วันนี้ในอดีตเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม) อัครมเหสีใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อุทยานแห่งชาติ น้ำตกพลิ้ว จ.จันทบุรี
คำว่า"พระนางเรือล่ม" คำนี้คงเป็นที่คุ้นเคยสำหรับชาวนนทบุรีและคนทั่วไปมาแต่ช้านาน เนื่องจากเป็นเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับการเสด็จทิวงคตของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระอัครมเหสี พระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จทิวงคตด้วยอุบัติเหตุ พระประเทียบล่ม ที่ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ กำลังตั้งพระครรภ์เจ้าฟ้าได้ 5 เดือน เรื่องดังกล่าว ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงเวลานั้น เพราะเป็นการสูญเสียทั้งพระมเหสี และพระธิดาของรัชกาลที่ 5 พร้อม ๆ กัน
สมเด็จพระนางเรือล่ม มีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2403 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระขนิษฐาอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)
ครั้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงมีพระราชธิดาพระองค์แรก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ และเสด็จทิวงคตพร้อมกันกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ที่ขณะนั้นทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2423
สำหรับเหตุการณ์วันที่เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา และเจ้าฟ้าในครรภ์ ทรงตามเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปพระราชวังบางปะอิน
เมื่อเสด็จมาถึง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทุบรี เรือพระพันปีหลวง ได้แล่นเซงเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ประกอบกับนายท้ายเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เมาเหล้าขาดสติ จึงไม่สามารถควบคุมเรือได้ จึงเป็นเหตุให้เรือล่ม
ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ทรงว่ายน้ำได้ แต่เพราะความที่ทรงห่วงพระราชธิดา จึงทรงว่ายเข้าไปช่วย แต่ก็ต้องสิ้นพระชนม์ พร้อมกับพระพี่เลี้ยงอีก 1 คน ทั้งหมด 4 ศพ
ซึ่งศพจมอยู่ใต้ท้องเรือ โดยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เพราะติดอยู่ที่กฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร
ทั้งนี้ โศกนาฏกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นหน้าวัดกู้ กลางลำน้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี ชาวบ้านละแวกนั้นจึงร่วมใจตั้งศาลพระนางเรือล่มขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า
ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่กู้พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ โดยชาวบ้านได้เรียกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ว่า "พระนางเรือล่ม" มานับแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เสด็จทิวงคตแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นหลายแห่งเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ โดยแต่ละแห่งนั้น เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เคยตามเสด็จฯ และทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ
เช่น อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ในสวนสราญรมย์, อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ณ น้ำตกพริ้ว จังหวัดจันทบุรี ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2551
โดยภายในอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ณ น้ำตกพลิ้ว ได้บรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เอาไว้ด้วย โดยมีคำจารึกจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า...
"ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว"
ที่ระลึกถึงความรักแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี ซึ่งเสด็จทิวงคตแล้ว ด้วยเธอได้มาถึงที่นี่ เมื่อ จุลศักราช ๑๒๓๖ โดยความยินดีชอบใจมาก อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นโดย จุฬาลงกรณ์ บรมราช ผู้เป็นพระราชสามี
นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 ยังมีการนำพระนามของพระองค์ไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ด้วย เช่น ตึกสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี สวนสุนันทา ณ พระราชวังดุสิต รวมถึง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เข้าชม : 453
|