ประวัติวัดห้วยพุด
คำขวัญประจำวัดห้วยพุด
วัดจะดี มีหลักฐาน เพราะบ้านช่วย
บ้านจะสวย เพราะมีวัด ดัดนิสัย
บ้านกับวัด พลัดกันช่วย ก็อวยชัย
ถ้าขัดกัน ก็บรรลัย ทั้งสองทาง
บ้านกับวัด พัฒนา เพื่อสาธิต
ดังนิมิต เมืองแมน แดนสวรรค์
บ้านกับวัด พัฒนา พร้อมหน้ากัน
เพิ่มสัมพันธ์ มั่นคง ดำรงไทย
บ้านกับวัด พัฒนา ปรึกษากิจ
สิ่งใดผิด ติดขัด จัดแก้ไข
บ้านกับวัด พัฒนา หูตาไว
กำจัดภัย ให้ราบ ตั้งปราบมาร
วัดของเรา ใครเล่า เขาจะสร้าง
วัดจะร้าง ถ้าเราหลีก ปลีกตัวหนี
วัดกับบ้าน ต่างร่วมกัน สามัคคี
วัดจะดี บ้านสง่า คู่ฟ้าเอย
ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดห้วยพุดมีดังต่อไปนี้
พระสมห์เอียด 2452 - 2454
พระเรือง 2454 - 2455
พระหนู สทสสี 2455 - 2459
พระคล้าย สริกขโก 2459 - 2465
พระครูจันทวิมล ( คิ่น จนท คุตโต) 2465 - 2527
พระครูปลัดเจน จิตสาโร 2527 - 2533
พระครูวิจิตรศีลาจาร 2533 - ปัจจุบัน
วัดห้วยพุด ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา วัดห้วยพุด ตั้งขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2452 เป็นระยะเวลา 101 ปี เนื้อที่ตั้งวัด 6 ไร่ นายกซ้วน คงไข่ เป็นผู้ถวาย โดยพระสมุห์เอียด วัดป่าขวาง กับนายจันทร์แก้ว บุณยประวิทย์ เป็นผู้ติดต่อ วัดนี้ตังอยู่ในระหว่างหมู่บ้านขมวนและบ้านหนองโด ติดคลองสะทิงหม้อ ทะลุออกทะเลสาบสงขลา
ต่อมามีผู้ศรัทธาซื้อที่ดินถวายวัดสองคราว คราวแรก ท่านพระครูจันทวิมล พร้อมด้วยประชาชนบริจาคทรัพย์ 18,000 บาท ซื้อที่ดินทางทิศใต้ 3 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวา ครั้งที่ 2 เจ้าคุณพระราชธรรมกวี วัดเสน่หา นครปฐม บริจาคทุนส่วนตัว 18,000 บาท ซื้อที่ดินทางทิศเหนือ 9 ไร่ เศษ รวมเป็นเนื้อที่เขตวัดทั้งหมด 18 ไร่
ท่านสมุห์เอียด บุญฤทธิ์ สำนักวัดป่าขวาง กับ นายจันทร์แก้ว บุณยประวิทย์ ชาวบ้านขมวนได้ปรารภกันว่า ประชาชนในหมู่บ้านขมวน และหมู่บ้านหนองโด ซึ่งตั้งบ้านเรื่อนอยู่เรียงรายทั้งสองฝั่งคลองประมาณ 500 ครัวเรือน มีประชาชนราว 2,000 คน ต่างไม่ได้รับความสะดวกในการทำบุญทำกุศลใส่บาตรพระเณรประจำวันมาช้านาน เพราะหมู่บ้านทั้งสองอยู่ห่างไกลจาดวัดป่าขวาง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือประมาณ 50 เส้น และอยู่ห่างไกลจากวัดทำนบ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ก็ราว 50 เส้น เช่นกัน พระเณรมารับบิณฑบาตไม่ถึง เพื่อมีพิธีทำบุญก็ต้องไปนิมนต์พระมาจากวัดทั้งสอง หรือมิฉะนั้นก็นำของไปวัด ลำบากแก่การไปมา
ด้วยเหตุนี้ ท่านสมุห์เอียด กับนายจันทร์แก้ว จึงตกลงกันว่าจะสร้างวัดขึ้นมาสักวัดหนึ่งที่ใกล้กับหมู่บ้านทั้งสอง เพื่ออนุเคราะห์ประชาชนให้บำเพ็ญกุศลประจำวันตามศรัทธา และต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าได้สร้างวัดขึ้นในเนื้อที่ของ นายกซ้วน คงไข่ จะเหมาะมากเพราะที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่ในระหว่างหมู่บานขมวนและหมู่บ้านหนองโด จึงได้พากันไปหา นายกซ้วน คงไข่ เจ้าของที่ดิน เมื่อนายยกซ้วน ทราบความประสงค์ของท่านสมุห์เอียด และนายจันทร์แก้ว แล้ว ก็ยินดีอนุโมทนา ยกเนื้อที่ 6 ไร่ ให้ เพื่อสร้างวัดขึ้นได้ตามปรารถนา
ปีที่สร้างวัดและเจ้าอาวาสรูปที่ 1
เมื่อนายกซ้วน คงไข่ อุทิศถวายที่ดินของตนให้สร้างวัดได้แล้วท่านสมุห์เอียดก็คงอยู่จำพรรษาที่วัดป่าขวาง ครั้นวันออกพรรษาแรมค่ำ 1 เดือน 11 ปีระกา ตรงกันวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2452 พระสงฆ์จากวัดป่าขวางจำนวนหนึ่ง มีท่านสมุห์เอียดเป็นประธาน ได้เข้ามาอยู่ประจำทำการก่อสร้างวัดห้วยพุดขึ้นในวันนี้ และท่านสมุห์เอียดทำหน้าที่เจ้าอาวาสรูปแรกสืบมา
ตามประวัติเล่าขานกันมาว่า ในวันออกพรรษา ปี 2453 นั้น ท่านสมุห์เอียดพร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ได้จัดให้มีพิธีชักพระตามประเพณีนิยม ล่องเรือพระจากวัดป่าขวางไปหยุดทำการสมโภช ณ ที่ซึ่งสร้างวัดห้วยพุดนั้น มีประชาชนไปทำบุญสมโภชกันเป็นจำนวนมาก มีการแข่งขันเรือพายกันอย่างครึกครื้นสนุกสนาน ท่านสมุห์เอียดจึงถือเอาวันนี้เป็นมงคลฤกษ์สร้างวัดห้วยพุด ดังปรากฏอยู่จนบัดนี้
และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2511 สมเด็จพระสังฆราช และ พระราชาคณะ ทรงเป็นประธานในพิธีหล่อพระประธาน ที่โรงงานนายโฉมยง รอดไสว เลขที่ 119 ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลบางกอก อำเภอราษฏร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ซึ่งพระที่หล่อเป็นพระประธานนั้นเป็นแบบพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกและโตเท่าขนาดเดียวกัน คือ หน้าตักกว้าง 2.90 เมตร เมื่อหล่อเสร็จแล้วจะเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ วัดห้วยพุด ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และในปัจจุบันนี้ วัดห้วยพุด ได้มีการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กก่อนเกณฑ์ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าอาวาสคนปัจจุบันเป็นผู้ดูแลและบริหารศูนย์ดังกล่าวร่วมกันองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง
เข้าชม : 2041
|