คนส่วนใหญ่ต่างตระหนัก รับรู้ว่าแสงอาทิตย์ประกอบด้วยแสงขาวและแสงยูวีนั้นส่งผลเสียต่อผิว ทำให้ผู้คนทั้งหลายต่างหาครีมบำรุง ครีมกันแดด มาใช้เพื่อป้องกันและฟื้นฟูผิวจากแสงแดด แต่เรากลับหลงลืมป้องกันดวงตา..ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดไป โดยแสงยูวี (ultra-violet) และแสงฟ้า (blue light) มีผลต่อการเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในลูกตา หรือโรคจอประสาทตาเสื่อม (aged-related macular degeneration : AMD) ซึ่งคนเราได้รับแสงเหล่านี้ทั้งจากกิจกรรมกลางแจ้งและภายในบ้าน เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ จากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ การใช้โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือแม้กระทั่งจากโคมไฟส่องทาง แล้วเรารู้หรือไม่ว่า แสงยูวีและแสงฟ้าคืออะไร มีผลอย่างไรกับดวงตา
แสงขาวประกอบด้วยแสงสี “ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง” ซึ่งแต่ละสีมีความยาวคลื่นและพลังงานแตกต่างกัน โดยแสงสีแดงมีความยาวคลื่นมากที่สุด (650-700 nm) แต่พลังงานต่ำที่สุด ในขณะที่แสงสีม่วงมีพลังความยาวคลื่นสั้น (380-420 nm) แต่พลังงานสูงที่สุด ถัดลงไปจะเป็นช่วงแสง UV (A, B และ C) ที่มีความยาวคลื่นสั้นลงตามลำดับ ซึ่งแสงฟ้าคือแสงขาวในช่วงความยาวคลื่น 380 ถึง 500 นาโนเมตร ถือเป็นหนึ่งในสามของแสงขาว หรือที่เรียกกันว่าแสงที่มองเห็นได้และมีพลังงานสูง (high-energy visible (HEV)) และเนื่องจากแสงที่ความยาวคลื่นสั้นมีพลังงานสูง หากได้รับเป็นเวลานานจึงสามารถส่งผลกับผิวหนัง ให้ผิวเป็นสีแทน ผิวไหม้ หรือเลวร้ายคือมะเร็งผิวหนัง และแสงนี้ยังส่งผลเสียต่อดวงตา ให้กระจกตาอักเสบ (photo keratitis)
ความยาวคลื่นแสงยูวีและแสงขาว
โดยปกติโครงสร้างตาด้านหน้าของคนเรา (กระจกตาและเลนส์) สามารถป้องกันแสงยูวีได้อย่างมีประสิทธิภาพจากจอประสาทตาที่ไวต่อแสงที่อยู่ทางด้านหลังของเลนส์ จะมีแสงยูวีน้อยกว่า 1% จากดวงอาทิตย์เท่านั้นที่จะเข้าถึงจอตา (retina) แม้ว่าเราจะไม่ไส่แว่นตากันแดดก็ตาม แต่แสงสีฟ้าเกือบทั้งหมดสามารถผ่านเข้าสู่กระจกและเลนส์ตาจนถึงจอตาได้ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้จอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากมีพลังงานสูงและมีความสามารถในการกระจายได้ง่ายกว่าแสงขาวสีอื่น ดังนั้น เมื่อเรามองหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ปล่อยแสงสีฟ้า จึงยากที่จะโฟกัสทำให้ตาพยายามจะลดความแตกต่างและทำให้เกิดอาการตาล้า จากงานวิจัยพบว่าแสงสีฟ้าสามารถทำลายเซลล์ที่ไวต่อแสงในจอตา ซึ่งทำให้จอตาเสื่อมนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น และแม้ว่าปัจจุบันจะมีงานวิจัยที่พยายามค้นคว้าว่าปริมาณแสงเท่าไหร่ที่จะทำให้จอตาเสื่อม แต่จักษุแพทย์พยายามที่จะเตือนว่าเราควรป้องกันให้ดวงตาได้รับแสงสีฟ้าน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันนักวิจัยได้ค้นคว้าหาวิธีบล็อคแสงสีฟ้า ซึ่งก็พบว่าง่ายนิดเดียว เพียงแค่ใช้แสงที่มีความยาวคลื่นมากกว่า 450 นาโนเมตร ดังนั้นจึงมีบริษัทผลิตจอคอมด้วยการเคลือบด้วยเลนส์ที่มีสีเหลืองแพบว่าสามารถบล็อคแสงสีฟ้าได้ ทำให้ดวงตาไม่รู้สึกล้ามากเกินไปเมื่อจ้องจอคอมนาน ๆ
โซนตาที่เป็นอันตรายจากแสงยูวีและแสงฟ้า
อย่างไรก็ดีประโยชน์ของแสงนั้นมีอยู่มาก โดยพบว่าแสงสีฟ้า (แสงที่มีพลังงานสูง) สามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีความกระตือรือร้น ช่วยเพิ่มความจำ เพิ่มความเข้าใจและมีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ และในปัจจุบันมีการรักษาโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (seasonal affective disorder) โดยใช้การบำบัดด้วยแสง ซึ่งแสงที่ใช้บำบัดคือแสงขาวที่มีแสงสีฟ้าเป็นส่วนประกอบสำคัญ นอกจากนี้แสงสีฟ้ายังสำคัญเกี่ยวกับระบบนาฬิกาชีวิตของคนเราอีกด้วย มีงานวิจัยพบว่าการได้รับแสงสีฟ้าในช่วงเวลากลางวันทำให้สามารถรักษานาฬิกาชีวิตให้เป็นปกติ แต่การได้รับแสงสีฟ้าในเวลากลางคืนมากเกินไป (ทั้งจากการเล่นคอมพิวเตอร์ เล่นมือถือ) ทำให้นาฬิกาชีวิตถูกรบกวนก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน หรือง่วงนอนในเวลากลางวันได้
เมื่อทราบแล้วว่าแสงฟ้ามีทั้งประโยชน์และโทษ เราจะทำอย่างไรให้บล็อกแสงสีฟ้าที่อันตรายและในขณะเดียวกันก็ปล่อยแสงสีฟ้าที่มีประโยชน์เข้าสู่ดวงตา สถาบันการมองเห็นเอสซีลอร์และปารีส ( Essilor and the Paris Vision institute) ได้พัฒนาเลนส์ที่สามารถกรองแสงอย่างเฉพาะ หรือเลนส์ที่บล็อกแสงยูวีและแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายต่อตาและปล่อยให้แสงสีฟ้าอมเขียวและแสงที่มีความยาวคลื่นยาวเข้าสู่ตา ในขณะเดียวกันยังคงออกแบบเลนส์ให้มีความใสทำให้ไม่มีการบิดเบือนของสีดังนั้นจึงไม่ส่งผลเสียต่อดวงตา และปัจจุบันมีหลาย ๆ บริษัทได้พัฒนาเลนส์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวออกมาจำหน่ายมากขึ้น ในฐานะที่เราเป็นผู้ซื้อควรจะศึกษา สอบถามข้อมูลก่อนซื้อ เพื่อให้ได้เลนส์ที่ถนอมสายตาที่มีประสิทธิภาพ และไม่เสียเปรียบผู้ขายที่อาจจะเสนอขายเลนส์ที่เกินความจำเป็น (ต่อการปกป้องดวงตา) ในราคาแพง
อ้างอิง :
https://www.macular.org/ultra-violet-and-blue-light
https://www.reviewofoptometry.com/ce/the-lowdown-on-blue-light-good-vs-bad-and-its-connection-to-amd-109744
http://www.allaboutvision.com/cvs/blue-light.htm
Coleman HR. Modifi able risk factors of age-related macular degeneration. Pages 15-22. In: A.C. Ho and C.D. Regillo (eds.), Age-related Macular Degeneration Diagnosis and Treatment, 15 DOI 10.1007/978-1-4614-0125-4_2, © Springer Science+Business Media, LLC 2011. Available at: http://www.springer. com/978-1-4614-0124-7. Accessed: January 2014.