[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 

  

บทความทั่วไป
แนวทางการจัดการขยะมูลฝอย

ศุกร์ ที่ 7 เดือน เมษายน พ.ศ.2560

คะแนน vote : 68  





ดาวน์โหลด สิ่งพิมพ์: การกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนอย่างครบวงจร [pdf: 1.79 MB]

 

การดำเนินงานเพื่อจัดการขยะมูลฝอยที่ผ่านมา ท้องถิ่นส่วนใหญ่สามารถให้บริการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยได้มากขึ้น ทำให้ปัญหาขยะตกค้างน้อยลง แต่ยังมีปัญหากำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกสุขลักษณะอยู่มากตกค้างน้อยลง แต่ยังมีปัญหากำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกสุขลักษณะอยู่มาก แม้จะมีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อก่อสร้างระบบกำจัดที่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น แต่ยังมีหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และยังมีท้องถิ่นหลายแห่งที่มีระบบแล้วก็ไม่สามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้ถูกสุขลักษณะตามที่ได้ออกแบบไว้ได้ และบางแห่งได้รับการต่อต้านคัดค้านจากประชาชนจนไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้

 

ทั้งนี้เนื่องจากการทำโครงการที่ผ่านมามักไม่ได้คำนึงถึงการเตรียมพร้อมที่จะดำเนินงานดูแลรักษาระบบอย่างต่อเนื่องทำให้มีข้อจำกัดทางด้านบุคลากรและองค์กรบริหารจัดการที่ชัดเจน นอกจากนี้การดำเนินงานที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีลักษณะต่างคนต่างทำ ทำให้มีสถานที่กำจัดมูลฝอยที่ไม่ถูกสุขลักษณะขนาดต่าง ๆ กันกระจายทั่วไป ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ มีผลทำให้การจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางมีจำกัดและไม่ต่อเนื่องซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดการขยะมูลฝอย

 

 

จากการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศ ได้ข้อสรุปว่า รูปแบบศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยชุมชน เป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการขยะมูลฝอยที่จะแก้ไขสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเป็นการมุ่งเน้นให้ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกันนำขยะมูลฝอยมากำจัดร่วมกัน ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว และเพื่อเป็นการลดภาระของรัฐบาลด้านการลงทุนและการบริหารจัดการ อีกทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมลงทุนและดำเนินการ โดยรูปแบบการลงทุนและดำเนินการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอาจทำได้หลายวิธี อาทิ เอกชนเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการเองทั้งหมด รัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน รัฐลงทุนการก่อสร้างระบบและให้เอกชนดำเนินการ เป็นต้น

 

 

อย่างไรก็ตามการดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยร่วมกันต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้นจำเป็นต้องกำหนดแนวทางและทิศทางในการดำเนินงานและการจัดสรรงบประมาณโดยใช้รูปแบบศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในโอกาสต่อไป และเป็นการแก้ไขปัญหาผลกระทบอันเนื่องจากการจัดการขยะในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ และถูกหลักสุขาภิบาล สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะชุมชนขนาดเล็ก และยังประหยัดงบประมาณ บุคลากร พื้นที่ในการทำจัดขยะมูลฝอย ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขนามัยของประชาชน

 

 

การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างครบวงจรคู่มือสำหรับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ จะประกอบด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาระบบการจัดการขยะมูลฝอยครบวงจรตั้งแต่ระบบการเก็บรวบรวม การคัดแยก การนำกลับไปใช้ประโยชน์ และรูปแบบศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย แนวทางของการจัดการขยะมูลฝอยโดยรูปแบบศูนย์กำจัดรวมนั้น ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรพิจารณารูปแบบของการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร เพื่อดำเนินการจัดการในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบโดยเริ่มจากการสำรวจข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ และการคาดการณ์ในอนาคต ตลอดจนสัดส่วนหรือลักษณะองค์ประกอบของขยะมูลฝอยทางด้านกายภาพ เคมีและอื่น ๆ โดยข้อมูลเหล่านี้ นำไปใช้ในการวางแผนและออกแบบระบบการจัดการขยะมูลฝอยที่สามารถรับได้ในระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยกการเก็บรวบรวม การขนส่ง การนำไปใช้ประโยชน์และการกำจัด โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม รวมทั้งการคัดเลือกพื้นที่ รูปแบบของการบริหารจัดการ และการมาตรการลดปริมาณขยะมูลฝอย โดยจัดให้มีการรณรงค์และนำระบบการนำวัสดุกลับคืนมาใช้ให้มากขึ้น พร้อมทั้งพิจารณาค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วนตลอดอายุโครงการ

 

1. สถานการณ์ด้านการจัดขยะมูลฝอยของประเทศไทย
2.นโยบายการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย
3.แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร
4.การคัดแยก เก็บรวบรวมและขนส่งขยะมูลฝอย
5. การลดและการใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย
6.เทคโนโลยีการกำจัดขยะมูลฝอย
7. แนวทางการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน
8. แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยจากการก่อสร้างและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง (Construction and Demolition Waste Management)
9. รูปแบบองค์กรและระบบบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอย
10. แนวทางปฏิบัติในการดำเนินการงานศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย


1. สถานการณ์ด้านการจัดขยะมูลฝอยของประเทศไทย

 

ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากชุมชนทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2546 มีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือประมาณ 14.4 ล้านต้น หรือ 39,240 ตันต่อวัน โดยอัตราการเพิ่มปริมาณขยะมูลฝอยเมื่อเปรียบเทียบจากปี พ.ศ. 2545 ทั้งนี้เนื่องจากการส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะมูลฝอยเพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอย และขยะมูลฝอยส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ใหม่มากขึ้น ปริมาณขยะมูลฝอยโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะมูลฝอยลดลงจากเดิมเกือบ 300 ตันต่อวัน ซึ่งเดิมเกิดขึ้นเฉพาะกระบวนการสามล้อรับซื้อตามบ้านมีอัตราการรีไซเคิลร้อยละ 18 ในปี พ.ศ. 2545 เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 19 ในปี พ.ศ. 2546 และวัสดุที่แยก 3 ลำดับแรก คือ เหล็ก กระดาษ และแก้ว การบริหารเก็บขนรวบรวมมูลฝอยทั้งจากบ้านเรือน แหล่งชุมชน และแหล่งสาธารณะยังมีปัญหาด้านประสิทธิภาพการเก็บรวบรวมอันเนื่องมาจากข้อจำกัดในการเก็บค่าบริการทำให้ไม่สามารถพัฒนารูปแบบการให้บริการได้ อย่างไรก็ตามการให้บริการในเขตเมือง มีอัตราการเก็บรวบรวมได้มากขึ้น โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างลดลง

 


การกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขตปริมณฑลทั้งในเขตเมืองใหญ่ เช่น เทศบาลและเขตเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญ ในระดับเทศบาลนคร เทศบาลเมือง จะมีการจัดสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบถูกสุขาภิบาล แต่ยังมีปัญหาในด้านการดำเนินงานการเนื่องจากขาดการบริหารจัดการทั้งในเรื่องงบการดำเนินการและบุคลากร รวมทั้งการเก็บค่าธรรมเนียมขาดประสิทธิภาพ บางแห่งยังมีปัญหามวลชนต่อต้านการแก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีปัญหาเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร ซึ่งต้องการ การประสานเพื่อการจัดระบบที่สมบูรณ์ และการสนับสนุนจากส่วนกลางด้านวิชาการและบริหารจัดการ

สำหรับขยะมูลฝอยอุตสาหกรรม ที่มิใช่ของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม มีการนำของเสีย ของเหลือใช้ไปใช้ประโยชน์ใหม่ในอัตราร้อยละ 40 ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์ และของเสียหรือของเหลือใช้ที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ยังมีอัตราการนำเข้ามาใช้สูงอยู่ ซึ่งหากมีการรวบรวมของเสีย ของเหลือใช้ในประเทศมาแปรรูปใช้ใหม่จะทำให้ปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบลดลงได้ ส่วนขยะมูลฝอยทั่วไปที่มิใช่ของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมขนาดย่อม ยังคงทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยชุมชน แต่จากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีบางแห่งจ้างเอกชนไปทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยชุมชน ซึ่งนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ และอากาศ กรณีมีการเผาเป็นบางครั้งคราว


ปัญหาและสาเหตุ

1. การขาดแคลนที่ดินสำหรับใช้เป็นสถานที่กำจัด
2. การดำเนินการและดูแลรักษาระบบกำจัดไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
3. ขาดบุคลากรระดับปฎิบัติที่มีความรู้ความชำนาญ
4. ข้อจำกัดด้านงบประมาณ
5. แผนการขยะมูลฝอยในระดับท้องถิ่นยังไม่มีการพิจารณาดำเนินการในลักษณะศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม
6. ระเบียบและแนวทางปฎิบัติในเรื่องศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมยังไม่เคยมีการกำหนดขึ้นอย่างชัดเจน
7. ยังมีการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์น้อย
8. กฏหมายที่เกี่ยวข้องไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดการ เช่น ระเบียบให้ท้องถิ่นลงทุนและถิ่นขาดจิตสำนึก ความเข้าใจ และทัศนคติที่มีต่อการจัดการขยะมูลฝอย
9. ประชาชนในท้องถิ่นขาดจิตสำนึก ความเข้าใจ และทัศนคติที่มีต่อการจัดการขยะมูลฝอย
10. ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงต่อต้านการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย


2.นโยบายการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย

 

เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอย สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องโดยสนองตอบต่อเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และเป็นแนวทางสำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 จึงสมควรกำหนดนโยบายการบริหารจัดการขยะมูลฝอยดังนี้

 

นโยบาย

การบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย โดยกำหนดรูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอยแบบศูนย์กำจัดขยะที่ได้รับการศึกษาออกแบบและก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีระบบและมาตรการการป้องกันปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชน และยังสามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนหลาย ๆ แห่งรวมกัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแต่ละชุมชนและไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปในอนาคตโดย
1. ควบคุมการผลิตขยะมูลฝอยของประชาชน
2. สนับสนุนงบประมาณ บุคลากร และวิชาการแก่ท้องถิ่นเพื่อให้มีการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ตั้งแต่การเก็บ การคัดแยก การขนส่ง การนำกลับมาใช้ประโยชน์ และการกำจัดที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความร่วมมือกันในการจัดการขยะมูลฝอยโดยมุ่งเน้นรูปแบบศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนรวม
4. สนับสนุนให้มีกฎระเบียบ และเกณฑ์การจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ

 

ปัญหาและสาเหตุ

1. การขาดแคลนที่ดินสำหรับใช้เป็นสถานที่กำจัด
2. การดำเนินการและดูแลรักษาระบบกำจัดไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
3. ขาดบุคลากรระดับปฏิบัติที่มีความรู้ความชำนาญ
4. ข้อจำกัดด้านงบประมาณ
5. แผนการขยะมูลฝอยในระดับท้องถิ่นยังไม่มีการพิจารณาดำเนินการในลักษณะศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม
6. ระเบียบและแนวทางปฏิบัติในเรื่องศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมยังไม่เคยมีการกำหนดขึ้นอย่างชัดเจน
7. ยังมีการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์น้อย
8. กฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดการ เช่น ระเบียบให้ท้องถิ่นลงทุนและดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยร่วมกัน
9. ประชาชนในท้องถิ่นขาดจิตสำนึก ความเข้าใจ และทัศนคติที่มีต่อการจัดการขยะมูลฝอย
10. ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงต่อต้านการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย

 

เป้าหมาย

1. ควบคุมอัตราการผลิตขยะมูลฝอยให้มีไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อคน ต่อวันภายในปี พ.ศ. 2544
2. ให้มีการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 และ 30 ภายในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2549 ตามลำดับ
3. ควบคุมปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างในเขตเทศบาลไม่เกินร้อยละ 10 และ 5 ภายในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2549 ตามลำดับ
4. ให้ทุกจังหวัดมีแผนงานการจัดการขยะมูลฝอยในรูปแบบศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ส่วนกลางสำหรับท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถใช้ร่วมกันได้ โดยสนับสนุนให้มีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนจังหวัดทั้งหมดในปี พ.ศ. 2549 (หรือ 38 จังหวัด)

 

มาตรการที่จะเสริมให้สามารถนำแนวนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

1. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยใช้ร่วมกันหลายชุมชน
2. ส่งเสริมการลงทุนร่วมจากภาคเอกชนในการกำจัดขยะมูลฝอย และนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์
3. สนับสนุนภาคเอกชนดำเนินธุรกิจการจัดการขยะมูลฝอย การติดตามตรวจสอบ
4. ใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายอย่างยุติธรรมและเสมอภาค
5. ปรับปรุงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับอัตราค่าธรรมเนียมค่าบริการเก็บขนส่งและกำจัดให้สอดคล้องกับค่าดำเนินการ
6. ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องแก่เยาวชน โดยให้การศึกษาและรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือปฏิบัติ รวมทั้งให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
7. ฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชน
8. สนับสนุนการศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการขยะมูลฝอยอย่างมีระบบ

 



3.แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร

 

เน้นรูปแบบของการวางแผนจัดการขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะต้องส่งเข้าไปทำลายด้วยระบบต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด สามารถนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ทั้งในส่วนของการใช้ซ้ำและแปรรูปเพื่อใช้ใหม่ (Reuse & Recycle) รวมถึงการกำจัดที่ได้ผลพลอยได้ เช่น ปุ๋ยหมัก หรือพลังงาน โดยสรุปวิธีการดำเนินการตามแนวทางมีดังนี้ คือ

 

3.1การลดปริมาณการผลิตมูลฝอย รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดการผลิตมูลฝอยในแต่ละวันได้แก่

3.1.1 ลดการทิ้งบรรจุภัณฑ์โดยการใช้สินค้าชนิดเติมใหม่ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดและถ่านไฟฉายชนิดชาร์ตใหม่ เป็นต้น
3.1.2 เลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพมีห่อบรรจุภัณฑ์น้อย อายุการใช้งานยาวนาน และตัวสินค้าไม่เป็นมลพิษ
3.1.3 ลดการใช้วัสดุกำจัดยาก เช่น โฟมบรรจุอาหาร และถุงพลาสติก

 

3.2 จัดระบบการรีไซเคิล หรือการรวบรวมเพื่อนำไปสู่การแปรรูปเพื่อใช้ใหม

3.2.1 รณรงค์ให้ประชาชนแยกของเสียนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น กระดาษ พลาสติก และโลหะ นำไปใช้ซ้ำ หรือนำไปขาย/รีไซเคิล ขยะเศษอาหารนำมาหมักทำปุ๋ย ในรูปปุ๋ยน้ำ หรือปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในชุมชน
3.2.2 จัดระบบที่เอื้อต่อการทำขยะรีไซเคิล
1. จัดภาชนะ (ถุง/ถัง) แยกประเภทขยะมูลฝอยที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน
2. จัดระบบบริการเก็บโดย

คลิกที่นี่เพื่อขยายแผนผัง
    • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเอง โดยการจัดเก็บแบ่งเวลาการเก็บ เช่น หากแยกเป็นถุง 4 ถุง ขยะย่อยสลายได้ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ให้จัดเก็บขยะย่อยสลายและขยะทั่วไปทุกวัน ส่วนขยะรีไซเคิลและขยะอันตราย อาจจัดเก็บสัปดาห์ละครั้งหรือตามความเหมาะสม
    • จัดกลุ่มประชาชนที่มีอาชีพรับซื้อของเก่าให้ช่วยเก็บขยะรีไซเคิลในรูปของการรับซื้อ โดยการแบ่งพื้นที่ในการจัดเก็บและกำหนดเวลาให้เหมาะสม
    • ประสานงานกับร้านค้าที่รับซื้อของเก่าที่มีอยู่ในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียงในการรับซื้อขยะรีไซเคิล
    • จัดระบบตามแหล่งการเกิดขยะขนาดใหญ่ เช่น ตลาด โรงเรียน สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
3.2.3 จัดกลุ่มอาสาสมัครหรือชมรมหรือนักเรียนให้มีกิจกรรม/โครงการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ใหม่ เช่น
    • โครงการขยะรีไซเคิลแลกสิ่งของ เช่น ต้นไม้ ไข่
    • โครงการทำปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยอีเอ็ม ขยะหอม ปุ๋ยหมัก
    • โครงการตลาดนัดขยะรีไซเคิล
    • โครงการธนาคารวัสดุเหลือใช้
    • โครงการร้านค้าสินค้ารีไซเคิล
3.2.4 จัดตั้งศูนย์รีไซเคิล

หากพื้นที่ที่ปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นในแต่ละวันเป็นปริมาณมากๆ อาจจะมีการจัดตั้งศูนย์คัดแยกขยะมูลฝอยซึ่งสามารถจะรองรับจากชุมชนใกล้เคียงหรือรับซื้อจากประชาชนโดยตรงซึ่งอาจจะให้เอกชนลงทุนหรืออาจให้สัมปทานเอกชนก็ได้

 




คลิกที่นี่เพื่อขยายแผนผัง
3.3 การขนส่ง
3.3.1 ระยะทางไม่ไกลให้รถขนส่งขยะมูลฝอยไปยังสถานที่กำจัดโดยตรง
3.3.2 ระยะทางไกลและมีปริมาณขยะมูลฝอยมากอาจจะต้องสร้างสถานีขนถ่าย เพื่อถ่ายเทจากรถเก็บขนขยะมูลฝอยลงสู่รถบรรทุกขนาดใหญ่

3.4 ระบบกำจัด

เนื่องจากขยะมูลฝอยใช้ประโยชน์ใหม่ได้จึงควรจัดการเพื่อกำจัดทำลายให้น้อยที่สุด ควรเลือกระบบกำจัดแบบผสมผสานเนื่องจากปัญหาขาดแคลนพื้นที่ จึงควรพิจารณาปรับปรุงพื้นที่กำจัดมูลฝอยที่มีอยู่เดิม และพัฒนาให้เป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย โดยมีขั้นตอนดังนี้

 

 

3.4.1 จัดระบบคัดแยกขยะมูลฝอย
3.4.2ระบบกำจัดผสมผสานหลาย ๆ ระบบในพื้นที่เดียวกัน ได้แก่ หมักทำปุ๋ย ฝังกลบ และวิธีอื่น ๆ เป็นต้น

 



4.การคัดแยก เก็บรวบรวมและขนส่งขยะมูลฝอย

 

ในการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร จำเป็นต้องจัดให้มีระบบการคัดแยกขยะมูลฝอยประเภทต่างๆ ตามแต่ลักษณะองค์ประกอบโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่แหล่งกำเนิด โดยจัดวางภาชนะให้เหมาะสม ตลอดจนวางระบบการเก็บรวบรวมมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับระบบการคัดแยกขยะมูลฝอย พร้อมทั้งพิจารณาควรจำเป็นของสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยและระบบขนส่งขยะมูลฝอยไปกำจัดต่อไป

 

4.1 หลักเกณฑ์ มาตรฐาน ภาชนะรองรับขยะมูลฝอย

 

4.1.1 ภาชนะรองรับขยะมูลฝอย
1) ถังขยะ
เพื่อให้การจัดเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดการปนเปื้อนของขยะมูลฝอยที่มีศักยภาพในการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่จะต้องมีการตั้งจุดรวบรวมขยะมูลฝอย (Station) และให้มีการแบ่งแยกประเภทของถังรองรับขยะมูลฝอยตามสีต่าง ๆ โดยมีถุงบรรจุภายในถังเพื่อสะดวกและไม่ตกหล่น หรือแพร่กระจาย ดังนี้

 

สีเขียว รองรับขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น ผัก ผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ สีเหลือง รองรับขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือขายได้ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ
สีเทาฝาสีส้ม รองรับขยะที่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขวดยา ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง ภาชนะบรรจุสารอันตรายต่าง ๆ สีฟ้า รองรับขยะย่อยสลายไม่ได้ ไม่เป็นพิษและไม่คุ้มค่าการรีไซเคิล เช่น พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติก โฟมและฟอล์ยที่เปื้อนอาหาร

 

นอกจากนี้ยังมีถุงพลาสติกสำหรับรองรับขยะมูลฝอยในแต่ละถัง โดยมัดปากถุงสีเดียวกับถังที่รองรับมูลฝอยตามประเภทดังกล่าวข้างต้น
ในกรณีที่สถานที่มีพื้นที่จำกัดในการจัดวางภาชนะรองรับขยะมูลฝอยและมีจำนวนคนที่ค่อนข้างมากในบริเวณพื้นที่นั้น เช่น ศูนย์การประชุมสนามบิน ควรมีถังที่สามารถรองรับขยะมูลฝอยได้ทั้ง 4 ประเภทในถังเดียวกัน โดยแบ่งพื้นที่ของถังขยะมูลฝอยออกเป็น 4 ช่อง และตัวถังรองรับขยะมูลฝอยทำด้วยสแตนเลส มีฝาผิดแยกเป็น 4 สี ในแต่ละช่องตามประเภทของขยะมูลฝอยที่รองรับ ดังนี้

 

  • ฝาสีเขียว รองรับขยะมูลฝอยที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว
  • ฝาสีเหลือง รองรับขยะมูลฝอยที่สามารถนำรีไซเคิล หรือขายได้
  • ฝาสีแดงรองรับขยะมูลฝอยที่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
  • ฝาสีฟ้ารองรับขยะมูลฝอย ที่ย่อยสลายไม่ได้ ไม่เป็นพิษและไม่คุ้มค่าการรีไซเคิลและมีสัญลักษณ์ข้างถัง
สำหรับสถานที่บางแห่งควรมีคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ตั้งไว้ สำหรับให้ประชาชนทิ้งขยะมูลฝอย
แยกประเภทด้วย รายละเอียดดังตาราง
ประเภท/ขนาด สถานที่รวบรวม หมายเหตุ
1. ถังคอนเทนเนอร์ ความจุ 4,000 - 5,000 ลิตร ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ตลาด ภัตตาคาร สนามกีฬา มี 4 ตอน สำหรับใส่ขยะมูลฝอย 4 ประเภท
2. ถังขนาดความจุ 120 - 150 ลิตร ห้างสรรพสินค้าสถานศึกษา สนามกีฬา โรงแรม โรงพยาบาล สถานีบริการน้ำมันทางเข้าหมู่บ้าน ถังสีเขียว เหลือง เทาผ่าส้ม ฟ้า หรือถัง เทาหรือครีมคาดสีเขียว เหลือง ส้ม ฟ้า
3. ถังพลาสติกความจุ 50 - 60 ลิตร จุดที่กลุ่มชนส่วนใหญ่มีกิจกรรมร่วมกันเป็นโครงการ โรงภาพยนต์ ฯลฯ ถังสีเขียว เหลือง เทาฝาสีส้ม ฟ้า
4.ถุงพลาสติ ครัวเรือน ถุงสีเขียว เหลือง แดง ฟ้า หรือถุงดำ คาดปากถุงด้วยเชือกสีเขียว เหลือง แดง ฟ้า

 

2) ถุงขยะ

 

 

สำหรับคัดแยกขยะมูลฝอยฝนครัวเรือนและจะต้องมีการคัดแยกรวบรวมใส่ถุงขยะมูลฝอยตามสีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

  • ถุงสีเขียว รวบรวมขยะมูลฝอยที่เน่าเสีย และย่อยสลายได้เร็วสามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น ผัก ผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้
  • ถุงสีเหลือง รวบรวมขยะมูลฝอยที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือขายได้ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ อลูมิเนียม
  • ถุงสีแดง รวบรวมขยะมูลฝอยที่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขวดยา ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องสารฆ่าแมลง ภาชนะบรรจุสารอันตรายต่าง ๆ
  • ถุงสีฟ้า รวบรวมขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายไม่ได้ไม่เป็นพิษและไม่คุ้มค่าการรีไซเคิล เช่น พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติก โฟมและฟอล์ยที่เปื้อนอาหาร
4.12. เกณฑ์มาตรฐานภาชนะรองรับขยะมูลฝอย
  • ควรมีสัดส่วนของถังขยะมูลฝอยจากพลาสติกที่ใช้แล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยน้ำหนัก
  • ไม่มีส่วนประกอบสารพิษ (toxic substances) หากจำเป็นควรใช้สารเติมแต่งในปริมาณที่น้อยและไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
  • มีความทนทาน แข็งแรงตามมาตรฐานสากล
  • มีขนาดพอเหมาะมีความจุเพียงพอต่อปริมาณขยะมูลฝอย สะดวกต่อการถ่ายเทขยะมูลฝอยและการทำความสะอาด
  • สามารถป้องกัน แมลงวัน หนู แมว สุนัข และสัตว์อื่น ๆ มิให้สัมผัสหรือคุ้ยเขี่ยขยะมูลฝอยได้

 

 

4.1.3 จุดรวบรวมขยะมูลฝอยขนาดย่อม
เพื่อสะดวกในการเก็บรวบรวมและประหยัด จึงต้องมีการตั้งจุดรวมรวบขยะมูลฝอยขึ้นโดยจุดรวบรวมขยะมูลฝอยจะกำหนดไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ หมู่บ้าน โรงอาหาร โรงภาพยนต์ โดยมีภาชนะรองรับตั้งไว้เป็นจุด ๆ เช่น หมู่บ้านจัดสรร กำหนดให้จุดรวบรวม 1 จุด ต่อจำนวนครัวเรือน 50 - 80 หลังคาเรือน จุดแรกจะตั้งที่ปากประตูทางเข้าหมู่บ้าน สำหรับอพาร์ตเมนต์จะตั้งที่ลานจอดรถ บ้านที่อยู่ในซอยจุดแรกจะตั้งหน้าปากซอย แต่ละครัวเรือนจะรวบรวมขยะมูลฝอยที่คัดแยกได้ โดยถุงพลาสติกตามประเภทของสีต่าง ๆ มาทิ้งที่จุดรวบรวมขยะมูลฝอย

 

 

4.1.4 การแปรสภาพขยะมูลฝอย ในการจัดการขยะมูลฝอย อาจจัดให้มีระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการแปรสภาพขยะมูลฝอยคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพลักษณะทางกายภาพเพื่อลดปริมาณเปลี่ยนรูปร่าง โดยวิธีคัดแยกเอาวัสดุที่สามารถหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ออกมา วิธีการบดให้มีขนาดเล็กลง และวิธีอัดเป็นก้อนเพื่อลดปริมาตรของขยะมูลฝอยได้ร้อยละ 20-75 ของปริมาตรเดิมทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องมือและลักษณะของขยะมูลฝอย ตลอดจนใช้วิธีการห่อหุ้มหรือการผูกรัดก้อนขยะมูลฝอยให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ผลที่ได้รับจากการแปรสภาพมูลฝอยนี้ จะช่วยให้การเก็บรวบรวม ขนถ่าย และขนส่งได้สะดวกขึ้น สามารถลดจำนวนเที่ยวของการขนส่ง ช่วยให้ไม่ปลิวหล่นจากรถบรรทุก
และช่วยรีดเอาน้ำออกจากขยะมูลฝอย ทำให้ไม่มีน้ำชะมูลฝอยรั่วไหลในขณะขนส่ง ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบ โดยสามารถจัดวางซ้อนได้อย่างเป็นระเบียบจึงทำให้ประหยัดเวลา และค่าวัสดุในการกลบทับ และช่วยยืดอายุการใช้งานของบ่อฝังกลบได้อีกทางหนึ่งด้วย
การพิจารณาเครื่องมือแปรสภาพขยะมูลฝอยสามารถเลือกใช้ได้ตามองค์ประกอบและลักษณะสมบัติขยะมูลฝอย ประเภทของแหล่งกำเนิด สถานที่ตั้งระบบใดมีปัจจัยที่ควรพิจารณาดังนี้

  • ความสามารถในการทำงาน : เครื่องมือจะช่วยทำงานอะไรบ้างให้ได้งานที่ดีขึ้นกว่าเดิม
  • ความเชื่อถือได้: ต้องการบำรุงรักษามากน้อยเพียงไร
  • การบริการ : การตรวจเช็คและซ่อมแซม สามารถทำได้เอง และผู้ขายมีบริการหลังการขาย
  • ความปลอดภัย : เครื่องมือมีระบบป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้งาน ซึ่งอาจเกิดการเลินเล่อหรือขาดความรู้ความเข้าใจ
  • ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม : ไม่ก่อให้เกิดเสียงดังกลิ่นรบกวน หรือมลพิษอื่น ๆ
  • ความสวยงาม : เครื่องมือไม่ดูเทอะทะก่อความรำคาญให้กับสายตา
  • ค่าใช้จ่าย : ต้องคำนึงถึงเงินลงทุนและค่าบำรุงรักษารายปีอยู่ในระดับราคาที่ยอมรับได้


5. การลดและการใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย

5.1 การลดปริมาณขยะมูลฝอย

 

การลดปริมาณขยะมูลฝอยให้ได้ผลดีต้องเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน ทำให้ได้วัสดุเหลือใช้ที่มีคุณภาพสูง สามารถนำไป Reused-Recycle ได้ง่าย รวมทั้งปริมาณขยะมูลฝอยที่จะต้องนำไปกำจัดมีปริมาณน้อยลงด้วย ซึ่งการคัดแยกขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดนั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละชุมชน เช่น ครัวเรือน ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน บริษัท สถานที่ราชการต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งปริมาณ และลักษณะสมบัติขยะมูลฝอยที่แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้การคัดแยกขยะมูลฝอยสามารถดำเนินการได้ 4 ทางเลือก คือ

 

 

ทางเลือกที่ 1 การคัดแยกขยะมูลฝอยทุกประเภทและทุกชนิด
ทางเลือกที่ 2 การคัดแยกขยะมูลฝอย 4 ประเภท (Four cans)
ทางเลือกที่ 3 การคัดแยกขยะสด ขยะแห้ง และขยะอันตราย (Three cans)
ทางเลือกที่ 4 การคัดแยกขยะสดและขยะแห้ง (Two cans)

 

ตารางเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก
ทางเลือกที่ รูปแบบ ภาชนะรองรับ ขยะมูลฝอย ข้อดี ข้อเสีย สรุปผลงาน
1.
แยกขยะมูลฝอยที่ใช้ได้ไหม่ทุกประเภทและแยกขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดแต่ละวิธีได้ แบ่งตามประเภทขยะมูลฝอย วัสดุที่นำกลับไปใช้ประโยชน์มีคุณภาพดีมาก -พาหนะเก็บขนต้องมีประสิทธิภาพสูงสามารถเก็บขนมูลฝอยที่แยกได้หมด
- เพิ่มจำนวนภาชนะรองรับขยะมูลฝอยมากขึ้น
ดีมาก
2.
แยกขยะมูลฝอย4 ประเภท (Four cans) แบ่งเป็นถังขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะย่อยสลายได้และขยะอันตราย วัสดุที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่มีคุณภาพดี -เพิ่มจำนวนภาชนะรองรับขยะมูลฝอยมากขึ้น ดี
3.
แยกขยะสด ขยะแห้งและขยะอันตราย (Three cans) แบ่งเป็นถังขยะสด ขยะแห้ง และขยะอันตราย ง่ายต่อการนำขยะสดไปใช้ประโยชน์และขยะอันตรายไปกำจัด - วัสดุที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ยังปะปนกันอยู่ไม่ได้แยกประเภท พอใช้
4.
แยกขยะสดและขยะแห้ง (Two cans) แบ่งเป็นถังขยะแห้งและขยะเปียก ง่ายต่อการนำขยะเปียกใช้ประโยชน์ - สับสนต่อนิยามคำว่าขยะเปียก ขยะแห้งทำให้ทิ้งไม่ถูกต้องกับถังรองรับ ต้องปรับปรุง

 

จากตารางข้างต้น จะเห็นว่า ทางเลือกที่ 1 สามารถรวบรวมวัสดุที่จะนำมาใช้ใหม่ได้ในปริมาณมาก และมีคุณภาพดีมาก แต่เนื่องจากประชาชนอาจจะยังไม่สะดวกต่อการคัดแยกขยะมูลฝอยทุกประเภท ดังนั้น ในเบื้องต้นเพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยต่อการคัดแยกขยะมูลฝอยควรเริ่มที่ทางเลือกที่ 2 คือแบ่งการคัดแยกออกเป็น 4 กลุ่ม (ขยะรีไซเคิล ขยะย่อยสลายได้ ขยะทั่วไป และขยะอันตราย) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่สามารถนำขยะมูลฝอยกลับไปใช้ประโยชน์ได้ใหม่และสะดวกต่อการกำจัด อย่างไรก็ตามการจะปรับปรุงรูปแบบการจัดวางภาชนะรองรับขยะมูลฝอยหรือไม่นั้นจะต้องประเมินผลโครงการในระยะแรกก่อน

 

5.2 การนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

 

การนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่มีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับสภาพและลักษณะสมบัติของขยะมูลฝอยซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 5 แนวทางหลัก ๆ คือ

 

  • 1.การนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Material Recovery) เป็นการนำมูลฝอยที่สามารถคัดแยกได้กลับมาใช่ใหม่ โดยจำเป็นต้องผ่านกระบวนการแปรรูปใหม่ (Recyele) หรือแปรรูป (Reuse) ก็ได้
    (การทำสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้)
  • 2.การแปรรูปเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน (Energy Recovery) เป็นการนำขยะมูลฝอยที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนหรือเปลี่ยนเป็นรูปก๊าซชีวภาพมาเพื่อใช้ประโยชน์
  • 3.การนำขยะมูลฝอยจำพวกเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานหรือการประกอบอาหารไปเลี้ยงสัตว์
    (การเลี้ยงสัตว์ด้วยมูลฝอยอินทรีย์)
  • 4.การนำขยะมูลฝอยไปปรับสภาพให้มีประโยชน์ต่อการบำรุงรักษาดิน เช่น การนำขยะมูลฝอยสดหรือเศษอาหารมาหมักทำปุ๋ย (การทำปุ๋ยหมัก)
  • 5.การนำขยะมูลฝอยปรับปรุงพื้นที่โดยนำขยะมูลฝอยมากำจัดโดยวิธีฝังกลบอย่างถูกหลักวิชาการ (Sanitary landfill) จะได้พื้นที่สำหรับใช้ปลูกพืช สร้างสวนสาธารณะ สนามกีฬา เป็นต้น


6.เทคโนโลยีการกำจัดขยะมูลฝอย

 

เทคโนโลยีการกำจัดขยะมูลฝอย สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระบบใหญ่ คือ

 

1.ระบบหมักทำปุ๋ย

 

เป็นการย่อยสลายอินทรีย์สารโดยขบวนการทางชีววิทยาของจุลินทรีย์เป็นตัวการย่อยสลายให้แปรสภาพเป็นแร่ธาตุที่มีลักษณะค่อนข้างคงรูป มีสีดำค่อนข้างแห้ง และสามารถใช้ในการปรับปรุงคุณภาพของดิน ขบวนการหมักทำปุ๋ยสามารถแบ่งเป็น 2 ขบวนการ คือขบวนการหมักแบบใช้ออกซิเจน (Aerobic Decomposition) ซึ่งเป็นการสร้างสภาวะที่จุลินทรีย์ชนิดที่ดำรงชีพโดยใช้ออกซิเจนย่อยสารอาหารแล้วเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายสภาพเป็นแร่ธาตุเป็นขบวนการที่ไม่เกิดก๊าซกลิ่นเหม็น ส่วนอีกขบวนการเป็นขบวนการหมักแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Decomposition)

 

เป็นการสร้างสภาวะให้เกิดจุลินทรีย์ชนิดที่ดำรงชีพโดยใช้ออกซิเจน เป็นตัวช่วยย่อยสารอาหาร และแปรสภาพกลายเป็นแร่ธาตุขบวนการนี้มักจะเกิดก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น เช่น ก๊าซไข่เน่า (Hydrogen Sulfide: H2S) แต่ขบวนการนี้จะมีผลดีที่เกิดก๊าซมีเทน (Methane gas) ซึ่งเป็นก๊าซที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงได้

 

2.ระบบการเผาในเตาเผา

 

เป็นการทำลายขยะมูลฝอยด้วยวิธีการเผาทำลายในเตาเผาที่ได้รับการออกแบบก่อสร้างที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยต้องให้มีอุณหภูมิในการเผาที่ 850 - 1,200 องศาเซลเซียส เพื่อให้การทำลายที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ในการเผามักก่อให้เกิดมลพิษด้านอากาศได้แก่ ฝุ่นขนาดเล็ก ก๊าซพิษต่างๆ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfer dioxide: SO2) เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังอาจเกิดไดออกซิน (Dioxins) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและเป็นสารที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและดักมิให้อากาศที่ผ่านปล่องออกสู่บรรยากาศมีค่าเกินกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศจากเตาเผาที่กำหนด


 

3.ระบบฝังกลบอย่างถูกสุขาภิบาล (Sanitary Landfill)

 

เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยโดยการนำไปฝังกลบในพื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกตามหลักวิชาการทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และการยินยอมจากประชาชน จากนั้นจึงทำการออกแบบและก่อสร้าง โดยมีการวางมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น การปนเปื้อนของน้ำเสียจากกองขยะมูลฝอยที่เรียกว่า น้ำชะขยะมูลฝอย (Leachate) ซึ่งถือว่าเป็นน้ำเสียที่มีค่าความสกปรกสูงไหลซึมลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน ทำให้คุณภาพน้ำใต้ดินเสื่อมสภาพลงจนส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้น้ำเพื่อการอุปโภค และบริโภค
นอกจากนี้ยังต้องมีมาตรการป้องกันน้ำท่วม กลิ่นเหม็น และผลกระทบต่อสภาพภูมิทัศน์ รูปแบบการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล อาจใช้วิธีขุดให้ลึกลงไปในชั้นดินหรือการถมให้สูงขึ้นจากระดับพื้นดิน หรืออาจจะใช้ผสมสองวิธี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ

ตารางแสดงสรุปข้อเปรียบเทียบวิธีการกำจัดขยะมูลฝอย
ข้อพิจารณา วิธีการกำจัดมูลฝอย
การเผา การหมักปุ๋ย การฝังกลบ
1. ด้านเทคนิค
1.1 ความยากง่ายในการดำเนินการและซ่อมบำรุง

- ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูงการเดินเครื่องยุ่งยาก

- ใช้เทคโนโลยีสูงพอควร
>
- ใช้เทคโนโลยีไม่สูงนัก
 
- เจ้าหน้าที่ควบคุมต้องมีความชำนาญสูง

- เจ้าหน้าที่ควบคุมต้องมีระดับความรู้สูงพอควร

- เจ้าหน้าที่ควบคุมระดับความรู้ธรรมดา
1.2. ประสิทธิภาพในการกำจัด
- ปริมาณมูลฝอยที่กำจัดได้

- ลดปริมาตรได้ 60 - 65% ที่เหลือต้องนำไปฝังกลบ

- ลดปริมาตรได้ 30 - 35% ที่เหลือต้องนำไปฝังกลบหรือเผา

- สามารถกำจัดได้ 100%
- ความสามารถในการฆ่าเชื้อโรค - กำจัดได้ 100 % - กำจัดได้ 70 % - กำจัดได้เพียงเล็กน้อย
1.3. ความยืดหยุ่นของระบบ
- ต่ำหากเกิดปัญหาเครื่องจักรกลชำรุดไม่สามารถปฏิบัติการได้

- ต่ำหากเครื่องจักรกลชำรุดไม่สามารถปฏิบัติการได้

- สูงแม้ว่าเครื่องจักรกลจะชำรุดยังสามารถกำจัดหรือรอการกำจัดได้
1.4. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- น้ำผิวดิน


- ไม่มี


- อาจมีได้


- มีความเป็นไปได้สูง
- น้ำใต้ดิน


- ไม่มี


- อาจมีได้


- มีความเป็นไปได้สูง
- อากาศ


- มี


- ไม่มี


- อาจมีได้
- กลิ่น แมลง พาหนะนำโรค


- ไม่มี


- อาจมีได้


- มี
1.5. ลักษณะสมบัติของมูลฝอย
- ต้องเป็นสารที่เผาไหม้ได้มีค่าความร้อนไม่ต่ำกว่า 4.500 kl/kg และความชื้นไม่มากกว่า 40%

- ต้องเป็นสารที่ย่อยสลายได้มีความชื้น 50 - 70%

- รับมูลฝอยได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นมูลฝอยติดเชื้อ หรือสารพิษ
1.6. ขนาดที่ดิน
- ใช้เนื้อที่น้อย

- ใช้เนื้อที่ปานกลาง

- ใช้เนื้อที่มาก
2. ด้านเศรษฐกิจ
2.1 เงินลงทุนในการก่อสร้าง
ข้อด้อย
- สูงมาก
ข้อด้อย
- ค่อนข้างสูง
ข้อดี
- ค่อนข้างต่ำ
2.2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและซ่อมบำรุง
- สูง

- ค่อนข้างสูง

- ค่อนข้างต่ำ
2. 3 ผลพลอยได้จากการกำจัด
- ได้พลังงานความร้อนจากการเผา

- ปุ๋ยอินทรีย์จากการหมักและพวดโลหะที่แยกก่อนหมัก

- ได้ก๊าซมีเทนเป็นเชื้อเพลิง
- ปรับพื้นที่เป็นสวนสาธารณะ

ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ (2536) "การศึกษาเปรียบเทียบความเหมาะสมของวิธีการกำจัดมูลฝอย"

หลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย

 

ในการพิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นสถานที่ตั้งศูนย์กำจัดขยะนั้นจะต้องทราบความต้องการขนาดที่ดินที่จะใช้ และที่ตั้งของท้องถิ่นที่จะเข้าร่วมดำเนินการ โดยอาจจะพิจารณาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแห่งเดิมของท้องถิ่นที่มีศักยภาพรองรับ หรือขยายการรองรับขยะมูลฝอยภายในจังหวัดแต่ละแห่ง และอาจจะมีอำนาจศูนย์กำจัด 1-2 แห่ง พร้อมกับจัดให้มีสถานีขนถ่ายตามความจำเป็นและเหมาะสม
หลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นสถานที่ตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน สามารถใช้เกณฑ์มาตรฐาน และแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำขึ้นดังนี้

 

 

1.เกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ของสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย และสถานที่นำวัสดุกลับคืน
  1. ไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2538
  2. ตั้งอยู่ห่างแนวเขตโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ. โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร
  3. ควรตั้งอยู่ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร

 

2.เกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ของสถานที่กำจัดโดยเตาเผา และสถานที่หมักทำปุ๋ย

 

  1. ไม่ตั้งออยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2528
  2. ตั้งอยู่ห่างจากแนวเขตโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ โบราณสถาน โบราณวัสดุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สดถานแห่งชาติ ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร
  3. ควรตั้งอยู่ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร
  4. ที่ตั้งของสถานทีกำจัดโดยเตาเผาควรเป็นที่โล่ง ไม่อยู่ในที่อับลม

 

3. เกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ของสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอย

 

  1. ไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2528
  2. ตั้งอยู่ห่างจากแนวเขตโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร
  3. ตั้งอยู่ห่างจากแนวเขตสนามบินไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร
  4. ควรตั้งอยู่ห่างจากบ่อน้ำดื่ม หรือโรงผลิตน้ำประปาในปัจจุบันไม่น้อยกว่า 700 เมตร
  5. ควรตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้นมารวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ไม่น้อยกว่า 300เมตร ยกเว้นแหล่งน้ำที่ตั้งอยู่ในสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอย
  6. เป็นพื้นที่ซึ่งสภาพธรณีวิทยา หรือลักษณะใต้พื้นดินมั่งคงแข็งแรงพอที่จะรองรับขยะมูลฝอย
  7. ควรเป็นพื้นที่ดอนในกรณีเป็นพื้นที่ลุ่มที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมฉับพลันหรือน้ำป่าไหลหลาก จะต้องมีมาตรการป้องกันแก้ไข
  8. ควรเป็นพื้นที่ซึ่งระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึก ในกรณีที่ระดับน้ำใต้ดินอยู่สูงจะต้องมีมาตรการป้องกันแก้ไข
  9. เมื่อพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ไว้ได้ 1-3 แห่ง แล้วควรจัดทำประชาพิจารณ์ให้เกิดความยอมรับของประชาชน ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป


7. แนวทางการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน

 

ของเสียอันตรายหมายถึง ของเสียใดๆ ที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์ และวัตถุเปอร์ออกไซด์ วัตถุมีพิษวัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อนที่ทำให้เกิดระคายเคือง วัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม

 

 

ของเสียอันตรายที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนได้แก่ บ้านเรือน ร้านล้างฟิลม์ อัดขยายรูป ร้านซักแห้ง ห้องปฏิบัติการ เป็นต้น ซึ่งมีประมาณ 300,000 ตัน ถูกทิ้งรวมไปกับขยะมูลฝอยทั่วไป และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างของเสียอันตรายจากชุมชน เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์มีสารปรอทบัลลาสต์มีสารพีซีบีน้ำยาทำความสะอาดมีฤทธิ์เป็นกรด-ด่าง และแอมโมเนียกระป๋องสารฆ่าแมลงมีสารเคมีตกค้าง น้ำมันเครื่อง แบตเตอรี่มีสารไฮโดรคาร์บอนและโลหะหนัก สี ทินเนอ์ มีสารทำละลาย ถ่านไฟฉายมีแมงกานีส ปรอทและโลหะหนักอื่น ๆ

 

 

หากของเสียเหล่านี้ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

ของเสียอันตรายในบ้านเรือน
หลอดฟลูออเรสเซนต์มีปรอท บัลลาสต์มีสารพีซีบี น้ำยาทำความสะอาดมีกรด ด่าง และแอมโมเนีย
กระป๋องยาฆ่าแมลงมียาฆ่าแมลงตกค้าง กระป๋องสเปรย์มีสารเคมีตกค้าง น้ำมันเครื่อง แบตเตอรี่ มีสารโฮโดรคาร์บอน และโหละหนัก
สี ทินเนอร์ มีสารทำละลาย ถ่ายไฟฉายมีแมงกานีส ปรอท และโลหะหนักอื่นๆ

วิธีการจัดการของเสียอันตรายในบ้านเรือน

เลือกซื้อ/เลือกใช้
  • ซื้อ/ใช้เท่าที่จำเป็น
  • ซื้อ/ใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าฉลากเขียว เช่น ถ่านไฟฉาย สูตรไม่ผสมสารปรอท ตู้เย็นฉลากเขียว สีอีมัลชันสูตรลดสารพิษ
  • ซื้อ/ใช้ สารสกัดจากธรรมชาติหรือสมุนไพร แทนการใช้สารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้น
  • ซื้อ/ใช้ สินค้าที่ใช้ซ้ำใหม่ได้เช่น ถ่านไฟฉายที่ชาร์จใหม่ได้ ใช้น้ำยาทำความสะอาดชนิดเติม เพื่อลดปริมาณภาชนะบรรจุ
  • ไม่ทิ้งของเสียอันตรายปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป
  • ไม่ทิ้งลงพื้น ท่อระบายน้ำหรือแหล่งน้ำ
  • แยกเก็บไว้ในภาชนะที่ไม่รั่วซึม รอหน่วยงานท้องถิ่น มาเก็บไปกำจัด
  • นำไปทิ้งในภาชนะที่หน่วยงานท้องถิ่นจัดหาให้หรือนำไปให้เจ้าหน้าที่ที่มาเก็บ ในวันที่กำหนด
  • นำไปส่งคืนร้านตัวแทน จำหน่าย เพื่อรับส่วนลด และแลกซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่

แนวทางในการจัดการของเสียอันตรายอย่างถูกวิธี

ท้องถิ่น/เทศบาล

  • รณรงค์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนคัแยกของเสียอันตาย ไม่ทิ้งรวมไปกับขยะมูลฝอยทั่วไป
  • จัดหาภาชนะรองรับของเสียอันตรายที่มีฝาปิด ไม่รั่วซึมและเหมาะสมกับประเภทของของเสียอันตราย
  • จัดหารถเก็บขนชนิดพิเศษเพื่อเก็บขนของเสียอันตราย
  • กำหนดวันรณรงค์ เพื่อเก็บรวบรวมของเสียอันตราย เช่น วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันสิ้นปี วันสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  • จัดทำระบบกำกับการขนส่ง (Manifest system) โดยควบคุมตั้งแต่แหล่งกำเนิด การเก็บรวบรวม การเคลื่อนย้ายจนถึงสถานที่กำจัด
  • จัดสร้างสถานีขนถ่ายของเสียอันตรายประจำจังหวัด เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม และคัดแยกของเสียอันตราย ส่วนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่จะถูกนำไปกำจัดยังศูนย์กำจัดประจำภาคต่อไป
  • จัดสร้างศูนย์กำจัดของเสียอันตรายประจำภาคโดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสถานที่ การจัดซื้อที่ดินการออกแบบระบบ การก่อสร้าง ควบคุมการดำเนินงาน
  • ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบและส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชน
  • ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการของเสียอันตรายอย่างถูกวิธี

แนวทางในการจัดการของเสียอันตรายอย่างถูกวิธี

ผู้ประกอบการ

  • ไม่ทิ้งของเสียอันตรายประเภทน้ำมันเครื่อง ทินเนอร์ น้ำมันสน น้ำยาฟอกขาว น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาล้างรูป หมึกพิมพ์ ของเสียติดเชื้อ สารเคมีจากห้องปฏิบัติการ หลอดฟลูออเรสเซนต์ ถ่านไฟฉาย ฯลฯ รวมไปกับขยะมูลฝอยทั่วไป
  • ไม่ทิ้งลงพื้น ไม่ฝังดิน ไม่ทิ้งลงท่อระบายน้ำหรือแหล่งน้ำ
  • แยกเก็บของเสียอันตรายไว้ในภาชนะเดิมที่รั่วซึม เพื่อรอหน่วยงานท้องถิ่นมาเก็บไปกำจัด
  • นำไปทิ้งในภาชนะที่ท้องถิ่นจัดทำให้หรือนำไปทิ้งในสถานที่ที่กำหนด
  • นำซากของเสียอันตรายไปคืนร้านตัวแทนจำหน่าย เช่น ซากแบตเตอรี่ ซากถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุยาฆ่าแมลง
การดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ 1. สำรวจ จัดทำข้อมูลพื้นฐาน ชนิด ปริมาณ และการจัดการของเสียอันตรายจากกิจกรรมต่าง ๆ
2. จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อคัดเลือกสถานที่ตั้งศูนย์กำจัดของเสียอันตราย
3. กำหนดกลไกการคัดแยก การเก็บรวบรวมการเรียกคืนซาก การจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการกำจัดของเสียอันตรายจากชุมชน
4. กำหนดสถานที่ตั้ง รูปแบบ และเทคโนโลยีของระบบและกำจัดของเสียอันตรายจากชุมชนแบบรวมศูนย์
5. จัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน ตามลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน
พื้นที่ 1. พื้นที่หลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เมืองหลัก และเมืองศูนย์กลางความเจริญ
2. พื้นที่รอง ได้แก่ เขตเทศบาลทั่วประเทศ
3. พื้นที่ที่มีความเหมาะสมเป็นที่ตั้งศูนย์กำจัดของเสียอันตรายของชุมชน
แผนแม่บทการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนในประเทศไทย

แผนแม่บทการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนที่จะดำเนินการใน 20 ปี ประกอบด้วย 11 แผนงาน ได้แก่
  1. ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ กำหนดคำนิยามและแหล่งกำเนิดของเสียอันตรายจากชุมชน การคัดแยก การเก็บกัก การเก็บรวบรวม การขนส่ง การบำบัด และการกำจัด
  2. จัดตั้งองค์กรจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น
  3. กำหนดรูปแบบและวิธีการคัดแยกและเก็บรวบรวม ของเสียอันตรายจากชุมชนแต่ละประเภทจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ เช่น อู่ซ่อมรถยนต์ บ้านเรือน เกษตรกรรม สถานศึกษา ห้องปฏิบัติการ โรงซ่อมบำรุง รถไฟ โรงแรม ท่าเรือ ฯลฯ โดยมีถังและรถเก็บขนชนิดพิเศษ เก็บขนในวันรณรงค์ และให้แต่ละจังหวัดสร้างสถานีขนถ่ายของเสียอันตรายเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและคัดแยกของเสียอันตราย
  4. จัดตั้งศูนย์กำจัดของเสียอันตรายในแต่ละภูมิภาค โดยแต่ละศูนย์จะประกอบด้วยเตาเผาของเสียอันตราย เตาเผามูลฝอยติดเชื้อ ระบบปรับเสถียร ระบบฝังกลบอย่างปลอดภัยและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์
  5. จัดตั้งระบบฝังกลบของเสียกัมมันตรังสีแบบปลอดภัย โดยทำการคัดเลือกสถานที่ตั้งระบบและจัดซื้อที่ดิน ออกแบบและก่อสร้างระบบเพื่อเป็นศูนย์กำจัดของเสียกัมมันตนรังสีของประเทศ
  6. ลดปริมาณของเสีย มุ่งเน้นดำเนินการในแหล่งกำเนิดที่เป็นเป้าหมาย
    • บ้านพักอาศัย
    • อู่ซ่อมรถและสถานีบริการน้ำมัน
    • โรงพยาบาล
    • เกษตรกรรม
  7. กลไกการเรียกคืนซาก ให้นำซากผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพ หรือไม่ใช้แล้ว เช่น ซากถ่านไฟฉาย ซากแบตเตอรี่ ภาชนะบรรจุสารฆ่าแมลง ฯลฯ ไปคืนร้านจำหน่าย หรือแลกซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งจัดทำโครงการรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่
  8. ติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน จัดการของเสียอันตรายชุมชนและการดำเนินงานของศูนย์ในภูมิภาคต่าง ๆ
  9. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ หน่วยงานกลางและท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของแต่ละศูนย์ ตลอดจนเจ้าของแหล่งกำเนิดของเสียอันตราย
  10. จัดทำระบบฐานข้อมูลและเอกสารกำกับการขนส่งของเสียอันตราย เพื่อควบคุมตั้งแต่แหล่งกำเนิด การเก็บรวบรวม การเคลื่อนย้าย จนถึงสถานที่กำจัด
  11. ส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการของเสียอันตรายอย่างถูกวิธี


8. แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยจากการก่อสร้างและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง (Construction and Demolition Waste Management)

ขยะมูลฝอยจากการก่อสร้างหรือวัสดุที่เหลือใช้จากการก่อสร้าง เป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นในชุมชนเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้มีการก่อสร้างอาคารต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย สถานประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้แก่ ถนน ทางระบายน้ำ ระบบขนส่งมวลชน ขยะมูลฝอยจากการก่อสร้างมักไม่ได้รับการจัดการที่ถูกวิธีและเหมาะสม โดยจะถูกนำไปกองไว้ตามสถานที่สาธารณะ พื้นที่ว่างเปล่าตลอดจนเทลงแม่น้ำลำคลอง ทำให้เกิดสภาพที่ไม่น่าดูและลำน้ำตื้นเขินได้ องค์ประกอบของขยะมูลฝอยจากการก่อสร้าง ประกอบด้วย เศษอิฐ หิน ดิน ทราย คอนกรีต เศษไม้ โลหะต่าง ๆ เหล็ก กระป๋อง ตลอดจนกระดาษและพลาสติก
โดยแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยเหล่านี้ ควรมีการคัดแยกวัสดุที่ยังสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ก่อนโดยการคัดแยกขยะมูลฝอยอาจจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการคัดแยก อุปกรณ์บดขยะมูลฝอยที่มีขนาดใหญ่และเป็นวัสดุที่แข็ง เช่น เศษคาน คอนกรีต เศษหัวเสาเข็ม เป็นต้น และส่วนที่เหลือจึงนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม อาทิ การฝังกลบ

มาตรการของการจัดการขยะมูลฝอยจากการก่อสร้าง

  • การกำหนดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างต่าง ๆ มีแผนการจัดการกับขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น และแจ้งให้ท้องถิ่นทราบ พร้อมกับการขออนุญาตปลูกสร้างและรื้อถอนอาคาร ซึ่งจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือขัดต่อกฎหมาย โดยต้องกำหนด ประเภท ปริมาณ ขั้นตอนวิธีการดำเนินการ ระยะเวลา วิธีการกำจัด และสถานที่กำจัด
  • ท้องถิ่นจัดให้มีระบบการจัดการขยะมูลฝอยจากการก่อสร้าง โดยพิจารณาจัดหาสถานที่และคัดเลือกวิธีการที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งกำหนดอัตราค่าบริการในการจัดการขยะมูลฝอยจากการก่อสร้าง
  • ในการขนย้ายวัสดุที่รื้อถอนไปทิ้งหรือกำจัด ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ตกหล่น ปลิวหรือฟุ้งกระจาย และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • การใช้มาตรการทางด้านกฎหมายในการลงโทษ ผู้ที่ลักลอบทิ้งเศษวัสดุก่อสร้างในบริเวณที่ว่างของเอกชน หรือที่สาธารณะ
  • สนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้บริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยจากการก่อสร้าง


9. รูปแบบองค์กรและระบบบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอย

 

การจัดรูปแบบองค์กรบริหารจัดการของหน่วยงานที่จะร่วมดำเนินการ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยในระดับจังหวัด หรือสำหรับบางพื้นที่ ควรมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงไว้ นอกจากนี้ สามารถสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมดำเนินการซึ่งรูปแบบการลงทุนและดำเนินการศูนย์อาจทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่

 

  • ภาครัฐลงทุนและดำเนินการเอง
  • รัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน
  • รัฐลงทุนก่อสร้างและให้เอกชนดำเนินการ
  • เอกชนลงทุนและดำเนินการ

 

โดยขั้นตอนของการดำเนินงานเริ่มต้นจากการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด การจัดหาที่ดิน การออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างระบบ และการดูแลรักษากำจัดขยะมูลฝอย นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณารูปแบบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดยมีข้อควรพิจารณา ดังนี้

 

  • ราคาที่ดินหรือค่าเช่าที่ดิน
  • ราคาค่าลงทุนก่อสร้างระบบซึ่งอยู่กับเทคโนโลยีที่เลือกใช้
  • ราคาค่าดำเนินการและดูแลระบบ
  • ความพร้อมของประชาชนในการจ่ายค่าบริการและประสิทธิภาพในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชน
  • การจัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนการลงทุน

9.1รูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้โครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย

 

ภายใต้ข้อกำหนดตามกฎหมายองค์กรที่มีความเป็นได้ในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อดำเนินการโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย สามารถดำเนินการได้หลายทางเลือก ในขั้นแรกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกันดำเนินงาน โดยมีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งอาจจะดำเนินการเองโดยมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นองค์กรหลัก และอาจให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการภายหลัง หรือร่วมลงทุนกับภาคเอกชน โดยทางเลือกขององค์กรในการจัดการขยะมูลฝอยร่วมกับภาคเอกชนแสดงได้ดังนี้

 

9.2.ปัจจัยที่จำเป็นต่อการตั้งศูนย์กำจัดมูลฝอย

 

9.2.1 การรวมตัวกันของท้องถิ่น โดยจัดทำบันทึกข้อตกลง แล้วคัดเลือกตัวแทนทำสัญญากับเอกชน
9.2.2 รัฐต้องมีกฎระเบียบปฏิบัติเป็นกฎหมาย ดังนี้

 

  1. ประกันปริมาณขยะมูลฝอยหรือรายได้ขั้นต่ำ
  2. ให้เงินสนับสนุนในระยะแรก
  3. สนับสนุนการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานที่กำจัด
  4. กำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสมกับความสามารถและการยิมยอมจ่ายของประชาชน
  5. มีกฎหมายควบคุมการดำเนินการ และการลงโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกลักเกณฑ์อย่างชัดเจน
  6. กำหนดให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขน ซึ่งอาจรวมหรือแยกกับค่ากำจัด
  7. ผลักดันให้ข้อตกลงนี้อยู่ในแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้รับผิดชอบต้องกำหนดหน่วยวัดความสำเร็จของแผนงานที่ชัดเจน

9.3.การวิเคราะห์การให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ

9.3.1ความจำเป็นในการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการเพื่อ
  1. ปรับปรุงมาตรฐานการจัดการขยะมูลฝอย
  2. ลดภาระการลงทุนของรัฐ
  3. ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพอนามัย และการแพร่กระจายของเชื้อโรคและการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม
  4. รัฐทำหน้าที่เพียงควบคุมดูแล จึงลดภาวะบุคลากร
9.3.2 ทางเลือกในการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการส่วนใดหรือส่วนหนึ่ง หรือทั้งระบบการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่การจัดเก็บ การขนถ่ายและการกำจัดในรูปแบบ BOO BOOT BOT BTO สัญญาบริการสัมปทาน สัญญาเช่า แต่ท้องถิ่นส่วนใหญ่ต้องการให้เอกชนดำเนินการเฉพาะขนถ่ายและกำจัด

 

9.3.3 ความเสี่ยงของโครงการที่เอกชนต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญ

 

  1. ปริมาณขยะมูลฝอยทั้งปริมาณขั้นต่ำ และแนวโน้มในอนาคต
  2. ลักษณะสมบัติของขยะมูลฝอย และแนวโน้มในอนาคต
  3. พื้นที่บริการ ขอบเขต และการขนส่ง
  4. ด้านการเงินการลงทุน รายได้รายจ่ายของการดำเนินงาน
  5. การก่อสร้าง/ดำเนินการ
  6. ด้านสิ่งแวดล้อม
  7. ด้านสังคม


10. แนวทางปฏิบัติในการดำเนินการงานศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย

10.1 รูปแบบการดำเนินงาน

 

การจัดให้มีระบบการจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวมใช้ศูนย์กำจัดร่วมกันหลายชุมชน โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ และบริหารจัดการ และมีหน่วยงานราชการส่วนกลางเป็นผู้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและงบประมาณ โดยเน้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

 

 

1. ให้โครงการศูนย์จัดการขยะมูลฝอยชุมชนแต่ละศูนย์ในแต่ละจังหวัดหรือระหว่างจังหวัด สามารถรองรับการจัดการขยะมูลฝอยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในช่วงปี โดยมีข้อตกลงของหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัดเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล) ในการกำหนดปริมาณขยะมูลฝอยขั้นต่ำที่จะส่งเข้ากำจัดและกำหนดการจ่ายค่ากำจัดในอัตราที่ตกลงเบื้องต้น
2. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพสูงในการจัดการขยะมูลฝอย เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานครเมือง พัทยา ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และเป็นผู้ดำเนินงานศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย
3. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ตั้งสถานที่ขนถ่ายและสถานที่กำจัด ได้รับผลประโยชน์จากโครงการและมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล ติดตามตรวจสอบตลอดจนอายุของโครงการ
4. ให้พิจารณาใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์และที่ดินของรัฐเป็นที่ตั้งโครงการลำดับแรก และนำมูลค่าเข้ามาคิดเป็นต้นทุนในการดำเนินโครงการตลอดอายุของโครงการด้วย
5. ให้มีการประมาณวงเงินงบประมาณรวมตลอดจนอายุโครงการ และประมาณการขยายไว้ล่วงหน้า และให้ระบุแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมด้วยทุกโครงการ
6. กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมโครงการ ต้องมีแผนงานและรับผิดชอบ ในระบบการเก็บขน และระบบการเก็บเงินค่าธรรมเนียมบริการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อเป็นค่ากำจัด ในสถานที่กำจัด ซึ่งในขั้นต้นได้มีข้อตกลงไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด
7. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้รับเป็นเจ้าของโครงการ ควรจัดหาเอกชน องค์กรเอกชนเป็นผู้ร่วมทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมโดยให้เปิดการจัดหาผู้ร่วมทุนโดยมีข้อกำหนดที่ชัดเจน สามารถเปรียบเทียบและเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อให้ได้ร่วมทุนที่สามารถดำเนินการได้ตลอดอายุโครงการตามมาตรฐาน
8. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการร่วมกันกำหนดข้อสัญญา ระเบียบปฏิบัติ ค่าธรรมเนียมกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการจัดเก็บจากผู้รับบริการและให้แต่ละท้องถิ่นนำส่งให้แก่ท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของโครงการเพื่อเป็นค่ากำจัดตามข้อตกลงร่วมกัน
9. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมโครงการปรับปรุงการจัดเก็บค่าบริการเก็บขนขยะมูลฝอยจากบ้านเรือน ธุรกิจและผู้รับบริการอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน
10.ให้หน่วยงานส่วนกลาง (กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์) และชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นคณะทำงานในการติดตาม กำกับดูแลตรวจสอบประเมินผล และเสนอแนะการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลกระทบหรือข้อผิดพลาดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานตั้งแต่การเก็บรวบรวม การขนส่งการกำจัด รวมทั้งการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง

 

10.2 ขั้นตอนและวิธีการนำนโยบายจัดการขยะมูลฝอยครบวงจรไปสู่การปฎิบัติ

 

1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดจะต้องดำเนินการในเรื่องจดบันทึกข้อตกลงระหว่างองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะร่วมกันในการจัดการขยะมูลฝอย อาจจะเป็นอยู่ในรูปสหการ และมีการรับรองให้สมบูรณ์
2) มีความพร้อมในการจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างระบบโดยจะต้องผ่านการจัดทำประชาพิจารณ์ และได้รับความเห็นชอบจากชุมชนแล้ว
3) เลือกแนวทางและวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยในแต่ละพื้นที่

 

4) ให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม โดยโครงการทั้งหมดต้องผ่านขั้นตอนประชาพิจารณ์และได้รับความเห็นชอบจากประชาชนแล้วได้แก่
  1. ทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอนในเรื่องการใช้ที่ดิน
  2. ประชาชนเห็นชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้บริการศูนย์กำจัด
  3. ประชาชนเห็นชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้บริการศูนย์กำจัดและอันตราบริการเก็บขนที่เรียกเก็บจากประชาชน
5) ต้องมีรูปแบบองค์การบริหารจัดการเสนอมาให้พร้อม
6) กรณีที่ท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ มีความพร้อม และจัดทำแผนในลักษณะแผนงานร่วมเพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้แผนในลักษณะศูนย์รวมจะได้รับการพิจารณาสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ในลำดับความสำคัญต้น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการขอสนับสนุนในลักษณะต่างชุมชนต่างดำเนินการ

ขั้นตอนการดำเนินการจัดตั้งศูนย์จัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร
ขั้นตอนการดำเนินการ วิธีการดำเนินการ วิธีการดำเนินการ
1. จัดทำเป็นบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์จัดการขยะมูลฝอยรวมของจังหวัด 1.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดรวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประชุมหารือและลงนามในบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์จัดการขยะมูลฝอยรวมของจังหวัด
1.2 กำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการร่วมตั้งศูนย์จัดการขยะมูลฝอย ได้แก่
  1. กำหนดปริมาณขยะมูลฝอยขั้นต่ำของแต่ละท้องถิ่นที่จะนำมากำจัดภายในศูนย์ฯ ตลอดระยะเวลาโครงการอย่างน้อย 20 ปี
  2. กำหนดอัตราค่ากำจัดขยะมูลฝอยขั้นต่ำที่แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจ่าย
  3. มอบหมายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพสูงในการจัดการขยะมูลฝอยทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักและเป็นผู้ประสานงานและดำเนินงานศูนย์
1.1 จังหวัดประสานงานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมประชุมหารือ
1.2 องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลร่วมหารือ
1.3 สผ., คพ., และ มท., ร่วมให้ข้อมูล
2. จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดศูนย์จัดการขยะมูลฝอย 2. จังหวัดจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการดังนี้
  1. ศีกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์จัดการขยะมูลฝอยทั้งระบบ
  2. จัดหาที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่มีความเหมาะสมเป็นที่ตั้งสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยรวมของจังหวัด
  3. กำหนดเทคโนโลยีในการกำจัดขยะมูลฝอยเป็นแบบครบวงจร
  4. ประมาณงบประมาณตลอดโครงการ
  5. กำหนดองค์กรบริหารจัดการ และกฏหมายในการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ
  6. กำหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนที่จะต้องมีการตัดสินใจ
  7. จัดทำแผนดำเนินโครงการตลอดอายุของโครงการ
2. คณะทำงานประกอบด้วยจังหวัด(เป็นประธาน) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล NGOs ในจังหวัด สถาบันระดับอุดมศึกษา สื่อสารมวลชน หอการค้าจังหวัด ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและอื่น ๆ
3. การมีส่วนร่วมของประชาชน 1. ทำประชาพิจารณ์เรื่องการใช้ที่ดิน
2. ชุมชนเห็นชอบเทคโนโลยีการกำจัดขยะมูลฝอย
3. ชุมชนเห็นชอบค่าใช้จ่ายในการใช้บริการศูนย์กำจัดและอัตราค่าบริการเก็บขนที่เรียกเก็บจากประชาชน
4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยพิจารณาผลประโยชน์จากศูนย์ฯ และมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล และติดตามตรวจสอบ
3. จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.จัดทำแผนและงบประมาณ 4. จังหวัดจัดทำแผนการดำเนินโครงการ
  1. ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
  2. ออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรมของระบบจัดการขยะมูลฝอยทั้งระบบ
  3. การก่อสร้างระบบจัดการขยะมูลฝอย และจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องจักรในการจัดการขยะมูลฝอย
  4. การรณรงค์และประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกด้านการจัดการขยะมูลฝอยแก่ประชาชน
  5. การติดตาม กำกับดูแล ตรวจสอบและประเมินผลโครงการ
4. จังหวัด สผ. คพ. และสส.
สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย
โทรศัพท์ 0 2298 2410 โทรสาร 0 2298 2425
E-mail : Rangsang(dot)P(at)pcd(dot)go(dot)th

 


เข้าชม : 590


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 25 / ก.ค. / 2560
      วันอาสาฬหบูชา 9 / ก.ค. / 2560
      วันพืชมงคล 15 / พ.ค. / 2560
      วันวิสาขบูชา 15 / พ.ค. / 2560
      วันแรงงาน 2 / พ.ค. / 2560


 

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับตำบลห้วยลึก  
หมู่ที่ 2 บ้านสวนออก ต.ห้วยลึก อ.ควนเนียง จ.สงขลา
โทรศัพท์ 098 - 6470489

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05