วันที่ 9 เมษายน 2480 กรมทหารอากาศ ได้ยกฐานะเป็น กองทัพอากาศ โดยมีนาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก กองทัพอากาศ จึงได้ถือเอาวันที่ 9 เมษายน ของทุกปีเป็น"วันกองทัพอากาศ"
กิจการบินของไทย เริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีชาวต่างประเทศได้นำเครื่องบินมาแสดงให้ชาวไทยได้ชมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2454
ทำให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพในสมัยนั้นพิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องบินไว้เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดแก่ประเทศชาติในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงกลาโหม จึงได้ตั้ง "แผนกการบิน" ขึ้นในกองทัพบก พร้อมทั้งได้คัดเลือกนายทหารบก 3 คน ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสม ไปศึกษาวิชาการ ณ ประเทศฝรั่งเศส อันได้แก่ พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร และ ร้อยโททิพย์ เกตุทัต
ทั้ง 3 ท่านนี้ ในเวลาต่อมา ได้รับพระราชทานยศ และบรรดาศักดิ์ ตามลำดับ คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และ นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต และ กองทัพอากาศได้ยกย่องให้เป็น "บุพการีของกองทัพอากาศ"
ในขณะที่นายทหารทั้ง 3 กำลังศึกษาวิชาการบินอยู่นั้น ทางราชการได้สั่งซื้อเครื่องบิน รวมทั้งมีผู้บริจาคเงินร่วมสมทบซื้อด้วยเป็นครั้งแรก จำนวน 8 เครื่อง คือเครื่องบินเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 4 เครื่อง และ เครื่องบินนิเออปอรต์ปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง กล่าวได้ว่ากำลังทางอากาศของไทย เริ่มต้นจากนักบินเพียง 3 คน และเครื่องบินอีก 8 เครื่องเท่านั้น
การบินของไทยในระยะแรก ได้ใช้สนามม้าสระปทุมหรือราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบันเป็นสนามบิน แต่ด้วยความไม่สะดวกหลายประการ ทั้ง 3 ท่าน จึงได้พิจารณาหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการบิน และได้เลือกเอา ต.ดอนเมือง เป็นที่ตั้งสนามบิน พร้อมทั้งได้ก่อสร้างอาคาร สถานที่โรงเก็บเครื่องบินอย่างถาวรขึ้น
เมื่อการโยกย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องบิน ไปไว้ยังที่ตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 27 มีนาคม 2457 กระทรวงกลาโหม จึงได้สั่งยกแผนกการบินขึ้นเป็น "กองบินทหารบก" ซึ่งถือได้ว่ากิจการการบินของไทยได้วางรากฐานอย่างมั่นคงขึ้นแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นมา กองทัพอากาศจึงถือเอา วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันที่ระลึกกองทัพอากาศ"
นับแต่นั้นมา บทบาทของกำลังทางอากาศ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และมีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับ นับตั้งแต่การเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 กับพันธมิตรในยุโรป เมื่อปี 2460
ทำให้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของชาติเป็นที่ยอมรับและยกย่องเป็นอันมาก และทางราชการได้ยกฐานะกองบินทหารบกขึ้นเป็น "กรมอากาศยานทหารบก" ในเวลาต่อมา
กำลังทางอากาศ ได้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติทางด้านต่างๆ อันเป็นรากฐาน ของกิจการหลายอย่างในปัจจุบัน อาทิ การบินส่งไปรษณีย์ทางอากาศ การส่งแพทย์ และเวชภัณฑ์ทางอากาศ เป็นต้น
ในปี 2464 กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศมิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์ อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่นๆ อีกด้วย
จึงได้แก้ไขการเรียกชื่อจากกรมอากาศยานทหารเป็น"กรมอากาศยาน" และเป็น "กรมทหารอากาศ" ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง
พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบจากสีเขียวมาเป็นสีเทา ดังเช่นปัจจุบัน วันที่ 9 เมษายน 2480 กรมทหารอากาศได้ยกฐานะเป็น"กองทัพอากาศ"
นาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรกกองทัพอากาศ จึงได้ถือเอาวันที่ 9 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันกองทัพอากาศ"
เข้าชม : 338
|