[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
ฉิ้น อรรถโฆษิต

พฤหัสบดี ที่ 1 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2560


 “ฉิ้น อรรถโฆษิต”หนังตะลุงที่ประกาศความดี
ศิลปินแห่งชาติคนที่ 2 สาขาหนังตะลุง ปี’32
 
ข่าวการถึงแก่กรรมของ”หนังฉิ้น อรมุต” ได้สร้างความอาลัยให้กับวงการวงการศิลปินหนังตะลุงเป็นอย่างมาก ลูกศิษย์ที่เป็นนายหนัง คนในวงการศิลปิน ได้แสดงความอาลัยในการจากไปของท่านอย่างสุดซึ้ง ท่านคือปราชญ์แห่งวงการหนังตะลุง ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ แห่งวงการหนังตะลุงคนที่ 2 ต่อจากหนังกั้น ทองหล่อ 
 
หนังฉิ้น  อรมุต (ธรรมโฆษณ์) เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2474 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 6 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแม ที่บ้านธรรมโฆษณ์ หมู่ที่ 3 ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปี 2532 (ถึงแก่กรรม 29 พฤษภาคม 2560) รวมอายุ 86 ปี)
 
เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายยก และนางแช่ม อรมุต มีพี่น้องรวม  คน สมรสกับนางเหี้ยง คงสุวรรณ เมื่อปี 2497 มีบุตรและธิดารวม 8 คน  ปัจจุบัน  อาศัยอยู่ที่หมู่ที่ 3 บ้านธรรมโฆษณ์ ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา
 
หนังฉิ้น  ธรรมโฆษณ์  จบการศึกษาชั้นประถมปีที่  4  เมื่อปี 2486 จากโรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ สอบได้นักธรรมตรี เมื่อปี 2496  อุปสมบท 1 พรรษา ณ วัดธรรมโฆษณ์ โดยมีพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตโต) เป็นพระอุปัฌาจารย์
 
หนังฉิ้น อรมุต รักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ชอบอ่านหนังสือธรรมะและวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของไทยเป็นอย่างยิ่ง การอ่านทำให้เขามีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้งกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน
 
นอกจากหนังสือแล้วสิ่งที่หนังฉิ้น อรมุต รักนักหนาก็คือหนังตะลุงนั่นเอง เขาเคยทำรูปหนังจากกระดาษมาเล่นให้เพื่อนดู แต่บิดาไม่พอใจ ห้ามไม่ให้เล่น และเผารูปหนังเหล่านั้นทิ้งทั้งหมด
 
แต่ด้วยใจรัก หนังฉิ้น อรมุต ก็ยังทำรูปหนังชุดใหม่ขึ้นมา แล้วเอาไปแอบเล่นที่กุฏิพระในวัดธรรมโฆษณ์ใกล้บ้าน จนชาวบ้านไปเห็นและพากันออกปากชมว่าหนังฉิ้น อรมุต มีความสามารถและในอนาคตคงจะได้เป็นนายหนังตะลุงเป็นแน่
 
เมื่อบิดาทราบว่าลูกชายแอบไปเล่นหนังตะลุงอีก และเห็นว่าคงห้ามไม่ได้ ก็หันมาสนับสนุนและเป็นคนสอนการแต่งกลอนให้ด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นผู้มีความสามารถในด้านเชิงกลอนอยู่แล้ว หนังฉิ้น อรมุต เรียนการแต่งกลอนจากบิดาสืบต่อมาจนบิดาเสียชีวิต
 
หนังฉิ้น อรมุต พยายามหาความรู้ด้านการแสดงหนังตะลุงเพิ่มเติม โดยติดตามไปดูหนังตะลุงคณะต่างๆ ทั้งนั่งดูอย่างคนดูทั่วไปที่หน้าโรง และขึ้นไปดูการแสดงของนายหนังที่หลังโรงด้วย เขาจดจำแบบอย่างที่ดีมาฝึกฝนด้วยตัวเองที่บ้าน จนฝีมือพัฒนาขึ้นตามลำดับ
 
นายหนังตะลุงที่หนังฉิ้นได้ยึดถือเป็นแบบอย่างด้วยศรัทธาในความสามารถเป็นพิเศษ มี 2 ท่านคือ หนังขับ บ้านดีหลวง นายหนังอาวุโสผู้มีความสามารถสูงจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนลอยฟ้า โพยมหน
 
ซึ่งหนังฉิ้น อรมุต ได้ไปขอให้เป็นนายหนังขึ้นครู (ฝากตัวเป็นศิษย์และอยู่เรียนวิชาการแสดงด้วย) เมื่ออายุได้ประมาณ 17 - 18 ปี อีกท่านคือ หนังกั้น ทองหล่อ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาหนังตะลุง คนแรก ปี  2529) ซึ่งฉิ้น อรมุต ก็ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เช่นกัน (ตอนอายุ 47 ปี)
 
เมื่อเริ่มต้นอาชีพนายหนังตะลุง ฉิ้น อรมุต หรือ หนังฉิ้น อรรถโฆษิต ได้รับการสนับสนุนจากพระภิกษุ 2 รูปคือ พระพุ่มและพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตโต) ซึ่งได้ช่วยจัดหาเครื่องดนตรีประกอบให้อย่างครบชุด
 
ในระยะแรกๆ หนังฉิ้นแสดงเรื่องที่จดจำลอกเลียนมาจากหนังตะลุงคณะอื่นๆ ที่เคยดูมา ไม่นานก็สามารถเข้าใจวิธีผูกเรื่องได้ทะลุปรุโปร่ง จึงลองแต่งเรื่องขึ้นมาเองและทำได้อย่างยอดเยี่ยม
 
จากนั้นมาหนังฉิ้นก็เขียนบทหนังตะลุงเอง จนมีผลงานที่นำออกแสดงซึ่งแต่งขึ้นเองจำนวนมากมาย ในระยะหลัง หนังฉิ้นฝึกฝนการแกะรูปหนังเองด้วย เรียกว่าเป็นนายหนังที่มีความสามารถด้านหนังตะลุงอย่างรอบด้านคนหนึ่งเลยทีเดียว
 
หนังฉิ้นยึดถือแนวการเขียนบทหนังตะลุงตามแบบอย่างโบราณ คือเน้นการเปิดเรื่องและดำเนินเรื่อง (บรรยายเรื่อง) ด้วยการ "ว่าบท" (ร้องเป็นกลอนตะลุง) ซึ่งแตกต่างจากนักเขียนบทรุ่นใหม่ที่นิยมดำเนินเรื่องด้วยการพูดบรรยาย
 
นอกจากนี้ หนังฉิ้นยังฝึกร้องกลอนสดจนเชี่ยวชาญ จนสามารถว่าบทพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์หน้าโรง หรือสถานการณ์เฉพาะของสถานที่ที่ไปแสดงได้อย่างสดๆ นับว่ามีไหวพริบปฏิภาณอันเป็นเลิศ
 
หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้รับการต้อนรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ ด้วยความสามารถในการแสดงที่จัดเจนรอบด้าน ตั้งแต่การวางโครงเรื่องที่สนุกน่าติดตาม บทกลอนที่ลื่นไหลงดงาม บทเจรจาที่น่าประทับใจ
 
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอเรื่องราวที่ส่งเสริมศีลธรรมและคุณธรรมอันดีงาม ซึ่งสอดแทรกไว้อย่างแนบเนียน แม้กระทั่งบทตลก ซึ่งเป็นบทสำคัญมากอย่างหนึ่งของหนังตะลุง หนังฉิ้นก็สามารถสร้างความขบขันและสนุกสนานให้กับผู้ชมได้โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำสกปรกหรือหยาบคายเลย
 
หนังฉิ้น ตำหนิหนังที่แสดงเอาแต่ตลกโปกฮา ในทัศนะของหนังฉิ้นถือว่า ถ้าตลกกจะต้องลึกและคมคาย แต่เหนือกว่าตลกจะต้องมีสาระ และต้องว่ากลอนได้เหมือน”จับวาง” คือกลอนต้องดีด้วยอรรถรส
 
มีท่วงทำนองจังหวะเหมาะสมตามบทบาทของเรื่องและต้องว่าได้อย่างฉับไว การแสดงหนังต้องทำให้คนดูเขาฉลาดขึ้นทุกถ้อยค่ำ ทั้งบทกลอนและคำพูดจึงต้องกลั่นกรองดีแล้ว จากทัศนะดังกล่าวทำให้ผลงานของหนังฉิ้นได้รับความสนใจเฉพาะผู้สูงอายุและปัญญาชน 
 
แต่อย่างไรก็ตามหนังฉิ้นก็เป็นหนังคณะหนึ่งที่หนังทั้งหลายยกย่องว่ามีฝีมือชั้นครูปราชญ์แห่งหนังตะลุงคนหนึ่ง โดยเฉพาะด้านบทกลอนจะหาตัวจับยาก ดังตัวอย่างบทสมห้อง (สังวาส) ที่ว่า
 
“ประโลมลูบ จูบจอม ถนอมรัก นางพลิกผลัก พอเป็นนัย นิสัยหญิง
จะเมียงมอง ลองอาย กายประวิง มือไม่นิ่ง ปัดปิด กระบิดกระบวน
 
พระสวมสอด กอดตระกอง ประคองเคล้า ที่ตุ่มเต้า ใต้เสื้อ เนื้อสงวน
เขาพลิกผลัก หักห้าม ยังตามกวน มาลามลวน ลูบคลำ น้องทำไม
 
เฝ้ากอดกุม หยุมหยิม ไม่อิ่มหนำ จะให้ช้ำ เสียด้วยมือ หรือไฉน
ตะวันเอย ไยไม่รุ่ง ฉันยุ่งใจ อะไรห้าม ไม่ฟัง เข้ารังแก
 
พี่รักใคร่ ดอกน้อง จึงต้องเต้า ขอคลึงเคล้า คลำเล่น ไม่เป็นแผล 
ไม่ละหัน ผันผ่อน เห็นอ่อนแอ พี่เฝ้าแต่ สัปดน อยู่บนเตียง
 
วิสัยหญิง ถึงงอน ไม่อ่อนชด เมื่อถึงบท ก็ต้องหนัก ไม่พักเกี่ยง
พระกอดกุม อุ้มนาง วางบนเตียง เหมือนนกเอี้ยง ขึ้นนั่ง บนหลังควาย
 
อรุณเริก เบิกราง ขึ้นกลางหาว เห็นขาวขาว เรืองเรือง เป็นเครื่องหมาย 
ชมชลา รำจินดา ท่าเขาควาย รามสูรร้าย แกว่งขวาน บันดาลดัง
 
แสงแก้วแวบ แลบล่อ พอสว่าง อสูรขว้าง ขวานหยาย ลงชายฝั่ง
เส้นสาหร่าย รายขึง อยู่รึงรัง คงคาคลั่ง คลื่นคะนอง ท้องสินธู
 
พิรุณโรย โปรายปราย เป็นสายสาด สุนีบาด เดือดดิ้น ที่ริมหู
ปลาวาฬผุด พ่นฟอง ขึ้นฟ่องฟู ผุดขึ้นสู่ สายฝน ปนน้ำเค็ม...”
 
เมื่อปี 2517 หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้เล่นหนังตะลุงถวายให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตร ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เรื่องที่แสดงคือ”สวรรค์ประกาศิต” และเป็นที่พอพระราชหฤทัย
 
จึงได้พระราชทานนามคณะหนังตะลุงของหนังฉิ้นว่า "หนังอรรถโฆษิต" อันหมายถึง”คณะหนังตะลุงที่ประกาศความดี” ยังความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจแก่หนังฉิ้นเป็นล้นพ้น
 
เมื่อประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดในวิชาชีพแล้ว หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ก็ได้ใช้ความสามารถและศักยภาพของความเป็นนายหนังตะลุงยอดนิยม ช่วยเหลืองานทางสังคมต่างๆ ฐานะสื่อที่ช่วยเผยแพร่ข่าวสารและเสริมสร้างศีลธรรมอันดีงามในสังคม
 
ส่วนในด้านการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหนังตะลุงนั้น หนังฉิ้นได้ทำการบันทึกการแสดงเอาไว้ทั้งที่เป็นภาพถ่าย เทปบันทึกเสียง และเทปบันทึกภาพ ตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด
 
แล้วนำไปมอบให้เป็นสมบัติของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สถาบันทักษิณคดีศึกษา เพื่อให้เป็นข้อมูลและหลักฐานสำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังได้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่สนใจและเป็นวิทยากรรับเชิญในหลายโอกาส
 
นอกจากจะมีความสามารถทางการเล่นหนังตะลุงแล้ว หนังฉิ้นยังสามารถเขียนบทหนังตะลุงได้ดีเป็นพิเศษ ได้เขียนบทหนังตะลุงไว้ไม่น้อยกว่า 100 เรื่อง เช่น 1.กรรมลิขิต 2.ก่อนตะวันจะลับฟ้า 3.กามเทพผิดคิว (ความรัก ความลวง) 4.กุหลาบดำ 5.กำสรวลสวาท
 
ในปี 2532 หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้รับการประกาศให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) และ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ในปีเดียวกัน โดยมีคำประกาศเกียรติคุณว่า
 
“มีความสนใจหนังตะลุงอย่างจริงจังมาตั้งแต่วัยเด็กได้เรียนรู้ทั้งกระบวนการรูปแบบ และศิลปะการแสดงหนังตะลุงอย่างลึกซึ้งและแตกฉาน ท่านได้ยึดเป็นอาชีพตลอดมา รวมแล้วแสดงหนังมาไม่น้อยกว่า 5,200 ครั้ง ทั้งในต่างประเทศและต่างประเทศ มีความสามารถเป็นเลิศในการเขียนบทหนังตะลุงเป็นที่เลื่องลือและยอมรับโดยทั่วไป
 
นอกจากนี้ท่านยังประดิษฐ์ตัวหนังตะลุงที่ใช้แสดงเองเกือบทั้งหมด นอกจากจะเป็นผู้มีไหวพริบ ปฏิภาณยอดเยี่ยม และมีทักษะในการใช้ภาษาให้เกิดสุนทรียะในการแสดงแล้ว การแสดงทุกครั้งยังฝากข้อคิดที่เป็นคติสอนใจและเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้แก่ผู้ชมอีกด้วย จนเป็นที่ยอมรับและเคารพนับถือแก่บุคคลที่อยู่ในวงการหนังตะลุงและบุคคลทั่วไปเป็นอย่างสูง เคยแสดงหนังตะลุงหน้าพระที่นั่งถึง 2 ครั้ง จนได้รับพระราชทานนามว่า "หนังอรรถโฆษิต” ในปี 2518”
 
นับเป็นนายหนังตะลุงคนที่ 2 ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ท่านแรกคือหนังกั้น ทองหล่อ ปี 2529 ครูผู้ล่วงลับไปแล้วของหนังฉิ้นนั่นเอง
 
หนังฉิ้นเคยกล่าวเป็นวาทะเด็ดไว้ว่า "หนังตะลุงตั้งแต่อดีตกาลมา นอกจากจะให้ความบันเทิงกับท่านผู้ชมแล้ว ก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้อบรมจริยธรรมให้กับชาวบ้าน โดยการสอดแทรกธรรมะเข้าไปในบทบาทของการแสดง หนังตะลุงยังทำหน้าที่เหมือนอย่างกับสื่อมวลชน ที่เราจะให้ทั้งข่าวสาร ทั้งความรู้ ความคิด มีทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการสังคม ตลอดจนขนบประเพณีต่างๆ..."
 
ปี  2544 นายฉิ้ว ทิพย์วารี ปราชญ์ชาวบ้านด้านเพลงบอกและผู้แต่งบทหนังตะลุงที่เด่นยิ่งของภาคใต้ บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม (ด้านวรรณศิลป์) จ.สงขลา กล่าวยกย่องบทหนังตะลุงของหนังฉิ้นว่า "บทหนัง (ตะลุง) ของหนังฉิ้น อรมุต เป็นบทหนัง (ตะลุง) ที่ดี กลอนดี เรื่องดี มีเหตุผล สอนดีไม่สูงเกินไป ตลกดี ไม่ลามก ไม่นอกเรื่อง”
 
ปี 2544 หนังนครินทร์ ชาทอง และเป็นนายหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับการยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการ วัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาหนังตะลุง ปี 2550 กล่าว ยกย่องบทหนังตะลุงของหนังฉิ้น อรมุต ว่า "เรื่องของหนังฉิ้น อรมุต” ชวนติดตาม มีเอกภาพ มีสาระ มีคติธรรม ตลกได้เหมาะสมมีศิลปะในการตลกไม่ลามก”
 
จรูญ หยูทอง อาลัยหา "นักเล่านิทานในยามวิกาล" ฉิ้น ธรรมโฆษณ์ (หนังอรรถโฆษิต) ประพันธ์ไว้ว่า
 
จบนิทาน สอนใจ ในยามค่ำ จบลำนำ คำกลอน สุนทรศรี
จบเรื่องเล่า เข้าขั้น วรรณคดี จบจินต กวี มีตำนาน
 
คารวะ ผู้ดับสิ้น "ฉิ้น ธรรมโฆษณ์" ผู้สร้างคุณ ประโยชน์ อันไพศาล
ผู้สร้างศิล ปะศาสตร์ ด้วยวิญญาณ จะจดจาร ความทรงจำ ประดับใจ
 
คาบสมุทร สทิงพระ จะเงียบเหงา ทะเลสาบ โศกเศร้า ด้วยหวั่นไหว
แผ่นดินบก สะทกสะท้าน การจากไป สะอึกสะอื้น ขื่นไข้ อาลัยลา
 
หลับสู่สรวง สวรรค์ ชั้นดุสิต หลับให้ สนิท หมดกังขา
คุณความดี ที่สร้างทำ จะตรึงตรา ชื่อเสียงจะ ก้องหล้า ตราบนิรันดร์
 
"พี่เจ้า"จับ หัวใจ ใครทั้งผอง จินตนิยาย ยังคงครอง ความเฉิดฉัน
"หนังฉิ้น" มิสิ้นมนต์ จนกัปกัลป์ คือของขวัญ ประดับฟ้า-สาธุชน.
 
''รูญ ระโนด คารวาลัยหนังอรรถโฆษิต (ฉิ้น ธรรมโฆษณ์) ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐
 
ส่วนหนังเสริมศิลป์ ศ. กั้นทองหล่อ ได้แสดงความอาลัยอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของ หนังอาจารย์ฉิ้น อรมุต (หนังอรรถโฆษิต) ศิลปินแห่งชาติปี 2532 ขอดวงวิญญาณของท่าน สู่สุคติในสัมปรายภพด้วยเถิด ด้วยใจคารวะ จากบทประพันธ์ที่ว่า
 
ที่ 29 เดือนพฤษภา ปี 2560 แสนอาดูร ร่ำให้ อาลัยหา 
ได้รู้ข่าว เล่าขาน การจากลา อนาจจิต อนิจจา มาจากไป 
 
คืออาจารย์ฉิ้น ศิลปิน ผู้สามารถ ศิลปิน แห่งชาติ ปราชย์ผู้ใหญ่ 
มาสิ้นแล้ว ร่มโพธิ์แก้ว นิคัลไลย ต่อนี้ไป ใครหนา มาตักเตือน
 
ท่านเหมือนพ่อ ขอสมัคร รักเสมอ เฝ้าพร่ำเพ้อ อาลัย ไม่ใครเหมือน 
ท่านเฝ้าสอน เพื่อให้ศิษย์ คิดตักเตือน เปรียบเสมือน ตารำ คือตำรา
 
เอาสำนวน ส่วนสำเนา เอาตามแบบ เพื่อเอนแอบ อิงอ้าง สร้างเนื้อหา 
วางลวดลาย การร้องรำ ทำลีลา น้อมนำมา เขียนกลอน ประกอบการ
 
ฝังใจลึก ฝึกจนรัก นักกลอนสด ต้องจ้องจด ตั้งจิตรจำ คำกล่าวขาน 
อ้างเอาแบบ แอบเอาบท กำหนดการณ์ เวลาประมาณ สิบหกนาฬิกา เวลาตรง
 
ขอเรียนเชิญ ทุกท่าน ที่เคารพ ขอเชิญร่วม อาบน้ำศพ สมประสงค์ 
ที่บ้านศิลปิน แห่งชาติ ประกาศตรง ขอเรียนเชิญ ท่านทั้งวง เจาะจงใจ
 
เพื่อคารวะ ศพของท่าน ครั้งสุดท้าย ประกาศให้ รู้กัน สนั่นไหว 
ขอดวงวิญญาณ สู่สรวงสวรรค์ นิคัลไลย สถิตใน สรวงสวรรค์ นิรันดร์เทอญ. 
 
"อาลัยอย่างสุดซึ้ง ด้วยใจคารวะ" จากหนังเสริมศิลป์ ศ. กั้นทองหล่อ
 
หนังฉิ้น อรรถโฆษิต เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยหนังฉิ้นมีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะอนุรักษ์การแสดงหนังตะลุงที่เป็นแบบฉบับของหนังตะลุงแท้ๆ
 
“ถ้าหนังตะลุงเห็นแก่เงิน มุ่งแสดงเพียงแต่จะสนองความการของคนดูที่ไม่รู้ว่า หนังตะลุงที่แท้และที่ดีคืออย่างไร ก็เท่ากับเป็นการทำลายศิลปะประเภทนี้ไปโดยปริยาย โดยส่วนตัวแม้จะได้รับความนิยมจากคนดูเพียงบางกลุ่ม ตนเองก็ยังภูมิใจเพราะเชื่อว่าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือการถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงอย่างแท้จริง”
 
หนังฉิ้น กล่าวว่า คนเล่นหนังแต่แรกเก่งกว่านเดี๋ยวนี้ ถึงแม้ว่าหนังเล่นไม่เหมือนกันก็จริง แต่ว่าความเก่งกล้าสามารถของเขามากกว่า เหตุผลที่ได้พูดเช่นนี้เพราะหนังแต่แรกเขาใช้ปัญญาค้นคว้าจากใจจริงๆ ไม่มีหนังสือให้เรียน ไม่มีแบบฉบับให้เราได้ลอกเลียนมาทำ จึงต้องใช้สติปัญญาของตัวเอง
 
“ปัจจุบัน มีหนังมากแม้แต่เด็กก็เล่นได้ เพราะมีแบบมีต้นฉบับ ผมเองได้เขียนบทหนังไว้ค่อนข้างมาก ใครจะมาเอาผมเองก็ให้ ไปฝีกฝนเอาเอง ซึ่งแต่ก่อนนั้นไม่ทราบว่าจะไปเอาที่ใคร แต่หากว่าใครมีความรู้ในเรื่องกาพกลอนเขียนไว้สักหน้าสองหน้ากระดาษ จะขออย่างไรก็ไม่ให้ คนแต่แรกจึงมีความสำคัญในการใช้ความสามารถของตัวเอง”
 
“การแสดงหนังก็ต้องเล่นตามสมัยนิยม คนดูไม่เป็นนายหนังเล่นไม่เป็น นั่นแสดงว่านายหนังเก่งกว่าคนดูอยู่อีก แต่เดี๋ยวนี้คนดูจะเก่งกว่านายหนังแล้วนะ ซึ่งผมเปรียบเทียบให้เห็นแล้ว คนแต่ก่อนเก่งกว่าคนเดี๋ยวนี้เขาถึงเล่นหนังได้”
 
หนังฉิ้น คาดหวังว่า หนังตะลุงน่าจะแคบลงไปเรื่อยๆ  แต่ว่าคำว่าหนังตะลุงนี้ต้องผุดคนสำคัญขึ้นอีกสักครั้ง คนสำคัญที่สามารถเอาคำว่า”หนังตะลุง”ออกนอกพื้นที่ต่างๆ ให้ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราไปไหนไม่ได้ ความสามารถของเราคนส่วนใหญ่เขาไม่รู้ฟัง พ้นไปจากบ้านเราเขาก็ไม่รู้ฟังแล้ว
 
“เชื่อว่าในอนาคตจะเกิดคนสำคัญที่สามารถนำหนังตะลุงไปแสดงต่างถิ่นหรือแม้แต่ต่างประเทศ แต่เมื่อไหร่ละจะเกิดคนในลักษณะเช่นนี้ ก็ต้องคอยกันไปก่อน”
 
 


เข้าชม : 447


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      รับสมัครนักศึกษา สกร.อำเภอสะบ้าย้อย 31 / มี.ค. / 2567
      ประกาศรับสมัครนักศึกษาสกร. 31 / ส.ค. / 2566
      กำหนดการสอบปลายภาค 7 / ก.ย. / 2565
      ขอเเสดงความยินดีกับนักศึกษา กศน.อำเภอสะบ้าย้อย 6 / มิ.ย. / 2565
      รับสมัครนักศึกษา กศน 21 / เม.ย. / 2565


 
กศน.ตำบลจะแหน
บ้านคอลอมุดอ หมู่ที่ 1 ตำบลจะแหน  อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05