ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง...ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง…♬♪

หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับเพลงรำวงเพลงนี้กันเป็นอย่างดี ที่มาพร้อมกับประเพณีอันงดงามของไทยอย่างประเพณีลอยกระทง” ที่สืบทอดกันมายาวนานและมีชื่อเสียงไปไกลถึงต่างประเทศ...วันนี้เราจะไปดูกันว่า ลอยกระทงคืออะไร? และกิจกรรมที่น่าสนใจจะมีอะไรกันบ้าง?

ลอยกระทง นับเป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญของไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน สำหรับวันลอยกระทงของทุกปี ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตามปฏิทินจันทรคติไทย และมักตรงกับในช่วงราวเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม ตามปฏิทินสุริยคติ สำหรับวันเพ็ญเดือนสิบสองนี้จะเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำขึ้นเต็มฝั่ง อีกทั้งพระจันทร์จะเต็มดวง ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบผิวน้ำได้ขัดเจน เป็นภาพที่งดงามน่าชื่นชมยิ่งนัก

ประวัติวันลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยนั้น เริ่มขึ้นเมื่อสมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยพิธีการลอยกระทงแต่เดิมนั้นเรียกว่า “พิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม” ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ เพื่อการบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม แต่เนื่องจากคนไทยที่รับนับถือพระพุทธศาสนา จึงปฏิบัติเพื่อเป็นการสักการะพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ณ หาดทรายแม่น้ำนัมทามหานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ในปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา

ลอยกระทง

ต่อมา ท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ สนมเอกของพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ลอยตามสายน้ำไหลแทนการลอยโคม จากหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระร่วงได้ตรัสว่า "แต่นี่สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัวอุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมฆทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน"

ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการทำกระทงขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีการแข่งขันการทำกะทงใหญ่ของพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนาง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเงินและแรงงานจำนวนมาก ทำให้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำเรือลอยประทีปแทนกระทงใหญ่ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงฟื้นฟูประเพณีลอยพระประทีปอีกครั้ง ครั้นต่อมาชาวบ้านเปลี่ยนมาเรียกเป็น “ลอยกระทงทรงประทีป” แล้วเปลี่ยนมาเป็นลอยกระทงในภายหลัง ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีลอยกระทงตราบจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีลอยกระทง ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ว่าเป็นพิธีที่เก่าแก่ของประเทศตะวันออกที่สามารถพบได้ทั้ง จีน ญี่ปุ่น ลาว พม่า กัมพูชา และอืนเดีย เป็นต้น ทั้งนี้ ลักษณะของรูปแบบและรายละเอียดของประเพณี ตลอดจนความเชื่อของคนในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีความแตกต่างกันไป แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง การปฏิบัติและความเชื่อก็ยังคงมีความหลากหลายเช่นกัน


ความเชื่อเรื่องการลอยกระทง

ความเชื่อในทางคติพราหมณ์นั้น เชื่อกันว่าเป็นการบูชาและขอขมาต่อแม่น้ำคงคาที่ศักสิทธิ์ของชาวอินเดีย และเพื่อเป็นการบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ที่ซึ่งเป็นมหาเทพแห่งศาสนาพราหมณ์

ในทางพระพุทธศาสนานั้น การลอยกระทงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมทามหานที ซึ่งปัจจุบันก็คือแม่น้ำเนรพุททา ประเทศอินเดีย หรือการรับเสด็จพระพุทธเจ้าในวันกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งโปรดพระพุทธมารดา หรือเพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึก เป็นต้น

การลอยกระทงตามคติความเชื่อของท้องถิ่น อาทิ ชนชาติที่ประกอบอาชีพกสิกรรมที่จะต้องอาศัยน้ำเพื่อการเพาะปลูก การเจริญงอกงามของพืชผลทางการเกษตร การลอยกระทงจึงเป็นการขอบคุณพระแม่คงคาหรือเทพที่ประทานความอุดมสมบูรณ์มาให้ หรือการลอยกระทงเพื่อการสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศก และอธิษฐานขอพรในสิ่งที่ตนปรารถนา


การจัดกิจกรรมลอยกระทงในแต่ละจังหวัด/ภาค

ภาคเหนือ จะเรียกประเพณีลอยกระทงว่า “ยี่เป็ง” ซึ่งจะตรงกับวันเพ็ญเดือนยี่ (เดือนสอง) ของล้านนา โดยชาวเหนือจะประดิษฐ์โคมลอยหรือที่เรียกกันติดปากว่าว่าวนั่นเอง สำหรับการแบ่งประเภทของโคมลอย ได้แก่ โคมลอยกลางวัน (ว่าวโฮม หรือ ว่าวควัน) และโคมลอยกลางคืน (ว่าวไฟ) โดยการใช้กระดาษสีหรือผ้าบางๆ แล้วสุมไฟข้างใต้ให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์เพื่อให้ประสพแต่สิ่งดีงาม

สำหรับกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นในงานลอยกระทงประจำปี ๒๕๕๘ ได้แก่ “ประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่” ณ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่จัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ ๒๒-๒๖ พฤศจิกายน ภายในงานมีกิจกรรมขบวนแห่โคมยี่เป็ง ขบวนแห่กระทง การแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา ขบวนแห่กระทงเล็ก การแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น

งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ พฤศจิกายน กิจกรรมภายในงาน อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยต่างๆ เช่น โขน รำ ระบำ ดนตรีไทย การละเล่นต่างๆ การแสดงน้ำพุเต้นระบำ การแสดงพลุ ตะไล การประกวดนางนพมาศ การประกวดกระทง เป็นต้น

งานประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง ณ บริเวณริมแม่น้ำปิง ริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก จัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ ๒๑-๒๖ พฤศจิกายน กิจกรรมที่สำคัญคือ การแข่งขันลอยกระทงสาย ไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอดีตจะเรียกประเพณีลอยกระทงว่า “สิบสองเพ็ง” ซึ่งหมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้นเอง เทศกาลลอยกระทงจะเรียกว่า “ไหลเรือไฟ” หรือ “ไหลเฮือไฟ” โดยชื่อเรียกประเพณีลอยกระทงจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น อาทิ  “เทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล” ของจังหวัดสกลนคร ที่จัดขึ้นในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ทางเข้าศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร และ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอเมืองสกลนคร เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์ของการลอยกระทงคือเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที

งานลอยกระทงโคมไฟ ดอกไม้บาน ๒๕๕๘ ณ เทศบาลตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ตอน "ประเพณีลอยกระทง มหัศจรรย์ โคมไฟ ดอกไม้บาน @ บึงหัวทะเล" จัดขึ้นในวันที่ ๒๕-๒๖ พฤศจิกายน กิจกรรมภายในงาน อาทิ การประกวดกระทงอนุรักษ์ธรรมชาติและกระทงจิ๋ว การประกวดนางนพมาศ การแสดงพลุไฟประกอบดนตรี การประกวดถ่ายภาพ เป็นต้น                

 


ประเพณีลอยกระทง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี ๒๕๕๘ ณ ริมบึงสีฐานและหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดขึ้นในวันที่ ๒๓-๒๕ พฤศจิกายน กิจกรรมที่น่าใจ ได้แก่ การประกวดขบวนแห่และกระทงในรูปแบบวัสดุธรรมชาติและประยุกต์ การประกวดนางนพมาศ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน การละเล่นกีฬาไทย เป็นต้น

ภาคใต้ งานประเพณีลอยกระทงหาดใหญ่ ณ สนามชุมชนบางหัก ริมคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน กิจกรรมที่น่าใจ ได้แก่ การประกวดหนูน้อยนพมาศ หนูน้อยนครหาดใหญ่ การประกวดกระทง การแสดงบนเวที เป็นต้น

                                                           

ภาคกลาง การลอยกระทงของภาคกลางเป็นที่มาของการลอยกระทงที่นิยมปฏิบัติทั่วประเทศ โดยสภานที่การจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ งานประเพณี “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง กรุงเทพมหานคร” ณ เสวนนาคราภิรมย์ กรุงเทพมหานคร จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ พฤศจิกายน ภายใต้แนวคิด "ลอยกระทงเก๋ไก๋ เสน่ห์ไทย พระนคร" โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การชื่นชมขบวนเรือประดับไฟฟ้าตั้งแต่บริเวณสะพานกรุงเทพถึงสะพานพระราม ๘ การลอยกระทงในรูปแบบ "วิถีขมา บูชาวารี"  พิธีเฉลิมฉลองงานเทศกาลสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมการลอยกระทง และการแสดงทางวัฒนธรรม เป็นต้น

งานประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง ณ อุทยาน ร.๒ วัดภุมรินทร์กุฎีทอง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จัดขึ้นในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ภายใต้แนวคิด "ลอยกระทงวิถีไทย สายน้ำอัมพวา" ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรม เช่น การลอยกระทงกาบกล้วย นิทรรศการกระทงกาบกล้วย การบรรเลงดนตรีสุนทราภรณ์ การละเล่นพื้นบ้าน รำวงพื้นบ้าน เป็นต้น 


ขอบคุณเนื้อหาจาก:
www.baanmaha.com/community/thread14812.html
http://thai.tourismthailand.org/ 
www.vcharkarn.com/varticle/58125

ขอบคุณภาพจาก:
www.vcharkarn.com/uploads/sites/6/2013/11/14.jpg
www.vcharkarn.com/uploads/sites/6/2013/11/23.jpg 
www.easytravel.in.th/wp-content/uploads/2014/11/tt2.jpg 
xn--k3cikmwc5gwb5fxbya.com/wp-content/uploads/2012/12/Untitled-2_1.jpg 
gonorththailand.com/farm/userfiles/9/91/000000287/d07c2d57bd52bb52fac3ea76be96e2f9.jpg 
www.dmc.tv/images/OtherBB/Lairaufai5.jpghttp://www.paiduaykan.com/travel/wp-content/uploads/2014/10 
/loy_ka_tong.jpg 
http://suvarnabhumiairport.com/uploads/profiles/0000000001/filemanager/images/20131114_jb(1).jpg 
http://ed.files-media.com/ud/images/1/112/333400/500652_0fcb40c114e5ba0197d3343d652bf0fd-620x392.jpg 
www.emaginfo.com/wp-content/uploads/2014/10/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8% 
97%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A12.jpg 
www.facebook.com/เทศบาลตำบลหัวทะเล-167005716787870/