| เจดีย์ทวดช้าง|
พ่อทวดช้างและพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่บนเขารูปช้าง ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๔ ตำบลเขารูปช้างอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จากตำนานเล่าขานต่อกันมาว่าในอดีตกาล ท่านลักเก้าได้เดินทางมาจากทางทิศใต้ นำช้าง 2 เชือก ชื่อพ่อพลายแก้ว แม่พังงา และควาญช้างชื่อบังดอเลาะห์ ยายมาล่าห์ และบังสุม นำทรัพย์สมบัติไปสร้างพระเจดีย์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเดินทางมาได้ระยะหนึ่งเกิดพายุลมแรง ช้างและควาญช้างล้มตายลง ท่านลักเก้าจึงฝังไว้บนยอดเขา ต่อมาช้างผุดขึ้นเป็นหิน ชาวบ้านในละแวกนั้นได้ตั้งชื่อว่า “บ้านเขารูปช้าง” และมีอภินิหารต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น คนไปตัดไม้บนเขารูปช้างได้ล้มตายลง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารที่มาตั้งค่ายบริเวณหน้าเขารูปช้าง ไปตีงูเผือกมากินเป็นอาหาร (งูลูกศิษย์ทวด) เกิดเป็นบ้าใบ้ ต้องมีการแก้บนจึงหาย นายทุนไปทำลายหินเขารูปช้าง เกิดรถพลิกคว่ำเกือบเอาชีวิตไม่รอด เทพนิมิตในยุทธการช่องช้าง เป็นต้น ซึ่งได้มีการทำบุญพ่อทวดช้างกันอย่างต่อเนื่อง
ตามประวัติทราบว่า พระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา เป็นผู้สร้างพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่๔ เป็นพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่ออิฐถือปูน ตามประวัติกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
จากการบำเพ็ญภาวนาพบว่า ทวดช้างปัจจุบันเป็นชีปะขาวทวดช้าง และมีช้างเผือกเกิดขึ้นอีก ๑ เชือก
ส่วนท้าวเทเวศสุวรรณ เป็นทวดพระเจดีย์ดูแลบนเขารูปช้างโดยมีทวดขุนโจร ทองแก้ว เป็นเจ้าป่าเจ้าเขาร่วมสถิตอยู่บนเขารูปช้างด้วย
| คาถาบูชาพ่อทวดช้าง
โอมคชชะ เทวะปูชัง สิทธิกิจจัง
ภะวันตุเม สัพพะภะยัง วินาศสันตุ
โอมประสิทธิการ สะวะโหม
ธูป 9 ดอก เทียน 2 เล่ม ดอกไม้
แก้บนด้วย “กล้วย อ้อย ไข่ไก่ต้ม”