[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

อังคาร ที่ 30 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2560


 
 
“วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”
 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการศาสนา พระราชดำริที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การพัฒนาการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยทรงพระกรุณาให้มีการเตรียมร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานแก่ชาวไทยทั้งปวง
 
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในปลายปี 2544 สถาบันพระปกเกล้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับพระองค์ว่า 
 
สมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ คือ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”
 
ราชกิจจานุเบกษา 11 มิถุนายน 2545 “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทนสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่ประจักษ์ และเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยนานัปการ 
 
คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมใ 2545 เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 30 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวัน “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” อันเป็นวันรัฐพิธีโดยมิต้องถือเป็นวันหยุดราชการ ประกาศ ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2545 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
 
ในขณะที่พระองค์ขึ้นครองราชสมบัตินั้น ฐานะทางการคลังของสยามและสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างมาก พระองค์ได้ตัดลดงบประมาณในส่วนต่าง ๆ เช่น งบประมาณส่วนพระมหากษัตริย์ งบประมาณด้านการทหาร 
 
รวมถึง การการยุบหน่วยราชการและปลดข้าราชการออกเป็นจำนวนมากเพื่อลดรายจ่ายของประเทศ ทำให้เกิดความไม่พอใจอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสยามในเวลาต่อมา
 
พระราชกรณียกิจประการหนึ่งที่ คือ พระองค์มีพระราชปรารภจะพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองให้แก่สยาม โดยพระองค์ได้มอบหมายให้นายเรย์มอนด์ บาร์ทเล็ตต์ สตีเฟนส์ ที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศชาวอเมริกัน และพระยาศรีวิสารวาจา ร่วมกันทำบันทึกความเห็นในเรื่องดังกล่าว แต่ถูกทักท้วงจากพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จึงได้ระงับไปก่อน
 
ภายหลังงานเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างนั้นเองคณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และได้เข้ายึดสถานที่สำคัญของทางราชการได้
 
รวมทั้งได้เชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการพระนคร พร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นตัวประกัน
 
เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว พระองค์ตรัสเรียกพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีที่อยู่ที่หัวหินให้เข้าประชุมกันที่วังไกลกังวล เพื่อทรงหารือแนวทางต่างๆ ที่จะรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 
 
ในที่ประชุมนั้นแสดงความเห็นออกเป็นสองฝ่าย ทั้งสนับสนุนให้ต่อสู้กับคณะราษฎร และฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรสู้ หลังจากนั้น พระองค์ตรัสว่า "เมื่อได้ฟังความเห็นของเจ้านายและเสนาบดีทั้งสองฝ่ายแล้ว ทรงเห็นว่าถ้าจะสู้ก็คงสู้ได้ แต่จะเสียเลือดเนื้อข้าแผ่นดินซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน
 
ท้ายที่สุด พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะอยู่ในราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังที่พระองค์ทรงสนับสนุนที่จะให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด 
 
พระองค์เสด็จกลับพระนครและได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475
 
พระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัตินั้น ปรากฏข้อความที่ใช้อ้างอิงกันเสมอในเวลาต่อมาว่า
 
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร... ...
 
บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า
 
บัดนี้ เปนอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เปนต้นไป"
 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ลำดับที่ 7 แห่งราชอาณาจักรสยาม พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เวลา 12.25 นาฬิกา หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 
 
ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ 2468 และทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่2 มีนาคม พ.ศ. 2477 รวมดำรงสิริราชสมบัติ 9 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 รวมพระชนมพรรษา 47 พรรษา
 
พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี
 
 


เข้าชม : 430


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      รับสมัครนักศึกษา สกร.อำเภอสะบ้าย้อย 31 / มี.ค. / 2567
      ประกาศรับสมัครนักศึกษาสกร. 31 / ส.ค. / 2566
      กำหนดการสอบปลายภาค 7 / ก.ย. / 2565
      ขอเเสดงความยินดีกับนักศึกษา กศน.อำเภอสะบ้าย้อย 6 / มิ.ย. / 2565
      รับสมัครนักศึกษา กศน 21 / เม.ย. / 2565


 
ศกร.ระดับตำบลจะแหน
บ้านตราย หมู่ที่ 2  ตำบลจะแหน  อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05