หลวงพ่อเล็ก วัดเจริญภูผา อ. รัตภูมิ จ. สงขลา
วัดเจริญภูผามีฐานะเป็นวัดราษฎร์เล็กๆ ตั้งอยู่ที่ ต. คูหาไต้ อ. รัตภูมิ จ.สงขลา อาณาเขตของวัดด้านหนึ่งอยู่ติดกับเขาจุ้มปะชาวบ้านในพื้นที่จึงนิยมเรียกวัดนี้ติดปากกันว่า...."วัดจุ้มปะ"
ตามประวัติวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2390 โดยพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งชาวบ้านเรียกท่านกันว่า..."พ่อท่านในเมรุ"
ไม่มีบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างวัดและเจ้าอาวาส เล่ากันแต่ว่าพ่อท่านในเมรุเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เป็นพระสงฆ์ที่มีศักดิ์สิทธิ์มีอภินิหารเป็นที่นับถือกันมาก เมื่อพ่อท่านในเมรุมรณภาพไปแล้ว ก็ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าอาวาสรูปต่อๆมา ทราบกันแต่ว่าเมื่อหลังจากพ่อท่านในเมรุมรณภาพแล้วต่อมาวัดจุ้มปะก็กลายเป็นวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา
วัดจุ้มปะนี้ร้างอยู่หลายปี ต่อมาก็ได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่ง "พระสี" ได้แบกกลดเดินธุดงค์มาจาก รัฐกลันตัน มาเลเซีย ผ่านมาที่วัดจุ้มปะซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง แล้วได้พบกับอภินิหารของพ่อท่านในเมรุผู้สร้างวัดและเจ้าอาวาสรูปแรก จึงเกิดความศรัทธาได้ลงมือชวนชาวบ้านละแวกนั้นฟื้นฟูวัดจุ้มปะขึ้นใหม่จนมีความเจริญสู่สภาพเดิม หลังจากนั้นพระสีก็แบกกลดเดินธุดงค์ไปยังที่อื่นต่อไป เนื่องจากท่านเป็นพระธุดงค์ไม่ยึดติดกับสถานที่ ชาวบ้านซึ่งมีกำนันทับ จันทสุวรรณเป็นผู้นำ เกรงว่าหากไม่มีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา วัดจุ้มปะก็คงจะกลายเป็นวัดร้างเหมือนเดิมอีก จึงพร้อมใจกันชวนไปนิมนต์หลวงพ่อเล็ก ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดควนขันมาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2477 นับแต่หลวงพ่อเล็กมาเป็นเจ้าอาวาสวัดจุ้มปะ หรือ วัดเจริญภูผาก็มีความเจริญเรื่อยๆตามลำดับมาจนปัจจุบันนี้
ประวัติของหลวงพ่อเล็กท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2447 ณ บ้านพรุพ้อ ต. ป่าบอนเหนือ อ. ปากพยูน จ. พัทลุง บิดาชื่อแสง มารดาชื่อแก้ว ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพทำนาแต่ด้วยที่ท่านมีแว่วฉลาดมาแต่เล็กๆ บิดาจึงพาไปฝากให้เรียนหนังสือกับพ่อท่านไข วัดพรุพ้อซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้ๆบ้าน สมัยนั้นการเรียนหนังสือตามวัดนิยมเรียนหนังสือไทยและหนังสือขอมไปพร้อมๆกัน อีกทั้งพระสงฆ์ที่วัดยังหัดให้ท่องบทสวดมนต์ 7 ตำนาน และ 12 ตำนานอีกด้วย หลวงพ่อเล็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วพ่อท่านไข่เห็นหลวงพ่อเล็กมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จึงไปขอโยมบิดามารดาหลวงพ่อเล็กให้ท่านบรรพชาเป็นสามเณรแต่หลวงพ่อเล็กไม่ยอม ต่อมาเมื่อหลวงพ่อไข่ลาสิกขาออกไป หลวงพ่อเล็กจึงออกจากวัดพรุพ้อกลับมาอยู่บ้านเหมือนเดิม
หลวงพ่อเล็กมีความรักใคร่ในการขวนขวายหาความเรียนรู้อยู่เสมอเมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้วแต่ก็ยังคิดอยากจะหาความรู้ศึกษาเพิ่มเติมอีกจึงขออนุญาตโยมบิดามารดาไปเรียนต่อยังสำนักอื่นๆซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปแต่โยมทั้งสองเป็นห่วงไม่อยากให้ออกไปอยู่ไกลบ้าน หลวงพ่อเล็กจึงต้องเล่าเรียนตามสำนักต่างๆ ซึ่งอยู่ละแวกใกล้ๆบ้านแทน
ครั้งเมื่ออายุครบบวช โยมบิดามารดาจึงพาหลวงพ่อเล็กไปฝากกับพ่อท่านมหาลอย วัดแหลมจาก ต.ปากรอ อ.เมือง จ. สงขลา พ่อท่านมหาลอยจึงเป็นอุปัชฌาย์จัดการอุปสมบทหลวงพ่อเล็กเป็นพระภิกษุ ได้รับนามฉายาว่า "ลัมภโก"
สำหรับพ่อท่านมหาลอยผู้เป็นอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเล็กนี้ ก็นับได้ว่าเป็นพระสงฆ์ผู้มีบารมีความศักดิ์สิทธิ์สูงมากท่านหนึ่งของภาคใต้เมื่อยุคสมัยหลายสิบปีมาแล้ว มีอภินิหารเป็นที่เล่าลือกันอย่างกว้างขวาง เป็นที่นับถือศรัทธาของชาวบ้านในชายแดนภาคใต้ตอนล่างไปตลอดถึงในประเทศมาเลเซียเหรียญพ่อท่านมหาลอยรุ่นแรกแม้จะเป็นเหรียญตาย แต่ก็มีประสบการณ์มากจนกลายเป็นเหรียญยอดนิยมราคาหลักหมื่นของภาคใต้ และหายากมากจนกระทั่งทุกวันนี้
อุปสมบทแล้วหลวงพ่อเล็กได้กราบลาพ่อท่านมหาลอยไปจำพรรษาที่ วัดพรุพ้อ บ้านเกิดจากนั้นก็ได้ออกธุดงค์และแสวงหาความรู้เพิ่มเติมตามสำนักต่างๆ แล้วก็ไปจำพรรษาที่วัดควนขัน ที่นี่เองที่กำนันทับ จันสุวรรณมานิมนต์ไปจำพรรษาที่วัดจุ้มปะ ครั้งแรกหลวงพ่อเล็กปฏิเสธไปก่อน ต่อมากำนันทับกับชาวบ้านชวนกันยกขบวนมานิมนต์อีก ท่านเห็นว่าชาวบ้านมีความศรัทธาแน่วแน่ จึงรับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจุ้มปะนับแต่นั้นมา
แรกๆที่มาอยู่วัดจุ้มปะ หลวงพ่อเล็กอยู่ในฐานะเจ้าอาวาสอย่างไม่เป็นทางการ แต่ก็ได้ชักชวนชาวบ้านพัฒนาทำนุบำรุงจนวัดมีความเจริญขึ้นตามลำดับซึ่งก็ใช้เวลาอยู่นานหลายปี จนกระทั้งถึงปี พ.ศ. 2494 ทางคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งหลวงพ่อเล็กเป็นเจ้าอาวาสวัดจุ้มปะอย่างเป็นทางการ
หลวงพ่อเล็กนับว่าเป็นพระสงฆ์ที่ใจดีมีเมตตาแก่ชาวบ้านทั่วไป ให้การต้อนรับแก่ผู้คนที่มาหาโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ กิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านแพร่ขยายทั่วไป และแผ่ขยายเข้าไปถึงในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์แม้ว่าต้อนปลายๆอายุท่านอาพาธด้วยโรคชรา แต่ก็ยังคงต้อนรับแก่ชาวบ้านที่ศรัทธามานมัสการอย่างเต็มที่จนกระทั่งร่างกายทรุดโทรมตามลำดับในที่สุดท่านก็ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 รวม อายุ 78 ปี คงทิ้งไว้แต่คุณงามความดี และวัตถุมงคลเป็นที่นิยมศรัทธามาจนตราบเท่าทุกวันนี้
สมัยที่อุปสมบทใหม่ๆ หลวงพ่อเล็กท่านเห็นชาวบ้านหลายคนมีความทุกข์ทรมานจากการเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทั้งนี้ก็เนื่องจากสมัยก่อนวิชาการแพทย์ยังไม่เจริญเหมือนอย่างทุกวันนี้ เมื่อเป็นโรคภัยไข้เจ็บหรืออันตรายต่างๆ ก็ได้แต่หวังพึ่งพาหมอยาตามบ้าน ท่านจึงได้ศึกษาวิชาการแพทย์แผนโบราณเพื่อหวังช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเรื่องเหล่านี้ปรากฏว่าวิชาการแพทย์แผนโบราณของหลวงพ่อเล็ก สามารถรักษาคนเป็นโรคภัยไข้เจ็บและอันตรายต่างๆ จนเป็นที่เล่าลือกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ท่านยังได้เรียนวิชาไสยศาสตร์เพิ่มเติมหลายแขนง เช่น การปลุกเสกลงอักขระเลขยันต์ การถอดถอนคุณไสย โหราศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งความชำนาญทางไสยศาสตร์นี่แหละครับที่ทำให้หลวงพ่อเล็กมีกิตติศัพท์เป็นที่นับถือศรัทธามาตั้งแต่ตอนหนุ่มๆครั้งมาอยู่ที่วัดจุ้มปะแรกๆ กันเลย
ในบรรดาวิชาไสยศาสตร์ที่หลวงพ่อเล็กท่านได้ศึกษามาจนเชี่ยวชาญก็มีอยู่วิชาหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างน่าทึ่ง! และก็ดูเหมือนจะมีหลวงพ่อเล็กเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถใช้วิชาแขนงนี้อย่างได้ผล เพราะนับแต่หลวงพ่อเล็กมรณภาพไปแล้ว ก็ไม่ได้ยินข่าวว่ามีใครสามารถใช้วิชานี้ได้เหมือนอย่างท่าน วิชาที่ว่านี้ก็คือ....
วิชาปราบผีเสื้อ
วิชาปราบผีเสื้อก็เป็นวิชาที่ช่วยให้สามีภรรยาที่อยู่กินกันมานานแต่ไม่มีบุตร เมื่อชวนกันมาหาท่านให้ช่วยเหลือ หลวงพ่อเล็กท่านก็จะเอาวันเดือนปีเกิดของทั้งคู่ มาคำนวณตามตำราทางโหราศาสตร์ จากนั้นก็จะพบว่าไม่สามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งเป็น "ผีเสื้อยักษ์" หากว่าสามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งเป็นผีเสื้อยักษ์ ก็จะคอยกินบุตรที่จะมาเกิด จึงทำให้สามีภรรยาคู่นั้นถึงอยู่กินมานานก็จะไม่มีบุตรสืบสกุล
เมื่อมาให้ช่วยเหลือให้มีบุตร หลวงพ่อเล็กก็จะหาฤกษ์ประกอบพิธี แล้วให้สามีภรรยาคู่นั้นนำข้าวสาร 3 กำมือ ไก่เป็นๆ 1 ตัว ถ้าผู้ชายเป็นผีเสื้อยักษ์ให้ใช้ไก่ตัวผู้ แต่ถ้าผู้หญิงเป็นผีเสื้อยักษ์ก็ให้ใช้ไก่ตัวเมีย แล้วก็มีหวายยาว 3 วา ตามขนาดของแขนตัวเองผู้เป็นผีเสื้อยักษ์ และก็มีดอกไม้ ธูปเทียน กับหมากพลู 3 คำ เมื่อได้ฤกษ์หลวงพ่อเล็กท่านจะนำหวายที่เตรียมมาขดเป็นวงกลมแล้วมัดปลายด้วยสายสิญจน์แล้วให้สองสามีภรรยาอุ้มไก่เข้าไปนั่งในวงหวาย โดยนั่งอยู่ตรงหน้าสามีภรรยาทั้งสองพร้อมด้วยขันใส่ข้าวสาร แล้วก็บริกรรมคาถาตามตำรา จากนั้นท่านก็จะลุกขึ้นเดินวนไปทางด้านขวารอบสามีภรรยา พร้อมกับซัดข้าวสารใส่สองสามีภรรยาที่เข้าพิธี แล้วก็ให้กรวดน้ำรับพรหลังจากนั้นหลวงพ่อเล็กก็จะภาวนาแล้วยกวงแหวนนั้นขึ้น ให้สองสามีภรรยาช่วยกันปัดไก่ออกจากวงหวายนั้น แล้วก็ให้อุ้มไก่ไปปล่อย ก็เป็นอันเสร็จพิธี หลังจากทำพิธีไม่นานสองสามีภรรยาก็จะมีบุตรสมตามความปรารถนา
เรื่องนี้ก็นับว่าเป็นที่เลื่องลือกันมาก เพราะมีหลักฐานรูปเด็กทารกที่เกิดจากสามีภรรยาที่มาทำพิธีปราบผีเสื้อกับหลวงพ่อเล็ก แขวนอยู่ภายในกุฏิหลวงพ่อเล็กหลายร้อยภาพ ซึ่งเป็นรูปที่สามีภรรยาเมื่อทำพิธีกับหลวงพ่อเล็กแล้วได้บุตรสมตามความปรารถนา นำมาถวายหลวงพ่อเหมือนกับว่าเป็นบุตรบุญธรรม แล้วที่มีบุตรแต่ไม่ได้นำรูปมาถวายหลวงพ่อก็มีอีกมาก วิชาปราบผีเสื้อของหลวงพ่อเล็กจึงเป็นวิชาไสยศาสตร์ที่มหัศจรรย์มาก เพราะไม่เคยได้ยินว่ามีใครที่ไหนบ้างที่ทำวิชานี้ ทั้งนี้ก็ไม่ได้ข่าวว่าหลวงพ่อเล็กได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้กับใครบ้าง? "เข้าใจว่าวิชาปราบผีเสื้อนี้คงจะเป็นวาสนาหรือวิชาเฉพาะของท่านที่มีบารมีจะทำได้เท่านั้น"
ในบรรดาวัตถุมงคลของหลวงพ่อเล็กที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ และได้รับความนิยมกันกว้างขวางก็คือ "ตะกรุด" กิตติศัพท์ของตะกรุดหลวงพ่อเล็กมีกิตติศัพท์เป็นที่รู้จักกันมาก่อนปี พ.ศ. 2500 เสียอีกหลายปี เมื่อครั้งที่ทางรัฐบาลจัดสร้างพระเครื่องฉลองกึ่งพุทธกาล หรือที่เรียกว่าพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ทางการได้มีหนังสือไปขอแผ่นยันต์และตะกรุดของพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิทยาคมทั่วประเทศ เพื่อนำมาหลอมเป็นชนวนศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษเนื้อชิน ครั้งนั้นก็มีหนังสือมาขอตะกรุดจากหลวงพ่อเล็กเพื่อนำไปหลอมเป็นชนวนด้วยเช่นกัน
ตะกรุดหลวงพ่อเล็กมีหลายชนิด เช่น ตะกรุดโทน ตะกรุดโสฬส ตะกรุดมหารูด ตะกรุดเมตตามหานิยม ตะกรุดพระเจ้าห้าพระองศ์ ตะกรุดพระเจ้าสืบชาติ ตะกรุดจันทร์เพ็ญ ฯลฯ การทำตะกรุดแต่ละครั้งจะยึดถือแบบตามตำราอย่างเคร่งครัด นอกจากจะมีการเรียกสูตรอักขระและลงด้วยมือทุกดอกแล้ว ก็มีการกระทำกันตามฤกษ์พิธีของตำราด้วย ตะกรุดหลวงพ่อเล็กท่านทำเองไม่เคยนำไปเข้าพิธีพุทธาภิเษก หรือไปขออาจารย์อื่นช่วยปลุกเสกให้ เพราะท่านมั่นใจในคุณวิเศษของท่านเองเหมือนพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าๆทั้งหลาย คือถ้าไม่มั่นใจและไม่แน่ใจจริงๆแล้วก็ไม่สร้างเด็ดขาด
สมัยที่หลวงพ่อเล็กยังมีชีวิตอยู่ เมื่อมีชาวบ้านไปขอตะกรุดท่านก็จะประสิทธิ์ประสาทให้ด้วยตัวท่านเอง สำหรับตะกรุดของหลวงพ่อเล็กก็มีข้อห้ามอยู่ 2 ข้อ คือ...
1. ห้ามดื่มสุราขณะมีตะกรุดอยู่กับตัว
2. ห้ามสตรีจับต้องตะกรุดอย่างเด็ดขาด
การที่ห้ามดื่มสุราขณะมีตะกรุดติดอยู่กับตัว ก็เพราะว่าหลวงพ่อเล็กท่านเกลียดพวกนักเลงสุรา ท่านบอกว่าคนที่ดื่มสุรามักหมดความเป็นคน คือเมื่อเมามากๆ ก็สามารถทำอะไรผิดอย่างคนดีเขาไม่ทำกัน และยังถือว่าผิดศีลข้อห้าอีกด้วย เมื่อผิดศีลข้อห้าเพียงข้อเดียว ก็สามารถทำผิดศีลข้ออื่นๆได้โดยเผลอตัวหรือประมาทก่อนที่ใครจะรับตะกรุดไปจากหลวงพ่อเล็ก ท่านจะห้ามไม่ให้ดื่มสุราขณะมีตะกรุดอยู่กับตัวเด็ดขาด ถ้าอดไม่ได้ก็ให้ถอดตะกรุดออกจากตัวก่อน หรือถ้าเผลอดื่มสุราโดยลืมถอดตะกรุดออกจากตัว เมื่อนึกได้ก็รีบถอดตะกรุดออกจากตัวทันที แล้วเอาตะกรุดไปแช่น้ำ แล้วเอาน้ำนั้นมาลูบหน้า พร้อมกับขอขมาครูบาอาจารย์เสีย แต่ท่านบอกว่าอย่าได้เผลอแบบนี้ บ่อยนัก เพราะเข้าตัวแล้วจะรักษาลำบาก
ส่วนที่ห้ามสตรีจับต้องตะกรุดอย่างเด็ดขาดนี้ ก็เพราะว่าเกิดผู้หญิงมีรอบเดือนก็จะเป็นปฏิปักษ์ต่ออาคมที่ลงในตะกรุด เพราะไม่อาจทราบได้ว่าสตรีใดบ้างกำลังมีรอบเดือน จึงเป็นการห้ามเสียก่อนแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่เป็นการประมาท
พูดถึงตะกรุดหลวงพ่อพ่อเล็กก็มีประสบการณ์มากเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นเช่นที่ตำราบอกเอาไว้ทุกประการ ตะกรุดของท่านขนาดทำด้วยตะกั่วซึ่งเป็นโลหะที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ แต่ตกอยู่ท่ามกลางกองไฟตะกรุดก็ยังไม่ไหม้ไฟเลยครับ
กระผมคิดว่าข้อมูลเกียวกับอัตชีวประวัติของหลวงพ่อเล็ก วัดจุ้มปะ อาจจะมีประโยนช์กับท่านผู้อ่านอยู่บ้างไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคน พระเครื่องของท่านมีอีกหลายรุ่นที่ไม่ได้ลงไว้ แต่ท่านสามารถหาได้ในสนามพระทั่วไปในราคาหลักร้อย ก็นับว่าเป็นของดีพุทธคุณเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่งของ จ. สงขลา ที่ราคายังไม่แพงมากนักในขณะนี้
|