หนังสือ ปทานุกรม จัดจำหน่ายในปี พ.ศ. 2470 ซึ่งจัดทำโดย กระทรวงธรรมการ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ) เป็นหนังสือรวบรวมคำในภาษาไทยพร้อมอธิบายความหมาย แต่ยังมีข้อบกพร่องอยู่ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการชำระปทานุกรมขึ้น เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมปทานุกรมดังกล่าว ภายหลังได้มีการสถาปนาราชบัณฑิตยสถาน เมื่อ พ.ศ. 2477 จึงได้โอนงานจากคณะกรรมการชำระไปอยู่ในราชบัณฑิตยสถาน และเปลี่ยนชื่อจาก ปทานุกรม เป็น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในที่สุด
ในตอนที่ 1 นั้นได้กล่าวถึงประวัติและวิวัฒนาการของพจนานุกรมของต่างประเทศแล้ว ในตอนที่ 2 นี้จะขอเขียนถึงพจนานุกรมที่เป็นภาษาไทยของเราบ้างว่ามีประวัติและความเป็นมาอย่างไร พจนานุกรมไทยนั้นมีประวัติการจัดทำทั้งภาษาเดียว สองภาษา และหลายภาษา เริ่มตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) โดยพจนานุกรมของไทยในยุคแรกๆนั้น ผู้รวบรวมหรือผู้จัดทำคือกลุ่มมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนาชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย
พจนานุกรมฉบับแรกเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ราวปีพ.ศ. 2207-2236(ค.ศ.1664-1689) เป็นพจนานุกรมสองภาษา คือฝรั่งเศส-ไทยและไทย-ฝรั่งเศส จัดทำโดยสังฆราชหลุยส์ ลาโน บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ต้นแบบเป็นลายมือเขียนในส่วนของภาษาไทยนั้นเขียนด้วยอักษรโรมัน ส่วนพจนานุกรมฉบับที่สอง คือ คำฤษฎี จัดทำในช่วงปีพ.ศ. 2333-2396(ค.ศ.1790-1853) เป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 2 ถึงต้นรัชกาลที่ 4 โดยสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส,สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร และกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เป็นหนังสืออธิบายคำศัพท์ที่ส่วนใหญ่เป็นคำยืมมาจากภาษาสันสกฤตสำหรับวรรณคดีไทย ต้นฉบับเป็นลายมือเขียนเช่นกัน (ปัจจุบันยังมีรูปเล่มเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติและราชบัณฑิตยสถาน) ยังมิได้เรียงคำศัพท์ตามลำดับตัวอักษร ต่อมาได้พิมพ์ฉบับปรับปรุงขึ้นโดยอ้างอิงตามคำฤษฎี เมื่อปีพ.ศ. 2516 (ค.ศ.1973)ผู้จัดพิมพ์คือ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ซึ่งลักษณะและรูปแบบการจัดทำคำศัพท์หลักและความหมายต่างจากต้นฉบับอยู่บ้าง ครั้งล่าสุดมีการนำมาจัดพิมพ์ใหม่โดย มูลนิธิทุนพระพุทธยอดฟ้า เมื่อปีพ.ศ.2533 ในวาระสมโภช 200 ปีสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ฉบับนี้มีที่หอสมุดเราค่ะ) พจนานุกรมฉบับที่สาม นั้นเป็นพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย และไทย-อังกฤษ จัดทำขึ้นโดย J. Taylor Jones ซึ่งเป็นหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน (ฉบับนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน) พจนานุกรมฉบับที่สี่ เป็นพจนานุกรมที่จัดทำโดย Rev. J. Caswell และJ.H. Chandler เมื่อปีพ.ศ.2407(ค.ศ.1846) ต้นฉบับเป็นลายมือเขียนโดยเรียงลำดับตามตัวอักษร การสะกดคำจะแตกต่างจากคำในปัจจุบัน เป็นการใช้คำในสมัยรัชกาลที่ 3 ต้นฉบับจัดเก็บอยู่ที่ราชบัณพิตยสถาน
ต่อมาสังฆราชปาลเลอกัว ชาวฝรั่งเศส ได้ทำพจนานุกรมขึ้นสองฉบับ โดยฉบับแรกมีสองภาษา คือภาษาละตินและภาษาไทย ชื่อ Dictionarium Thai AD Usum Missions Siamensis…เมื่อปี พ.ศ.2393 แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะคนไทยที่รู้ภาษาละตินยังมีน้อย (ฉบับนี้ยังมีจัดเก็บอยู่ที่ห้องหนังสือหายาก หอสมุดแห่งชาติ) อีก 47 ปีต่อมาจึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ในปีพ.ศ.2440 ทำให้ค้นได้ง่ายขึ้น ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือ สัพะ พะจะนะ พาสา ไท หรือDictionarium Linguae Thai Sive Siamesis Paris เป็นพจนานุกรม 4 ภาษาคือ ไทย-ละติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ต้นฉบับพิมพ์ในฝรั่งเศสสำเร็จเมื่อปีพ.ศ.2397 [ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงใหม่โดยสังฆราช Jean-Louis Vey เปลี่ยนชื่อเป็น ศิรพจนะภาษาไทย พิมพ์เผยแพร่ในปีพ.ศ.2439] ภายหลังพจนานุกรมฉบับนี้ได้นำมาจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้งเมื่อปีพ.ศ.2542 ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 5 ธันวาคม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ที่หอสมุดเรามีฉบับนี้ค่ะ) นอกจากนั้นยังมีพจนานุกรมอีกสองฉบับคือ พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ของหมอยอร์ช แมกฟาแลนด์ พิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.2408 (ที่หอสมุดเรามีฉบับพิมพ์ปีค.ศ. 1972 ใช้ชื่อว่า Thai English Dictionary) และพจนานุกรมชื่อ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ เป็นภาษาไทย แต่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Dictionary of the Siamese Languageพิมพ์เมื่อปีพ.ศ.2414 ต่อมาได้มีการจัดพิมพ์ใหม่ โดยองค์การค้าคุรุสภา เมื่อปีพ.ศ.2514 (ฉบับนี้ที่หอสมุดของเรามีค่ะ)
ในช่วงก่อนปีพ.ศ.2475 ก่อนที่จะมีการใช้คำว่า “พจนานุกรม” อย่างปัจจุบันนี้ ทางกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น(กระทรวงศึกษาธิการในสมัยนี้) ได้ใช้คำว่า “ปทานุกรม” มาก่อน จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2475 จึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อชำระปทานุกรมขึ้น เพื่อชำระข้อบกพร่องและแก้ไขปรับปรุงใหม่ จึงได้มีมติและความเห็นที่จะให้ใช้คำว่า พจนานุกรม แทนคำว่า “ปทานุกรม” เพราะมีความหมายตรงกับคำว่า Dictionary มากกว่าต่อมาได้โอนความรับผิดชอบในการชำระแก้ไขให้แก่ ราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ปี 2477เป็นต้นมา สำหรับพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานได้มีการชำระและปรับปรุงแก้ไขมาแล้วรวม 3 ฉบับคือ ฉบับปีพ.ศ.2493, ฉบับปีพ.ศ. 2525 และฉบับปีพ.ศ.2542 พจนานุกรมฉบับของราชบัณฑิตยสถานนี้ทางหน่วยงานราชการและสถานศึกษากำหนดให้ใช้เป็นมาตรฐานในการอ้างอิงตลอดมา
นอกจากพจนานุกรมของทางราชการแล้วทางเอกชนและส่วนบุคคลก็มีการจัดทำพจนานุกรมกันออกมาอย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมมากเช่นกันทั้งในอดีตและปัจจจุบัน เช่น พจนานุกรมของ ส.เศรษฐบุตร ของดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ของเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ และของสำนักพิมพ์ต่างๆอีกมากมายหลายแห่ง จนกระทั่งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างและการใช้งาน จึงทำให้เกิดพจนานุกรมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ขึ้นมาอย่างแพร่หลาย เช่น พจนานุกรมของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, พจนานุกรมลองดู (Longdo), พจนานุกรมของไทยซอฟต์แวร์ เป็นต้น ในยุคดิจิทัลการค้นหาคำและความหมายมีความสะดวกและรวดเร็ว แล้วยังมีความหลากหลายของพจนานุกรมประเภทต่างๆให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมและตรงตามความต้องการกับจุดประสงค์ของผู้ใช้ด้วย ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากหาอ่านได้จากหนังสือที่อ้างถึงได้
ประวัติการพิมพ์
- ปทานุกรม พ.ศ. 2470
-พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ใช้เวลาปรับปรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – 2493 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2493 ตีพิมพ์ทั้งหมด 20 ครั้ง จำนวนทั้งสิ้น 187,000 เล่ม
-พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ใช้เวลาปรับปรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 – 2525 จัดพิมพ์เนื่องในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525 ตีพิมพ์ทั้งหมด 6 ครั้ง จำนวนทั้งสิ้น 280,000 เล่ม
-พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เริ่มปรับปรุงเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ราชบัณฑิตยสถานตั้งใจจะจัดพิมพ์ในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พ.ศ. 2542 แต่มิได้แล้วเสร็จในเวลาดังกล่าว ทว่าในที่สุดได้ปรับปรุงสำเร็จราว พ.ศ. 2544 โดยยังคงเรียกว่าฉบับ พ.ศ. 2542 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546 จำนวน 200,000เล่ม
-พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
เขียนโดยนันธิดา พรายระหาร
http://55191030124124.blogspot.com/
อ้างอิง
พรพิมล ผลินกูลและกนกอร ตระกูลทวีคูณ. (2557). ประวัติพจนานุกรมไทย. [ออนไลน์].
เข้าถึงhttp://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog/?p=34183
สืบค้น 11 กันยายน 2557.
เข้าชม : 1624
|