กระชาย สรรพคุณและประโยชน์ของกระชายเหลือง
กระชาย (กระชายขาว, กระชายเหลือง) ชื่อสามัญ Fingerroot, Chinese ginger, Chinese keys, Galingale
กระชาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
สมุนไพรกระชาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพมหานคร), กระชายดำ กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม), จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ เป๊าะสี่ ระแอน เป๊าะซอเร้าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ละแอน (ภาคเหนือ), ขิงจีน เป็นต้น
ลักษณะของกระชายเหลือง
ต้นกระชาย
มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ มีรากอวบ เป็นรูปทรงกระบอกหรือรูปทรงไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว มีความยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ออกเป็นกระจุก ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มักพบขึ้นในป่าดิบร้อนชื้น
- ใบกระชาย คือลักษณะของส่วนที่อยู่เหนือดิน มีประมาณ 2-7 ใบ ลักษณะของใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปรี ใบยาวประมาณ 12-50 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 5-12 เซนติเมตร โคนใบมนหรือแหลม ส่วนปลายใบเรียวแหลม มีขอบเรียบ เส้นกลางใบ ด้านใบ และกาบใบด้านบนจะเป็นร่อง ส่วนด้านล่างจะนูนเป็นสัน ด้านใบเรียบมีความยาวประมาณ 7-25 เซนติเมตร ส่วนกาบใบเป็นสีชมพูยาวประมาณ 7-25 เซนติเมตร ระหว่างก้านใบและกาบใบจะมีลิ้นใบ
- ดอกกระชาย ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด โดยจะออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ละดอกจะมีใบประดับ 2 ใบ มีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน ๆ เป็นรูปใบหอกกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร ที่กลีบเลี้ยงมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ปลายจะแยกเป็น 3 แฉก ส่วนกลีบดอกมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร และปลายแยกเป็น 3 กลีบ เป็นรูปใบหอก มีขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่มี 1 กลีบ กว้างประมาณ 7 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.8 เซนติเมตร ส่วนอีก 2 กลีบจะมีขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่ 6 อัน แต่มี 5 อันที่เปลี่ยนไปมีลักษณะเหมือนกลีบดอก โดย 2 กลีบบนมีสีชมพู รูปไข่กลับขนาดเท่ากัน มีความกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ส่วนอีก 3 กลีบล่างมีสีชมพูติดกันเป็นกระพุ้ง มีความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.7 เซนติเมตร และที่ปลายจะแผ่กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีสีชมพูหรือสีม่วงแดงเป็นเส้นอยู่เกือบทั้งกลีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกระเปาะและปลายกลีบ จะมีเกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์อยู่ 1 อัน ก้านชูอับเรณูหุ้มก้านเกสรตัวเมีย
- ผลกระชาย ผลแก่จะแตกเป็น 3 เสี่ยง มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่
กระชาย มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายเหลือง (แต่ในบทความนี้เราจะพูดกันถึงกระชายเหลืองครับ) โดยกระชายเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำมาใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในแกงป่า หรือผัดต่าง ๆ โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารกันมากที่สุดคือ รากสะสมอาหาร หรือที่เรียกว่า "นมกระชาย" ซึ่งรากกระชายนี้จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถใช้เป็นผักจิ้มได้โดยตรง แต่คนส่วนใหญ่มักจะนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องแกงซะมากกว่า เพราะมีคุณสมบัติในการช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์เนื้อปลาได้เป็นอย่างดี
กระชายที่นิยมใช้กันก็คือกระชายเหลืองและกระชายดำ ซึ่งกระชายดำปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม จนทำให้กระชายเหลืองถูกลดความสำคัญลงไป แต่ว่ากันว่าในด้านสรรพคุณทางยาสมุนไพร กระชายเหลืองนั้นดีกว่ากระชายดำ เพราะบางทีเราก็คิดไปเองว่าสมุนไพรถ้าเป็นสีเข้มกว่าก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่า แถมกระชายดำยังได้รับการโปรโมตทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทั่วไปหลงคิดว่ากระชายดำนั้นดีกว่ากระชายเหลืองนั่นเอง
สมุนไพรกระชาย มีสรรพคุณทางยานานับประการ จนได้ชื่อในวงการแพทย์แผนไทยว่าเป็น "โสมไทย" เนื่องจากกระชายกับโสมมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง เช่น สรรพคุณในการบำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสมุนไพรทั้งสองชนิด ทั้งกระชายและโสมต่างก็เป็นพืชที่มีส่วนสะสมอาหารที่ใช้เป็นยาอยู่ใต้ดินเหมือนกัน แถมยังสามารถเรืองแสงในที่มืดได้เหมือนกันด้วย และในเรื่องของลักษณะที่คล้ายกับรูปร่างมนุษย์เหมือน ๆ กัน ซึ่งบางครั้งเราจะเรียกโสมว่า "โสมคน" และเรียกกระชายว่า "นมกระชาย" (เนื่องจากกระชายมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับนมผู้หญิงนั่นเอง และบางครั้งก็ดูคล้ายเพศชาย จึงเกิดความเชื่อที่ว่ามันน่าจะมีความเกี่ยวข้องในเรื่องสรรพคุณทางเพศ)
สรรพคุณของกระชาย
1. กระชายมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ
2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
3. กระชายเหลืองมีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน แน่นหน้าอก
4. ช่วยบำรุงกำลัง เสริมสมรรถภาพทางเพศ บำบัดโรคนกเขาไม่ขันหรือโรคอีดี (Erectile Dysfunctional หรือ ED) (เหง้าใต้ดิน)
5. ช่วยบำรุงหัวใจ ด้วยการใช้เหง้าและรากของกระชายนำมาปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด นำมาหั่นตากแห้งแล้วบดจนเป็นผง และให้ใช้ผงแห้งที่เตรียมไว้ประมาณ 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำร้อนครึ่งถ้วยชา แล้วรับประทานเพียงครั้งเดียว (เหง้า, ราก)
6. ช่วยบำรุงกระดูก ช่วยทำให้กระดูกไม่เปราะบาง
7. ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย
8. ช่วยบำรุงกำหนัด แก้อาการกามตายด้าน (เหง้าใต้ดิน)
9. ช่วยบำรุงสมอง เพราะช่วยทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนกลางได้ดีมากขึ้น
10.ช่วยปรับสมดุลของความดันโลหิตในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิตเมื่อความดันโลหิตสูง แต่เมื่อความดันโลหิตต่ำก็จะช่วยทำให้ความดันเพิ่มขึ้นจนเป็นปกติ
11.สรรพคุณกระชายช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ (ใบ)
12.กระชายมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้โรคในปากและคอ เช่น ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากเป็นแผล (ใบ, เหง้า)
13.ช่วยแก้ฝ้าขาวในปาก ด้วยการใช้กระชายที่ล้างสะอาดนำมาบดแบบไม่ต้องปอกเปลือก แล้วใส่ในโถปั่นพอหยาบ แล้วนำมาใส่ขวดปิดฝาแช่ไว้ในตู้เย็น แล้วนำมากินก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนชาเล็ก กินวันละ 3 มื้อก่อนอาหารประมาณ 15 นาที ประมาณ 1 อาทิตย์ (ราก)
14.เหง้าใต้ดินมีรสเผ็ดร้อนและขม มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดท้อง มวนในท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ด้วยการใช้เหง้าและรากประมาณครึ่งกำมือ ถ้าสดให้ใช้ประมาณ 5-10 กรัม แต่ถ้าเป็นแห้งให้ใช้ประมาณ 3-5 กรัม แล้วนำมาต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ หรือจะนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารไว้รับประทานก็ได้เช่นกัน (เหง้าใต้ดิน)
15.ช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน ด้วยการใช้เหง้าสด 1-2 เหง้า ใช้เหง้าที่ปิ้งไฟแล้วนำมาฝนหรือตำผสมกับน้ำปูนใส หรือจะคั้นให้ข้น ๆ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชาก็ได้ (เหง้า, ราก)
16.ช่วยแก้บิด โดยใช้เหง้าสดประมาณ 2 เหง้า นำมาบดจนละเอียดแล้วเติมน้ำปูนใส คั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม (เหง้าสด)
17.ช่วยรักษาอาการท้องเดินในเด็ก (เหง้า, ราก)
18.รากกระชายมีสรรพคุณช่วยแก้โรคกระเพาะ (ราก)
19.ช่วยแก้อาการบิดมูกเลือด (เหง้า, ราก)
20.ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะพิการ (เหง้า, ราก)
21.ช่วยบำรุงตับและไตให้แข็งแรง ช่วยรักษาโรคไต ช่วยทำให้ไตทำงานได้ดียิ่งขึ้น
22.ช่วยป้องกันไทรอยด์เป็นพิษ
23.ช่วยรักษาอาการกระเพาะปัสสาวะเกร็ง ซึ่งในกรณีนี้อาจจะต้องใช้เม็ดบัวที่ต้มแล้วนำมารับประทานร่วมด้วย
24.ช่วยแก้อาการไส้เลื่อนในเพศชาย
25.ช่วยควบคุมไม่ให้ต่อมลูกหมากโต
26.ช่วยบำรุงมดลูกของสตรี ป้องกันไม่ให้มดลูกโต
27.แก้อาการตกขาว ช่วยขับระดูขาวของสตรี (เหง้า)
28.ช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรีหลังคลอดบุตร
29.ใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เหง้าสดประมาณ 60 กรัม (6-8 เหง้า) นำมาผสมกับเนื้อมะขามเปียกประมาณ 60 กรัม เกลือแกง 3 ช้อนแกง และนำมาตำแล้วต้มกับน้ำ 6 แก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 2 แก้ว นำมารับประทานครั้งละครึ่งแก้วก่อนนอน แล้วรับประทานติดต่อกันประมาณ 1 เดือนจนกว่าจะหาย (เหง้าใต้ดิน)
30.ใบช่วยถอนพิษต่าง ๆ (ใบ)
31.ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ด้วยการใช้เหง้าหรือรากแก่ ๆ นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ แล้วนำไปตากแห้งและนำมาชงกับน้ำดื่ม (ราก, เหง้า)
32.ช่วยบำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง
33.เหง้าและรากใช้เป็นยาภายนอก สรรพคุณช่วยรักษาขี้กลาก ขี้เกลื้อน (เหง้า, ราก)
34.ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการใช้รากกระชายทั้งเปลือกมาล้างแล้วผึ่งให้แห้ง ฝานเป็นแว่น ๆ และนำไปบดให้เป็นผงหยาบ ๆ และใช้น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าวมาอุ่นในหม้อใบเล็ก ๆ เติมผงกระชาย ใช้น้ำมัน 3 เท่าของปริมาณกระชาย แล้วนำมาหุงด้วยไฟอ่อน ๆ ราว 15-20 นาที แล้วกรองกระชายออก เก็บน้ำมันไว้ในขวดแก้วสีชา นำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น (ราก)
35.ช่วยแก้อาการคันหนังศีรษะจากเชื้อรา ด้วยการใช้น้ำมันดังกล่าว (จากสูตรรักษาโรคน้ำกัดเท้า) นำมาเข้าสูตรทำเป็นแชมพูสระผม หรือจะใช้น้ำมันกระชายโกรกผมแล้วนวดให้เข้าหนังศีรษะก็ได้ แล้วค่อยล้างออก (น้ำมันกระชาย)
36.ช่วยรักษาฝีด้วยการใช้เหง้ากับรากมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาทาหัวฝีที่บวม จะทำให้หายเร็วยิ่งขึ้น (เหง้า, ราก)
37.เหง้ามีฤทธิ์ในการช่วยต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังและโรคในช่องปากดีพอสมควร (เหง้า)
38.กระชายมีสารที่ออกฤทธิ์ช่วยต้านการก่อการกลายพันธุ์ โดยการบริโภครากกระชายสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้
39.กระชายมีสารที่ออกฤทธิ์ทำให้อนุมูลอิสระเป็นกลาง จึงมีผลช่วยลดความเสียหายของการเกิดอนุมูลอิสระภายในร่างกายได้
40.กระชายมีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ การบริโภคกระชายเป็นประจำอาจได้ผลคล้ายกับการรับประทานยาแอสไพรินและอาจจะช่วยป้องกันการเกิดโรคที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกายได้
41.งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาพบว่าสารสกัดจากกระชายสามารถช่วยต้านการเสื่อมของกระดูกอ่อนในหลอดทดลองได้ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
42.งานวิจัยในประเทศกานาพบว่าสาร Pinostrobin จากรากและใบมีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมาลาเรีย
43.งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มและเมทานอลจากรากของกระชายมีฤทธิ์ในการต้านการเจริญเติบโตของเชื้อ Giardia intestinalis ซึ่งเป็นพยาธิเซลล์เดียวในลำไส้ที่ก่อให้เกิดภาวะท้องเสีย ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
44.งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าสาร Pinostrobin, Pinocembrin, Panduratin A และ Alpinetin ของกระชายนั้นมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด
ประโยชน์ของกระชาย
1. ประโยชน์กระชาย สามารถนำมาทำเป็นน้ำกระชายปั่น ดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่น บำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าได้เป็นอย่างดี
2. น้ำกระชายช่วยทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น ช่วยทำให้เหนื่อยลง
3. ช่วยทำให้เส้นผมแข็งแรง เปลี่ยนผมขาวให้กลับเป็นดำ ช่วยทำให้ผมบางกลับมาหนาขึ้น และช่วยแก้ปัญหาผมหงอก ผมร่วงได้
4. รากนำมาใช้เป็นเครื่องแกงในการประกอบอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาดุก ปลาไหล ปลากุลา เป็นต้น และยังทำให้อาหารมีกลิ่นและรสที่หอมแบบเป็นเอกลักษณ์อีกด้วย
5. รากกระชายสามารถช่วยไล่แมลงได้ ด้วยการนำตะไคร้ ข่า หอมแดง ใบสะเดาแก่ นำมาตำผสมกันแล้วใช้ผสมกับน้ำฉีดในบริเวณที่มีแมลงรบกวน
วิธีทำน้ำกระชาย
1. การทำน้ำกระชายให้เตรียมวัตถุดิบดังนี้ กระชายเหลืองสดครึ่งกิโล (หรือจะใช้สูตรผสมก็ได้ โดยใช้กระชายเหลือง 5 ส่วน กระชายดำ 1 ส่วน และกระชายแดง 1 ส่วน) / น้ำผึ้ง / น้ำมะนาว / น้ำเปล่าต้มสุกที่ทิ้งไว้จนเย็น
2. ขั้นตอนแรกให้นำกระชายมาล้างให้สะอาด ตัดรากที่รกรุงรังออก ตัดหัวและท้ายทิ้งไป ถ้าขูดเปลือกออกบ้างก็จะดีมาก
3. เมื่อเสร็จแล้วนำมาหั่นเป็นท่อน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาปั่น
4. ให้เตรียมผ้าขาวบางรองด้วยกระชอนไว้ให้พร้อม
5. นำกระชายที่เตรียมไว้ใส่ในโถปั่นและผสมกับน้ำเปล่าต้มสุกพอประมาณ แล้วปั่นจนละเอียด
6. เสร็จแล้วให้เทใส่กระชอนที่เตรียมไว้ ถ้าน้ำน้อยก็ให้ผสมน้ำเปล่าลงไปอีก แล้วคั้นเอาแต่น้ำเท่านั้น
7. ที่นี้เราก็จะได้น้ำกระชายเหลืองสด ๆ ซึ่งสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานเป็นเดือน
8. เมื่อจะดื่มก็เพียงแค่นำมาผสมกับน้ำมะนาว น้ำผึ้งในถ้วยแล้วคนให้เข้ากัน แล้วจึงใส่น้ำกระชายตามลงไป
9. เมื่อผสมจนรสชาติกลมกล่อมตามที่ต้องการแล้วก็เป็นอันเสร็จ
10.แต่ถ้ากลัวว่ากลิ่นกระชายจะแรงไป ก็สามารถใช้ใบบัวบกหรือใบโหระพามาปั่นรวมกันก็ได้ตามใจชอบ เพราะไม่มีส่วนผสมที่เป็นสูตรตายตัวเท่าไหร่
Tip : น้ำกระชายไม่ควรเก็บไว้นานมาก เพราะจะทำให้ความซ่าและความหอมของกระชายลดน้อยลง ทำให้เกิดตะกอนที่ก้น ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ควรดื่มให้หมดภายใน 1 อาทิตย์ จะได้ทั้งรสชาติที่ซ่า ดื่มแล้วชื่นใจ พร้อมสรรพคุณอีกเต็ม ๆ ด้วย แต่สำหรับผู้ที่ดื่มน้ำกระชายแล้วมีอาการแปลก ๆ ร้อนวูบวาบ หรือมีอาการเหงื่อออกหรือเรอออกมาก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ หากดื่มไปสักพักเดี๋ยวก็ชินไปเอง
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เต็ม สมิตินันทน์), เว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เว็บไซต์วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดพะเยา, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by FotoosVanRobin, besitai, camillenoir, G''s Garden, Ahmad Fuad Morad)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
เข้าชม : 456
|