[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
ประวัติความเป็นมาห้องสมุดประชาชนอำเภอสทิงพระ

จากประวัติเดิม ห้องสมุดประชาชนของอำเภอสทิงพระ ได้มีชื่อเช่นนี้มาแล้ว ทราบว่าสมัยก่อนนั้นอยู่ในวัดจะทิ้งพระ แล้วมาอยู่ที่สำนักงานศึกษาธิการอำเภอสทิงพระ ทั้งนี้ก็มีแต่ชื่อว่า "ห้องสมุดประชาชนอำเภอสทิงพระ เท่านั้น และมีหนังสือเพียงเล็กน้อย ซึ่งทางราชการให้การสนับสนุน โดยจังหวัดจัดซื้อให้บ้าง อำเภอจัดซื้อจากเงินอุดหนุนบ้าง หนังสือมีบ้าง หายไปบ้าง เพราะไม่มีผู้รับผิดชอบดูแลที่แน่นอน และหาได้มีอาคารเป็นเอกเทศไม่ ในปี พ.ศ.2524 ประมาณเดือนตุลาคม นายน้อม เจริญศรี ศึกษาธิการอำเภอสทิงพระ ย้ายมาจากอำเภอรัตภูมิ มารับตำแหน่งแทน นายบุญชุบ สุจินพรหม ซึ่งย้ายไปอำเภอปราสาทในช่วงนั้น นายสมพงค์ กุลวิจิตร เพิ่งมารับราชการนายอำเภอสทิงพระได้เพียง 4 เดือน เมื่อนายน้อม เจริญศรี มารับตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอ และมีหน้าที่รับผิดชอบงานนี้อยู่ จึงได้มีความคิดร่วมกับนายอำเภอว่า น่าจะมีห้องสมุดประชาชนขึ้นเป็นเอกเทศ เพราะห้องสมุดมีความจำเป็นกับประชาชนมาก ประเทศใดมีห้องสมุดประชาชนมาก ประชาชนจะเป็นคนที่สมบูรณ์มากเช่นเดียวกัน ซึ่งได้หารือกับนายอำเภอที่จะ สร้างห้องสมุดขึ้น ในสถานที่นี้ ซึ่งเดิมเป็นสถานที่ตั้ง หอประชุมชั่วคราว สมัยเมื่อหอประชุมหลังใหม่กำลังวางฐานก่อสร้าง เมื่อหอประชุมหลังใหม่เสร็จ หอประชุมหลังชั่วคราวก็รื้อถอนได้ เป็นห้องสมุด ก็ได้ตามความเหมาะสมในช่วงนั้นเอง ประมาณเดือน พฤศจิกายน 2524 จังหวัดได้มีหนังสือแจ้งอำเภอว่า ให้อำเภอจัดสร้างห้องสมุดประชาชน ในงบประมาณ 900,000 บาท (เก้าแสนบาทถ้วน) แต่อำเภอจะต้องจัดหาทุนสมทบ 250,000 บาท ในวงเงินจำนวนนี้ อำเภอสทิงพระจะจัดหาได้ยากมาก ยังไม่มีทางที่จะจัดหาวิธีไหนได้แต่แนวคิดของ ศึกษาธิการอำเภอว่า น่าจะขอความร่วมมือจาก วัด และประชาชน แต่ก็หาวิธีการดู จากนั้นก็เสนอหนังสือถึง นายอำเภอ และ ได้สั่งการว่าอำเภอนี้ได้กำหนดเป็นพื้นที่ยากจน จะหาเงินได้เพียง 50,000 บาท เท่านั้น ให้รายงาน จังหวัดจากเรื่องจริงอันนี้ ในทางที่ถูกแล้ว ศึกษาธิการอำเภอควรได้เสนอว่า ควรเข้าประชุมก่อน หากที่ประชุมไม่ยอมรับ หรือยอมรับจึงจะรายงานจังหวัด แต่ก่อนเข้าประชุมควรได้มีฐานผู้บริจาคได้ด้วย จากแนวคิดนี้จึงได้หารือกับพระมหาวรรณ ธมมศิริ เจ้าคณะอำเภอในสมัยนั้นและท่านพูดว่า ศึกษาธิการจะหาวิธีไหนตามแต่ แต่อาตมาบริจาค 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) ถ้าเช่นนั้นก็จะหาทุนสมทบแบบถึงตัวบุคคล โดยศึกษาธิการอำเภอจัดการ ทั้งหมดถ้าเช่นนี้ก็ต้องใช้เวลาและอาจกระทบกระเทือนจิตใจบ้าง รายที่ 2 ในวันนั้นพระครูปลัดเฉลียว ภริปณโญ เจ้าอาวาสวัดพังเถียะ ยินดีบริจาค 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเช่นนั้นนายอำเภอควรจัดหา 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ตามที่ท่านพูดไว้ วันต่อมาก็จัดประสานงานเป็นรายที่ 3,4,5, ตามลำดับ เช่น ป้าเห้ง อัตถุพันธ์ ครูเรณู นิลพานิช คุณชูชาติ จำนง คุณซ้อม รักชูชื่น คุณเห้ง โภชนุกูล

พระปลัดเยื้อน เจ้าอาวาสวัดใหม่ เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ทุกวัดก็ร่วมกัน บริจาครายละ 1,000 บาท 500 บาท คุณสมนึก แก้วศรี ก็บริจาค 300 บาท อาจารย์สมลักษณ์ หิตะศักดิ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่รักสนิทมาเที่ยวสทิงพระก็บริจาค 2,000 บาท นายอำเภอก็จัดรื้ออาคารชั่วคราวประมูลไปได้เงิน25,000 บาทก็บริจาคให้ห้องสมุดทั้งหมด ดังปรากฏในกระดานที่ประกาศไว้ ณ ห้องสมุดประชาชน ซึ่งไม่สามารถออกนามได้หมดเมื่อได้ชื่อผู้บริจาคจำนวนประมาณเกือบ 20 รายชื่อ ก็นำเข้าที่ประชุมกรรมการ เพื่อหารือทุนสมทบ ที่ประชุมก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ว่าจะทำอย่างไรดีช่วงเป็นจังหวะดีเหลือเกิน คุณนิวัฒน์ อัตถะพันธ์ ได้มาพบศึกษาธิการอำเภอในที่ประชุมบอกว่า คุณอำนวย สุวรรณคีรี ส.ส.มาให้ไปพบ และเชิญมาในที่ประชุม เมื่อศึกษาธิการเชิญมาพบ นายอำเภอในที่ประชุมก็พูดคำเดียวว่า ยินดีบริจาคให้ 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) คุณวีระ สุพัฒณกุล ส.ส.ก็ให้ 50,000 บาท เช่นเดียวกัน ถึงอย่างไร ส.ส.ที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ศึกษาธิการอำเภอก็ต้องประสานงานอีก จึงเป็นอันว่าอำเภอก็สามารถยืนยันจังหวัดแจ้ง กรมฯได้ว่า สามารถหาเงินสมทบ 250,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ได้แน่นอน ในเมื่อยังไม่ครบตามจำนวน ศึกษาธิการอำเภอก็ต้องวิ่งให้ครบ และต้องใช้วิธีถึงคนเป็นเวลาแรมเดือน ในปี พ.ศ.2525 จึงเปิดการประมูลในวงเงิน 700,000 บาท (เจ็ดแสนบาทถ้วน) (ไม่ใช่เก้าแสน) แต่เงินสมทบยังเท่าเดิม คือ 250,000 บาท เมื่อประมูลแล้วปรากฏว่าเพียง 507,804 บาท (ห้าแสนเจ็ดพันแปดร้อยสี่บาทถ้วน) คือ นายเสริม ขุนราษฎร์ ต่ำกว่า งบประมาณ ลงมือก่อสร้างและวางศิลาฤกษ์ โดยพระมหาวรรณ ธมมศิริ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2525 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 26 มีนาคม 2526 มีกรรมการ 4 คน คือ นายอำเภอสทิงพระ (นายสมพงค์ กุลวิจิตร) นายน้อม เจริญศรี นายวิชิต จิตภักดี นายอารมณ์ จิตภักดี ดำเนินสร้างเสร็จตามกำหนด ในเงินงบประมาณและ เงิน ส.ส. 150,000 บาท ด้วยก็เพียงพอ ยังมีเหลืออีก แต่เบิกตาม-ประมูลได้ ส่วนเงินบริจาคทั้งหมดที่ได้มาและ บางรายเห็นว่ามีเงินพอ ก็ไม่ได้บริจาคก็มี เงินส่วนใหญ่ได้จากเจ้าอาวาสประมาณ 20 กว่าวัด และพ่อค้า ประชาชน ข้าราชการครู ข้าราชการอื่นไม่มี เงินบริจาคได้จัดซื้อเครื่องใช้และอุปกรณ์อื่น เช่น พัดลม ไฟฟ้า อุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดถึงการตกแต่งภายนอก ส่วนการปลูกหญ้า นายอารมณ์ จิตภักดี ได้จัดลูกเสือโรงเรียนมาบริการต่อมาเมื่ออาคารเสร็จแล้ว ก็ได้จัดเจ้าหน้าที่มาช่วยกันมี นางอารมณ์ แดงงาม นางออมสิน สังข์พันธ์ นางพวงจิตร วงศ์ช่วย เจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการอำเภอ ช่วยกันดูแลและช่วยเรื่องนี้มาตลอด เปิดใช้บริการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2526 ต่อมาได้อัตรากำลังมา 1 อัตรา ทำการสอนคัดเลือกปรากฏว่า ได้แก่นายโสภณ สุวรรณรักษ์ เป็นอันดับ 1 และได้รับหน้าที่มาตลอด และ ได้โอนมาจากห้องสมุดประชาชนอำเภอรัตภูมิตั้งแต่ วันที่ 8 มิถุนายน 2526 ต่อมาได้จัดพิธีเปิดป้ายและฉลองอาคาร เมื่อวันศุกร์ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 ตรงกับวันที่ 2 มีนาคม 2527 ซึ่งการกำหนดนี้เกิดตรงกับวันฤกษ์ดีมาก โดยไม่ตั้งใจด้วย ความตั้งใจจะให้ตรงกับวันประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วันเปิดป้ายมี นายเอนก โรจนไพบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน ได้นิมนต์พระมาทุกวัด โต๊ะอิหม่าม วงดุริยางค์โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา กำนัน ครู มาร่วมมากมาย

ผู้ใช้ห้องสมุดส่วนใหญ่ เป็นเด็ก ข้าราชการ ภิกษุสามเณร ส่วนประชาชนได้ใช้น้อย

และห่างไกล ควรได้จัดบริการต่อไปขอให้ห้องสมุดแห่งนี้จงมั่นคงถาวรเป็น ประโยชน์กับพี่น้องประชาชนชาวสทิงพระตลอดไป

นายน้อม เจริญศรี
ศึกษาธิการอำเภอสทิงพระ

(ผู้บันทึกประวัติห้องสมุดประชาชนสทิงพระ รศ. 200 ไว้เมื่อปี 2527 )

พ.ศ.2526 ห้องสมุดประชาชนอำเภอสทิงพระ อยู่ภายในการดูแลของ สำนักงานศึกษาธิการอำเภอสทิงพระ

พ.ศ.2527 ได้โอนห้องสมุดฯให้กับกรมการศึกษานอกโรงเรียน มี นายโสภณ สุวรรณรักษ์ ตำแหน่งนักการภารโรง ปฎิบัติงานในหน้าที่บรรณารักษ์

พ.ศ. 2534 นางปราณี บุญราศรี ได้ย้ายมาลงในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดปฎิบัติงานพัฒนาห้องสมุดฯเรื่อยมา

พ.ศ. 2537 ได้เกิดหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบห้องสมุด คือศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอสทิงพระมี นายหลบ สุวรรณ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ

พ.ศ. 2538 นางปราณี บุญราศรี ได้ขอย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม ต่อมา นางอัจฉรา จุลวรรณโณ ตำแหน่งบรรณารักษ์ มาปฏิบัติหน้าที่แทน ได้พัฒนาและปรับปรุงอาคารสถานที่ ทั้งภายนอกและภายในห้องสมุด จัดทำโครงการส่งเสริมการอ่าน ต่างๆ เพื่อชักจูงให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

พ.ศ.2539 ห้องสมุดประชาชนอำเภอสทิงพระ ได้รับรางวัลห้องสมุดประชาชนดีเด่น จากกรมการศึกษานอกโรงเรียน

.ศ. 2542 ที่ว่าการอำเภอสทิงพระ ได้มีหนังสือมาขอใช้ที่ดินบริเวณอาคารที่ทำการห้องสมุดซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินราชพัสดุของกรมการปกครอง เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอสทิงพระ หลังใหม่ ซึ่งก็ได้รับการยินยอมจากกรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยให้ทางห้องสมุด จัดหาอาคารเพื่อเช่าเป็นที่ทำการ ที่อยู่ในเขตชุมชน ปรากฏว่าอำเภอสทิงพระเป็นอำเภอที่อยู่ในภาวะยากจน ไม่สามารถหาอาคารที่เหมาะสมเพื่อเช่าเป็นที่ทำการได้ แต่ ห้องสมุดประชาชนอำเภอสทิงพระ ก็ได้รับความอนุเคราะห์ จาก นายปรีชา ผลยะฤทธิ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านพังเภา อนุญาตให้ใช้อาคารเอนกประสงค์เป็นที่ทำการชั่วคราวได้จนกว่าจะหาสถานที่เหมาะสมได้

พ.ศ. 2545 ต่อมาในเดือน ตุลาคม 2545 นางอัจฉรา จุลวรรณโณ ได้ดำเนินการประสานงานขอใช้อาคารองค์การบริหารส่วนอำเภอ ( อาคารของอบจ.สงขลา ) เป็นที่ทำการห้องสมุดประชาชน

พ.ศ.2549 ในวันที่ 12 มกราคม 2549 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้มอบอาคารองค์การบริหารส่วนอำเภอสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อใช้เป็นที่ทำการห้องสมุดประชาชนอำเภอสทิงพระโดย นายวินัย ไชยทองผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสงขลาเป็นผู้ลงนามในฐานะผู้รับโอน ตามหนังสือมอบหมาย ที่ ศธ.0210.122/1684 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 และในเดือน เมษายน 2549 ห้องสมุดประชาชนอำเภอสทิงพระ ได้รับจัดสรรงบกลางเป็นงบดำเนินงานเพื่อใช้จ่ายเป็นค่าวัสดุสื่อการเรียนการสอน ค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง จำนวน 144,000.-( หนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันบาทถ้วน) โดยจัดซ่อมและปรับปรุงอาคาร เป็นเงินจำนวน 81,337.-บาท ซื้อสื่อการเรียน 30,000.-บาท ซ่อมครุภัณฑ์ จำนวน 32,663.- บาท

 



เข้าชม : 612
 
 
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสงขลา
เลขที่ 2 ถนนรามวิถี อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000
โทร  0-7431-1046, 0-7431-2822, 0-7431-2596 โทรสาร 0-7432-3713
songkhla@nfe.go.th
Powered by MAXSITE 1.10 Modify by นิกร เกษโกมล Version 2.05