หลักการของเศรษฐกิจพอเพียง
1. การพึ่งพาตนเอง เป็นการยึดหลักตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน รู้จักนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ รู้จักผลิตพืชให้เพียงพอกับความต้องการในการบริโภคของครัวเรือนก่อนหลังจากนั้นจึงผลิตเพื่อการค้า
2. การพึ่งพากันเอง จะให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน เพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น การเกษตรแบบผสมผสาน การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแปรรูปอาหาร เป็นต้น ในปัจจุบันมีการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ตามนโยบาย “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” เป็นการพัฒนาชุมชน และพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง แนวทางการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยมีเงื่อนไขพื้นฐาน คือ ความรู้ และคุณธรรม ซึ่งนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่สมดุล ยั่งยืน สามารถรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้
1. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อความมั่นคง และความยั่งยืนของการพัฒนา
2. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
3. คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้
(1) ความพอประมาณ (Moderation) มีสองนัย คือ ความพอดี ไม่สุดโต่ง และการยืนได้บนขาของตนเอง (self-reliant) เป็นการดำเนินชีวิตอย่างทางสายกลาง โดยมีการกระทำไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปในมิติต่างๆ เช่น การบริโภค การผลิตอยู่ในระดับสมดุล การใช้จ่าย การออมอยู่ในระดับที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง เป็นสิ่งที่ทำให้เราทำอะไรเต็มตามศักยภาพไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพื่อเป็นการยืนได้โดยลำแข้งของตนเอง
(2) ความมีเหตุผล (Reasonableness) หมายความว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ที่มีความพอประมาณในมิติต่าง ๆ จะต้องมีสติรอบรู้คิดถึงระยะยาว ต้องมีเป้าหมาย และวิธีการที่เหมาะสม มีความรู้ในการดำเนินการ มีการพิจารณาจากเหตุ ปัจจัยและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ต้องเป็นการมองระยะยาว ตลอดจนคำนึงถึงผลกระทบของการกระทำและความเสี่ยง จะทำให้มีความพอประมาณ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตความมีเหตุผลในทางปรัชญานี้ความหมายและนัยยะต่างกับ ความมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เพราะความมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เป็นมโนทัศน์เพื่อการวิเคราะห์ ที่สมมติว่า ผู้บริโภครู้ความพอใจของตนเองและมีพฤติกรรมการบริโภคที่มีความคงเส้นคงวา เช่น ถ้าชอบส้มมากกว่าเงาะ และชอบเงาะมากกว่ามังคุด ก็จะชอบส้มมากกว่ามังคุดด้วย นอกจากนี้ยังสมมติว่าผู้บริโภครู้วัตถุประสงค์ของตนเองและจะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อจำกัดของงบประมาณ มีความเข้าใจว่า เศรษฐศาสตร์ทำให้คนมีความโลภ เพราะบอกว่าผู้บริโภคมีความต้องการไม่จำกัด และความพอใจได้จากการบริโภคสินค้าเท่านั้น การสรุปเช่นนี้ไม่ถูกต้องนัก เพราะความต้องการที่ไม่จำกัดนั้นเป็นการเปรียบเทียบกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นข้อสมมติแสดงถึงความขาดแคลน (Scarcity) ของทรัพยากร ทำให้ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ส่วนการวิเคราะห์ที่สมมติให้ผู้บริโภคที่มีเหตุผลต้องการความพอใจสูงสุดจากการบริโภคสินค้าและบริการตามงบประมาณที่จำกัดนั้น เป็นข้อสมมติเบื้องต้นเพื่อหาอุปสงค์ของการบริโภคสินค้านั้น จึงต้องกำหนดความพอใจมากจากการบริโภคสินค้า การวิเคราะห์นี้สามารถขยายไปถึงความพอใจของผู้บริโภคไม่ได้อยู่กับการบริโภคสินค้าและบริการ แต่ขึ้นอยู่กับอย่างอื่นด้วย เช่น ความเท่าเทียมกันในสังคม สภาพแวดล้อมที่ดี การเป็นที่ยอมรับในสังคม นั้นคือวัตถุประสงค์ของผู้บริโภคจะเป็นการสร้างความพอใจที่ครอบคลุมมากกว่าการวิเคราะห์เบื้องต้น
(3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว (Self-immunity) พลวัตในมิติต่าง ๆ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในสภาวะต่าง ๆ อย่างรวดเร็วขึ้น จึงต้องมีการเตรียมตัวพร้อมรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ การกระทำที่เรียกได้ว่าพอเพียงไม่คำนึงถึงเหตุการณ์และผลในปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้ข้อจำกัดของข้อมูลที่มีอยู่ และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และการมีภูมิคุ้มกันจะทำให้มีความพอเพียงแม้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีเหตุการณ์ที่แย่ที่สุดก็จะรับมือได้
4. เงื่อนไข การตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
(1) เงื่อนไขความรู้ ได้แก่ มีความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง ความรอบรู้ คือ มีความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการใช้เป็นประโยชน์พื้นฐาน เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติอย่างพอเพียง การมีความรอบรู้ย่อมทำให้มีการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้รวมถึง ความรอบคอบ ความระมัดระวัง คือมีการวางแผน โดยสามารถที่จะนำความรู้และหลักวิชาต่าง ๆ มาพิจารณาเชื่อมโยงสัมพันธ์กันและความมีสติ ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ ในการนำแผนปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนหลักวิชาต่าง ๆ เหล่านั้นไปใช้ ในทางปฏิบัติโดยมีการปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมทั้งกายภาพและทางสังคมด้วย
(2) เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งครอบคลุมคนทั้งชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ นักธุรกิจ มีสองด้านคือ ด้านจิตใจ/ปัญญา และด้านการกระทำ ในด้านแรกเป็นการเน้นความรู้คู่คุณธรรม ตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรอบรู้ที่เหมาะสม ส่วนด้านการกระทำหรือแนวทางดำเนินชีวิต เน้นความอดทน ความเพียร สติปัญญา และความรอบคอบ เงื่อนไขนี้จะทำให้การปฏิบัติตามเนื้อหาของความพอเพียงเป็นไปได้ ทำให้ตนเองไม่มีความโลภ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือสังคม เพราะการมีความโลภจะทำให้ทำอะไรสุดโต่ง ไม่นึกถึงความเสี่ยง ไม่รู้จักพอ มีโอกาสที่จะกระทำการทุจริต
เข้าชม : 724
|