[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

แหล่งเรียนรู้
หัตถกรรมใยตาลสทิงพระ

พฤหัสบดี ที่ 26 เดือน มกราคม พ.ศ.2560


    คนไทยรู้จักตาลโตนดมาครั้งปู่ย่าตายาย หลายคนคุ้นเคยกับต้นตาลโตนดตั้งแต่เล็กจนโตเห็นตาลโตนดยืนต้นอยู่หลายชั่วอายุคนมาแล้ว ต้นตาลโตนดให้ผลผลิตติดต่อกันถึง 80 ปี

          บนคาบสมุทรสทิงพระตอนล่าง  ( อำเภอกระแสสินธุ์  อ. สทิงพระ อ.สิงหนครประชาชนส่วนใหญ่ทำนาน้ำฝนปีละครั้งหลังจากนั้นคนจะว่างงาน ในช่วงนี้เองต้นตาลโตนดจะให้ผลมาก ทั้งลูกทั้งน้ำ จะให้ผลผลิตน้อยในฤดูฝนชาวบ้านก็หันไปทำนาต่อเป็นการเติมช่วงวัฎจักรของอาชีพในรอบปีของชาวบ้าน ตาลโตนดเป็นพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกปีติดต่อกันหลายชั่วอายุคนหรือประมาณ 80 ปี มีสารพัดประโยชน์ ให้ผลผลิตสม่ำเสมอและมั่นคงก่อให้เกิดอาชีพหลากหลายในชุมชน ทั้งอาชีพโดยตรงและอาชีพเสริมได้แก่  เกษตรกรผู้ดำเนินกิจกรรมการเพาะเมล็ดเพื่อให้ได้จาวตาล อาชีพปาดตาล อาชีพทำน้ำตาลโตนด อาชีพขายน้ำตาลโตนด อาชีพเกี่ยวของกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลโตนด เช่นน้ำผึ้ง น้ำตาลปึก น้ำตาลแว่น  หรือขนมต่างๆ เช่นขนมตาล จาวตาลเชื่อม หัตถกรรมจากใยตาล ใบตาล ไม้ตาล ฯลฯ ทำให้มีรายได้สม่ำเสมอผลผลิตและรายได้ไม่ผันผวนมากนัก สามารถผลิตและดำรงชีพอยู่ได้โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลารายงานว่าในปี 2542 เกษตรกรในจังหวัดสงขลามีรายได้จากการประกอบอาชีพจากตาลโตนดเป็นรายได้เสริมรวมประมาณ 394.7 ล้านบาท / ปี

          ตาลโตนดมีถิ่นกำเหนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันออก ต่อมาได้แพร่พันธุ์เข้าไปในอินเดีย ศรีลังกา และกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย ปัจจุบันมีมากในแถบทวีปเอเชีย อินเดีย ศรีลังกา พม่า กัมพูชา มาเลเซีย อิโดนีเซีย และไทย สำหรับในประเทศไทยพบมากในพื้นที่แถบภาคกลางเช่นเพชรบุรี นครปฐม และภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา เป็นต้น

          จากข้อมูลเกษตรจังหวัดสงขลา ปี 2542 จังหวัดสงขลามีตาลโตนดอยู่ประมาณ 3 ล้านต้น ครอบคลุ่มพื้นที่ในจังหวัดสงขลาจำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ สิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธุ์ ระโนด ควนเนียง รัตภูมิ จะนะ เฉพาะอำเภอสทิงพระ มีอยู่ 1,700,000 ต้น

 

 

 

 

        ภาคใต้เป็นแหล่งที่มีต้นตาลโตนดมากแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพร เรื่อยมาจนถึงปัตตานี  ต้นตาลขึ้นได้ดีตามท้องทุ่งทั่วไป  โดยชาวบ้านนิยมปลูกกันตามคันนาเป็นส่วนมาก ในท้องที่บางแห่งมีต้นตาลมากเป็นพิเศษ และกระจายอยู่ทั่วไป เช่น บริเวณอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ด้วยความหนาแน่นของต้นตาล ปรากฏในหลายท้องที่เช่นนี้ทำให้ชาวใต้โดยทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในท้องที่นั้นๆ รู้จักเอาส่วนต่างๆ  ของต้นตาลมาใช้ประโยชน์ อย่างกว้างขวาง และสืบต่อกันเรื่อยมาไม่ว่าจะเป็น ลำต้น ผล งวง ใบ ราก เมล็ด ทางตาล และใยตาล จนกลายเป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน ( ปัจจุบันผู้รู้ทั้งหลาย เรียกว่า “วัฒนธรรมตาลโตนด” )หลายลักษณะซึ่งน่าสนใจไม่น้อยในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก “ใยตาล”  ในลักษณะของ  “  หัตถกรรมใยตาล ”

เ ท่านั้น

       ใยตาลหรือใยโหนด คือ เส้นใยที่ได้จากโคนทางตาลโตนดตั้งแต่ส่วนที่ทางตาลเริ่มแยกออกเป็น  แฉกคล้ายปีกนก ถึงโคนทางซึ่งโอบรัดติดอยู่กับลำต้น  ชาวภาคใต้เรียก ทางตาลโตนด ส่วนนี้ว่า  “ กาบโหนด ”  และ เนื่องจากลักษณะ ของกาบโหนดแยกถ่างออกคล้าย ขากรรไกร  ชาวบ้านจึงเรียกกาบโหนดแต่ละคู่ของแต่ละทางว่า  “ 1  ขาไตร ”  จะเลือกเอาแต่ทางของตาลต้นหนุ่ม โดยนำเอากาบตาลส่วนดังกล่าวมาทุบแล้วดึง “เส้นใย ”  กาบโหนดแต่ละอันจะมีเส้นใย 3 สี คละปนกัน คือ สีขาว น้ำตาล และสีดำ สีเหล่านี้ ต่างกันตามความอ่อนแก่ของเส้นใย มีความเหนียวและทนทานต่างกัน เหมาะที่จะเลือกใช้สอยและประดิษฐ์ลายตามธรรมชาติของสี เรียกเครื่องจักสานที่ทำด้วยใยตาลว่า  หัตถกรรมใยตาล ” 

 

  ความเป็นมาของกลุ่ม หัตถกรรมใยตาล

ในปี พ.. 2527 สอ.สุทิน  หนูเพชร ได้นำเส้นใยตาลโตนด มาจักสานและถักทอเป็นงานหัตถกรรม เช่น  หมวก  กล่องทิชชู กระเป๋า ได้ทำการเผยแพร่ความรู้ในด้านนี้ให้กับสมาชิกในชุมชนอำเภอสทิงพระ จนถึงอำเภอระโนด และกระแสสินธุ์  จนงานหัตถกรรมด้านนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายออกไป  แต่เนื่องในช่วงนั้น การพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ และวิธีการผลิตทำให้การผลิตสินค้าได้ล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการ  สินค้ามีราคาสูง  ไม่มีการวางแผนทางด้านการตลาด ทำให้สมาชิกมีรายได้น้อย ประกอบกับในช่วงนั้นได้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในตัวจังหวัดสงขลา สมาชิกในกลุ่มหันไปใช้แรงในโรงงานมากขึ้นเพราะมีรายได้ดีกว่า จึงทำให้กลุ่มหัตถกรรมใยตาลของ  สอ.สุทิน หนูเพชร  หยุดไป

      ต่อมาในปี 2544 นางเสริญศิริ หนูเพชร ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาด้านหัตถกรรมใยตาลจาก นายสุทิน  หนูเพชร ได้เริ่มนำใยตาลโตนดมาทำเป็นงานหัตถกรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยทำอยู่ที่บ้าน เมื่อผลิตได้มากขึ้น สามารถนำออกจำหน่ายได้จนเป็นที่นิยมซึ่งประกอบกับช่วงนั้น รัฐบาลกำลังส่งเสริมสินค้าที่เป็นงานด้านหัตถกรรมมากขึ้น นางเสริญศิริ จึงได้ชักชวน ชาวบ้านในชุมชน รวมเป็นกลุ่ม หัตถกรรมใยตาล บ้านบ่อใหม่ ขึ้นโดยที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 34  หมู่ที่  บ้านบ่อใหม่  ตำบลดีหลวง  อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา  ซึ่งมีสมาชิกเริ่มแรก ประมาณ  4  -  5  คน สามารถร่วมกันผลิต ชิ้นงาน หัตถกรรมใหม่ ออกมาจนเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค จึงมีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น จนปัจจุบันมีสมาชิก  ทั้งหมด 35  คนต่อมาในปี 2545  ทางกลุ่มฯได้ ออกแบบเครื่องทอ

เส้นใย และทำแบบหุ่นออกมาเหมือนกัน แล้วเอามาแปรรูป เป็นกระเป๋า และผลิตภัณฑ์ อื่นๆอีกมากมายหลายแบบซึ่งบางแบบใช้ประกอบ  ด้วยไม้ ,หนัง หรือผ้า  ต่อมาจึงได้คิดนำใบตาลโตนด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเป๋า โคมไฟ ที่รองจาน และอื่นๆ อีกมาก  ฯ

 

สิ่งที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้

การเอาเส้นใยจากกาบตาล

        1. การคัดเลือกและตัดกาบตาล

 

ในการตัดกาบตาลจะต้องเลือกเอากาบของต้นตาลหนุ่มที่มีความสมบูรณ์เต็มที่  ตาลหนุ่มจะมีอายุประมาณ 5  -  15  ปี ซึ่งสูงประมาณ 1  -  5  เมตร ต้นตาลหนุ่มที่มีความสมบูรณ์จะให้เส้นใยได้มาก เป็นเส้นใยที่มีความยาวไม่แก่หรือไม่อ่อนจนเกินไป และมีสีถึง 3 สี  คือเส้นใยสีดำอยู่บริเวณส่วนหลังของกาบ ( ด้านที่กาบโค้งลง ขึ้นซึ่งผิวกาบเป็นสีดำหรือน้ำตาล ) เส้นใยสีน้ำตาล อยู่ถัดมากลางๆกาบ และเส้นใยสีขาวอยู่บริเวณด้านหน้ากาบ ( ด้านที่กาบโค้งขึ้น ซึ่งผิวกาบเป็นสีขาวหรือขาวแกมเหลืองอ่อน)นอกจากจะดูอายุและความสมบูณณ์ของต้นตาลแล้วเมื่อเมื่อจะตัดเอากาบก็ต้องดูความสมบูรณ์ของแต่ละกาบเป็นพิเศษด้วย โดยพิจารณาถึงความใหญ่และยาวของกาบเป็นสำคัญ  ต้นตาลต้นหนึ่งๆ  จะตัดกาบที่สวยๆ  เหมาะจะเอาเส้นใยได้ประมาณ   1.5  -  2.5  ฟุต  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของกาบดังกล่าวแล้ว

2.             การทุบกาบเอาเส้นใย

 

เอากาบตาลที่เลือกตัดได้ไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ   3 -  5  คืน เพื่อให้กาบพองตัว แล้วนำมาทุบ

                ด้วยท่อนไม้ขนาดพอสมควรมักเป็นไม้กลมหรือไม้ที่ลบเหลี่ยม โดยมีไม้ท่อนโตๆ อีกท่อนหนึ่งเป็นไม้รอง

                ทุบ ในการทุบกาบตาลเพื่อเอาเส้นใยมีหลักสำคัญ ดังนี้

 

 

 

 

 

 

§              ต้องทุบตามความยาวของกาบเพราะถ้าทุบขวางกาบจะทำให้เส้นใยที่รวมตัวอยู่ในกาบมีโอกาสหักได้

§              เริ่มทุบจากโคนกาบ  ( ส่วนของกาบที่อยู่ชิดกับลำต้นซึ่งเป็นส่วนที่โตและหนากว่าปลายกาบอีกด้านหนึ่ง  เพราะจะทำให้กาบแตกตัวได้ง่าย แล้วจึงค่อยทุบที่ส่วนอื่น ของกาบ หรือทุบกลับไปมา ตามความเหมาะสม

§              การทุบกาบของตาลหนุ่ม ต้องเริ่มทุบทางด้านหลังกาบ  โดยทุบแรงๆหลายครั้ง จนกาบเริ่มแตกแล้วจึงเบามือลงแล้วพลิกด้านหน้าทุบสลับกันบ้างเป็นครั้งคราว การทุบกาบด้านหน้าจะกระทำอย่างระมัดระวังไม่ทุบแรงและบ่อยครั้งเหมือนทุบหลังกาบทั้งนี้เพราะเส้นใยสีดำ และสีน้ำตาลซึ่งเป็นเส้นใยที่แข็งจะรวมตัวอยู่หนาแน่นที่หลังกาบถึงกลางๆกาบ ตามลำดับ ส่วนที่บริเวณหน้ากาบเป็นเส้นใยสีขาวซึ่งยังอ่อน ถ้าถูกทุบแรงๆ หรือทุบมากครั้งจะทำให้เส้นใยสีขาวใช้การไม่ได้นอกเสียจากว่า จะเป็นกาบตาลจากต้นที่ มีอายุเกินวัยนี้ ( เกิน 15 ปี ขึ้นไปโดยประมาณ ) เส้นใยสีขาวจะแก่ และแข็งตัวมากขึ้น แต่กาบของต้นตาลอายุขนาดนี้ ไม่นิยมใช้กันนัก ในการทุบกาบตาลเพื่อเอาเส้นใยมาใช้ประโยชน์ในการจักสานนั้น ผู้ทุบจะทุบพอให้กาบแตกสามารถ ดึงเอาเส้นใยได้ง่าย ชาวบ้านเรียกว่า ทุบพอช้ำ ”  เมื่อทุบได้ที่แล้วก็ลอกเอาผิวชั้นนอก ออกก่อนแล้วดึงเอาเส้นใยตามที่ต้องการ

 

การเตรียมเส้นใยเพื่อใช้จักสาน

        เส้นใยที่เพิ่งดึงออกมาจากกาบตาลยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ทันที ต้องมีการเอาเส้นใยเหล่านั้น มาทำให้มีลักษณะเหมาะสม ที่จะใช้จักสานได้ ซึ่งต้องมีขั้นตอนและวิธีการต่างๆ ดังนี้

1.              การขูดขุย ใยตาลที่ได้จากการทุบกาบตาลดังกล่าวแล้วจะมี  “ ขุย ”  เกาะติดอยู่มากจะต้องเอาขุย

ออกเสียก่อน ชาวบ้านเรียกขั้นตอนนี้ว่า การขูดขุย ”  ก่อนที่จะขูดขุยมักเอาเส้นใยนี้ไปตากแดด เสียก่อน โดยตากไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ในขณะที่แดดจ้า เพื่อให้เส้นใยหมาดๆ ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้มีความเหนียว มากขึ้นหลังจากนั้น เอามาแช่น้ำไว้ราว  5  -  10  นาที เพื่อให้ขุยพองตัวจะได้ง่ายต่อการขูดระยะแรก ๆชาวบ้านใช้มีดขูดทีละเส้น ซึ่งทำให้เสียเวลามาก ต่อมาจึงหาวิธีการขูดครั่งละหลายๆเส้น  ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มี วิธี  คือ 

1. เอาไม้ไผ่มาผ่าให้มีลักษณะอย่างไม้ตับเอาใยตาลครั้งละประมาณ 7  -  10  เส้น สอดเข้าระหว่าง  ตับแล้วชักหลายครั้งจนหมดขุย อีกวิธีหนึ่งใช้แผ่นฝอยขัดหม้อโดยเอาใยตาลครั้งละเท่าๆกับวิธีแรกสอดเข้า ระหว่างพับของแผ่นฝอย แล้วชักหลายครั้ง จนหมด ขุยเช่นกัน หลังจากใช้วิธีหนึ่งดังกล่าวแล้วอาจเอาแต่ละเส้นมาพิจารณาเพื่อเก็บขุยอย่างละเอียดอีกครั้ง

  2.การต้มด้วยสารส้ม  หลังจากขูดขุยที่เส้นใยแล้ว บางคนจะเอาเส้นใยไปต้มด้วยสารส้มประมาณ  30  นาที โดยเชื่อว่าสารส้มจะช่วยรักษาสีของเส้นใยและช่วยให้เส้นใยมีความเหนียวทนทานมากขึ้น แต่บางคนจะต้มเส้นใยเฉพาะสีขาวเท่านั้น อย่างไรก็ตามการเอาเส้นใยต้มด้วยสารส้มไม่ถือเป็นขั้นตอนสำคัญ บางคนจึงไม่ปฏิบัติ  โดยเฉพาในช่วงหลังๆมาไม่ค่อยนิยมกันมากขึ้น เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดโดยทั่วไปแล้วว่าใยตาลมีความเหนียวทนทานเป็นพิเศษอยู่แล้ว

 

 

 

3. การชักเรียดและขูดเส้นใย  การเตรียมเส้นใยทั้ง 2 วิธี นี้จัดไว้อยู่ในขั้นเดียวกันได้ เพราะเป็นการปรับแต่งเส้นใยตาลให้มีขนาดและลักษณะเหมาะที่จะนำไปใช้ในการจักสานได้ทันที  อาจใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้ทั้ง  วิธี ก็ได้ในช่วงแรกๆ ที่นิยมจักสานหัตถกรรมใยตาลเพื่อจำหน่าย  ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้วิธี “ชักเรียด” เพื่อให้เส้นใยมีขนาดตามความต้องการ  และเสมอกันตลอดเส้น บางคน เล่าว่าการ ชักเรียดใยตาล นี้ จะชักเรียดเฉพาะเส้นใยสีดำหรือสีน้ำตาลเข้มเท่านั้น เพราะเส้นใยเหล่านี้มักมีขนาดไม่เสมอกันตลอดเส้น ส่วนสีน้ำตาลอ่อน และเส้นสีขาวจะมีขนาดเสมอกันตลอดเส้น จึงไม่นิยมชักเรียด หลังชักเรียดแล้วบางคนจะเอาไปจักสานเลย แต่บางคนจะขูดเส้นเสียก่อนใช้จักสาน โดยการใช้สันมีดขูดทีละเส้น เพื่อให้เส้นใยมีความนิ่มนวลและแบนลงเล็กน้อยสะดวกในการใช้จักสาน

4. การขูดเส้นใย ต่อมาในระยะหลังๆ ไม่คอยนิยมการชักเรียดใยตาลเพราะใยตาลมีความแข็งและเหนียวมากทำให้รูแป้นชักเรียดกว้างออกเร็วมาก ซึ่งต่างกับการชักเรียดย่านลิเพาในปัจจุบันชาวบ้านจึงหา

วิธีการปรับใช้เส้นใยที่เป็นเส้นกลมตามธรรมชาติ  ซึ่งปรากฏว่าใช้ได้ดี และเหมาะสมกับรูปแบบไม่น้อย จึงนิยมใช้กันทั่วไป ส่วนการขูดเส้นใยให้อ่อนนิ่มยังคงมีอยู่บ้าง

 

5. การย้อมสีเส้นใย  เส้นใยตาล ที่นำมาใช้ในการจักสานแต่เดิมมาไม่มีการย้อมสีแต่อย่างใด คงใช้เส้นใยที่มีสีตามธรรมชาติ สีดังกล่าวมาแล้ว มาระยะหลังจึงมีการทดลองเอาเส้นใยเหล่านี้ไปย้อมสีบ้าง ส่วนมากใช้สีที่ย้อมผ้า  ซึ่งอาจผสมผสานกับกรรมวิธีอย่างอื่นด้วย  สีที่ย้อมเช่น สีเหลือง   ชมพู  เขียว  ฟ้า  ฯลฯ แต่ปรากฏว่าการย้อมสีตามกรรมวิธีของชาวบ้านไม่ได้ผลนักจึง ไม่เป็นที่นิยมกันและเลิกรากันไป หันมานิยมใช้เส้นใยสีตามธรรมชาติเช่นเดิม

 

 การจักสานใยตาล

       

หลังจากเตรียมเส้นใยตามขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ก็นำเอาเส้นใยเหล่านั้นมาจักสานเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เท่าที่ทำกันอยู่ขณะนี้เช่น ตะกร้า หมวก กระเป๋าถือ กล่องกระดาษเช็ดมือ ที่รองแก้ว เป็นต้น หรือที่เรียกรวมๆ ว่า  หัตถกรรมใยตาล ”  จะต้องมี ใยตาล เป็นวัสดุหลัก คืออาจจะใช้เฉพาะใยตาลหรือถ้าใช้วัสดุอื่นด้วยก็ได้ แต่ต้องเป็นเพียงวัสดุเสริม เช่นไม้ไผ่ หวาย หรือแม้กระทั่ง ย่านลิเพา เป็นต้น

 

 

 

 

 



เข้าชม : 2983


แหล่งเรียนรู้ 5 อันดับล่าสุด

      หัตถกรรมใยตาลสทิงพระ 26 / ม.ค. / 2560
      ภูมิปัญญาตาลโตนด 11 / ม.ค. / 2560


 
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสงขลา
เลขที่ 2 ถนนรามวิถี อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000
โทร  0-7431-1046, 0-7431-2822, 0-7431-2596 โทรสาร 0-7432-3713
songkhla@nfe.go.th
Powered by MAXSITE 1.10 Modify by นิกร เกษโกมล Version 2.05