“ไขมัน” เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของอาหารหลัก 5 หมู่ ที่เราทุกคนควรกินในแต่ละมื้อ เพื่อที่ร่างกายจะได้นำพลังงานไปใช้ในการดำรงชีวิต
นอกจากนี้ไขมันยังมีประโยชน์อีกมากมาย อาทิ ช่วยดูดซึมวิตามินเอ ดี อี และเค จากอาหารที่เรากิน และควบคุมกระบวนการเปลี่ยนแปลงของคอเลสเตอรอลในร่างกาย เป็นแหล่งพลังงานสำรองของร่างกาย โดยสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อไขมันที่อยู่ตามร่างกาย ช่วยให้ผิวหนังและผมมีสุขภาพแข็งแรง
กรดไขมันที่ควรรู้จัก มีดังนี้
กรดไขมันไม่อิ่มตัว เป็นกรดไขมันที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด พบได้ทั่วไปในน้ำมันที่ได้จากพืช ยกเว้นน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว
กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายตำแหน่ง เป็นกรดไขมันที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ แต่ไม่สามารถผลิตได้เอง ได้แก่ กรดไขมันไลโนเลอิก พบในผัก ผลไม้ ธัญพืช เมล็ดพืชต่างๆ น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันจมูกข้าวสาลี เป็นต้น ส่วนกรดไขมันอัลฟาไลโนเลนิก พบในเมล็ดปอ เมล็ดมัสตาร์ด เมล็ดฟักทอง เมล็ดถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดวอลนัท ผักใบเขียว ธัญพืช สาหร่ายสไปรูไลนาและน้ำมันปลา
กรดไขมันตระกูลโอเมกา-3 มีประโยชน์ต่อหัวใจ นั่นคือ ช่วยต้านการอักเสบ ต้านการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย อาหารที่มีโอเมกา-3 ได้แก่ ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน และปลาทูน่า
กรดไขมันอิ่มตัว เป็นกรดไขมันที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องกินเพิ่มเข้าไป โดยควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง ซึ่งได้แก่ เนย นมสด ครีม ไอศกรีม น้ำมันหมู ไขมันสัตว์ น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์ม อันเป็นสาเหตุให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
กินไขมันอย่างไรดี
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าไขมันเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เราจึงควรเลือกกินไขมันที่ดี เช่น เนื้อปลา ธัญพืช ผัก ผลไม้ อาหารพร่องไขมัน หรือผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัว ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมัน หมู 3 ชั้น หนังไก่ อาหารทอด อบ ปิ้ง ย่าง เช่น โดนัท คุกกี้ แคร็กเกอร์ ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยไขมันจากสัตว์ หรือการปรุงอาหารด้วยน้ำมันจากไขมันสัตว์ นอกจากนี้หากมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับคอเลสเตอรอลอย่างน้อยปีละครั้ง
เข้าชม : 433
|