วันนี้ในอดีตเมื่อ 105 ปีที่แล้ว ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2455 ประกาศให้ใช้ "พระพุทธศักราช" เป็นปีศักราชอย่างเป็นทางการแทนการใช้ "รัตนโกสินทรศก"
เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการใช้ศักราชแบบต่างๆ ไม่เป็นระเบียบเดียวกันและการใช้รัตนโกสินทรศก ยังไม่สะดวกในการใช้กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์
โดยก่อนที่จะประกาศใช้“พุทธศักราช” เช่นในวันนี้นั้น ไทยเราเคยใช้ “มหาศักราช” และ “จุลศักราช” มาก่อน เช่นเดียวกับอาณาจักรใกล้เคียงในย่านนี้
“มหาศักราช” แพร่เข้ามาถึงไทยก่อนศักราชอื่น ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของกรุงสุโขทัยและศิลาจารึกของอาณาจักรใกล้เคียงเป็นส่วนใหญ่ เข้าใจว่าไทยเราเลิกใช้ในปี 2112 มหาศักราชตรงกับพุทธศักราช 621 ใช้วันที่ 29 มีนาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่
ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ทรงชวนพม่าลบมหาศักราชออก 3 ปี เปลี่ยนเป็น “ศักราชจุฬามณี” เพื่อลบปีที่มีคำทำนายว่าจะเกิดเหตุร้าย แต่พม่าไม่เล่นด้วยและไม่ได้รับความนิยมจึงกลับมาใช้จุลศักราชอย่างเดิมและใช้มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
“จุลศักราช” ที่ใช้ตัวย่อว่า “จ.ศ.” เป็นศักราชที่เริ่มเมื่อปีพุทธศักราช 1181 กำหนดวันที่ 16 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ใช้มาตั้งแต่ปลายสมัยสุโขทัย ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์
พุทธศักราช หรือ พ.ศ. คือ ช่วงกำหนดเวลาซึ่งกำหนดเอาปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็นปีเริ่มต้นในการกำหนดนับ ซึ่งพุทธศักราชได้นำไปใช้ในหลายประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักของประเทศ
เช่น ในประเทศไทยเริ่มนับเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 1 ปี แต่ในประเทศพม่าและประเทศกัมพูชา นับในปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เช่น ในประเทศไทยเป็นปี 2548 แต่ในพม่าและกัมพูชาเป็น 2549 ส่วนในประเทศศรีลังกาจะเปลี่ยนศักราชในวันวิสาขบูชา
ประเทศไทยมีการประกาศให้บังคับใช้การนับปีเป็นพุทธศักราชในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เพราะทรงมีพระราชดำริว่า
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนาควรที่จะใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) และทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศที่นับถือพุทธศาสนาทั้งหลาย ซึ่งต่างก็ใช้พุทธศักราชด้วย
นอกจากนี้ ยังปรากฏในแนวพระราชดำริในการเปลี่ยนมาใช้ พ.ศ. ตามประกาศลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 131 ความว่า
“…ทรงพระราชดำริว่าพระพุทธศักราชนั้นได้เคยใช้ในราชการทั่วไปไม่ ถ้าจะให้ใช้พระพุทธศักราชแทนปีรัตนโกสินทรศกแล้ว ก็จะเป็นการสะดวกแก่การอดีตในพงศาวดารของกรุงสยามมากยิ่งขึ้น…ฯลฯ… จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระพุทธศักราชในราชการทั้งปวงทั่วไป”
ดังนั้น ทางราชการจึงเริ่มประกาศวิธีนับเดือน ปี ใน พ.ศ.2455 และได้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนมาใช้ พ.ศ. (พุทธศักราช) ตั้งแต่ พ.ศ.2456 เป็นต้นมา
เข้าชม : 368
|