวง ก็ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งเล่นต่อไป ถ้าเป็นการเล่นหมู่ ผู้ที่ยิงถูกอาจไถ่ผู้ที่ยิงไม่ถูกได้คือ ยิงแทนผู้ที่ยิงไม่ถูก เป็นการช่วยผู้ที่เล่นร่วมชุด แต่ถ้าใครล้อเลยเขตเรียกว่าเน่า ก็ต้องตายทั้งชุดคือต้องยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งเล่นต่อเป็นการฝึกการรวมหมู่พวกได้ดี
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
        การเล่นสะบ้าของจังหวัดระนอง นิยมเล่นในงานเทศกาลเช่น ในวันตรุษสงกรานต์ วันปีใหม่ งานเดือนสิบ ตรุษจีนจังหวัดระนองนิยมเล่นกันที่อำเภอกระบุรี ปัจจุบันมีการเล่นน้อยลงมาก
คุณค่า แนวคิด สาระ
๑. ฝึกความแม่นยำในการยิงเป้าหมาย
๒. ฝึกความระมัดระวังและกะระยะไม่ให้เกินขอบเขตที่กำหนด
๓. ฝึกสายตาเป็นอย่างดี
 
 
 
ชื่อ:การแข่งขันว่าวประเพณี
ภาค:ภาคใต้
จังหวัด:สตูล
อุปกรณ์และวิธีเล่น
        ว่าวควายและว่าวชนิดต่างๆ การแข่งขันว่าวแบ่งเป็น ๓ ประเภท
๑. ประเภทขึ้นสูงจะปล่อยว่าวให้ลอยขึ้นแล้วใช้เครื่องมือวัดการขึ้นสูงของว่าว
๒. ประเภทเสียงดัง จะให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสียงเป็นผู้ตัดสิน
๓. ประเภทสวยงามมีกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสิน
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
         เดิมการเล่นว่าวนิยมเล่นหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ต่อมากลายเป็นการแข่งขันที่มีผู้สนใจนิยมมาร่วมมากขึ้นจนกลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของสตูล
คุณค่า
         ผู้ร่วมแข่งขันได้แสดงความสามารถในการประดิษฐ์ว่าและฝึกความอดทน การมีระเบียบวินัย และการแข่งขันยังให้ความบันเทิงแก่ผู้มาชม
 
 
 
ชื่อ:มวยไชยา
ภาค:ภาคใต้
จังหวัด: สุราษฎร์ธานี
อุปกรณ์และการเล่น
อุปกรณ์
– ด้ายดิบสำหรับพันมือ
– กางเกงขาสั้น
– ผ้าม้วนพันคาดแทนกระจับ เรียกว่าโละโปะ (ลูกโปก)
– เวทีมวย
วิธีการ การเปรียบมวยหรือจับคู่มวย สมัยนั้นไม่มีการชั่งน้ำหนักแต่ใช้วิธีการคาดคะเนด้วยสายตา หรือไปก็เอาตามความสมัครใจของคู่ต่อสู้
กติกาการชก การชกแบ่งออก ๕ ยก ใช้ยกเวียนคือ นักมวยคู่ที่ ๑ ขึ้นชกยกที่ ๑ จนหมดยก แล้วก็เข้าพุ่ม (ที่พักนักมวย) ให้คู่ที่ ๒ ขึ้นชกยกที่ ๑ ต่อ เป็นอย่างนี้จนถึงคู่สุดท้าย แล้วจึงเวียนมากให้นักมวยคู่ที่ ๑ มาชก ในคู่ที่ ๒ ต่อ เป็นเช่นนี้ทุกคู่จนครบ ๕ ยก หากคู่ใดเกิดแพ้ชนะกันก่อนครบยกก็ตัดออกไป การหมดยกมี ๒ แบบ คือ ๑. หมดยกด้วยวิธีการให้นักมวยที่เพลี่ยงพล้ำ “ยกมือ” ขอเวลาหมดยก แบบที่ ๒ ใช้ลูกอันแบบเดียวกับที่ใช้ในการชนไก่ คือ เริ่มจากการลอยลูกอัน จนลูกอันจมถือว่าหมด ๑ ยกโอกาสหรือเวลาที่เล่น
– ชกถวายหน้าพระที่นั่ง
– เมื่อมีการปะลองระหว่างคณะมวยที่มีการจัดขึ้นคุณค่าแนวคิดสาระ
มวยไชยา เป็นศิลปะประจำถิ่น “ไชยา” อำเภอไชยา จ.สุราษฎร์ธานีเป็นศิลปะป้องกันตัวที่มีเอกลักษณ์สร้างความเป็นปึกแผ่นในหมู่คณะคือมวยในคณะเดียวกันจะมีความสามัคคีกันสอนให้นักมวยมีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้รู้จักชนะ
 
 
 
ชื่อ:บูสุ
ภาค: ภาคใต้
จังหวัด: สตูล
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
        อุปกรณ์ เช่น ลูกฟุตบอลเล็ก ก้อนอิฐ หรือไม้ขนาดพอสมควร สำหรับวางเพื่อทอยลูกบอลเล็กให้สมัผัส ผู้เล่นไม่จำกัดเพศ วยัย จำนวนต้องเหมาะสมกับสถานที่
วิธีเล่น
        แบ่งผู้เล่นเป็น ๒ ฝ่าย ๆ ละ เท่า ๆ กัน จับฉลากว่าฝ่ายใดเล่นก่อน อีกฝ่ายหนึ่งตั้งรับ เล่นจากท่าที่ ๑ – ๑๐ (แต่ละท่ามีชื่อต่างกันเล่นทีละคน ตีบอลตามขั้นตอนของการเล่นจนหมด ถ้าผู้ใดตีบอลไปแล้วผู้เล่นฝ่ายรับ รับไม่ได้ ลูกบอลตีไปไกลเพียงใด เอาจุดที่ลูกบอลตก เป็นจุดเริ่มต้น ทอยลูกบอลไปหาเสาหลัก (ก้อนอิฐ หรือ ไม้) การวางหลักตั้งขีดเส้นด้านหน้าหลัก ๑ เส้น เพื่อให้ผู้เล่นตีบอลให้พ้นเส้นคือว่าผ่าน มีสิทธิตีลูกบอลต่อไป ในแต่ละท่า ให้ตี ๓ ครั้ง จึงได้ ๑ คะแนน หากฝ่ายรับทอยลูกไม่ถูกหลัก ถือว่าผู้เล่นนั้นตายเหมือนกัน และฝ่ายเล่นก็จะเล่นท่าต่อไป หากฝ่ายเล่นตีลูกตายทุกคน ก็จะเปลี่ยนข้าง ฝ่ายรับจะเป็นผู้เล่นต่อไป สลับกันเลื่อย ๆ จนเหนื่อย และหยุดไปเอง ผู้เล่น เล่นท่าที่ ๑ ถึง ๑๐ ได้ก่อนก็จะชนะ
ท่าบูสุมี ๑๐ ท่า
๑. ลูกบูสุ ๒. ลูกมือเดียว ๓. ลูกสองมือ ๔. ลูกตบอก ๕. ลูกซีกู
๖. ลูกคีดแขน ๗. ลูกตบเพียะ ๘. ลูกเท้าเอว ๙. ลูกกังกัง ๑๐. ลูกเซปะ
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
        ยามว่าง หรือยามบ่าย ๆ หรือเวลาที่เหมาะสมในการพักผ่อน
คุณค่าและแนวคิด
       บูสุเป็นการละเล่นพื้นเมืองชนิดหนึ่งของจังหวัดสตูล จุดมุ่งหมายเพื่อความสนุกสนานสมานสามัคคีฝึกให้เป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา สอนให้ผู้เล่นรู้จักการผ่อนปรน การใช้ทักษะ ความสามารถ สร้างเสริมปัญญา และความสมบูรณ์ของร่างกาย รู้จักทางหนีที่ไล่ รู้แพ้รู้ชนะ
 
 
 
 
ชื่อ:ลิเกป่า
ภาค: ภาคใต้
จังหวัด:สุราษฎร์ธานี
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
        เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงลิเกป่าได้แก่ รำมะนา ๒ ใบ โหม่ง ๑ คู่ ฉิ่ง ๑ คู่ ปี่ ๑ เลา กรับ ๑ คู่ ซอด้วง ๑ อัน และกลองตุ๊ก ๑ ใบ ดนตรีจะใช้ ๒ ลักษณะ คือ บรรเลงกำกับจังหวะและประกอบทำนองขับร้อง
ผู้แสดงลิเกป่าคณะหนึ่งมีประมาณ ๖ -๘ คน ถ้านับรวมกับลูกคู่เข้าไปด้วยจะมีจำนวนคนพอ ๆ กับมโนห์ราหนึ่งคณะ การแสดงจะเริ่มด้วยการโหมโรงเพื่อเรียกคนดู ขณะโหมโรงจะมีบทเพลงร้องคลอดนตรีไปด้วย โดยผลัดกันร้องทีละคน บางคณะอาจมีลูกคู่ออกมารำสมทบ การร้องเพลงประกอบการประโคมดนตรีเช่นนี้เรียกว่า “เกริ่นวง” ต่อจากเกริ่นวงแขกขาวกับแขกแดงจะออกมาเต้นและร้องประกอบโดยลูกคู่จะรับไปด้วย หลังจากนั้นจะมีผู้ออกมาบอกเรื่อง แล้วก็เริ่มแสดงเรื่อง สำหรับเวลาในการแสดงแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคณะลิเกกับผู้รับไปเล่น
ลิเกป่านิยมนำวรรณคดีเก่า ๆ มาแสดง หรือบางที่นำเอานิทานพื้นบ้านหรือไม่ก็คิดแต่งเรื่องขึ้นเอง อย่างเช่น ลิเกคณะนายจรัส คลาดทุกข์ ซึ่งอยู่ที่บ้านไสใน อำเภอกาญจนดิษฐ์ ได้เล่าให้ฟังว่ามักจะแสดงเรื่องโคบุด ลักษณวงศ์ หรือ สุวรรณหงส์ สำหรับการแต่งกายคณะแสดงส่วนใหญ่ แต่งตามมีตามเกิด แต่พระเอกมักแต่งกายงามเป็นพิเศษนุ่งผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อแขนยาว ทองกร สวมสายสร้อย สังวาล ทับทรวง และชฎา ส่วนนางเอกจะแต่งตัวแบบสาวแขก
ภาษาที่ใช้เจรจาหรือร้อง ผู้แสดงมักใช้ภาษาพื้นเมืองที่ตนถนัดเป็นส่วนใหญ่ แต่บางทีตัวเอกโดยเฉพาะพระเอก นางเอก และผู้ร้ายอาจจะพูดภาษากลางซึ่งสำเนียงพูดมักแปร่งผิด ๆ ถูก ๆ
เวลาที่เล่น
        ลิเกป่าเป็นศิลปะการแสดงที่แต่เดิมได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดภาคใต้ทั่วไป แต่ในปัจจุบันลิเกป่ามีเหลืออยู่น้อยมาก ผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองสุราษฎร์ธานีเล่าว่า แต่ก่อนจะมีลิเกป่ามาแสดงให้ดูแทบทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นงานบวชนาค งานวัด หรืองานศพ
คุณค่า
        ทำให้ผู้ดูได้มีความรู้เกี่ยวกับวรรณคดี และนิทานพื้นบ้าน แม้ว่าลิเกป่าจะหมดความนิยมไป กล่าวคือในหลายจังหวัดไม่มีมหรสพชนิดนี้อยู่แล้ว แต่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานียังมีการแสดงนี้อยู่คือ ลิเกป่าคณะนายจรัส คลาดทุกข์ ซึ่งอยู่ที่บ้านไสใน อำเภอกาญจนดิษฐ์ ลิเกป่าคณะนี้ได้เคยรับเชิญไปแสดงในกรุงเทพฯ และในสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในภาคใต้หลายครั้งหลายคราว จนเป็นที่รู้จักทั่วไป ปัจจุบันยังรับงานแสดงอยู่


เข้าชม : 7995


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด


Warning: mysql_connect() [function.mysql-connect]: Can't connect to MySQL server on 'localhost' (10055) in D:\AppServ\www\singha10\includes\class.mysql.php on line 30

Fatal error: Call to undefined function sql_error() in D:\AppServ\www\singha10\includes\class.mysql.php on line 30