กระท่อม เป็นไม้ยืนต้น ที่จัดเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามความใน พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งสิ่งเสพติดในประเภท 5 ได้แก่ กัญชา และพืชกระท่อม
สารเสพติดที่พบ
สารสำคัญที่พบในใบกระท่อมคือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น psilocybin LSD และ ยาบ้า ทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงานทำให้สามารถทำงานได้นานและทนมากขึ้น และทนต่อความร้อนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงทำให้ผู้ที่ใช้ใบกระท่อม สามารถทำงานกลางแจ้ง ได้ทนนานขึ้น ปัจจุบันใบกระท่อมมีปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน อาจเนื่องมาจากมีราคาถูกและทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มได้เช่นเดียวกับสารเสพติดอื่น โดยมักนิยมนำน้ำกระท่อมต้ม ผสมกับโค้ก ยากันยุง และยาแก้ไอ เรียกว่า สี่คูณร้อย (4x100)
ผลจากการเสพ
กระท่อมออกฤทธิ์ประเภทกระตุ้นประสาท การเสพใบกระท่อมมาก ๆ หรือเป็นระยะเวลานาน จะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด นอนไม่หลับ มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผู้ที่รับประทานมีผิวคล้ำและเข้มขึ้นผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณโหนกแก้มมี สีคล้ำขึ้นคล้ายหน้าผู้ป่วยโรคตับ และยังพบอีกว่าเสพกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบก่อน อาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "ถุงท่อม" ในลำไส้ได้ เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้ บางรายจะมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ถ้าหยุดเสพ จะเกิดอาการขาดยา ได้แก่ ไม่มีแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก รู้สึกอ่อนเพลียไม่สามารถทำงานได้ อารมณ์ซึมเศร้า นํ้าตาไหล นํ้ามูกไหล ก้าวร้าว
เข้าชม : 696
|