วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2560 (2017) ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 8 “วันสุนทรภู่”
วันนี้ในอดีตเมื่อ 231 ปีที่แล้ว ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน 2329 วันเกิดสุนทรภู่ วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น “วันสุนทรภู่” ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากสถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป
พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ เป็นอาลักษณ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงเชิงกวี ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่ จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ พระอภัยมณี เป็นต้น
โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด
งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง
ปี 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม
มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง
หลังจากองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้สุนทรภู่เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวรรณกรรมระดับโลกเมื่อปี 2529 ต่อมาในปี 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น และกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น วันสุนทรภู่ นับแต่นั้นมาทุกๆ ปี
เมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงการประกวดแต่งกลอน ประกวดคำขวัญ และการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสุนทรภู่ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ในโอกาส "วันสุนทรภู่" วันที่ 26 มิถุนายน 2559 อันเป็นวันครบรอบ 230 ปีเกิดของท่านสุนทรภู่ กวีเอกไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รวบรวมเรื่องน่ารู้สั้นๆ 26 ข้อ เกี่ยวกับชีวประวัติและผลงานของท่านสุนทรภู่ ไว้ดังนี้
1. เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2329 (ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8) มีมะเมีย ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว 4 ปี รับราชการในกรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 2,
2. มารดาไม่ปรากฏชื่อ บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ชื่อว่า "พลับ" มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนศรีสังหาร 3. ภรรยาคนแรกชื่อ "จัน" มีลูกชายชื่อ "พัด" ภรรยาคนที่สองชื่อ "นิ่ม" มีลูกชายชื่อ "ตาบ" และกล่าวกันว่ามีภรรยาอีกคนชื่อ "ม่วง" มีลูกชื่อ "นิล" (บางแห่งว่าชื่อน้อย)
4. ออกบวชในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากเกรงพระราชอาญาที่เคยทรงทำให้ขัดเคืองพระราชหฤทัยตั้งแต่รัชกาลก่อน (แต่รัชกาลที่ 3 ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับสุนทรภู่เลย อีกทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์ท่านก็ทรงอุปการะเลี้ยงดูสุนทรภู่อีกด้วย)
5. เป็นผู้แต่งเรื่องนิราศสุพรรณ นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร
6. นิราศเมืองสุพรรณ เป็นนิราศที่แต่งเป็นคำโคลงเรื่องเดียว เพื่อลบคำสบประมาทที่ว่าแต่งโคลงไม่เป็น เป็นการพรรณนาการเดินทางไปหาแร่และยาอายุวัฒนะที่สุพรรณบุรี
7. นิราศภูเขาทอง เป็นการบรรยายการเดินทางไปพระนครศรีอยุธยาเพื่อไปนมัสการภูเขาทองและเพื่อสะเดาะเคราะห์
8. นิราศเมืองแกลง เป็นนิราศที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ แต่งเมื่อคราวไปบ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง เพื่อเยี่ยมบิดาที่บวชจำพรรษาที่นั่น
9. นิราศพระบาท แต่งเมื่อตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง รัชกาลที่ 1 ไปนมัสการพระพุทธบาททางเรือ กล่าวกันว่า วรรณกรรมเรื่องนี้มีคุณค่าต่อการศึกษาภูมิศาสตร์ในอดีต ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีไปไหว้พระพุทธบาทในสมัยโบราณด้วย
10. นิราศพระประธม เป็นกลอนนิราศที่กล่าวถึงการเดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ส่วนนิราศเมืองเพชรเป็นการเดินทางไปเพชรบุรี ในเรื่องกล่าวว่าท่านรับอาสาไปหาสิ่งของมาถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่บอกว่าคือสิ่งใด
11. แต่งเรื่องสวัสดิรักษา และเพลงยาวถวายโอวาท โดยเรื่อง "สวัสดิรักษาคำกลอน" แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ ราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ส่วน "เพลงยาวถวายโอวาท" แต่งถวายเจ้าฟ้ากลาง (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์) และเจ้าฟ้าปิ๋ว
12. เป็นผู้เริ่มแต่งกลอนสุภาพขึ้น ซึ่งเรียกอีกอย่างได้ว่ากลอนเพลงยาว เพลงยาวแบ่งเป็น 5 ประเภทคือ เพลงยาวสังวาส เพลงยาวนิราศ เพลงยาวสุภาษิต เพลงยาวพงศาวดาร และเพลงยาวเสภา
13. เพลงยาวสังวาส คือเพลงยาวที่แต่งถึงคนที่อยู่ร่วมกัน เช่น เพลงแต่งเกี้ยวกัน ส่วนเพลงยาวนิราศ คือเพลงยาวที่แต่งเมื่อจากบ้าน จากคนรักไป พรรณนาถึงความรักความอาลัยไปตามทางที่ผ่าน เพลงยาวสุภาษิต คือเพลงยาวที่แต่งเป็นคำสุภาษิตสอนใจคน
เพลงยาวพงศาวดาร คือเพลงยาวที่แต่งเรื่องพงศาวดาร เพลงยาวเสภา มาจากคำว่าเสพาที แปลว่า เพลงเสแสร้งแกล้งว่าเล่น เช่น เพลงยาวเสภาขุนช้างขุนแผน
14. แต่งนิทานเรื่อง โคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา และสิงหไกรภพ 15. เป็นผู้ริเริ่มเล่น "สัมผัสใน" ในกระบวนกลอน 16. เรื่องพระอภัยมณี เป็นวรรณกรรมที่มีความยาวถึง 64 ตอน หรือ 94 เล่มสมุดไทย ซึ่งมีถึง 12,706 บท
ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก ถือเป็นเรื่องจินตนิยายที่สุนทรภู่แต่งเอง โดยมิได้ลอกเค้ามาจากชาดกหรือนิยายพื้นเมืองอย่างวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆ
17. พระอภัยมณีมีเมีย 5 คน คือ ผีเสื้อสมุทร นางเงือกสุวรรณมัจฉา นางสุวรรณมาลี นางละเวงวัลลา และนางวาลี มีลูกจากเมียทั้งหมด 5 คน ได้แก่ สินสมุทร สุดสาคร สร้อยสุวรรณ-จันทร์สุดา (ฝาแฝด) และมังคลา
18. สินสมุทร เป็นลูกพระอภัยมณีกับผีเสื้อสมุทร สุดสาครเป็นลูกพระอภัยมณีกับนางเงือกสุวรรณมัจฉา สร้อยสุวรรณ-จันทร์สุดา เป็นธิดาแฝดของพระอภัยมณีกับสุวรรณมาลี และมังคลาเป็นลูกชายพระอภัยมณีกับนางละเวงวัลลา
19. "แล้วสอนว่า อย่าไว้ ใจมนุษย์, มันแสนสุด ลึกล้ำ เหลือกำหนด, ถึงเถาวัลย์ พันเกี่ยว ที่เลี้ยวลด, ยังไม่คด เหมือนหนึ่งใน น้ำใจคน" และ "รู้อะไร ไม่สู้ รู้วิชา, รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี"
เป็นคำของพระโยคีเกาะแก้วพิสดารสอนสุดสาคร ในเรื่องพระอภัยมณี ตอนสุดสาครถูกชีเปลือยหลอกเอาของวิเศษไป แล้วผลักสุดสาครตกเหว
20. หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่เริ่มพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2413 โดยโรงพิมพ์ของหมอสมิธ ที่บางคอแหลม พิมพ์เรื่องพระอภัยมณีเป็นเรื่องแรก ขายคราวละเล่มสมุดไทย ราคาเล่มละสลึงหรือ 25 สตางค์
21. "ถึงบางพูด พูดดี เป็นศรีศักดิ์, มีคนรัก รสถ้อย อร่อยจิต, แม้นพูดชั่ว ตัวตาย ทำลายมิตร, จะชอบผิด ในมนุษย์ เพราะพูดจา" เป็นคำกลอนในนิราศภูเขาทอง
และ "การนินทา กาเล เหมือนเทน้ำ, ไม่ชอกช้ำ,เหมือนเอามีด,มากรีดหิน" มาจากเรื่องพระอภัยมณี เป็นสุภาษิตที่สอนให้รู้จักการใช้คำพูด 22. "ปรารถนา สารพัด ในปถพี, เอาไมตรี แลกได้ ดังใจจง" เป็นสุภาษิตจากเพลงยาวถวายโอวาท
23. สุนทรภู่ถึงแก่กรรมสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปี 2398 รวมสิริอายุได้ 70 ปี โดยรับราชการอยู่กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บรรดาศักดิ์เป็นที่ "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายบวรราชวัง 24. มีผู้บอกไว้ว่า ผู้สืบสกุลของสุนทรภู่ต่อมาใช้นามสกุลว่า "ภู่เรือหงษ์"
25. องค์กรยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติสุนทรภู่ให้เป็น "บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก" ในวาระครบ 200 ปี เป็นสามัญชนคนแรกของไทยที่ได้รับเกียรตินี้
เข้าชม : 680
|