[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
วันน้ำของโลก

พฤหัสบดี ที่ 23 เดือน มีนาคม พ.ศ.2560




ความเป็นมา

จากการที่น้ำจืดของโลกขาดแคลนมากขึ้น ในปี พ.ศ.
2535 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันน้ำของโลกหรือ World Day for Water โดยเริ่มต้นในปี 2536 เป็นปีแรก และชักชวนให้ประเทศต่างรับเป็นวันสิ่งแวดล้อมของชาติ เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ช่วยกันดูแล บำรุงรักษา การพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต ตลอดจนดำเนินการตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมสหประชาชาติปี2535ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า Agenda 21
มีการจัดกิจกรรมการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องน้ำของโลกขึ้นที่ประเทศต่างๆ ดังนี้

ครั้งที่ 1: ปี 2540 ณ ประเทศโมร็อกโก
ครั้งที่ 2: ปี 2543 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ครั้งที่ 3: ปี 2546 ณ ประเทศญี่ปุ่น
ในการประชุมหนแรกนั้น ผู้เข้าประชุมได้ร่วมกำหนด หลักจริยธรรมในการใช้น้ำครั้งใหม่เพื่อต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนน้ำโลกดังนั้น การประชุมน้ำโลกในครั้งที่สองจึงเป็นการสานต่องานที่ทำค้างไว้ โดยจะมีการผลักดัน " แผนปฏิบัติการ " สำหรับน้ำในอีก 25ปีข้างหน้า เพื่อทำให้ชาวโลกมีน้ำสะอาดไว้ดื่มกิน ชำระร่างกาย และทำการเกษตรอย่างทั่วถึงในปี 2568 ผู้รับหน้าที่ทำงาน คือ " คณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยน้ำสำหรับศตวรรษที่ 21 " ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส คณะกรรมาธิการชุดนี้ตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มการลงทุนในการจัดหาน้ำทั่วโลกขึ้นเป็นปีละ 180,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย นายโคฟี อันนาน เลขาธิการสหประชาชาติได้มีสารเนื่องในวันน้ำโลก โดยย้ำว่า " น้ำสะอาดเป็นสิ่งพิเศษ ในศตวรรษใหม่นี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถผลิตน้ำได้ น้ำจึงไม่มีสิ่งใดมาแทนที่ หรือทดแทนได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเห็นคุณค่าของน้ำและรักษาทรัพยากรนี้ไว้ " เลขาธิการยูเอนยังได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกใช้น้ำอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้คนจนและคนรวยได้รับน้ำอย่างเท่าเทียมกัน ในราคาที่หาซื้อได้ และว่าสิ่งท้าทายของมนุษยชาติก็คือ การจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์น้ำ คุณภาพของน้ำ และปริมาณน้ำ ซึ่ง "สตรีเพศ" ในฐานะผู้จัดการครอบครัวจะต้องมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นทั่วโลกว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญ และมีบทบาทในการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นชาวโลกต้องยกระดับความรู้ในเรื่องการหมุนเวียนนำน้ำมาใช้ใหม่ และการเพิ่มสมรรถวิสัยต่อการจัดการทรัพยากรน้ำที่หายากนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะบรรลุผลได้ด้วยการดึงสติปัญญาของมนุษย์ออกมมาใช้ และส่งเสริมวัฒนธรรมการอนุรักษ์น้ำ ตลอดจนการ " ปฏิวัติสีน้ำเงิน "

หน่วยงานของสหประชาชาติ 2 แห่ง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องน้ำโดยตรง คือ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก้) กับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสเคป) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำทั่วโลก ซึ่งน่าสนใจและมีหลายเรื่องที่คนทั่วยังไม่รู้และนึกไม่ถึง กล่าวคือ ยูเนสโกและเอสเคประบุว่า พื้นผิวโลก2ใน3ปกคลุมด้วยน้ำแต่เป็น " น้ำเค็ม " จากทะเลและมหาสมุทรทั้งหมด ส่วน " น้ำจืด " ซึ่งจำเป็นต่อการยังชีพของมนุษย์นั้น ครอบคลุมเพียงร้อยละ 1 ของผิวโลกเท่านั้น แต่ " แหล่งน้ำจืด " ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ,ใต้และธารน้ำแข็ง หรือซึมอยู่ใต้ผิวดินลึก จนมนุษย์ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ส่วนแหล่งน้ำจืดที่ใช้ได้จริงๆมีเพียงร้อยละ 0.25 เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่หาได้จากแม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำจืดเพียงน้อยนิดนี้เองที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงชีวิตพลโลกกว่า 6,000ล้านคน ซึ่งแน่นนอนว่าย่อมไม่เพียงพอ ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำของมนุษย์กลับมีมากขึ้นทุกวัน และมีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่บันยะบันยัง ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของน้ำจืด จนตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง ยูเอนได้ยกตัวอย่างพฤติกรรมการใช้น้ำของมนุษย์ว่า ในแต่ละวันมนุษย์ต้องดื่มน้ำอย่างน้อย 2-5 ลิตร ใช้ชักโครกโถส้วม 5-15 ลิตร ใช้อาบน้ำ 50-200 ลิตรขณะที่ใช้น้ำเพื่อการชลประทานและการเกษตร ราวร้อยละ 70 ของน้ำทั้งหมด แต่ครึ่งหนึ่งต้องสูญเปล่าเพราะซึมลงไปในดินหรือไม่ก็ระเหยขึ้นสู่อากาศหมด กรุงเทพมหานครของไทย ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่เมืองที่ผลาญทรัพยากรน้ำมากที่สุดในโลก เฉลี่ยแล้วใช้น้ำราว 265 ลิตรต่อคนต่อวัน ขณะที่ชาวฮ่องกงใช้น้ำเปลืองน้อยที่สุดในโลก เพียง 112 ลิตร ต่อคนต่อวัน

การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่รับผิดชอบทำให้การไหลเวียนของแม่น้ำหยุดชะงักลง ระดับน้ำในแม่น้ำและน้ำใต้ดินลดลงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ลุ่มดินเปียกหายไป สภาพปนเปื้อนพิษจากมลพิษต่างๆทำให้คุณภาพน้ำลดลง จำนวนน้ำสะอาดก็ลดลงเช่นกัน นอกจากนี้การขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรโลกก็มีส่วนทำให้จำนวนน้ำจืดสำหรับใช้ในรายบุคคลลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่น่าเป็นห่วงคือ น้ำที่ปนเปื้อนมลพิษและขาดสุขลักษณะ เป็นสาเหตุทำให้เด็กทารก ในเอเชียและแปซิฟิกเสียชีวิตกว่าปีละ 5 แสนคน นอกจากนี้สถิติของสหประชาชาติเมื่อสิ้นปี2542 พบว่ามีประชากรโลกราว 2,400ล้านคน ไม่ได้รับความสะดวกสบายจากระบบสุขอนามัยเกี่ยวกับน้ำที่ทันสมัย หน่วยงานของสหประชาชาติได้เสนอแนะทางออกในปัญหานี้หลายข้อ อาทิ การอนุรักษ์น้ำ , การบำบัดน้ำเสีย , การปรับเปลี่ยนหมุนเวียนนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ , การจัดการเรื่องน้ำและดินให้เหมาะสม , การทำวิจัยแหล่งทรัพยากรที่มีอยู่ , ออกกฎหมายการใช้น้ำที่ทันสมัย , การจัดสรรน้ำอย่างเสมอภาค และการปลุกจิตสำนึกในหมู่ประชาชนให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของน้ำ  ยิ่งกว่านั้น การแก้ปัญหาเรื่องน้ำยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ตัวบุคคล , องค์กร , อาสาสมัคร , ภาคอุตสาหกรรม , รัฐบาลท้องถิ่น , รัฐบาลกลาง ตลอดจน องค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
และในการประชุมครั้งที่ 3 ณ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวร่วมกับประเทศอื่น ๆ อีกประมาณ 200 ประเทศ
การประชุมครั้งนี้ รัฐบาลไทยจะมีส่วนร่วมที่สำคัญในการประชุม 3 ประการได้แก่
1. การเสนอรายงานโครงการประเมินสถานการณ์น้ำของโลกในส่วนของประเทศไทยกรณี ศึกษาการพัฒนาและบริหารลุ่มน้ำเจ้าพระยา
2. การเสนอแผนปฏิบัติการทรัพยากรน้ำ ของประเทศไทย
3. การประชุมและจัดทำแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี
ในการประชุมระดับโลกทุกครั้งที่ผ่านมา สถาบันการจัดการน้ำระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการประชุมดังกล่าว อาทิเช่น World Water Council (WWC), Clobal Water Partnership (GWP) และธนาคารโลก ต่างใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอทิศทางหรือการจัดทรัพยากรน้ำและการแบ่งปันผลประโยชน์ (Water Resources Management and Benefit Sharing) โดยมีประเด็นใจกลาง 4 ประเด็น ได้แก่ หุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ เอกชน (Public Private Partnership), เขื่อนกับการพัฒนา (Dam and Development Partnership), ค่าคืนทุน (Cost Recovery), การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (Integrated Water Resources Management) ซึ่งสรุปในแต่ละประเด็นได้ดังนี้

การแปรรูปกิจการประปาหรือระบบชลประทานของรัฐ (Privatization) ภายใต้แนวทาง ที่เรียกว่า Public Private Partnership (PPP) ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกผลักดันจากการประชุมระดับนานาชาติมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น การประชุมเรื่องน้ำจืดโลกที่กรุงบอน เดือนธันวาคม 2544 หรือ การประชุมที่โจฮันเนสเบิร์ก แนวทางเช่นนี้ถูกใช้เพื่อรองรับความชอบธรรมให้บริษัทข้ามชาติด้านกิจการน้ำประปาเข้ามา ลงทุนหรือรับสัมปทานในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในหลายประเทศได้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมสูงมาก เช่น ประเทศโบลิเวีย
แนวความคิดในเรื่องการคิดค่าคืนทุนระบบชลประทานหรือระบบการลงทุนด้านการจัดหาน้ำเพื่อเป็นหลักประกันให้กับบริษัทที่มาลงทุนในแต่ละประเทศ และการส่งเสริมระบบการค้าเสรีของโลก
การส่งเสริมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบของเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และเพื่อการบรรเทาน้ำท่วม ซึ่งผลักดันโดย UNDP ได้จัดทำโครงการ Dam and Development Partnership และ World Commission on Dam (WCD) การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือ Integrated Water Resources Management (IWMI) โดยมีแนวทางให้เกิดองค์กรระดับลุ่มน้ำ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด (โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ)



เข้าชม : 352


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      รับสมัครนักศึกษา สกร.อำเภอสะบ้าย้อย 31 / มี.ค. / 2567
      ประกาศรับสมัครนักศึกษาสกร. 31 / ส.ค. / 2566
      กำหนดการสอบปลายภาค 7 / ก.ย. / 2565
      ขอเเสดงความยินดีกับนักศึกษา กศน.อำเภอสะบ้าย้อย 6 / มิ.ย. / 2565
      รับสมัครนักศึกษา กศน 21 / เม.ย. / 2565


 
ศกร.ระดับตำบลจะแหน
บ้านตราย หมู่ที่ 2  ตำบลจะแหน  อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05