วันสำคัญของไทย 25 พฤษจิกายน วันวชิราวุธ
เหล่าข้าราชการ และลูกเสือ ย่อมจะไม่ลืมวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เพราะวันดังกล่าวนี้ตรงกับวันวชิราวุธ ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงริเริ่มกิจการลูกเสือในประเทศไทย
วันวชิราวุธ ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี สาเหตุที่กำหนดให้เป็นวันนี้ เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ อย่างมากมายมหาศาลต่อประเทศชาติ ทั้งในด้านการคมนาคม การปกครอง กิจการเสือป่าและลูกเสือ รวมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านวรรณคดี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ทางการจึงกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันวชิราวุธ เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ทั้งนี้ภายหลังมีหลักฐานยืนยันว่า วันสวรรคตจริงตรงกับเช้ามืดช่วงตี 1 ของวันที่ 26 พฤศจิกายน แต่ทางราชการยังคงถือว่าวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันวชิราวุธ
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระมารดารวม 8 พระองค์ ซึ่งมีพระอนุชาองค์เล็กคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
เมื่อพระชนมพรรษาเจริญครบเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระนามว่า“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ” ในปี พ.ศ. 2431 เมื่อมีพระชนมพรรษา 8 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้า “กรมขุนเทพทวาราวดี” ให้ ทรงมีพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ 2 รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และได้มีพระราชพิธีโสกันต์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2435
ขณะ ทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ทรงศึกษาความรู้จาก พระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาอิศรพันธ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) และหม่อมเจ้าประภากร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทั้งในพระบรมมหาราชวัง และโรงเรียนสวนกุหลาบ จนเมื่อมีพระชนมพรรษา 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ
ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้สวรรคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 พระองค์จึงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สืบแทน และได้ประกอบพระราชพิธีขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 ที่ประเทศไทย และที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2437 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสอันเป็นพระวาทะอมตะว่า “ข้าพเจ้ากลับไปยังประเทศสยามเมื่อใด ข้าพเจ้าจะเป็นไทยให้ยิ่งกว่าวันที่ออกเดินทางมา”
พระองค์ทรงศึกษาสรรพวิชาหลายแขนง ทั้งการทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนเฮิสต์, วิชาประวัติศาสตร์และกฎหมายที่วิทยาลัยไครสต์ เซิช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และทรงพระราชนิพนธ์วิทยานิพนธ์ทางประวัติศาสตร์เรื่อง The War of the Polish Succession แต่ระหว่างที่ศึกษาอยู่ ทรงพระประชวรด้วยพระโรคพระอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ ทำให้ต้องทรงรับการผ่าตัดทันที จึงทรงพลาดโอกาสที่จะได้รับปริญญา
ปี พ.ศ. 2447 พระองค์เสด็จออกพระผนวชตามราชประเพณี ประทับอยู่ประจำวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินยุโรปครั้งที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจในราชกิจไว้แด่พระองค์ในฐานะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ซึ่งตรงกับวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครานั้นพระองค์ยังทรงโทมนัส และไม่มีพระราชประสงค์ที่จะแลกสิริราชสมบัติของพระองค์กับการสูญเสียพระชนม ชีพของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จนกระทั่งเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ข้าราชการชั้นต่าง ๆ มาเข้าเฝ้าเพื่อกราบถวายบังคมอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชเป็นพระเจ้าแผ่น ดินสืบต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระ บาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แต่หลังจากนั้นเพียง 1 วันคือวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร รวมพระชนมพรรษาได้ 45 พรรษา รวมเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 พรรษา
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
ใน รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะด้านการปกครอง การศึกษา กิจการกองเสือป่า ด้านวรรณกรรม ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่ยังให้เกิดความวัฒนาต่อสยามประเทศ ซึ่งจะยกมาเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านสำคัญ ๆ ดังนี้
– ด้านการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเล็งเห็นความสำคัญของ การศึกษา จึงมีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษามากมาย เช่น
ทรงโปรดให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเป็นโรงเรียนในพระองค์ แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล ที่เป็นไปตามโบราณราชประเพณีเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ จะต้องสร้างวัดประจำรัชกาลไว้เป็นอนุสรณ์ แต่พระองค์ทรงเห็นว่า ในสมัยก่อนการสร้างวัดมีขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานศึกษา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสถานศึกษาขึ้นโดยตรงต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อ ปี พ.ศ. 2469
พ.ศ. 2459 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
พ.ศ. 2464 ทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาเป็นครั้งแรก โดยกำหนดการศึกษาภาคบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ต้องเรียนหนังสือในโรงเรียนจนกระทั่งอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์
– ด้านเศรษฐกิจ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสินพุทธศักราช 2456 ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักการออม จนเมื่อปี พ.ศ. 2458 จึงจัดตั้งธนาคารออมสิน นอกจากนั้นแล้วพระองค์ยังทรงเห็นการณ์ไกล ว่า ในภายภาคหน้าจะต้องมีการสร้างบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาประเทศและเป็นไปตามแบบอารยประเทศ ดังนั้นพระองค์จึงทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยขึ้น เมื่อ ปี พ.ศ. 2459
– ด้านการคมนาคม
ในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟที่เคยแยกกัน เป็น “กรมรถไฟหลวง” และ เริ่มเปิดการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ อีกทั้งรถด่วนระหว่างประเทศจากธนบุรีเชื่อมไปถึงปีนังและสิงคโปร์ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม 6 เพื่อเชื่อมทางรถไฟไปยังภูมิภาคอื่น
– ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
ในปี พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งวชิรพยาบาลและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขึ้น อีกทั้งทรงเปิดสถานเสาวภา ในปี พ.ศ. 2465 เพื่อรักษาคนที่ถูกสัตว์ร้ายกัด
– ด้านการปกครอง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงคำเรียกชื่อ “เมือง” เป็น“จังหวัด” แทน นอกจากนี้ในด้านการปกครอง เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแม่แบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พระองค์ทรงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเมืองไทยจะต้องมีการเปลี่ยนระบอบการ ปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน จึงมีพระราชดำริให้ทำการทดลองระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ขึ้น ภายในพระราชวังดุสิต ในปี พ.ศ. 2461 ก่อนจะย้ายมาที่พระราชวังพญาไทในปีถัดมา
จุด ประสงค์เพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยจัดให้มีพรรคการเมือง 2 พรรค มีหนังสือพิมพ์รายวันที่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง 3 ฉบับ ได้แก่ ดุสิตสมิตรายปักษ์ ดุสิตสมัย และดุสิตสักขี และทดลองให้มีการเลือกตั้งขึ้น แต่ดุสิตธานีได้สิ้นสุดลงหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า อยู่หัว
– ด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งกอง เสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ให้ได้รับการฝึกหัดอย่างทหาร เพื่อให้เป็นราษฎรที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ และส่งเสริมความสามัคคี โดยเหล่าเสือป่าจะมีหน้าที่ในการรักษาความสงบทั่วไปในเมือง
ขณะเดียวกันก็ได้ทรงก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพื่อฝึกให้เยาวชนมีความเข้มแข็ง อดทน เสียสละ สามัคคี ดังที่ได้พระราชทานคติพจน์ให้แก่คณะลูกเสือว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” และ ดังพระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง หัวใจนักรบ และ ความดีมีไชย ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับบทบาทและหน้าที่ของลูกเสือ
– ด้านการต่างประเทศ
ใน สมัยของพระองค์ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นในทวีปยุโรป ประเทศไทยได้ประกาศวางตัวเป็นกลาง แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการ ประกาศสงครามกับประเทศฝ่ายเยอรมันเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และได้เข้าร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อรักษาสิทธิของประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารไทยอาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิในยุโรปด้วย จนเมื่อสงครามสิ้นสุดด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศ ไทยจึงมีโอกาสเจรจากับประเทศมหาอำนาจหลายประเทศเพื่อแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็น ธรรม จนเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2469 ทำให้ไทยได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตกลับคืนมา และสามารถเก็บภาษีอากรได้ตามกฎหมายไทย
การประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการใช้ธงช้างเดิม เปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์แทน ตามลักษณะสีธงชาติของประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรกับประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 มาประเทศไทยจึงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติ ทั้งนี้การไปร่วมรบในฐานะฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ทหารหลายนายเสียชีวิต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลก ครั้งที่ 1 ไว้เป็นอนุสรณ์สถานที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือของท้องสนามหลวง เมื่อ ปี พ.ศ. 2462 เพื่อสดุดีวีรกรรมของบุคคลเหล่านั้น
– ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในหลาย ๆ สาขา คือ
ด้านนาฏศิลป์ เนื่อง จากพระองค์ทรงโปรดการแสดงโขนละคร จึงได้พระราชนิพนธ์บทละครไว้หลายเรื่อง และยังเคยทรงแสดงละครเวทีด้วยพระองค์เอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมมหรสพขึ้น เพื่อรวมเอากรมต่าง ๆ ในด้านมหรสพมารวมกันไว้ในที่เดียว และยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงละครหลวงไว้ในพระราชวังทุกแห่ง เพื่อใช้แสดงละคร
ด้านสถาปัตยกรรม พระองค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งแบบไทยหลังแรก คือพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นพระที่นั่งท้องพระโรงสำหรับเสด็จออก ใช้แสดงโขน และเป็นที่อบรมเสือป่า อีกทั้งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกอักษรศาสตร์ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้านวัฒนธรรมไทย ทรง โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2456 ถือเป็นครั้งแรกที่คนไทยมีนามสกุลใช้สืบเชื้อสายวงศ์ตระกูล นอกจากนี้พระองค์ได้พระราชทานนามสกุลให้บุคคลต่าง ๆ ไว้ทั้งหมดประมาณ 6,432 นามสกุล ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สตรีโสดให้ใช้คำว่า “นางสาว” นำหน้าชื่อ หากแต่งงานแล้วให้ใช้“นาง” เพื่อสอดคล้องกับ “นาย” ของฝ่ายชาย รวมทั้งคำว่า “เด็กหญิง เด็กชาย” ด้วย
– ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์
พระ บาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านวรรณกรรมเป็นอย่างมาก พระองค์ได้พระราชนิพนธ์ชิ้นงานหลายประเภท ทั้งโขน ละคร พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุศาสนีย์ เทศนาปลุกใจเสือป่า นิทานชวนหัว คำประพันธ์ ร้อยกรอง สารคดี และบทความในหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยทรงใช้พระนามแฝงอยู่หลายชื่อ เช่น ศรีอยุธยา รามจิตติ พันแหลม อัศวพาหุ เป็นต้น
พระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้ส่งเสริมการแต่งหนังสือเพื่อฟื้นฟูวรรณกรรม โดยให้ตราพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พุทธศักราช 2457 เพื่อพิจารณายกย่องหนังสือไทยประเภทต่าง ๆ ที่แต่งได้ดีเยี่ยม ซึ่งพระราชนิพนธ์ของพระองค์ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรได้แก่ บทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบ, บทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา และพระนลคำหลวง นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์ ยังได้เกิดนักกวีสำคัญ ๆ หลายคน เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาอนุมานราชธน นายชิต บุรทัต เป็นต้น
ด้าน การหนังสือพิมพ์ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการพิมพ์ฉบับแรกขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2465 และ พระองค์ได้พระราชนิพนธ์บทความสำคัญ ๆ จำนวนมากลงในหนังสือพิมพ์ เช่น ยิวแห่งบูรพทิศ ลงในหนังสือพิมพ์ สยามออบเซอร์เวอร์ และ โคลนติดล้อ ลงในหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย งานพระราชนิพนธ์ของพระองค์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจนถึงกับมี ประชาชนเขียนล้อเลียนโต้ตอบลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ในชื่อ “ล้อติดโคลน”
พระเกียรติคุณ
ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงสร้างให้กับประชาชนชาวไทยอย่างมากมายมหาศาล ปวงชนชาวไทยจึงรวมใจกันถวายพระราชสมัญญาว่า “พระมหาธีรราชเจ้า” อันหมายถึงมหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ เพื่อเป็นการยกย่องและเทิดพระเกียรติคุณแด่พระองค์
ทั้งนี้ในวาระครบรอบ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2524 องค์การ ศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงได้ยกย่องพระองค์ท่านให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้าน วัฒนธรรมระดับโลก พร้อมกับได้มีพระราชพิธีเปิดอาคารหอวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่ง สร้างขึ้นในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพื่อเก็บรวบรวมพระราชนิพนธ์เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านไว้ให้ประชาชนได้ ค้นคว้าศึกษา อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่จัดแสดงละครพระราชนิพนธ์
คุณูปการ ในหลาย ๆ ด้านที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อประเทศไทย ทำให้เหล่าข้าราชการ ตลอดจนพสกนิกรทั้งหลายสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นบริเวณหน้า สวนลุมพินี โดยเป็นพระบรมรูปยืนขนาดใหญ่ในฉลองพระองค์จอมทัพบก มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ และได้ทำพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ก่อนที่จะมีการกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันถวายบังคมพระบรมรูปเป็นประจำทุกปี
กิจกรรมในวันวชิราวุธ
ทุกปี เหล่าผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ลูกเสือ และเนตรนารี จะจัดพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดี เพื่อน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้น
ดัง จะเห็นว่า พระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพัฒนาไว้ ล้วนแต่เป็นรากฐานที่นำไปสู่ความเจริญของประเทศไทย เราคนไทยจึงควรรำลึกถึงวันวชิราวุธซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ เพื่อเทิดพระเกียรติและตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณสืบไป
ภาพจาก wjd.ac.th, maechai.ac.th
เข้าชม : 778
|