ประวัติตำบลรำแดง
ตำบลรำแดง เป็นตำบลหนึ่งในจำนวน 11 ตำบล ของอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ใจกลางของอำเภอซึ่งสามารถติดต่อได้ทุกตำบล โดยมีทางแยกจากเส้นทางหลวงหมายเลข 408 สงขลา - นครศรีธรรมราช ที่หลักกิโลที่ 143 เป็นพื้นที่ติดต่อกับแหล่งชุมชนโบราณคลองปะโอ ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนเครื่องปั้นดินเผา ที่เจริญรุ่งเรืองตอนปลายอาณาจักรสทิงปุระ ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 ตำแดงเป็นชุมชนเก่าแก่ โดยเป็นชุมชนชายแดนของเมืองสทิงพระ และอำเภอสทิงพระสืบมาจนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2467 สมเด็จเจ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราช และอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ทรงได้รับรายงานและพิจารณาเห็นว่า พื้นที่อำเภอสทิงพระ มีอาณาเขตกว้างไกลการคมนาคมก็ลำบาก ทุรกันดาร ยากต่อการตรวจควบคุมจึงให้สำรวจและปักปันแดนเสียใหม่ โดยตัดตำบลตนเหนือถึงเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชไปตั้งเป็นอำเภอระโนด ส่วนทางตอนใต้ให้ถึงตำบลท่าหิน และตำบลวัดจันทร์ ส่วนตอนล่างที่เหลือตัดให้ขึ้นกับอำเภอกลางเมือง ( เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองสงขลา พ.ศ.2481 ) ตำบลรำแดงจึงอยู่ในท้องที่ ‘’อำเภอเมืองสงขลา‘’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. 2531 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศแบ่งเขตอำเภอเมืองสงขลา โดยแยกพื้นที่11 ตำบล ฝั่งหัวเขาแดงตั้งเป็นกิ่งอำเภอสิงหนคร และได้พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเป็นอำเภอสิงหนคร ในปี พ.ศ. 2534
อารยธรรมชุมชนตำบลรำแดง เริ่มขึ้นที่บ้านป่าขวาง โดยมีวัดป่าขวางเหนือ ( ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตลาดนัดวันเสาร์ ) เป็นพุทธศาสนสถานสำคัญในวัดปากด่านพรมแดนเมืองสทิงพระสมัยเมือง สทิงพระรุ่งเรือง ได้หล่อพระพุทธสิหิงค์หลายองค์ องค์หนึ่งพบที่วัดพระสงห์ อำเภอสทิงพระ อีกองค์หนึ่งได้รับนิมนต์มาประดิษฐานเป็นศิริมงคลประจำทิศใต้ที่วัดป่าขวางเหนือ ก่อน พ.ศ. 2528 ซึ่งต่อมา ได้ร่างลง แต่ยังมีซากเจดีย์สององค์ตั้งคู่อยู่ริมคลองสทิ้งหม้อ และถูกทำลาย ในเวลาต่อมาบรรดาพระพุทธรูป และทรัพย์สินบางส่วนยังถูกเก็บไว้ที่ วัดป่าขวางในปัจจุบัน
ชุมชนป่าขวาง เดิมเป็นชุมชนผู้มีศักดิ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ถือที่นาตามศักดินา ของบรรดาขุนนางข้าราชการสมัยก่อน ข้าราชการสมัยก่อน ได้รับพระราชทานที่นา ( ตามบรรดาศักดิ์ ขุนนาง ถือที่นาเป็นไร่ ) บ้านป่าขวาง มีขุนธรรมรัฐธุราทร ( คล้าย โกศัยกานนท์ ) ปกครองดูแล ในลักษณะขุนนาง มีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับที่นา และส่วย อากรที่เกี่ยวกับนาและข้าว มีฉางข้าวใหญ่ ซึ่งที่ตั้งยังปรากฏอยู่ ชาวบ้าน เรียกว่า ในฉาง บ้านป่าขวางจึงเต็มไปด้วย ‘’บ้านนาย’’ และที่ ‘’นานาย’’มากมาย ซึ่งปัจจุบันยังมีชาวบ้านเรียกที่ ‘’นานาย’’ อยู่หลายร้อยไร่ในบริเวณทิศใต้ของตำบล ยาวตลอดตั้งแต่ป่าขวางจนถึงชุมชนขมวน ผู้เก็บค่าเช่านายังมีอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ ซึ่งเก็บค่านาตั้งแต่สมัยปู่
จนถึงรุ่นปัจจุบัน ในขณะที่ทางชุมชนหนองโดและขมวน มีที่ดินของพี่น้องท่าเสา ตำบลสทิ้งหม้อ มา
ทำกินจนปัจจุบัน น่าจะมาจากทีชุมชนน่าเมืองได้เจริญ สทิงพระ ทำให้ประชาชนชุมชนหัวเขาเข้ามาทำนาตามศักดิ์
เมื่อสิ้นสมัยศักดินา บ้านป่าขวางซบเซาลง ความเป็นศูนย์กลางชุมชนกลังมาฟื้นตัวที่ชุมชนบ้านรำแดง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อแพทย์ปลอด รุจิเรข ตั้งตลาดนัดขึ้นที่เชิงสะพานรำแดง ทางทิศตะวันออก ต่อมาแป๊ะล้วน(ล้วน ไทยเครือวัลย์) เปิดนัดทางตะวันตกของสะพานรำแดง เป็นตลาดนัดสองฝั่งคลอง ที่คึกคักเป็นที่ชุมนุมสินค้านานาชนิด จากในตำบลรำแดง และพื้นที่ตำบลรำแดง ด้วยที่ตำบลรำแดงมีภูมิประเทศที่สามารถติดต่อได้กับตำบลอื่นได้มากทำให้พ่อค้า แม่ขาย จากหลายตำบลมาค้าขาย เช่น แม่ค้าจากตำบลหัวเขา สทิ้งหม้อ ม่วงงาม ป่าขาด ปากรอ ชะแล้ ตลอดจนนอกพื้นที่ เช่น บ่อประดู่ ควนเนียง ซึ่งการเดินทางของแม่ค้าใช้เส้นทางเรือเป็นส่วนใหญ่ โดยใช้คลองสทิ้งหม้อเป็นหลัก ซึ่งการสร้างบ้านเรือนในสมัยก่อนปลูกสร้างบ้านบริเวณใกล้เคียงกัน ในสมัยที่ยังไม่มีเส้นทางหลวงสงขลา – ระโนด (ก่อน พ.ศ. 2510) การคมนาคม ในอำเภอสิงหนครใช้คลองสทิงหม้อเป็นหลัก โดยมีเรือแจวและวิวัฒนาการมาเป็นเรือยนต์ ในราว พ.ศ.2493 บ้านรำแดง เป็นท่าเรือปลายทางของลำน้ำนี้ โดยมีเรือที่นัดเชิงสะพานรำแดง ประจำ 5 ลำ รับ – ส่งผู้โดยสาร ไปยังสงขลา ประจำทุกวัน บ้านรำแดงจึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ของในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตำบลม่วงงาม วัดขนุน ชะแล้ ปากรอ เมื่อถนนสงขลา – ระโนด - นครศรีธรรมราช ลาดยางเสร็จในปี พ.ศ. 2518 การคมนาคมทางน้ำคลองสทิงหม้อจบลงโดยสิ้นเชิงแม้ประชาชนตำบลรำแดง ก็เริ่มหันหลังให้ลำคลองมาใช้ถนน และในปี พ.ศ. 2529 ตำบลรำแดง ได้มีถนนลาดยางตัดผ่านตำบล จากบ้านปะโอ –สทิ้งหม้อ
การศึกษาตำบลรำแดง มีสถานศึกษา 2 แห่ง คือ โรงเรียนวัดห้วยพุด ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2462 และโรงเรียนวัดป่าขวาง ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2466 สังกัดอำเภอจะทิ้งพระ ในสมัยนั้นเด็กอายุ ไม่ถึง 16 ปี ในบริเวณ ชุมชนปะโอ วัดขนุน ม่วงงาม ทำนบ สทิ้งหม้อ มาเรียนเป็นจำนวนมาก
เข้าชม : 884 |