การศึกษาขั้นพื้นฐาน
1. ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การแนะแนว
การแนะแนวเป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญ สถานศึกษาต้องจัดบริการแนะแนว เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพราะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมายควรจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับ วิธีเรียน กศน. ซึ่งมีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเลือกเรียนได้ และจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจบหลักสูตรการศึกษา การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ การเทียบโอนผลการเรียน ที่ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียน หรือนำประสบการณ์ มาขอเทียบโอนความรู้ตามหลักสูตรฯ และเรียนเพิ่มเติมบางสาระที่ไม่สามารถเทียบโอนได้ สถานศึกษาจะต้องจัดบริการแนะแนวให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เข้าใจแต่เริ่มต้น เพื่อเขาจะได้ตัดสินใจเลือกเรียนได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของตนเอง
ขั้นตอนที่ 2 การรับสมัครผู้เรียน และการตรวจสอบหลักฐานการศึกษา
การรับสมัครผู้เรียน และการตรวจสอบหลักฐานการศึกษา สถานศึกษาจะต้องตรวจสอบหลักฐานการสมัครให้ถูกต้องครบถ้วน เช่น การกรอกใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน. วุฒิการศึกษา สำเนาทะเบียนบ้านผู้สมัครที่มีชื่อบิดามารดา บัตรประจำตัวประชาชน ใบเปลี่ยนชื่อ – ชื่อสกุล หรือใบทะเบียนสมรส ใบหย่า รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำและไม่สวมหมวก เป็นต้น เมื่อตรวจสอบหลักฐานและใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน. ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้กรอกใบลงทะเบียนเรียน การลงทะเบียนเรียนนั้น นักศึกษาต้องยื่นขอลงทะเบียนเรียนตามสาระรายวิชาที่สถานศึกษาเปิดสอนและตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดให้ลงทะเบียนได้ตามวันเวลาที่กำหนด
ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 12 – 14 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 14 – 16 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 18 – 20 หน่วยกิต
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาที่เปิดให้ลงทะเบียน
ขั้นตอนที่ 3 การปฐมนิเทศ และการวางแผนการเรียน
การปฐมนิเทศและการวางแผนการเรียน เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้เรียน สถานศึกษาต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจเกี่ยวกับวิธีเรียน กศน. การวัดผลและประเมินผล ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ลงทะเบียนเรียนได้เลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม ตามความต้องการ สอดคล้องกับวิถีชีวิต และการทำงานของผู้เรียน เช่น การเรียนแบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน และการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ ซึ่งการเรียนรู้ตามรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว ในแต่ละรายวิชาผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรืออาจเลือกการเรียนหลาย ๆ รูปแบบ ได้ตามความต้องการและความเหมาะสมของผู้เรียน ที่ผู้เรียนคิดว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษา สถานศึกษาจะต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว
ขั้นตอนที่ 4 การวัดและประเมินผล
การวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรฯหรือนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน โดยตรง และนำไปปรับปรุงแก้ไขการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมทั้งการนำไปใช้ในการพิจารณาตัดสินความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียน การวัดผลและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 2 ลักษณะ ดังนี้
1. การวัดและประเมินผลการเรียน
1.1 การวัดและประเมินผลการเรียนรายวิชา
1.2 การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
1.3 การประเมินคุณธรรม
2. การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ
สถานศึกษาต้องจัดทำระเบียบการประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของสถานศึกษาให้ชัดเจนเพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกันและเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน
2. วิธีเรียน กศน.
วิธีเรียน กศน. ตามตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่เหมาะสมกับผู้เรียน เช่น การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน ซึ่งการเรียนรู้แต่ละรูปแบบมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
2.1 การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
การเรียนรู้แบบพบกลุ่มเป็นการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาข้อสรุปร่วมกัน ทุกสัปดาห์
วิธีดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม มีดังนี้
1) การนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้า ครูให้ผู้เรียนนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรืองานกลุ่ม ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมายจากการพบกลุ่มสัปดาห์ที่ที่ผ่านมา ครูจะต้องทำหน้ากระตุ้นให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ครูและผู้เรียนสรุปองค์ความรู้ร่วมกัน
2) การจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ ครูจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ที่ได้วางแผนการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียนไว้ โดยครูจัดกระบวนการเรียนรู้เพิ่มเติมความรู้ในเนื้อหาสาระที่สำคัญ ที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจและต้องการจะเรียนรู้ โดยครูสอนเพิ่มเติมบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ หรือจัดสอนเสริมนอกเหนือจากเวลาพบกลุ่ม ในเนื้อหาวิชาที่ยาก ที่ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
3) การนำเสนอโครงงาน โดยให้ผู้เรียนนำเสนอความคิด และความก้าวหน้าในการทำโครงงานต่อกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนคนอื่นและครูช่วยกันวิเคราะห์ ซักถาม ให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการต่อยอดหรือพัฒนาความคิดและนำไปสู่การพัฒนาโครงงานในสัปดาห์ต่อไป การนำเสนอโครงงานดังกล่าวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่พบกลุ่มจนสิ้นสุดภาคเรียน
4) การสอบย่อย(QUIZ) เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระ โดยครูและสถานศึกษาเป็นผู้จัดทำข้อสอบย่อย ในลักษณะ ถาม – ตอบ (QUIZ) ให้ผู้เรียนตอบคำถามสั้น ๆ ในลักษณะสรุปความคิดรวบยอด ที่เป็นความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาในรายวิชานั้นๆ ของผู้เรียนเอง
5) การฝึกกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ “คิดเป็น” ให้ผู้เรียนฝึกคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อ เช่น สถานการณ์ ข่าว นสพ. บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ เนื้อหารายวิชาที่กำลังเรียน ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้น เสริมแรง ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้ผู้เรียนทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตลอดช่วงเวลาพบกลุ่ม โดยครูตั้งประเด็นคำถามปลายเปิดให้ผู้เรียนได้ร่วมคิด ร่วมอภิปรายเพื่อหาคำตอบ และพยายามเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้จากรายวิชานั้นเข้าสู่วิถีชีวิตของผู้เรียนได้มองเห็นประโยชน์จากการพบกลุ่ม
6) ฝึกให้ผู้เรียนแสดงออก เพื่อให้สามารถนำความรู้และทักษะไปใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น การนำเสนองานประกอบการใช้สื่อ การฝึกพูดในโอกาสต่าง ๆ การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง การฟังและจับประเด็นสำคัญ การพูดและการเขียนเพื่อสรุปใจความสำคัญ
7) การวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง คือการที่ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดและนัดหมายการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างสัปดาห์ รวมทั้งเรื่องที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้ และครูจะต้องกำหนดตัวผู้เรียนที่จะมานำเสนองานต่อกลุ่มในสัปดาห์ต่อไป และกำหนดการทำกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนคนอื่น ๆ ด้วย
8) การติดตามและช่วยเหลือผู้เรียน ครูติดตามช่วยเหลือผู้เรียน เพื่อให้คำแนะนำ คำปรึกษาในการเรียน ครูอาจใช้วิธี “เพื่อนช่วยเพื่อน” คือให้เพื่อน หรือกลุ่มเพื่อนของผู้เรียน คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำคำปรึกษาในการเรียน
2.2 การเรียนรู้ด้วยตนเอง
การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียน โดยระบุขั้นตอนการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ และมีครูเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำในการศึกษาหาความรู้จากสื่อต่าง ๆและแหล่งการเรียนรู้
1) ลักษณะของผู้เรียนที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง
1.1) สมัครใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการบังคับ
1.2) ผู้เรียนเป็นแหล่งข้อมูล คือสามารถบอกได้ว่าตนเองจะเรียนเรื่องอะไร มีทักษะและข้อมูลอะไรบ้าง สามารถกำหนดเป้าหมายได้ บอกวิธีการรวบรวมข้อมูลได้ บอกวิธีการประเมินผลการเรียนได้ รู้ถึงความสามารถของตนเอง ตัดสินใจได้ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และเป็นผู้เรียนรู้ที่ดี
1.3) รู้ “วิธีการที่จะเรียน” คือรู้ขั้นตอนในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างจึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้
1.4) มีความคิดเชิงบวก มีแรงจูงใจ และสามารถเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อนหรือบุคคลอื่น
1.5) มีระบบการเรียน รู้จักประยุกต์การเรียน และสนุกกับการเรียน
1.6) มีการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและความสำเร็จ มีการประเมินผลเองและเข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง
1.7) มีความพยายามหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อหาคำตอบ รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้กับสถานการณ์จริง และหาโอกาสในการพัฒนา ค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา
1.8) สามารถแสดงความคิดเห็นและ อภิปรายในกลุ่มเรียนอย่างสร้างสรรค์
1.9) การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นสามารถเก็บข้อมูล และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการเรียน
2) วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง
2.1) การวิเคราะห์และกำหนดความต้องการ ผู้เรียนวิเคราะห์และกำหนดความต้องการในการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความต้องการและความสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่ต้องการเรียน
2.2) การกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ผู้เรียนกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ที่มีความเป็นไปได้และสามารถปฏิบัติได้จริง โดยศึกษาจุดมุ่งหมายของรายวิชา แล้วเขียนจุดมุ่งหมายในการเรียน และระบุพฤติกรรมที่คาดหวังหรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่สามารถวัดได้
2.3) การวางแผนการเรียน ผู้เรียนกำหนดแนวทางในการเรียนของตนเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรายวิชา กำหนดเวลาเรียน คือกำหนดจำนวนชั่วโมง และจำนวนครั้ง ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำกิจกรรมกลุ่ม พบครูเพื่อขอคำปรึกษา แนะนำ สอนเสริม และกำหนดเวลาที่สิ้นสุดการเรียนของตนเอง
2.4) การเลือกรูปแบบการเรียน คือผู้เรียน เลือกกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองได้แก่แหล่งวิทยาการ ผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด วัด สถานีอนามัย และสื่อในการเรียน เช่นหนังสือเรียน วีซีดี สื่อคอมพิวเตอร์
2.5) การกำหนดบทบาทผู้ช่วยเหลือในการเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาสาระ และเกิดทักษะยิ่งขึ้น และประสบผลสำเร็จในกาเรียน เช่นมีเพื่อร่วมเรียนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
2.6) การกำหนดวิธีการประเมินผลการเรียน ครูและผู้เรียน ควรร่วมกันกำหนดวิธีการวัดผลและประเมินผล เช่น กำหนดเครื่องมือวัดผลได้แก่แบบทดสอบต่าง ๆ หรือชิ้นงาน เป็นต้น
3) การทำสัญญาการเรียนรู้
ในการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้เรียนแต่ละคนจะต้องมีการจัดทำข้อตกลงการเรียนหรือสัญญาการเรียนรู้กับครู เพื่อครูจะได้ทราบความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคล
สัญญาการเรียนรู้ (Learning Contact) คือ ข้อตกลงที่ผู้เรียนได้ทำไว้กับครูว่าผู้เรียนจะปฏิบัติตนอย่างไรในการเรียน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โดยผู้เรียนจะเป็นผู้เขียนสัญญาการเรียนรู้ ระบุว่าจะเรียนรู้อะไร จะวัดผลด้วยวิธีใด จะมีหลักฐานการเรียนรู้อะไรบ้าง และผลการเรียนควรเป็นอย่างไร เมื่อเขียนเสร็จแล้วจัดทำสำเนาให้ครู 1 ชุด เพื่อครูจะได้ติดตาม ตรวจสอบ ความก้าวหน้าของผู้เรียนแต่ละคน
3. การเรียนรู้แบบทางไกล
การเรียนรู้แบบทางไกล เป็นการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยผู้เรียนและครูจะสื่อสารทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ เช่นการเรียนรู้แบบ e – learning
3.1 หลักในการเรียนรู้แบบทางไกล
1) ผู้เรียนต้องมีเครื่องมือที่สามารถสื่อสาร และใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ฯลฯ
2) ผู้เรียนต้องมีเวลาสื่อสารทางอิเลคทรอนิกส์ กับครูตามเวลาที่ได้ตกลงร่วมกันกับครู เช่น Chat room, E – mail, Web board, Blog, face book ฯลฯ
3) สถานศึกษาและครู มีบทบาทในการจัดเตรียมสื่อทางไกล และอำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้แบบทางไกลได้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย
3.2 วิธีการเรียนรู้แบบทางไกล
1) การศึกษาแนวทางการเรียนรู้แบบทางไกลจากสื่อต่าง ๆ
2) การเรียนรู้จากสื่อทางไกลตามที่สถานศึกษากำหนด
3) การประเมินความรู้ก่อนเรียน คือผู้เรียนประเมินความรู้ของตนเองก่อนเรียน
4) ศึกษาเนื้อหาสาระจากสื่อต่าง ๆ และส่งงานที่ครูมอบหมายตามกำหนด
5) การสื่อสารกับครูตามเวลาที่กำหนด เพื่อขอคำแนะนำ คำปรึกษา และนัดหมายการทำกิจกรรมการเรียนรู้
6) การประเมินความรู้หลังเรียน คือผู้เรียนประเมินความรู้ของตนเองหลังเรียน
4. การเรียนรู้แบบชั้นเรียน
การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เป็นการเรียนรู้ในลักษณะแบบห้องเรียน ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ที่เรียนชัดเจน การเรียนรู้แบบชั้นเรียนเหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลามาเข้าชั้นเรียนสม่ำเสมอ
4.1 หลักในการเรียนรู้แบบชั้นเรียน
1) สถานศึกษากำหนดสถานที่เรียนและตารางเรียนที่เหมาะสม
2) จัดให้มีการประชาสัมพันธ์การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เกี่ยวกับสถานที่ วัน เวลาที่เรียนและครูผู้รับผิดชอบให้ผู้เรียนทราบอย่างทั่วถึง
3) สถานศึกษาจัดหาสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่นเครื่องมือ – อุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และโสตทัศนูปกรณ์ ที่มีคุณภาพ
4) ผู้เรียนจะต้องมีเวลามาเรียนตามที่กำหนดไว้ในตารางเรียน
4.2 วิธีดำเนินการจัดการเรียนรู้
1) การจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยครู ผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญ ด้านเนื้อหานั้น ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้กับผู้เรียน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ซักถาม แสดงความคิดเห็นและลงมือฝึกปฏิบัติจริง และครูควรจัดเวลาในการให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียน
2) การจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ เป็นการจัดกระบวนการที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้ระหว่างครูกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียน เช่นกิจกรรมกลุ่ม การจัดที่นั่งเป็นกลุ่ม
3) การจัดให้มีการปรับบทบาทผู้เรียน เช่นการแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย ๆ และมอบหมายงานให้ปฏิบัติ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ครูจะจัดกิจกรรม 3 ลักษณะ ดังนี้
(1) การให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง
(2) การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
(3) การสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู
4) การติดตาม และช่วยเหลือผู้เรียน เช่นจัดบริการแนะแนว จัดบริการให้คำปรึกษา จัดให้มีผู้ช่วยสอน และการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อหรือกลุ่มเพื่อน
การเรียนรู้ทั้ง 4 รูปแบบ ดังที่กล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนจะร่วมกันกำหนดว่าในแต่ละรายวิชาจะเรียนรู้แบบใด ซึ่งขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาสาระของแต่ละรายวิชานั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้เรียน และขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาในการจัดสอนเสริมเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ นอกจากนั้นสถานศึกษาสามารถออกแบบการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เรียนและความพร้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่ง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2553).
เอกสารอ้างอิง
สมบัติ สุวรรณพิทักษ์,(2543).เทคนิคการสอนแนวใหม่.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2553) แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.กรุงเทพฯ : รังสีการพิมพ์.
***************************
เข้าชม : 689 |