สำหรับชาวสงขลาย่านเมืองเก่า "หับ โห้ หิ้น" คือโรงสีข้าวเก่าแก่ในตัวอาคารสีแดงแรงฤทธิ์ ที่ยังคงความขลังอย่างคลาสสิกบนถนนนครนอก แต่ทำไมต้องชื่อ หับ โห้ หิ้น ชื่อนี้หมายความว่าอย่างไร ตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสงขลา เศรษฐกิจของสงขลาในระยะนั้น ขับเคลื่อนโดยกลุ่มพ่อค้าเชื้อสายจีนหลายตระกูล เช่น ณ สงขลา รัตรสาร รัตนปราการ โคนันทน์ เงารังษี และ เลขะกุล เป็นต้น ได้ทำธุรกิจค้าขายกับเกาะปีนัง รวมทั้งมีกิจการโรงสี เพื่อรองรับผลผลิตข้าวจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอันอุดมสมบูรณ์ และเนื้อหาข้างต้นได้ระบุไว้ในวิทยานิพนธ์ของ ดร.ศรีสุพร ช่วงสกุล
จากต้นตระกูลเสาวพฤกษ์ หรือที่มาจากขุนราชกิจจารี ได้ร่วมหุ้นกับตระกูลโคนันทน์ จัดตั้ง "หับ โห้ หิ้น" ขึ้นราวปี พ.ศ. 2454 แต่หลังจากนั้นอีก 14 ปี หลานของท่านขุนราชกิจจารี ได้ซื้อกิจการทั้งหมด และพัฒนาโรงสีข้าว โดยการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์พลังไอน้ำ คือการใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดไอน้ำไปสีข้าว ซึ่งได้สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ จากหัวคิดที่ไม่เหมือนใครจึงทำให้กิจการดำเนินไปด้วยดี ท่านผู้นี้ก็คือ นายสุชาติ รัตนปราการ หนุ่มนักเรียนปีนัง
สำหรับต้นตระกูล "รัตนปราการ"เป็นคนจีนฮกเกี้ยน หรือใช้ "แซ่ก๊วย" จากมณฑลฮกเกี้ยน และได้อพยพมาตั้งรกรากที่สงขลา ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2250 ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนคำว่า "ก๊วย" แปลว่า กำแพงเมือง จึงเป็นที่มาของนามสกุล "รัตนปราการ" ซึ่งแปลว่า "กำแพงแก้ว" ส่วนชื่อโรงสี "หับ โห้ หิ้น" เป็นภาษาฮกเกี้ยนเช่นกัน มีผู้แปลความว่าหมายถึง เอกภาพ ความกลมกลืน และความเจริญรุ่งเรือง สอดคล้องกับความเห็นของ อาจารย์สุขสันต์ วิเวกเมธากร ผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษา เจ้าของนามปากกา "เล่าชวนหัว" และเจ้าของโรงเรียนสอนภาษาจีน "สุขสันต์วิทยา" ที่ว่า "หับ" ในภาษาจีนฮกเกี้ยน น่าจะตรงกับคำว่า "ฮะ" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ที่แปลว่า ความสามัคคี สมานฉันท์ ส่วน "โห้" น่าจะตรงกับ "ฮ่อ" หมายถึง ความดี ความเจริญรุ่งเรือง แต่ "หิ้น" อาจจะเป็นคำนาม หมายถึง สวน หรือที่ที่มีคนมาชุมนุมกัน รวมความแล้ว "หับ โห้ หิ้น" ในทัศนะอาจารย์สุขสันต์ ควรจะแปลว่า "สวนสมานฉันท์อันเจริญรุ่งเรือง"
นายสุชาติ รัตนปราการ ดำเนินกิจการโรงสี หับ โห้ หิ้น จนเจริญรุ่งเรืองสมชื่อ โดยรับข้าวเปลือกจากย่านระโนด หัวไทร และพัทลุง บรรทุกลงเรือเอี้ยมจุ๊น ใช้ใบล่องทะเลสาบสงขลามาเทียบท่าเรือด้านหลังของโรงสี มีคนงานเชื้อสายจีนราว 10 คน เปิดเครื่องสีข้าวทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันเป็นเดือนๆ ข้าวที่สีเสร็จจะส่งไปขายนราธิวาส เลยไปถึงมาเลเซีย แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ก็เลิกกิจการไป ดังนั้น "หับ โห้ หิ้น" โรงสีแดงแห่งถนนนครนอก จึงกลายเป็นตำนานในความทรงจำของชาวสงขลา
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับเทศบาลนครสงขลา และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ในการสร้างสรรค์และส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้ชุมชน โดยร่วมกันวางแผนจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา (Songkhla Smart Center) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง และในระหว่างนี้ทั้งสามหน่วยงานจึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายคนรักเมืองสงขลา ดำเนินการจัดทำอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ระยะที่ 1 ณ โรงสีแดง บริเวณถนนนครนอก อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในลักษณะย่อส่วนการดำเนินงานอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา (Songkhla Smart Center) มาไว้ ณ โรงสีแดง เป็นเบื้องต้น เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ แก่เด็ก เยาวชน และ ประชาชน ในการเปิดให้บริการห้องสมุดรูปแบบใหม่ ก่อนนำไปสู่อุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี ข้างหน้านั้น ซึ่งอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ระยะที่ 1 ณ โรงสีแดง ได้มีพิธีเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2558
อุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ระยะที่ 1 ณ โรงสีแดง ตั้งอยู่บนถนนนครนอก ณ อาคารประวัติศาสตร์โรงสีแดง "หับ โห้ หิ้น" ซึ่งเป็นภาษาฮกเกี้ยน อันหมายถึงเอกภาพ ความกลมกลืน และความเจริญรุ่งเรือง ได้ทำการก่อสร้างและตกแต่งพร้อมแล้ว สำหรับส่งมอบความรู้และสานต่อเรื่องราวทางประเพณี ประวัติศาสตร์แก่ลูกหลานชาวสงขลา โดยมีพื้นที่ในการให้บริการ 2 ชั้น ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย มุมเด็ก (Kids Zones) พื้นที่อ่านหนังสือ (Reading Park) ลานสานฝัน โถงนิทรรศการ ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย Lake view Reading Zone พื้นที่อ่านหนังสือ ถูกออกแบบให้มีลักษณะโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันน่าประทับใจของทะเลสาบสงขลา และในบริเวณพื้นที่นี้ มีบริการ ฟรี WIFI สำหรับสมาชิกที่เข้ามาใช้บริการ
เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ : วันที่ 18 ธันวาคม 2558
พื้นที่บริการ : ขนาดพื้นที่ 350 ตารางเมตร
ที่อยู่ : อุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ระยะที่ 1 ณ โรงสีแดง ถนนนครนอก อ.เมือง จ.สงขลา 90000
เวลาทำการ :
วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 11.00 - 19.00 น.
วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 น. - 17.00น.
โทรศัพท์ : 074 312 025 ต่อ 138
โทรสาร : 074 315 570
เว็บไซต์ : www.facebook.com/SongkhlaSmartCenter