“ลดรายจ่ายและสร้างรายได้” เป็นหนึ่งในแนวทางการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนที่ชาวบ้านโคกเมืองเริ่มลองปฏิบัติ ภายใต้ชื่อง่ายๆ ที่เรียกกันติดปากว่า “บ้านตู้เย็น” ซึ่งเปรียบพื้นที่ภายในบ้านของตนเหมือนตู้เย็น เมื่อหิวก็สามารถเปิดหาวัตถุดิบที่หลากหลายมาประกอบอาหารได้ทันที
การทำบ้านตู้เย็นไม่จำเป็นต้องอาศัยบริเวณกว้าง เพียงพื้นที่ขนาดย่อมก็สามารถปลูกพืชผักสวนครัวได้ด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น ผ่ายางรถยนต์ที่ใช้แล้วทำเป็นกระถางปลูกกะเพรา โหระพา ใบเหลียง และใช้แกลบที่เหลือจากการสีข้าวมาทำปุ๋ย ถ้าใครมีพื้นที่กว้างอย่างสวนยาง ก็สามารถปลูกยางแบบเกษตรผสมผสานหรือที่เรียกว่า “พืชร่วมยาง” ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวและต้นไม้สร้างรายได้อื่นๆ เช่น ต้นตะเคียน มะม่วง แทรกระหว่างต้นยาง เพื่อให้ใช้สอยพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า
บ้านของพ่อวิจิตร อินทะโร วัย 67 ปี หนึ่งในสมาชิกบ้านโคกเมืองถือเป็นบ้านตู้เย็นครบวงจร จนกลายเป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบขนาดใหญ่สำหรับครอบครัว และแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจอยากลองนำไปปรับใช้ในบ้านตนเอง พ่อวิจิตรเริ่มต้นจากการปลูกพืช จากนั้นจึงขยับขยายไปสู่การเลี้ยงสัตว์เพื่อกินและจำหน่าย ทั้งการทำบ่อปลาดุก ปลาสวาย ไก่ และวัวที่เลี้ยงอย่างอิสระในพื้นที่สวนหลังบ้านไว้สำหรับเอามูลไปหมักก๊าซชีวภาพโดยเฉพาะ แถมยังมีชันโรง ผึ้งไร้เหล็กในที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูร์ของสภาพแวดล้อม ที่เลี้ยงเอาไว้เพื่อเก็บน้ำผึ้งขาย โดยพ่อวิจิตรจะใช้เครื่องอัดเม็ดผลิตอาหารสัตว์ส่วนหนึ่งเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
การทำบ้านตู้เย็นทำให้ชาวบ้านมีวัตถุดิบที่หลากหลาย จึงไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้ออาหารสด เมื่อเข้าครัวก็สามารถเดินไปเลือกหยิบผักและเนื้อสัตว์ในบ้านได้ตามต้องการ อีกทั้งสามารถลดรายจ่ายจากค่าแก๊สในแต่ละปีได้ด้วย เมื่อวัตถุดิบต่างๆ เหลือก็ยังสามารถนำไปขายที่ตลาดหรือแลกเปลี่ยนเป็นอาหารชนิดอื่นๆ กับชาวบ้านในหมู่บ้านได้
บ้านตู้เย็นทำได้ไม่ยาก ชาวบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมากน้อยต่างกัน ก็สามารถลองทำบ้านตู้เย็นในแบบของตัวเอง โดยอาจเริ่มจากการปลูกผักสวนครัวที่ไม่ซับซ้อน เพื่อลดรายจ่ายเบื้องต้นของครอบครัว ไปจนถึงการลองขยายรูปแบบไปเป็นต้นแบบขนาดใหญ่แบบเดียวกับพ่อวิจิตร และไม่ว่าตู้เย็นหลังนั้นจะเล็กหรือใหญ่ชาวบ้านก็สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนได้
เข้าชม : 497
|