[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 

  

ทดสอบหมวดหมู่
\"ตำบลบ้านขาว\"

จันทร์ ที่ 20 เดือน มีนาคม พ.ศ.2560


  ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทุกมิติของ “บ้านขาว” ต.บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา  ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเหมาะแก่การทำการเกษตรต่างๆ และสามารถหล่อเลี้ยงให้ชาวบ้านในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จนสามารถสร้างอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาจนถึงลูกหลานในปัจจุบันได้สามารถเรียนรู้ อนุรักษ์ และหวงแหนในถิ่นกำเนิดของตัวเอง นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งบ่มเพาะสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย โดยเฉพาะนกนานาพันธุ์กว่าร้อยชนิด พรรณไม้และสัตว์แปลก ไม่ว่าจะเป็นช้างแคระ ควายน้ำ ให้เยาวชนได้ศึกษา

     ความงดงามเหล่านี้  จึงเป็นเหตุผลให้ นายวัชระพันธ์ มุสิกะ หรือน้องอิฐ วัย 22 ปี ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา จัดทำโครงการเล่าเรื่องชุมชนคนบ้านขาว ซึ่งเป็นโครงการย่อยของโครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

     พร้อมทั้งได้จัด “กิจกรรมค่ายล่องเรือลงเลแลพื้นเพบ้านขาว ”ผ่านฐานเรียนรู้ สิบฐาน ประกอบด้วย ข้อหนึ่ง ประวัติความเป็นมาของตำบลบ้านขาว, ข้อสอง ประวัติวัดหัวป่า, ข้อสาม ยอยักษ์, ข้อสี่ คลองบัว, ข้อห้า ควายน้ำ, ข้อหก ป่าเสม็ด หรือป่าอเมซอน, ข้อเจ็ด ยวนนก, ข้อแปด ศาลานางเรียม, ข้อเก้า ช้างแคระ และข้อสิบ เยาวชนศิลปะประดิษฐ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้และรู้จักชุมชนของตนเอง อันเป็นรากฐานของชีวิตประจำวันเพื่อขยายผลและถ่ายทอดองค์ความรู้ท้องถิ่นสู่ชุมชน และสุดท้ายสู่ลูกหลานทุกคนที่จะเข้ามารับช่วงต่อ

     โดย นายวัชระพันธ์ อธิบายว่า เนื่องจากภูมิปัญญา วัฒนธรรม และวิถีชุมชนเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงอัตลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ ที่ควรดำรงไว้ให้ยั่งยืนสืบไป อีกทั้งชุมชนตำบลบ้านขาวเป็นพื้นที่ที่มีภูมิปัญญาหลากหลาย /data/content/2015/01/26959/cms/e_gijnoqrw2567.jpgและมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สมบูรณ์ พร้อมด้วยเรื่องเล่ามากมายที่น่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชุมชนบ้านขาวได้เป็นอย่างดี

    ซึ่งองค์ความรู้และวัฒนธรรมเหล่านี้ กำลังจะสูญหายไปจากชุมชน เนื่องจากขาดผู้สนใจสืบสานสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แต่ถ้าเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน จะช่วยให้มีหลักในการดำรงชีวิต รู้จักรากเหง้าของตนเอง และเกิดความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอุดมปัญญา จนเกิดเป็นสำนึกรักบ้านเกิดของตนเอง

    นอกจากนี้ น้องอิฐ ยังได้เล่าถึงการลงพื้นที่ทำงานในการสำรวจภูมิปัญญาและประวัติศาสตร์ว่า แม้จะมีอุปสรรคในการลงสำรวจแต่ละครั้ง เพราะจะมีการขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งเริ่มแรกผู้ปกครองและผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน บางคนต่อต้าน มีอคติและไม่เข้าใจ แต่ด้วยการอธิบายเหตุผลและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการสำรวจ รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้อยู่ในพื้นที่รับรู้ถึงการทำงาน และเข้าถึงชีวิตของคุณตาคุณยายด้วยการสอบถามและเดินเข้าไปในบ้าน เพื่อให้เห็นวิถีชีวิตจริงๆ ของคุณตาคุณยายในการทำเสื่อกระจูด การจักสาน เป็นต้น

     ซึ่งได้รับการตอบรับผู้ใหญ่ใจดีให้ข้อมูลทุกอย่างให้มีการลงมือทดลองทำ และอุปสรรคอีกอย่างคือเรื่องการเดินทาง เพราะระยะทางในการสำรวจแหล่งธรรมชาติและพื้นที่ต่างๆ มีระยะทางไกลกัน แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณี เด็กและเยาวชนก็พร้อมจะเผชิญทำให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ต่อไป 

     นายณัฐพล หนูแสง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่เด็กและเยาวชนในตำบลบ้านขาวให้ความสำคัญในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชน ทั้งเรื่องการเกษตร เรื่องระบบนิเวศ จึงอยากให้ช่วยกันอนุรักษ์แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะอนาคตหากหมดรุ่นปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา ไปอาจจะไม่มีการทำนาดำ ไม่มีการจักสาน ถ้าไม่มีเด็กมาสืบทอด จึงพร้อมให้การสนับสนุนทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องการให้ความรู้ให้ข้อมูล เรื่องงบประมาณ มีฐานเรียนรู้ให้กับเยาวชน เช่น โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ที่เป็นพื้นที่ของชุมชนที่บริจาคให้มาเป็นฐานเรียนรู้ ซึ่งในชุมชนมีหลายกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการฟื้นกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ เช่น กิจกรรมนาดำ นาโยน เรียนรู้เรื่องการไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นอาชีพเดิมของตำบลบ้านขาว ด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

     ขณะที่ น้องกิ๊ก ด.ญ.ฐิตาภรณ์ โลหะประเสริฐ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนระโนดวิทยา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีการทำโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้ได้รู้เรื่องราวในชุมชนของตนเองเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่รู้จักชุมชนตนเองเลย ไม่รู้ว่าบ้านขาวความจริงแล้วชื่อดั้งเดิมคือบ้านข้าว และชุมชนเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญและใหญ่ที่สุดใน จ.สงขลา แต่รู้ว่าทำนา และตั้งแต่เกิดมาเคยเห็นแต่การทำนาหว่าน ทำให้ไม่ทราบว่าวิถีดั้งเดิมคือการทำนาดำหรือนาโยน ไม่รู้ว่าชุมชนมีแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศที่ควรอนุรักษ์ มีบัวกี่ชนิด มีนกย้ายถิ่นฐานมาจากที่ไหนบ้าง

     ดังนั้น อยากให้โรงเรียนมีการสอนเรื่องวิถีชีวิตเพื่อที่จะปลูกฝังให้รู้จักรักชุมชนของตนเอง ไม่ใช่สอนแต่วิชาการ ซึ่งโตขึ้นอาจทำให้รู้จักแต่เรื่องอนาคต แต่เรื่องในอดีตกลับไม่มีความรู้เลย อาจจะเป็นสาเหตุทำให้สิ่งที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์เลือนหายไป ถ้าไม่มีการปลูกฝังให้เด็กรักบ้านเกิด

     ด.ช.ศิริปรีชายุทธ์ หนูเจริญ หรือ น้องบุญตอง นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดบ้านขาว ก็เห็นตรงกันว่า อยากให้ โรงเรียนสอนเรื่องวิถีชีวิตชุมชน เพื่อปลูกฝังให้รู้จักรักชุมชนตนเอง เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนสอนตามตำรา ทำให้บางวัน/data/content/2015/01/26959/cms/e_bcfghlostw68.jpgรู้สึกเบื่อ ไม่อยากเรียน เพราะไม่มีความสนุก แต่เมื่อได้มาเข้าร่วมโครงการฯ ได้รับทั้งความรู้ มีความสนุก ไม่จำเจ ได้รับรู้สิ่งแปลกใหม่ สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รับรู้ เช่น เรื่องช้างแคระ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าตำบลบ้านขาวเคยมีช้างแคระ มีนก มีบัว มีป่าเสม็ด ซึ่งถูกเรียกว่าป่าอเมซอน ดังนั้น ถ้า โรงเรียนมีการสอนให้ปฏิบัติและเรียนรู้ชุมชน จะทำให้มีความรักชุมชน ช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป

     ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ หัวหน้าโครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ดูงานทั้ง 12 โครงการย่อย ในฐานะหัวหน้าโครงการยืนยันว่า โครงการเล่าเรื่องชุมชนคนบ้านขาว เป็น 1 ใน 12 โครงการย่อยที่เป็นโจทย์สำคัญในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่พัฒนาเด็กให้เป็นคนดีมีสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าปัญหาบ้านเมืองจะลดลงอย่างแน่นอน เพราะมีคนดีอยู่เต็มพื้นที่ จึงไม่อยากให้เด็กและเยาวชนคิดว่ามาเข้าร่วมโครงการ 2-3 ครั้ง แล้วจบ แต่อยากให้สานต่อโครงการไปจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นวิถีวัฒนธรรมต่อเนื่อง เพื่อที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไว้ให้นานที่สุด

     ทั้งนี้ โครงการเล่าเรื่องชุมชนคนบ้านขาว แม้เป็นโครงการที่ดี แต่หากโรงเรียนไม่ตอบรับการทำงานของกลุ่มเด็กเยาวชนก็อาจเป็นอุปสรรค จึงอยากให้โรงเรียนซึ่งอยู่ใกล้กับชุมชนลงมาให้ความร่วมมือนำความรู้มาสอนเด็กและเยาวชนในเรื่องสำนึกรักบ้านเกิด การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมชุมชน เพราะถ้าโรงเรียนไม่ทำให้ไม่เกิดการสานต่อ ทั้งที่เด็กและเยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะสืบสาน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ส่งผลให้ความคิดในการทำงานของเด็กลดน้อยลงจนหมดไฟไปในที่สุด

     “ครูต้องสอนให้เด็กมีสำนึกรักบ้านเกิด เพราะทัศนคติของเด็กรุ่นใหม่เมื่อเติบโตขึ้นก็จะทิ้งถิ่นฐาน เรียนจบเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ ต้องการทำงานในบริษัทเอกชนเพื่อจะได้เงินเดือนจำนวนมาก จึงอยากผลักดันโครงการเข้าไปในโรงเรียนสอนให้เด็กที่กำลังเติบโตเห็นความสำคัญของบ้านเกิด รู้จักการอยู่แบบพอเพียง เมื่อเด็กได้รับการปลูกฝังอย่างต่อเนื่องก็จะมีสำนึกรักบ้านเกิด เรียนจบกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเองให้เจริญรุ่งเรือง” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

    ความยั่งยืนของชุมชนแห่งนี้ หรืออีกหลายพื้นที่ในประเทศจะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ก็ขึ้นอยู่กับเยาวชนเหล่านี้เป็นผู้กำหนด.

 



เข้าชม : 785


ทดสอบหมวดหมู่ 5 อันดับล่าสุด

      test 5 / มิ.ย. / 2560
      หลวงพ่อปลอด 7 / พ.ค. / 2560
      ร่วมประชุมโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ 22 / มี.ค. / 2560
      \"ตำบลบ้านขาว\" 20 / มี.ค. / 2560
      วัดหัวป่า 4 / ม.ค. / 2560


 
กศน.ตำบลบ้านขาว
ตำบลบ้านขาว  อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา   โทรศัพท์ 089-6563354  sonnoo.toy01234@hotmail.co.th
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอระโนด
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05